Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

      
ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการในเดือนสิงหาคม 2557 ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ยกร่าง และเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ใช่ร่างกฎหมายใหม่ในยุคนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพยายามผลักดันมาตั้งแต่ในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นให้นำเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวไปรวมกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ.2505 อย่างไรก็ดีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพยายามผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวมาโดยตลอด เมื่อมีการรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาล คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

กฎหมายหนึ่งฉบับเมื่อมีผลบังคับใช้ย่อมอาจส่งผลดีผลร้ายต่อประชาชน การจะออกกฎหมายจึงต้องพิจารณาเหตุผลความจำเป็นอย่างถี่ถ้วนและได้ศึกษารับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ก่อนจะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่งนักกฎหมายหรือผู้อยู่ในกระบวนการตรากฎหมายทั้งหลายอาจจะต้องตั้งหลักถามใจตัวเองเสียก่อนว่า “กฎหมายคืออะไร” แต่โดยส่วนใหญ่แล้วทฤษฎีของสำนักกฎหมายบ้านเมือง(Legal Positivism) ที่ว่า “กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์” คงหยั่งรากลึกในสังคมไทย เมื่อเป็นเช่นนั้นเสียแล้วกฎหมายที่ออกมานั้นคงเป็นดังที่เคยมีผู้กล่าวว่า “กฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์ไม่อาจเป็นความอยุติธรรมได้ เพราะกฎหมายของรัฏฐาธิปัตย์นั้นเองเป็นผู้กำหนดความยุติธรรมความอยุติธรรม ความถูกผิด ความดีชั่ว”[1] ถ้าหากเป็นเช่นนั้นประชาชนคงต้องทำใจ เพราะจะแสวงหาเหตุผล สัจจะ ความชอบธรรมอันใดคงมิได้เลย คงได้แต่ก้มหน้ายอมรับกฎหมายที่ผู้ปกครองท่านสั่งมาเท่านั้น แม้นถ้านักกฎหมายที่มีอำนาจจะเชื่อถือว่า “กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์” ก็ขอภาวนาให้เห็นประชาชนเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ กฎหมายที่ออกมาจะได้รับใช้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยบ้าง แต่ในยุคสมัยนี้ผู้เขียนเองไม่แน่ใจเหมือนกันว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในการตรากฎหมายประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงหรือไม่ ยิ่งร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแล้ว ซึ่งมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนทั้งในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและศาสนา หรือในแง่ของความเป็นไปของพุทธศาสนาภายใต้กฎหมายดังกล่าว ยิ่งมีข้อน่ากังวลและต้องพิจารณา

      

หลักการความจำเป็นในการออกกฎหมาย      

ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการ ได้ให้เหตุผลต่อความจำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า “โดยที่ศาสนาเป็นสถาบันหลักในสามสถาบันของราชอาณาจักร คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งพุทธบริษัทสี่ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา ได้ใช้หลักธรรมในการสร้างศีลธรรมปัญญาและความเข้มแข็งของคนในชาติ อันเป็นหลักในการค้ำจุนมาตลอด สมควรที่รัฐและพุทธศาสนิกชนได้ร่วมมือร่วมใจกันในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงดำรงอยู่สืบไป รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” ผู้เขียนเองเห็นว่าชาวพุทธทุกคนควรที่จะอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา แต่ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องตราเป็นกฎหมายเพื่อให้รัฐมีกลไกในการสนับสนุนหรือคุ้มครอง เพราะเห็นว่ารัฐเองก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติต่อคนที่บอกว่าเป็นชาวพุทธด้วยกันเองอย่างเลือกปฏิบัติ พระพุทธศาสนาที่จะได้รับการอุปถัมภ์ตามกฎหมายนี้จึงน่าจะเป็นพระพุทธศาสนาทางการตามแบบฉบับของรัฐไทยเท่านั้น เห็นได้ชัดจากในเหตุผลข้างต้นแม้มีการกล่าวถึงพุทธบริษัทสี่ แต่เน้นโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ร่างกฎหมายนี้จึงเป็นการแสดงความไม่ยอมรับภิกษุณีสงฆ์อย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นว่าภิกษุณีสงฆ์หรือพระพุทธศาสนาที่ไม่เป็นทางการนอกจากไม่ได้รับการยอมรับแล้วอาจถูกกีดกันออกจากพื้นที่ทางพุทธศาสนาในประเทศไทยโดยกลไกตามกฎหมายนี้ นอกจากนั้นพระสงฆ์ที่เห็นต่างจากพระพุทธศาสนาทางการที่นำโดยมหาเถรสมาคมผู้มีอำนาจในการชี้หลักการถูกผิดในเรื่องศาสนาของรัฐไทย ก็อาจถูกจำกัดออกจากพื้นที่ทางพระพุทธศาสนาโดยอำนาจรัฐอย่างเข้มข้นขึ้น

