คุยหลังฉายหนัง CITIZENFOUR: เมื่อโลกไซเบอร์ไม่อาจรักษาความลับ

เสวนา " Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" หลังชมภาพยนตร์ Citizenfour ก้อง ฤทธิ์ดี ชี้ว่าความคิดของเราเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรที่จะให้คนล่วงรู้ตลอดเวลาในนาม "ความมั่นคงของชาติ" อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กล่าวว่า หากออกกฎหมายหรือเทคโนโลยีด้านไซเบอร์แล้วทำให้ "คนอีกฝั่ง" มีอำนาจเหนือตัวเรา แบบนี้ไม่เข้าท่า

 

 

ไฮไลท์จากการเสวนา "Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" รับชมคลิปฉบับเต็มคลิกที่นี่

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ SF Cinema เซ็นทรัลเวิร์ด มีการเสวนา "Citizenfour หนัง-คอมพ์-คน-พลเมืองดิจิทัล" โดยเป็นการเสวนา ในช่วงที่มีการฉายภาพยนตร์ Citizenfour หรือ พลเมืองสี่: แฉกระฉ่อนโลก โดย Documentary Club ซึ่งฉายสารคดีเรื่องดังกล่าวในโรงภาพยนตร์เครือ SF ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. และมีการเพิ่มรอบฉายจนถึงวันที่ 31 มี.ค.

โดยวิทยากรในการเสวนาประกอบด้วย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network), พิชญพงษ์ ตันติกุล กลุ่ม 2600 Thailand และ ก้อง ฤทธิ์ดี คอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ดำเนินรายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz

000

พิชญพงษ์ ตันติกุล กล่าวว่า จากที่เห็นในภาพยนตร์ ในชีวิตจริงก็เคยเห็นคนพกอุปกรณ์หลายอย่าง เช่น พกมือถือหลายเครื่อง เผื่อระบบล่ม จะใช้อีกเครื่องอีกเครือข่ายเพื่อติดต่อได้ หรือพกโน๊ตบุคหลายเครื่องเผื่อถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบข้อมูลในโน๊ตบุ๊ค ก็จะมีการเข้ารหัสข้อมูลในโน๊ตบุคเพื่อไม่ให้คนเข้ามาถือ

หรือการส่งข้อมูลทางอีเมล์ เราสามารถถูกโจมตีได้ตลอดเวลา เราใช้อินเทอร์เน็ตหรือไวไฟ อาจถูกคนที่ใช้ไวไฟเดียวกับเรา ถ้าเราไม่เข้ารหัสข้อมูล ก็อาจถูกขโมยข้อมูล ในภาพยนตร์จะเห็นการถอดรหัสข้อมูลแบบ GnuPG และสุดท้ายก็ออกมาเป็นข้อความที่อ่านได้

กรรณิการ์ ถามด้วยว่า รู้สึกตกใจไหมว่าประเทศสหรัฐอเมริกาทำขนาดหรือ ประเทศที่ร่วมมือกันทำแบบนี้ พิชญพงษ์กล่าวว่า มีความเป็นไปได้หากประเทศหลายฝ่ายร่วมมือกัน ทุกวันนี้เวลาเราส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ด้านหลังจากไอเอสพี เราไม่รู้เลยว่าระหว่างทางที่เราส่งข้อมูลจนถึงสหรัฐอเมริกา จนถึงเฟซบุ๊ค จะมีใครดักเก็บข้อมูลหรือเปล่า เป็นเรื่องที่เราคาดเดาไม่ได้ เรารู้แค่จากจุดเราไปถึงจุดนี้เท่านี้เอง

ก้อง ฤทธิ์ดี กล่าวว่า ประเด็นของหนังก็คือ ความสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติ กับ สิทธิส่วนบุคคล ความสมดุลอยู่ที่ไหน แต่ละที่ความสมดุลอาจต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น กับคำพูดที่ว่า "ถ้าไม่ทำผิดก็ไม่ต้องกลัวอะไร" นั่นก็แปลก หรือ "ถ้าอย่างนั้นผมขอพาสเวิร์ดได้ไหม ผมไม่เอาไปทำอะไรหรอก ผมเป็นคนดี" นึกออกไหมครับ

"สำหรับผมคิดว่าความคิดของเราเป็นของศักดิ์สิทธิ์ คือเราจะเลือกแชร์ความคิดนั้นกับใครอยู่ที่เรา ไม่ควรมีใครจะบอกว่า "ผมสามารถรู้ความคิดคุณได้ตลอดเวลาเพราะนี่คือเรื่องความมั่นคงของชาติ" ผมไม่คิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดีสำหรับในสังคมซึ่งต้องการมีประชาธิปไตย หรือสังคมซึ่งสนับสนุนให้เกิดการถกเถียง มี "Free discussion" เพราะเรามีคนที่รู้ตลอดเวลาว่าเราคิดอะไร และเป็นคนที่เราไม่อยากให้รู้ หรือไม่พร้อมจะให้รู้ มันคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ข้ออ้างที่ว่า "ความมั่นคงของชาติ" โอเคมันมี แต่กลไกทางกฎหมายที่จะล็อคไว้เป็นชั้นๆ จะมีแค่ไหน"

