Skip to main content
sharethis

 บรรยากาศ การทำงานของเจ้าหน้าที่ จุดตรวจสามแยกบ้านด่านทับกำ จ.พังงา

ความพยายามของชาวตะกั่วป่าในการสกัดกั้นขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้นักค้ามนุษย์ใช้บ้านของพวกเขาเป็นทางผ่านและเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวมุสลิมโรฮิงญาให้ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาต่อสู้กับขบวนการอาชญากรรมที่ใหญ่โตโดยลำพังในขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบยังไม่มีแนวทางการจัดการปัญหาที่ชัดเจน

อำเภอตะกั่วป่า เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ยุทธศาสตร์ของการลักลอบพาชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย เนื่องจากทั้ง 4 อำเภอ คือ อ.กะเปอร์ อ.สุขสำราญ จ.ระนอง และ อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี จ.พังงา มีชายฝั่งที่เป็นป่าชายเลน ต่างจากบริเวณอื่นที่เป็นหาดทราย นายหน้าสามารถลักลอบพาคนขึ้นฝั่งโดยอาศัยป่าเป็นที่กำบังก่อนเดินทางต่อไปมาเลเซียโดยรถยนต์

ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามาในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่าตั้งแต่ปี 2545-2547 ช่วงแรกเป็นการเดินทางมาเองโดยใช้เรือประมงเล็ก จนกระทั่งปี 2555-2556 จึงเริ่มมีขบวนการนายหน้าลักลอบนำพาชาวโรฮิงญาไปยังประเทศมาเลเซียอย่างเป็นระบบ ในเดือนตุลาคม 2557 นายอำเภอตะกั่วป่านำกำลังชาวบ้านจับกุม ขบวนการลักลอบนำพาชาวโรฮิงญาได้ 2 ครั้ง สามารถจับกุมนายหน้าได้ 3 คน และช่วยเหลือชาวโรฮิงญาซึ่งมีทั้งผู้หญิงและเด็กอยู่ด้วย รวมทั้งหมด 134 คน และในเดือนมกราคม 2558 จับกุมขบวนการได้อีก 1 ครั้ง จับนายหน้าได้ 1 คน และช่วยเหลือชาวโรฮิงญาได้ 53 คน

ชาวโรฮิงญาเหล่านี้จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า และกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนประเทศบังคลาเทศและพม่า พวกเขาหนีจากบ้านเกิดเนื่องจากปัญหาความรุนแรงภายในประเทศพม่า และความยากจน โดยหลงเชื่อว่านายหน้าจะพาออกนอกประเทศไปหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศมาเลเซีย แต่สุดท้ายกลับถูกขายต่อเป็นทอดๆ ถูกซ้อมทรมาน และถูกกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่แลกกับอิสรภาพที่จะเดินทางไปพบครอบครัวในประเทศมาเลเซีย

นายอำเภอตะกั่วป่า นายมานิต เพียรทอง เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ตะกั่วป่า เขาเห็นปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทุกส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอำเภอตะกั่วป่าที่มีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว ท่านนายอำเภอมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์การค้ามนุษย์จะคลี่คลายลงได้ด้วยความเชื่อและศรัทธาในชีวิตเพื่อนมนุษย์ เห็นคนเป็นคนเท่าเทียมกันและไม่สนับสนุนการค้าขายคนจึงนำไปสู่การระดมอาสาสมัครชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดตั้งด่านตรวจเพื่อสกัดกั้นขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่ด่านทับกำ มีอาสาสมัครเฝ้าด่านตลอด 24 ชั่วโมง เป็น 4 ผลัด ผลัดละ 6 ชั่วโมงและจัดตั้งทีมออกลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำเป็นประจำทุกคืน

กองกำลังชาวบ้านที่อาสามาต่อสู้กับขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ในสมรภูมิตะกั่วป่านี้ไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆจากรัฐ พวกเขาเสียสละและเสี่ยงอันตรายเพื่อป้องกันบ้านเกิดของตนโดยไม่มีเบี้ยเลี้ยง หรือค่าตอบแทนอื่นใด มีแต่ชาวบ้านที่หอบหิ้วข้าวปลาอาหารมาแบ่งปันให้กับเพื่อนที่มาเฝ้าด่าน หรือเสียสละเรือประมงของตนให้เพื่อนใช้ออกลาดตระเวนยามกลางคืน ท่านนายอำเภอกล่าวว่าการทำงานด้วยใจของชาวบ้านเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้กองกำลังชาวบ้านยังยืนหยัดต่อสู้มาจนทุกวันนี้ เพราะหากพวกเขาทำเพราะหวังค่าตอบแทน นายหน้าที่มีอยู่จำนวนมากก็พร้อมที่จะเอาเงินจำนวนมากกว่าเบี้ยเลี้ยงหลายเท่ามาเสนอให้เช่นกัน 