การออกกฎหมายมาควบคุมประชาชนหรือพระสงฆ์ตามร่างกฎหมายนี้ ถ้าหากไม่ยอมรับอำนาจรัฐอย่างไม่แยแสต่อความเป็นธรรม หรือยอมจำนนให้ผู้มีอำนาจออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ เราก็ต้องแสวงหาเหตุผลความจำเป็นที่ถูกต้องในการออกกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะยึดถือทฤษฏีกฎหมายของสำนักกฎหมายบ้านเมือง ก็ขอให้องค์รัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอให้ทบทวนแนวคิดดังนี้

       
หลักการละเมิดของมิลล์ (Mill’s Harm Principle)[2]

ความมุ่งหมายเพียงประการเดียวของอำนาจที่จะสามารถใช้บังคับสมาชิกคนใดคนหนึ่งของสังคมที่เจริญแล้วอย่างชอบธรรมโดยฝืนเจตจำนงของเขา นั้นคือการป้องกันผลเสีย(Harm) ที่(เขา)ก่อให้แก่ผู้อื่น” กล่าวได้ว่ากฎหมายที่ดีนั้นต้องป้องกันไม่ให้ใครก็ตามในรัฐไปละเมิดก่อความเสียหายต่อผู้อื่น ตราบใดที่กฎหมายออกมาใช้บังคับเพื่อป้องกันไม่ให้คนในสังคมทำร้ายกันถือว่ากฎหมายดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของกฎหมายที่ดีที่สามารถบังคับประชาชนในรัฐได้

ถ้ากฎหมายถูกบัญญัติขึ้นตามหลักการของมิลล์ รัฐก็จะไม่มีหน้าที่บีบบังคับให้ประชาชนเป็นคนดี รัฐมีหน้าที่เพียงป้องกันประชาชนจากการเอารัดเอาเปรียบหรือจากการคุกคามของคนอื่น[3] ดังนั้นตามร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่มีกลไกในการเผยแผ่ศีลธรรม คำสอน และควบคุมพระสงฆ์ให้ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยจึงไม่ใช่ภารกิจของกฎหมายสำหรับประเทศที่เจริญแล้ว ส่วนกรณีที่กฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองการละเมิดพระพุทธศาสนาก็เป็นเรื่องของความรู้สึกทางจิตใจ ซึ่งกฎหมายไม่ควรเข้าไปบังคับในเรื่องความรู้สึก หากแม้นชาวพุทธทุกคนเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรมจริงไม่ควรเรียกร้องอำนาจรัฐเข้ามาจัดการในเรื่องศาสนา ต้องระลึกเสมอว่าใครก่อกรรมอันใดย่อมได้รับผลกรรมอันนั้น เรื่องของศาสนาจึงไม่ใช่ภารกิจของรัฐ การชี้นำให้คนทำดีมีศีลธรรมเป็นภารกิจของศาสนาที่จะต้องชี้แนะให้คนเกิดปัญญา

       
หลักการก้าวร้าวของไฟน์เบิร์ก (Feinberg’s Offensive principle)[4]

การออกกฎหมายตามหลักการดังกล่าว ซึ่งเป็นหลักการที่พัฒนามาจากหลักการของมิลล์ ที่เน้นเฉพาะการละเมิดต่อร่างกายเป็นหลัก มาสู่การละเมิดในทางจิตใจ ต้องสอดคล้องกับหลักการดังนี้ “ประการแรกการกระทำนั้นจะต้องสร้างผลกระทบในแง่จิตใจหรือความรู้สึกของคนอื่นๆเกือบทุกคน โดยต้องไม่จำเพาะเจาะจงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ประการที่สองการกระทำนั้นจะต้องมีผลกระทบในวงกว้างโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจเหล่านั้นรับรู้ถึงการกระทำที่กระทบจิตใจโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งรัฐจะต้องแยกให้ออกว่าการกระทำใดที่เพียงทำให้เกิดความรู้สึกขวางหูขวางตา และการกระทำใดที่เป็นการก้าวร้าวและก่อให้เกิดการละเมิดจิตใจอย่างแท้จริง[5]

เมื่อพิจารณาจากความมุ่งหมายของร่างกฎหมายดังกล่าว กรณีที่มุ่งหมายสอดส่องควบคุมพระให้ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ไม่แน่ชัดว่าการที่พระกระทำผิดพระธรรมวินัยบางข้อจะถึงขนาดสร้างผลกระทบต่อจิตใจกับชาวพุทธทุกคนในประเทศไทย เพราะอาจมีชาวพุทธบางส่วนที่เห็นว่าแม้พระท่านกระทำผิดพระธรรมวินัยก็มีกลไกทางพระธรรมวินัยในการจัดการไม่จำเป็นต้องอิงอาศัยอำนาจรัฐ แต่ถ้ากระทำผิดวินัยในข้อที่ส่งผลร้ายแรงต่อสังคมหรือไปละเมิดผู้อื่น เช่น ฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ก็มีประมวลกฎหมายอาญาหรือระบบกฎหมายปกติบังคับอยู่แล้ว นอกจากนั้นการกระทำผิดพระธรรมวินัยก็เป็นเรื่องของการกระทำของปัจเจกบุคคลที่ต้องรับผิดตามมโนธรรมด้วยตนเอง จะถือว่าการกระทำผิดวินัยของพระรูปหนึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อจิตใจแก่คนทั่วไปคงไม่ได้

ส่วนกรณีการละเมิดพระพุทธศาสนาปัจจุบันก็มีประมวลกฎหมายอาญาปกป้องอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นความผิดที่กระทำต่อวัตถุหรือศาสนสถาน[6]  ความผิดกรณีที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายที่ประชุมศาสนิกหรือที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา[7]  หรือความผิดกรณีแต่งกายเลียนแบบนักบวช[8]  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเพียงพอในการปกป้องศาสนาโดยใช้มาตรการโทษทางอาญาแล้ว ควรมีการทบทวนเสียด้วยซ้ำไปว่าที่ผ่านมาโทษที่ใช้บังคับมีผลดีผลเสียอย่างไร แต่ถ้าจะควบคุมไปถึงขั้นป้องกันไม่ให้มีการตีความศาสนาผิดเพี้ยนผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะมีปัญหาในการวินิจฉัยว่าใครเป็นผู้มีอำนาจในการตีความว่าแนวทางใดผิดหรือถูก แน่นอนว่าภารกิจในการตีความศาสนาอาจจะเป็นองค์กรศาสนาทางการของรัฐไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจนำมาสู่การใช้อำนาจรัฐในการกำจัดผู้ที่เห็นต่าง แม้นผู้ใดตีความศาสนาผิดเพี้ยนไปผู้เขียนเชื่อว่าชาวพุทธในสังคมไทยสามารถตรวจสอบและมีมาตรการในการไม่สนับสนุนหรือไม่ให้ความศรัทธาเชื่อถือได้โดยไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐในการจัดการ และเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทสี่โดยตรงที่จะชี้ให้ชาวพุทธด้วยกันเห็นสัจธรรมที่ถูกต้อง


หลักการคุ้มครองของผู้เป็นใหญ่ (Paternalism) ของเจอร์ราลด์ ดวอกิ้น(Gerald Dworkin)[9]

หลักการดังกล่าวคือ “บางกรณีรัฐสามารถออกกฎหมายมาควบคุมการกระทำของประชาชนได้ ถึงแม้ว่าการกระทำนั้นจะไม่ไปละเมิดผู้อื่น แต่การกระทำนั้นอาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อผู้กระทำเองและเป็นผลร้ายที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขเยียวยาในภายหลัง” อาจกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายเทคนิค เป็นเรื่องที่รัฐมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน เช่น กฎจราจร เป็นต้น เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองพุทธศาสนา โดยหนึ่งในวิธีการคือการควบคุมให้พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ผู้เขียนเห็นว่าการที่พระสงฆ์รูปหนึ่งกระทำผิดพระธรรมวินัยไม่ได้เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อพระรูปนั้นโดยไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ เพราะเมื่อกระทำผิดวินัยก็สามารถปลงอาบัติและปรับปรุงแก้ไขปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยได้ ถึงแม้จะกระทำผิดวินัยถึงขนาดต้องอาบัติปราชิกก็เพียงพ้นจากความเป็นพระ ขาดจากการเป็นธรรมทายาท แต่ไม่ได้สูญสิ้นความเป็นมนุษย์ในการที่จะแก้ไขปรับปรุงตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเทคนิคมากำกับคุ้มครองในเรื่องของศาสนาเกินจำเป็น

 อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวพยายามกล่าวถึงระบบศีลธรรม ความพยายามสร้างกลไกให้เยาวชนเข้าถึงศีลธรรมผ่านนโยบายการศึกษา เมื่อกล่าวถึงศีลธรรมกับกฎหมาย ถ้าหากบอกว่าศีลธรรมกับกฎหมายเป็นอย่างเดียวกันอย่างแยกกันไม่ได้เด็ดขาด หากเป็นการกล่าวเมื่อในอดีตนานมาแล้วคงรับฟังได้ว่าสังคมเมื่อในอดีตศีลธรรมของสังคมนั้นๆเป็นเครื่องชี้ถูกผิด แต่เมื่อเกิดวิชานิติศาสตร์อย่างแท้จริงขึ้นแล้วคำกล่าวที่ว่ากฎหมายกับศีลธรรมเป็นเรื่องเดียวกันไม่มีข้อแตกต่างกันเลยนั้น แสดงถึงความไม่เดียงสาในวิชานิติศาสตร์[10] แต่หากบอกว่ากฎหมายกับศีลธรรมแยกกันเด็ดขาดก็อาจทำให้รัฐผู้ออกกฎหมายตรากฎหมายโดยอำเภอใจไม่คำนึงถึงความเป็นธรรม หรือความยุติธรรมใดๆเลย อย่างไรก็ตามกฎหมายและศีลธรรมต่างเป็นปรากฏการณ์ในสังคมมนุษย์ แต่ด้วยการวิวัฒนาการและการคลี่คลายของสังคมทำให้ศีลธรรมและกฎหมายมีรูปลักษณะแตกต่างกัน จะแยกกันโดยเด็ดขาดนั้นไม่ได้ เพราะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด[11]