"จากในภาพยนตร์ จะเห็นว่าการขอข้อมูลในสหรัฐอเมริกา กับพลเมืองตัวเองต้องขอหมายศาล แต่คนที่ไม่ใช่พลเมืองตัวเองไม่ต้องขอหมายศาล ซึ่งสำหรับเอ็ดเวิร์ด สโนวเดนเขาคิดว่าไม่แฟร์ ผมก็คิดว่าไม่แฟร์ ผมคิดว่าขั้นตอนการล็อคทางกฎหมายควรมีอยู่กี่ขั้น ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ผมเชื่อว่าต้องมีเพื่อการรักษาสมดุลระหว่างความคิดของเรากับประโยชน์ส่วนร่วม เรื่องนี้ถกเถียงกันได้ แต่กลไกทางกฎหมายมันแน่นหนาพอหรือเปล่า และกลไกนั้นเราสามารถถกเถียงกันหรือแชร์กันเพื่อตกลงกันว่ากลไกอยู่แค่ไหนหรือเปล่า ไม่ใช่อยากได้แบบนี้ก็จะเอาแบบนี้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่กระทบสิทธิส่วนบุคคลของเรา"

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กล่าวว่าถึง ระบบอินเทอร์เน็ตแบบไม่ได้เข้ารหัสเปรียบเทียบกับระบบไปรษณีย์ว่า "ทุกๆ ครั้งเวลาเราส่งข้อมูล เหมือนเราส่งโปสการ์ด เราเขียนข้อความไปหย่อนที่ตู้ ถึงเวลามีบุรุษไปรษณีย์มาไขตู้ เอาโปสการ์ดไปที่ไปรษณีย์ที่เขต และเขตจะรวบรวมไปศูนย์คัดแยก และศูนย์คัดแยกก็ส่งที่เขตนั้น จังหวัดนั้น ส่งไปที่ไปรษณีย์ย่อย และบุรุษไปรษณีย์ของเขตจะนำไปหย่อนที่บ้านเพื่อนเรา"

"ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการส่งไปรษณีย์ อ่านข้อความของเราได้หมด คือเราไม่ได้เข้ารหัส การส่งข้อมูลทั่วไปในอินเทอร์เน็ตเหมือนส่งโปสการ์ด ส่วนการเข้ารหัส จะช่วยหน่อยหนึ่ง คืออาจไม่ได้รับประกันความลับ การเข้ารหัสในโลกยังถูกถอดรหัสได้ ปัญหาคือนานแค่ไหนกว่าจะถอดรหัสได้ จะใช้เวลา 1 วันในการถอดรหัส หรือ 10 วัน หรือ 100 ปี มันถอดรหัสได้หมด ถ้าเมื่อเราพูดการประเมินความเสี่ยง เช่นอีก 1,000 ปีถอดรหัสได้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเราได้แล้ว ถ้าข้อมูลลับมากๆ เอาการเข้ารหัสอีก 1,000 ปีถอดได้ก็น่าจะปลอดภัยอยู่ แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่มันก็ไม่ได้สำคัญอะไรก็ไม่ต้องเข้ารหัสก็ได้ ประเด็นของการเข้ารหัสคือมันประวิงเวลาได้แค่ไหน"

"ถ้าดูในภาพยนตร์ตอนที่สโนวเดนพยายามติดต่อคนทำสารคดี เขาบอกเลยได้ว่า การเข้ารหัสนี้ไม่ใช่เกราะกันกระสุน เพียงแต่ขอให้มีที่โล่งให้หายใจได้ สโนวเดนประเมินไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องเปิดหน้า เพราะสุดท้ายการที่เขาทำงานให้กับรัฐ แล้วอยู่ดีๆ หายตัวไป ต้องมีคนผิดสังเกตและสาวถึงตัวเขาได้อยู่แล้ว แต่การเข้ารหัสเขาคิดว่าช่วยประวิงเวลาได้ อาจทำให้เขามีเวลาเพิ่มขึ้นได้อีก 10 วัน และในเวลา 10 วันเขาสามารถจัดการบางอย่าง เช่น ติดต่อนักข่าว ติดต่อคนทำสารคดีได้ และหลังจากนั้น 10 วันต่อให้ถูกถอดรหัส ที่ทำงานสืบหาเขาได้ ก็ไม่เป็นไรแล้ว เขาหมดภาระกิจแล้ว เขาอาจจำเป็นต้องมีความลับ 10 วันนี้ แต่หลังจาก 10 วันนี้ เขาต้องการเปิดหน้า เขาขอระยะเวลาพอได้ทำภารกิจจบปุ๊บ เขาโอเคแล้ว"

สุดท้ายแล้ว คิดว่าเราอาจจะคาดหวังความลับ 100% ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ในโลกทุกวันนี้ แต่กลไกทางกฎหมายบางอย่างที่ว่าคุณต้องผ่านขั้นตอน หรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต ช่วยประวิงเวลาให้เราได้ ทำให้เราตั้งตัวได้ว่าจะเอาอย่างไรต่อดี และทำให้ตัวเราเองยังมีอำนาจในการควบคุมชีวิตเราอยู่บางประการ คือไม่ว่าจะเป็นกฎหมายหรือเทคโนโลยี ต้องถามว่าสุดท้ายมันทำให้เราควบคุมชีวิตเราได้หรือเปล่า แต่ถ้ากฎหมายหรือเทคโนโลยีออกมาแล้วกลับทำให้คนอีกฝั่ง มีอำนาจเหนือเราแบบนี้มันไม่เข้าท่าแล้ว

สำหรับเรื่องย่อของภาพยนตร์ Citizenfour เราเรื่องช่วงที่เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน เตรียมเปิดเผยข้อมูลของโครงการสอดแนมอินเทอร์เน็ตหรือ NSA ของสหรัฐอเมริกา โดยเขาใช้นามแฝงว่า "พลเมืองสี่" เพื่อส่งอีเมล์ถึง "ลอร่า พอยทราส" ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว นำไปสู่การเปิดโปงโครงการดังกล่าว โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ปีล่าสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท