Skip to main content
sharethis

'บุญยืน สุขใหม่' รางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2557 ได้รับเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีกระทรวงแรงงาน ในส่วนของคณะกรรมการประกันสังคม เจ้าตัวระบุหวังผลักดันปัญหาของผู้ประกันตนในบอร์ดประกันสังคม หวังเป็นคนหน้าใหม่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

14 มี.ค. 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีสังกัดกระทรวงแรงงาน จำนวน 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน และคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

โดยผลการเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม (ลำดับ 1-5 จะได้เป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม) ลำดับที่ 1 คือนายชินโชติ แสงสังข์ ได้คะแนนรวม 352 คะแนน ลำดับที่ 2 นายชัยพร จันทนา ได้คะแนนรวม 350 คะแนน ลำดับที่ 3 นายบุญยืน สุขใหม่ ได้คะแนนรวม 348 คะแนน ลำดับที่ 4 นายสุชาติ ไทยล้วน ได้คะแนนรวม 348 คะแนน และลำดับที่ 5 นายพิจิตร ดีสุ่ย ได้คะแนนรวม 342 คะแนน

ส่วนลำดับต่างๆ ที่เหลือมีดังนี้

โดยบุญยืนกับสุชาติได้คะแนนเท่ากันนั้น ตามระเบียบของกระทรวงแรงงานว่าด้วยแนวทางและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการไตรภาคี พ.ศ.2551 ข้อ 24 วรรคสาม กำหนดว่าในกรณีที่มีผู้ได้รับคะแนนเลือกตั้งเท่ากันในลำดับใด ให้ประธานกรรมการตรวจคะแนนจับสลากเพื่อเรียงลำดับในลำดับนั้น โดยบุญยืนสามารถจำสลากได้ลำดับที่ 3

ด้านบุญยืน สุขใหม่ เจ้าของรางวัลรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 2557 2557 (อ่านเพิ่มเติม: ‘บุญยืน สุขใหม่’ นักสิทธิแรงงาน คว้ารางวัลสมชาย นีละไพจิตร ปี 57) ได้ระบุกับผู้สื่อข่าวว่าตำแหน่งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม นี้มีความสำคัญเพราะเป็นตำแหน่งที่สามารถผลักดันสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลหรือด้านความมั่นคงในอนาคตให้กับลูกจ้าง รวมถึงเรื่องการผลักดันให้เกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่คล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคมนั้นเป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้งระบบหนึ่งสหภาพแรงงานต่อหนึ่งเสียง ซึ่งที่ผ่านมาผู้นำแรงงานหน้าเดิมๆ มักจะผลัดเปลี่ยนกันมาเป็น จนมีความเคลื่อนไหวอยากให้เปลี่ยนแปลงระบบมาเป็นผู้ประกันตนหรือสมาชิกสหภาพแรงงานทุกคนมีสิทธิเลือกโดยตรง รวมถึงต้องการผลักดันให้ประกันสังคมนั้นเป็นองค์กรอิสระ

บุญยืนยังมีความคาดหวังว่าการที่ได้คลุกคลีกับลูกจ้างในระดับปฏิบัติการและการทำงานสหภาพแรงงานต่างๆ ตนเองจะได้นำปัญหาของผู้ประกันตนเข้าไปสะท้อนในคณะกรรมการประกันสังคม กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเดิมๆ ของคณะกรรมการที่เป็นกลุ่มคนเก่าๆ ที่หมุนวนกันมาเป็นกรรมการอย่างที่แล้วมา

นอกจากนี้บุญยืนยังระบุว่า จะพยายามผลักดันให้เกิดการแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนมากยิ่งขึ้น เช่นการแก้ไขให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จ่ายเงินสมทบแต่เพียงส่วนเดียว และเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนที่พ้นจากการเป็นผู้ประกันตนแล้วกลับมาเป็นผู้ประกันตนได้อีก และสามารถจ่ายเงินสมทบตาม Counter service ได้ และที่สำคัญคือคณะกรรมการบริหารประกันสังคมนั้นต้องมีความชัดเจนและโปร่งใสในการบริหารงานสามารถตรวจสอบได้

 

อนึ่งคณะกรรมการไตรภาคี คือ ผู้แทนที่ได้รับเลือกมาจาก 3 ฝ่าย อันได้แก่

1. ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้แทนจากภาครัฐ

2. ฝ่ายนายจ้าง คือ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง โดยสมาคมนายจ้างส่งเสนอชื่อและได้รับเลือกให้เป็นผู้แทน ในกรณีไม่มีสมาคมนายจ้างให้นายจ้างเสนอชื่อตัวแทนเข้าเสนอชื่อเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้างมา