แม้ศีลธรรมจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกฎหมายก็ต้องพิจารณาว่าศีลธรรมแบบใดควรปรากฏตัวในกฎหมาย ควรเป็นพลังขับเคลื่อนในกฎหมาย หรือควรที่รัฐจะส่งเสริมให้พลเมืองของรัฐเกิดความเข้าใจ ศีลธรรมอาจแบ่งออกเป็น “ศีลธรรมแบบศรัทธา”[12]  คือศีลธรรมที่ศาสนิกชนของศาสนานั้นๆยอมรับตามมติ คำสั่งสอนของศาสนาตน การยอมรับนั้นอาจไม่ต้องการเหตุผลในการอธิบาย เช่น พุทธศาสนายอมรับว่าฆารวาสต้องถือศีล 5 พระต้องยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ส่วนศีลธรรมอีกอย่างหนึ่งได้แก่ “ศีลธรรมแบบวิพากษ์”[13] เป็นศีลธรรมซึ่งมีพื้นฐานมาจากการใช้เหตุผลมากกว่าการยึดถือด้วยใจศรัทธา เป็นศีลธรรมที่คนต่างศาสนากันก็สามารถยอมรับกันได้ เช่น การเห็นคุณค่าของชีวิตว่าไม่ควรมีการฆ่าเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นศีลธรรมที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกฎหมายควรเป็น “ศีลธรรมแบบวิพากษ์” เพราะจะทำให้สังคมที่มีผู้คนนับถือหลายศาสนาอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ การที่มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นความพยายามให้รัฐแสดงออกซึ่ง “ศีลธรรมแบบศรัทธา” ผ่านกฎหมายซึ่งอาจทำให้ศาสนิกของศาสนาอื่นรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม และพระพุทธศาสนาเองก็ถูกล่วงล้ำกำกับในเรื่องศีลธรรมจากรัฐมากเกินไป นอกจากนั้นศีลธรรมที่รัฐกำกับก็อาจผิดเพี้ยนไปในที่สุดเพราะถูกรัฐนำไปอธิบายความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐบางอย่าง การนำศีลธรรมแบบศรัทธาของพระพุทธศาสนามาออกเป็นกฎหมายโดยมีกลไกรัฐในการควบคุม แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าถ้าหากกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีผลใช้บังคับรัฐไทยจะควบคุมกำกับพุทธศาสนาอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของพระพุทธเจ้าที่ทรงประดิษฐานศาสนาให้เป็นอิสระจากรัฐ ชาวพุทธทุกคนจึงต้องตั้งสติและพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าร่างกฎหมายนี้จะมีขึ้นเพื่ออุปถัมภ์พุทธศาสนาหรือกำกับควบคุมพุทธศาสนากันแน่

แนวคิดทางพุทธศาสนาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างศีลธรรมกับกฎหมายเอง มีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือการให้น้ำหนักการเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอย่างสมดุลกับน้ำหนักส่วนที่ให้แก่สังคม เจตนารมณ์หนึ่งของพุทธศาสนาคือการให้เสรีภาพแก่บุคคลที่จะเลือก[14]  และเห็นได้ชัดเจนจากคำสอนเรื่องกาลามสูตรที่เปิดกว้างถึงขนาดทรงชี้ว่าอย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา ดังนั้นพุทธศาสนาจึงคงไม่ปรารถนาเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงในกิจการของศาสนามากนัก แต่คงประสงค์ให้คนในสังคมใช้เสรีภาพพิเคราะห์แสวงหาปัญญาด้วยตัวเองอย่างเต็มที่

ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค การออกกฎหมายดังกล่าวที่มีลักษณะแทรกแซงกิจการเรื่องศาสนาอาจขัดกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา การจะพัฒนาองค์ประกอบต่างๆของศาสนาก็ต้องรอการอุปถัมภ์จากรัฐไม่ได้เติบโตเข้มแข็งโดยตนเอง นอกจากนั้นการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงความเสมอภาคด้วย ไม่ว่าความเสมอภาคระหว่างศาสนา หรือความเสมอภาคระหว่างคนในศาสนาพุทธด้วยกันเองเพราะความเป็นศาสนาพุทธในประเทศไทยมีความหลากหลาย มีวิถีปฏิบัติที่ต่างกันอาจเป็นไปได้ว่าการสนับสนุนอุปถัมภ์ต่างๆพระสงฆ์อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการอุปถัมภ์ตามกฎหมายนี้ทุกกลุ่มทุกสาย