ความพยายามของชาวบ้านตะกั่วป่าไม่สูญเปล่า สืบเนื่องจากการจับกุมขบวนการนายหน้าค้าชาวโรฮิงญาครั้งล่าสุดที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานได้ว่าการตั้งด่านทับกำของชาวบ้านตะกั่วป่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้นายหน้าเปลี่ยนเส้นทางไปยังอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย

ปัจจุบันชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งได้รับการดูแลโดยบ้านพักเด็กและครอบครัว อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยได้รับเงินอุดหนุนจากต้นสังกัดคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นค่าอาหาร 57 บาท/หัว/วัน แม้ว่าบ้านพักเด็กและครอบครัวจะไม่ได้มีภารกิจโดยตรงในการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ แต่เจ้าหน้าที่บ้านพักได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะดูแลพวกเขาตามหลักมนุษยธรรม

นักจิตวิทยา ผู้รับผิดชอบดูแลชาวโรฮิงญาที่อยู่ในบ้านพักฯจำนวนทั้งสิ้น 28 คน เล่าว่าทุกวันศุกร์จะพาชาวโรฮิงญาโดยเฉพาะเด็กๆออกไปละหมาดที่มัสยิดทุ่งมะพร้าว และบางคราวก็พาไปซื้อข้าวของใช้ประจำวันที่ซูเปอร์มาร์เกตใกล้ๆ เธอบอกว่าชาวบ้านในชุมชนมีความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และพยายามให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ ทั้งนี้จากการประเมินสุขภาพจิตพบว่าเด็กชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มีภาวะซึมเศร้าเนื่องจากอยู่ห่างครอบครัวและได้รับความกระทบกระเทือนต่อจิตใจจากเหตุการณ์เลวร้ายที่ผ่านมา

เด็กชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่ง เล่าว่าเขาถูกจับลงเรือ มีคนจับเขาไปขังเอาไว้ บนเรือมีคนถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกฆ่า ระหว่างเดินทางทุกคนจะมีอาการอ่อนเพลียตลอดเวลา เขาสงสัยว่านายหน้าได้ผสมยาลงในอาหารของเขา เพราะหากไม่กินจะบังคับเอานมผสมยากรอกปากด้วยหลอดฉีดยา

“อยากช่วยเหลือครอบครัวจึงตัดสินใจลงเรือ” เป็นคำพูดของเด็กวัย 9  ขวบคนหนึ่งที่อยู่ในบ้านพัก “อยู่บ้านพักสนุกสนาน สะดวกสบาย อิ่มและได้หัวเราะ แต่ครอบครัวในบังคลาเทศยากจน ต้องออกไปหางานทำ”

ลายมือหนึ่งในเด็กชายชาวโรฮิงญาที่เขียนบรรยายถึงเหตุการณ์ ระหว่าง การเดินทาง ก่อนจะถูกจับและอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดพังงา

โดยหลักการตามกฎหมายค้ามนุษย์การดูแลผู้ประสบปัญหาที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะและมีสถานที่ที่เหมาะสม กฎหมายกำหนดให้ส่งผู้เสียหายไปอยู่ในสถานคุ้มครองที่จัดบริการสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์โดยเฉพาะ แต่สำหรับกรณีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมากจนสถานคุ้มครองในพื้นที่ภาคใต้ดูแลไม่ไหวจึงต้องจัดให้บางส่วนมาอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพังงาก็ได้ใช้ความพยายามในการดูแลอย่างเต็มความสามารถ อย่างไรก็ดี หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดพังงา เห็นว่า ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงสถานที่ให้พร้อมเป็นสัดส่วน มีห้องแยกหญิงชายและจัดการอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อการช่วยเหลืออย่างตรงจุด เช่น กิจกรรมบำบัด มีทีมสหวิชาชีพที่สามารถดูแลและคุ้มครองผู้เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านการคุ้มครองสิทธิและการฟื้นฟูเยียวยาร่างกายและจิตใจ