3. ฝ่ายลูกจ้าง คือ ผู้ที่สหภาพแรงงานเป็นผู้เสนอชื่อตัวแทน ในกรณีที่ไม่มีสหภาพแรงงานให้คณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการส่งตัวแทนเสนอชื่อเข้ามาเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง

โดยหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคีนั้นจะแบ่งเป็นคณะย่อยๆอีกที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน, คณะกรรมการประกันสังคม, คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน, คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน, คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน, คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง, คณะกรรมการอุทธรณ์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม คณะกรรมการเหล่านี้มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ควบคุม เช่น คณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน ก็มีหน้าที่ในการกำหนดสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ส่วนคณะกรรมการประกันสังคม ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตราที่ 8 - 18 ระบุที่มาและอำนาจหน้าที่ไว้ดังนี้

มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการประกันสังคม" ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวง การคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณเป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่าย นายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละห้าคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการเป็น กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการก็ได้ รัฐมนตรีจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคนให้เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการ ก็ได้ ซึ่งในจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางระบบงานประกันสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิทาง การแรงงาน ผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้ทรงคุณวุฒิอื่น [ความในวรรคหนึ่งของ มาตรา 8 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537]

 มาตรา 9 คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 (1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม ตามพระราชบัญญัตินี้

 (2) พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาการออก กฎกระทรวง และระเบียบต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

 (3) วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การ จ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน

 (4) วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผล ประโยชน์ของกองทุน

 (5) พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการ ปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตามพระราชบัญญัตินี้

 (6) ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

 (7) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจ หน้าที่ของคณะกรรมการ หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานเป็น ผู้ปฏิบัติเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการต่อไปก็ได้

มาตรา 10 กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ สองปี กรรมการหรือที่ปรึกษาซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้ แต่จะ แต่งตั้งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

มาตรา 11 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตาม มาตรา 10 กรรมการหรือ ที่ปรึกษาซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

 (1) ตาย

 (2) ลาออก

 (3) รัฐมนตรีให้ออก

 (4) เป็นบุคคลล้มละลาย

 (5) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

 (6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับ ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรี แต่งตั้งบุคคลในประเภทเดียวกันตาม มาตรา 8 เป็นกรรมการแทน และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่ง เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

ในกรณีที่รัฐมนตรีแต่งตั้งที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ที่ปรึกษาซึ่งแต่งตั้งไว้แล้ว ยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระ ที่เหลืออยู่ของที่ปรึกษาที่ได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 12 ในกรณีที่กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งดำรงตำแหน่งครบตามวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไป พลางก่อน จนกว่ากรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่จะเข้ารับหน้าที่

มาตรา 13 การประชุมคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการการแพทย์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธาน กรรมการและกรรมการอื่น มีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบหกคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งและผู้แทนสำนักงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ประธานกรรมการและกรรมการอื่นตามวรรคหนึ่งให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ และให้อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี ให้นำ มาตรา 10 วรรคสอง มาตรา 11 มาตรา 12 และ มาตรา 13 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม [ มาตรา 14 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2537]

มาตรา 15 คณะกรรมการการแพทย์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

 (1) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานในการให้บริการทาง การแพทย์

 (2) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในการรับบริการทาง การแพทย์ของผู้ประกันตนตาม มาตรา 59 มาตรา 63 มาตรา 66 มาตรา 68 มาตรา 70 และ มาตรา 72

 (3) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตาม มาตรา 64

 (4) ให้คำปรึกษาและแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการคณะกรรมการ อุทธรณ์ และสำนักงาน

 (5) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการการแพทย์ หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย

มาตรา 16 คณะกรรมการหรือคณะกรรมการการแพทย์จะแต่งตั้งคณะ อนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการ หรือคณะกรรมการ การแพทย์มอบหมายก็ได้

การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำ มาตรา 13 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 17 คณะกรรมการ คณะกรรมการการแพทย์ และคณะอนุกรรมการ มีอำนาจสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งส่งเอกสารหรือข้อมูลที่จำเป็นมาพิจารณาได้ ในการนี้จะสั่งให้ บุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้

มาตรา 18 กรรมการ ที่ปรึกษา กรรมการการแพทย์ กรรมการอุทธรณ์และ อนุกรรมการ อาจได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการ ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวง การคลัง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net