       
ภารกิจและกลไกของกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

ภารกิจตามกฎหมายนี้อาจแยกได้เป็น ภารกิจในการสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาและสถาบันสงฆ์ ภารกิจในการส่งเสริมให้พลเมืองของรัฐได้เข้าถึงคำสอนของพุทธศาสนา ภารกิจในเรื่องการศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งของพระสงฆ์ สามเณร เด็ก เยาวชน และประชาชน ภารกิจในการปกป้องกิจการเกี่ยวกับพุทธศาสนาไม่ให้ถูกละเมิด ภารกิจในการกำหนดนโยบายและแนวทางการอุปถัมภ์คุ้มครองและพัฒนากิจการของพระพุทธศาสนา ภารกิจในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนา และภารกิจในการควบคุมพระภิกษุสงฆ์ให้อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย เป็นต้น ภายใต้ภารกิจดังกล่าวมีกลไกในการทำงาน ได้แก่ คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด สำนักงานพระพุทธศาสนาที่จะเข้ามามีบทบาทตามกฎหมายนี้ กองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา และพระวินยาธิการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในการใช้อำนาจในทางปฏิบัติการ

คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีอำนาจหน้าที่สอดคล้องกับภารกิจของกฎหมาย มีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ผู้แทนมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนองค์กรศาสนาเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะเข้ามากำหนดนโยบายเรื่องศาสนาล้วนเป็นผู้ถืออำนาจรัฐทั้งฝ่ายบริหาร และข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ จึงแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่ารัฐเข้ามากำกับศาสนาอย่างเต็มขั้น กิจการแนวทางด้านศาสนาต้องเป็นไปตามกลไกของรัฐ ศาสนจักรไม่มีอิสระในการกำหนดเจตจำนงตนเอง หรือญาติโยม ชุมชน ชาวบ้านที่ใกล้ชิดกับวัดก็ไม่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านศาสนา แม้จะมีผู้แทนที่เป็นพระสงฆ์แต่ก็มาจากมหาเถรสมาคมซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นกลไกรัฐในเรื่องศาสนา อาจทำให้มีข้อสงสัยเรื่องความเป็นอิสระจากกลไกรัฐ ส่วนคณะกรรมการในระดับจังหวัดก็มีลักษณะโครงสร้างไม่ต่างกัน

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหมือนจะเติบโตและเข้มแข็งขึ้นตามภารกิจของกฎหมายดังกล่าว จึงอาจมีข้อสงสัยได้เหมือนกันว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีความพยายามที่จะสร้างบทบาทในทางศาสนาหรือไม่ กลไกเครื่องมือที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีอยู่ไม่เพียงพอต่อการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาหรือ ที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง นอกจากนั้นคนในสังคมบางกลุ่มได้ตั้งคำถามต่อศักยภาพของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วยซ้ำไปว่ามีประสิทธิภาพและความจำเป็นแค่ไหนต่อการทำงานด้านศาสนา

กองทุนอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าเหตุไฉนต้องมีกองทุนขึ้นอีก เมื่อสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติก็มีงบประมาณในการดำเนินการเรื่องพุทธศาสนาอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะมีกองทุนก็ไม่ควรมีสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ถ้ามีสำนักงานพระพุทธศาสนาฯก็ไม่ควรมีกองทุน นอกจากนั้นการนำเงินงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนมาใช้ในกิจการศาสนาอย่างซ้ำซ้อนเช่นนี้จะมีความเหมาะสมเพียงใดต่อสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของทุกศาสนาและในการไม่นับถือศาสนา ในเรื่องงบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับกิจการศาสนามีความเห็นที่น่าสนใจจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 295/2553 เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับการประกอบพิธีฮัจญ์ ว่า “...มาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย(2550) กำหนดให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมทางความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดังนั้นบุคคลจึงมีสิทธิที่จะใช้เสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง การที่หน่วยงานของรัฐจะให้การสนับสนุนการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งย่อมทำให้เกิดการกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นซึ่งนับถือศาสนาอื่นหรือไม่ได้นับถือศาสนาได้ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเห็นได้ว่า มาตรา 283 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 16 (11) และมาตรา 17 (18) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่หลักในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะในด้านต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และแม้จะมีกฎหมายบางฉบับ เช่น มาตรา 67 (5) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯและ (11) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ บัญญัติให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมศาสนาหรือทำนุบำรุงศาสนา แต่การส่งเสริมและสนับสนุนนั้นต้องเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนศาสนาหรือกิจการของศาสนาที่ให้ประโยชน์หรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป มิใช่การส่งเสริมและสนับสนุนศาสนิกชนในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของตน

เมื่อพิจารณาอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีความเห็นว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์อันเป็นการประกอบพิธีกรรมเฉพาะตัวสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่ถือว่าเป็นการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเป็นการส่งเสริมศาสนาหรือทำนุบำรุงศาสนาอันเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนเพื่อไปสักการะสังเวชนียสถานหรือประกอบพิธีการอื่นในลักษณะเดียวกันก็ย่อมไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นกัน”[15]  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการมีกองทุนหรือสนับสนุนงบประมาณแก่กิจการศาสนาย่อมทำให้กระทบกระเทือนเสรีภาพในการนับถือศาสนาของผู้ถือศาสนาอื่น หรือไม่ได้ถือศาสนา ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้เป็นกรณีของศาสนาอิสลามแต่ก็ได้กล่าวถึงกรณีการใช้งบประมาณเดินทางไปสังเวชนียสถานของศาสนาพุทธเช่นกัน ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาควรยืนยันในแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการถือศาสนาดังกล่าวและให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป ถ้าร่างกฎหมายนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาและยังคงมีเรื่องกองทุนที่สนับสนุนกิจการพุทธศาสนาดังกล่าวอาจทำให้เกิดความสงสัยต่อมาตรฐานการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา นอกจากนั้นอาจทำให้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธรู้สึกว่าได้รับความไม่เป็นธรรมและถูกเลือกปฏิบัติ

พระวินยาธิการซึ่งมีอำนาจในการควบคุมพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย การใช้อำนาจดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเดิมเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจของพระผู้มีอำนาจปกครองตามกฎหมาย ที่มีสถานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญากฎหมายนี้เป็นกฎหมายอีกฉบับที่จะทำให้พระมีสถานะเป็นพนักงานตามกฎหมายของรัฐ แต่เป็นเจ้าพนักงานที่ตรวจสอบได้ยาก โดยเฉพาะถ้าเข้าลักษณะการใช้อำนาจปกครองตามกฎหมาย ศาลปกครองก็จะไม่รับคำฟ้อง ดังเช่นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 ว่า “...ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โดยที่มาตรา 15 ตรี[16] มาตรา 15 จัตวา[17] และมาตรา 20[18] แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้คณะสงฆ์อยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และจะตรากฎ   มหาเถรสมาคมเพื่อจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์และกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทาง การปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนา และการปกครองคณะสงฆ์ก็ได้ เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ห้ามมิให้    ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติกิจทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับฆราวาสโดยไม่ให้เหตุผลและระบุความผิด   เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และได้ร้องเรียนไปยัง  เจ้าคณะตำบลห้วยเหนือแล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจและไม่สั่งการ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ในฐานะพระสังฆาธิการสั่งให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติ  อย่างหนึ่งอย่างใดในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของสงฆ์ อันเป็นการใช้อำนาจทางการปกครองคณะสงฆ์และเป็นคำสั่งในกิจการปกครองของคณะสงฆ์ ซึ่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เป็นกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการปกครองคณะสงฆ์ ด้านการดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้เป็นระบบต่างหากแล้ว กรณีที่ผู้ฟ้องคดีนำมาฟ้องนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำทางปกครองของ  เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้อำนาจบริหารที่ศาลปกครองจะมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบได้ การที่ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีนั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล

จึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองเห็นว่าเรื่องศาสนาไม่เป็นการกระทำทางปกครอง โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองเห็นว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายได้ล้ำออกมาจากกิจการของศาสนาแล้ว บางการกระทำจึงอาจมีลักษณะเป็นการกระทำทางปกครองได้ แม้มาตรา 4[19] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 จะบัญญัติว่ามิให้ใช้บังคับกับการดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา แต่เมื่อเจาะจงเฉพาะศาสนาพุทธเห็นว่าเป็นศาสนาเดียวที่มีการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายคือมหาเถรสมาคม เมื่อองค์กรศาสนาเป็นองค์กรจัดตั้งตามกฎหมายจึงย่อมมีการใช้อำนาจรัฐ นอกจากนั้นเมื่อดูพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9[20]  เขตอำนาจศาลปกครองเห็นว่าเรื่องที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองที่กฎหมายบัญญัติไว้ไม่บัญญัติถึงเรื่องการดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1/2545 อาจจะยกเหตุว่าเรื่องขององค์การศาสนาไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 การที่ผู้ถูกฟ้องซึ่งเป็นพระไม่ระบุเหตุผลและความผิดจึงดำเนินการถูกต้องแล้วตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505  แต่อย่างไรก็ตามยังสร้างความคลุมเครือถึงการกระทำขององค์การศาสนาในกรณีอื่นๆที่อาจเข้าลักษณะการกระทำทางปกครอง  การที่ศาลปกครองบอกว่า “...ด้านการดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนาที่มีการวางแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมทางการปกครองไว้เป็นระบบต่างหากแล้ว...” คงหมายถึงการดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 11 (พ.ศ.2521) เรื่องการลงนิคหกรรม การลงนิคหกรรมความหมายแท้จริงแล้วคือการลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระวินัย นิคหกรรมไม่ใช่โทษตามกฎหมายบ้านเมือง แต่เป็นโทษฐานละเมิดพระวินัยสำหรับพระภิกษุ[21]  ผู้เขียนเองไม่มั่นใจว่าการดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมจะมีหลักประกันความยุติธรรมอย่างเพียงพอแก่พระภิกษุผู้ถูกปกครอง และเห็นว่าไม่มีหลักประกันเพียงพอว่าพระชั้นปกครองจะไม่ใช้การลงนิคหกรรมในกรณีอื่นที่นอกเหนือเรื่องการกระทำผิดพระวินัย การที่รัฐออกกฎหมายให้พระสงฆ์ชั้นปกครองมีอำนาจปกครองตามกฎหมาย มีเครื่องมือกลไกที่ได้รับจากรัฐนอกเหนือจากพระธรรมวินัย แต่รัฐไม่ใช้กลไกในกระบวนการยุติธรรมของรัฐตรวจสอบเห็นจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งในตัวเอง ถ้าไม่เช่นนั้นรัฐก็ควรยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐแก่พระสงฆ์ชั้นปกครองทั้งหมดเสียและให้พระสงฆ์ปกครองกันเองตามพระธรรมวินัย ภายใต้ความคลุมเครือไม่ชัดเจนของกระบวนการยุติธรรมต่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขององค์การทางศาสนา การบัญญัติเรื่องพระวินยาธิการในร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีกและจะซ้อนทับจนยากจะแก้ไข