เนื่องด้วยระยะเวลาการดำเนินคดีที่ยาวนาน ประกอบกับรัฐบาลไม่มีแนวทางในการช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชาวโรฮิงญาที่หนีภัยความตายมาจากประเทศพม่า ทำให้ชาวโรฮิงญาในบ้านพักเกิดความกลัวว่าจะถูกส่งกลับประเทศหรือการอยู่ในบ้านพักแบบไร้อนาคต ง่ายต่อการชักจูงใจของนายหน้า สำหรับนายหน้าชาวโรฮิงญา กลุ่มนี้ คือ ผลประโยชน์ก้อนใหญ่ นายหน้าสามารถนำพวกเขาไปขายต่อให้กับนายหน้าในมาเลเซีย หรือเรียกค่าไถ่จากญาติพี่น้องได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 30,000 บาท เจ้าหน้าที่บ้านพักเล่าว่าในเวลากลางคืนมักมีนายหน้าขับรถวนรถมาดูลาดเลาบ่อยๆ บางครั้งพวกเขาโยนโทรศัพท์มือถือข้ามรั้วเพื่อติดต่อให้เด็กในบ้านพักหลบหนี จนต้องประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองให้มาช่วยดูแลความปลอดภัยและดักจับนายหน้า

ฮามิช เด็กชายคนหนึ่งที่หลบหนีออกจากบ้านพัก ได้ติดต่อกลับมาหาเจ้าหน้าที่บ้านพักเพื่อแจ้งว่าปลอดภัยดี และเล่าว่าขณะอยู่ในบ้านพักเขาได้ติดต่อกับนายหน้าคนหนึ่งผ่าน โทรศัพท์มือถือที่นายหน้าโยนข้ามรั้วแล้วนำไปซ่อนเอาไว้ในดงต้นเข็ม หลังจากหลบหนีออกไปกับนายหน้าคนดังกล่าวแล้ว เขาถูกขายต่อไปยังมาเลเซียให้กับนายจ้างคนหนึ่งในราคา 35,000 บาท แต่ปัจจุบันได้ใช้หนี้สินหมดแล้ว เขาได้งานใหม่ในคาร์แคร์แห่งหนึ่งและส่งเงินกลับไปให้ทางบ้านเดือนละ 10,000 บาท

การดำเนินคดีกับขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีหลักฐานการนำพา การหลอกลวง และการซ้อมทรมานผู้เสียหาย แต่การจะขยายผลไปถึงหัวหน้าขบวนการที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงข้ามประเทศนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างผู้บังคับใช้กฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนั้นยังมีปัญหาในการตีความกฎหมายค้ามนุษย์ที่หน่วยงานหลายฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน บ้างมองว่าการที่ชาวโรฮิงญาสมัครใจเดินทางมากับนายหน้าเองไม่ถือว่าถูกหลอกลวง หรือมองว่าความผิดฐานค้ามนุษย์ยังไม่สำเร็จเนื่องจากยังไปไม่ถึงปลายทางจึงยังสรุปไม่ได้ว่าจะเป็นการแสวงประโยชน์หรือไม่ ในขณะที่อีกฝ่ายมองว่าความผิดฐานค้ามนุษย์เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากมีการแสวงประโยชน์จากผู้เสียหายด้วยการขายต่อเป็นทอดๆ และขูดรีดเอาเงินค่าไถ่

รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานหรือแนวทางในการใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการวินิจฉัยคดีค้ามนุษย์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย ดังเช่นกรณีการจับกุมขบวนการที่เกิดขึ้นล่าสุดในเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมาที่พบว่าชาวโรฮิงญากลุ่มที่ถูกจับที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และที่   อ.หัวไทรจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นเดินทางมาจากประเทศพม่าด้วยเรือลำเดียวกัน แต่กรณีที่หัวไทรคัดแยกว่าเป็นกรณีการค้ามนุษย์ในขณะที่พังงาเป็นคดีลักลอบเข้าเมือง

การต่อสู้กับขบวนการนายหน้าค้ามนุษย์ที่สมรภูมิตะกั่วป่ายังคงดำเนินต่อไป ไม่มีใครรู้ว่าก่อนหน้าฤดูมรสุมในปีนี้จะมีชาวโรฮิงญาถูกนำพาเข้ามาอีกสักกี่ร้อยคน ความพยายามของชาวบ้านตะกั่วป่าที่จะขจัดขบวนการค้ามนุษย์และคืนความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเกิดของตนจะบรรลุผลหรือไม่ คงต้องฝากความหวังไว้ที่ผู้รักษากฎหมายในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า ตลอดจนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะไม่ปล่อยให้ชาวตะกั่วป่าต้องต่อสู้เพียงลำพัง 

 

หมายยเหตุ : เดิมชื่อรายงานนี้ว่า ‘สมรภูมิตะกั่วป่า’  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net