ประเด็นเรื่องบทกำหนดโทษตามร่างกฎหมายฉบับนี้เองก็มีปัญหาหลายประการ ถ้าบทกำหนดโทษออกมาใช้บังคับจะสร้างความเสียหายและกระทบสิทธิประชาชนอย่างมาก แต่ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงเนื่องจากมหาเถรสมาคมได้มีมติที่ 607/2557 ให้ตัดบทกำหนดโทษออก แต่ก็ต้องจับตาว่าบทกำหนดโทษดังกล่าวจะกลับมาอีกหรือไม่ เพราะบทกำหนดโทษเดิมมีความคลุมเครืออาจก่อให้เกิดปัญหาในการตีความกฎหมาย

       
บทสรุปและข้อเสนอแนะ

ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีปัญหาหลายประการ 

ประการแรกร่างกฎหมายดังกล่าวทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงกิจการของศาสนาซึ่งไม่ใช่ภารกิจของรัฐ และรัฐเข้ามากำกับกิจการพระพุทธศาสนาอย่างเบ็ดเสร็จผ่านกลไกในกฎหมาย กิจการพระพุทธศาสนาจะเป็นเช่นไรในอนาคตจึงขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น

ประการที่สองร่างกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐเลือกปฏิบัติต่อศาสนา ความเชื่ออื่นๆ และอาจเลือกปฏิบัติต่อพุทธบริษัทสี่ในพระพุทธศาสนาที่มีความเห็น ความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติแตกต่างไปจากพระพุทธศาสนาแบบทางการของรัฐไทย ซึ่งจะทำให้กระทบกระเทือนเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาของกลุ่มบุคคลที่รัฐไม่อุปถัมภ์และคุ้มครอง

ประการที่สามร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้พระจำนวนหนึ่งเป็นเสมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้ามามีบทบาทหน้าที่ในทางโลก ซึ่งอาจผิดวิสัยของผู้ครองเพศบรรพชิต นอกจากนั้นจะทำให้องค์การศาสนาที่รัฐจัดตั้งกล่าวคือมหาเถรสมาคมเข้ามามีบทบาทในการตีความกฎหมายดังกล่าวในฐานะผู้ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐว่ามีความเชี่ยวชาญในเรื่องพระธรรมวินัย อุดมการณ์ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาจึงถูกผูกขาดให้เป็นไปตามแบบฉบับของรัฐส่วนกลางเท่านั้น

ประการที่สี่การใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับเรื่องศาสนาที่คลุมเครือ พระสงฆ์ที่ถูกปกครองหรือพระสงฆ์ที่ไม่มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับอำนาจส่วนกลางก็อาจไม่ได้รับความยุติธรรมในการดำเนินการตามกฎหมายนี้ เพราะรัฐไม่เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามกฎหมายขององค์การศาสนา


ประการที่ห้าภารกิจของร่างกฎหมายนี้ในเรื่องการส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา จะแทรกซึมเข้าสู่การศึกษาในระบบ ความเข้าใจเรื่องพระพุทธศาสนาของเด็ก เยาวชนและประชาชน จะเป็นไปตามแบบฉบับของรัฐที่อยากให้เข้าใจเท่านั้น การแสวงหาสัจธรรมเพื่อพัฒนาจิตวิญญาณจึงถูกตีกรอบมากขึ้น

       
ผู้เขียนเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีปัญหาที่จะต้องให้สังคมได้ถกเถียง ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายควรยับยั้งร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อน และเปิดให้พุทธบริษัทสี่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ผู้มีอำนาจต้องตระหนักว่าไม่ควรให้อำนาจรัฐเข้ามาก้าวก่ายกิจการของศาสนามากเกินไป เพราะไม่ใช่ภารกิจโดยตรงของรัฐในระบอบประชาธิปไตย รัฐไทยแม้จะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ แต่รัฐไทยในระบอบประชาธิปไตยก็ต้องไม่สร้างกลไกอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภาพบนความหลากหลายของประชาชน ผู้เขียนได้วิเคราะห์ร่างกฎหมายดังกล่าวบนฐานความคิดจิตใจที่เป็นพุทธศาสนิกชนและเห็นแนวทางการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่เคารพนับถือ ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกับรัฐไม่ขัดแย้งกับรัฐ ไม่เรียกร้องประโยชน์ใดๆให้รัฐอุปถัมภ์เป็นพิเศษ ดำเนินกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยอาศัยความร่วมแรงร่วมใจระหว่างวัดกับบ้าน และไม่แอบอิงหรือแสวงหาอำนาจยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่ารัฐต้องไม่เข้ามากำกับกิจการของพระพุทธศาสนามากเกินไป และพุทธบริษัทสี่เองถ้าหากอยากให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งอย่างแท้จริงต้องไม่เรียกร้องอำนาจรัฐเข้ามาจัดการดูแลเรื่องศาสนา ผู้เขียนได้แต่หวังว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกยับยั้งโดยผู้มีมโนธรรมสำนึกและมีความเคารพในหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค จนทำให้ร่างกฎดังกล่าวตกสลายหายไป บทความนี้ผู้เขียนวิเคราะห์จากร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการหากมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆในร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปในทางที่ดีขึ้นแล้วผู้เขียนต้องขออภัยและขออนุโมทนาในจิตกุศลด้วย และถ้าหากบุคคลใดมีจิตคิดจะยับยั้งร่างกฎหมายนี้เพราะเห็นว่าขัดกับหลักการที่ถูกต้องก็ขออนุโมทนาสาธุการอย่างยิ่ง

 

 

 

 

[1] สมยศ เชื้อไทย,นิติปรัชญาเบื้องต้น,พิมพ์ครั้งที่ 12,(กรุงเทพ:วิญญูชน,2556), น.124.

[2] พิพัฒน์ พสุธารชาติ,รัฐกับศาสนาบทความว่าด้วย อาณาจักร ศาสนจักร และเสรีภาพ,พิมพ์ครั้งที่ 3,(กรุงเทพฯ : ศยาม), น. 168.

[3] เพิ่งอ้าง น.170.

[4] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 2,น.172.

[5] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 2,น. 174.

[6] ประมวลกฎหมายอาญา “ มาตรา 206 ผู้ใดกระทำการใดๆแก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

[7] ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกันนมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

[8] ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 208 ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใด โดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

[9] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 2, น.175.

[10] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1,น.172.

[11] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 1,น.176.

[12] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 2,น.183.

[13] อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 2,น.185.

[14] สมภาร พรมทา,ศีลธรรมกับกฎหมายมุมมองจากพุทธศาสนา,วารสารพุทธศาสนาศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 5 (ฉบับที่ 2-3),พฤษภาคม-ธันวาคม 2551,น .52

[15] อานนท์ มาเม้า,การแบ่งแยกระหว่างรัฐกับศาสนจักร : มโนทัศน์ทางนิติปรัชญาและกฎหมายมหาชน,(กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เดือนตุลา,2557),น.90-95.

[16] พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 “มาตรา 15 ตรี มหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

            (1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

            (2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

            (3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแพร่ การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ของคณะสงฆ์

            (4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

            (5) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น

            เพื่อการนี้ ให้มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฎมหาเถรสมาคม ออกข้อบังคับ วางระเบียบ ออกคำสั่ง มีมติหรือออกประกาศ โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายและพระธรรมวินัยใช้บังคับได้ และจะมอบให้พระภิกษุรูปใดหรือคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา 19 เป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่งก็ได้

 

[17] พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 “มาตรา 15 จัตวา เพื่อรักษาหลักพระธรรมวินัยและเพื่อความเรียบร้อยดีงามของคณะสงฆ์ มหาเถรสมาคมจะตรากฎมหาเถรสมาคม เพื่อกำหนดโทษหรือวิธีลงโทษทางการปกครองสำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ประพฤติให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและการปกครองของคณะสงฆ์ก็ได้

            พระภิกษุและสามเณรที่ได้รับโทษตามวรรคหนึ่ง ถึงขั้นให้สละสมณเพศต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ”

[18] พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 “มาตรา 20 คณะสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

            การจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม”

[19] พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 “มาตรา 4 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่...

            (9) การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา...”

[20] พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 “มาตรา 9 ...เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง

            (1) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร

            (2) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

            (3) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น”

[21] ปลื้ม โชติษฐยางกูร,คำบรรยายกฎหมายคณะสงฆ์, พิมพ์ครั้งที่ 2,กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,พฤศจิกายน 2553,น.199.

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net