Skip to main content
sharethis

เสวนาผลกระทบแผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่มช. กลุ่มชาติพันธุ์โอดถูกยึดคืนพื้นที่ ส่งผลไม่มีที่ทำกิน ครอบครัวเดือดร้อนหนัก นักวิชาการชี้แนวทางทรัพยากรของคสช. สะท้อนความล้มเหลวของทิศทางการพัฒนา มุ่งสนับสนุนนายทุนอุตสาหกรรมเกษตร

22 มิ.ย. 58  เวลา 8.30 น. ที่คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาสังคมด้านทรัพยากรและสิทธิชุมชนภาคเหนือ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “17 ปี มติ ครม. 30 มิถุนายน 2541: ความล้มเหลวของรัฐไทย ในการจัดการทรัพยากรบนคราบน้ำตาประชาชน” โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้เข้าร่วมด้วย

สมเกียรติ เหล่าหมู่ ชาวลีซอจากบ้านห้วยหก ลีซู อำเภอเวียงแหง กล่าวว่าช่วงนี้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้เลย เพราะถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่า พื้นที่ทำกินก็เหลือน้อยลง แต่ลูกหลานในหมู่บ้านก็เติบโตทุกวัน ชาวบ้านหลายคนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ต้องไปทำงานรับจ้างเขา ได้วันละ 200 บาท แต่ก็ไม่พอเลี่ยงดูครอบครัวในตอนนี้

มอนเทพ ภมรสุจริต ชาวลีซอจากบ้านห้วยหก อำเภอเวียงแหง กล่าวว่าพี่น้องห้วยหกได้รับผลกระทบจากคำสั่งฉบับที่ 64/2557 โดยชาวบ้านอยู่ทำกินในพื้นที่มาก่อนการขยายเขตอุทยานห้วยน้ำดัง แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการเข้ามาแผ้วถางไร่ โดยไม่มีการประชุมหรือชี้แนะว่าที่นี่เป็นเขตอะไร และการปฏิบัติยังไม่มีความเป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่สองมาตรฐาน ชาวบ้านเข้าไปทำไม่ได้ มีการติดป้าย ไล่จับ ชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้าไป จึงได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อกรรมการสิทธิฯ หรือยูเอ็น โดยทางอุทยานห้วยน้ำดังก็ได้ชดเชยให้บางส่วนให้ชาวบ้าน แต่บางส่วนก็ไม่มีที่ทำกิน ที่ใหม่ชาวบ้านไม่ต้องการ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงนโยบายจัดการทรัพยากรของรัฐบาลปัจจุบันว่า หากยังใช้วิธีการยึดพื้นที่คืน ตัดฟันต้นยางพารา ในแง่ของหลักคิดกับวิธีการเป็นคำถามใหญ่ว่าจะได้ผลหรือไม่ และเมื่อได้พื้นที่คืนมาแล้วจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ดังกล่าว การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่หรือในแง่ของความเป็นคนอย่างไร และต้องย้อนกลับไปที่นโยบายการพัฒนา ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง หรือเป็นผลกระทบจากโครงสร้าง กลไกของการพัฒนาประเทศ

แม้จะมีมติ 30 มิ.ย.41 ที่ยอมรับโดยข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าในเรื่องของแผนการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า มันมีความไม่เท่าเทียม มีการยอมรับในระดับหนึ่งว่า สิทธิของชาวบ้านที่อยู่ก่อนพื้นที่ป่า ต้องมีการจัดการทางกฎหมาย ในพื้นที่ใดที่อ่อนแอเรื่องการเชื่อมโยงในเครือข่ายสิทธิชุมชน ก็จะถูกรุกคืนจากกลไกของระบบราชการ ในขณะที่กลไกของการใช้อำนาจรัฐก็จะชี้เป้าว่าเป็นคนกระทำความผิด เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรม
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการพัฒนา ก็สะท้อนถึงความล้มเหลวของทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะไปเปิดให้ระบบการเกษตรสมัยใหม่ เกษตรพันธะสัญญา เป็นผู้กำหนดทิศทางพัฒนา และผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดก็เป็นบริษัทที่ไปส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก หากมองในภาพนี้ชาวบ้านจะเป็นเหยื่อของการพัฒนา ในขณะที่ยังต้องแบกรับการขาดทุนและสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนเอง

ไพสิฐมองว่าแทนที่รัฐจะมายึดพื้นที่และไล่ตัดฟันไร่ สิ่งที่ควรใช้เป็นฐานสำคัญคือระบบฐานข้อมูลดาวเทียมเพื่อที่จะดูว่าใครถือครองพื้นที่เท่าไหร่ อย่างไรมากน้อยเท่าไร ไม่ใช่เพียงการส่งกำลังเข้าไปปราบ โดยดึงท้องถิ่นและฐานชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย จะเป็นแนวทางขั้นแรกในการหาทางออกต่อไป

ธนากร  อัฎฐ์ประดิษฐ์ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวถึงที่มาของแผนแม่บทป่าไม้ฯ ว่าเกิดจากคณะร่าง 17 คน มีตัวแทนจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรฯ แต่ไม่ปรากฏตัวแทนจากภาคประชาชนหรือนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเลย แต่กลับเป็นเรืองที่เกี่ยวข้องกับคน 10-15 ล้านคนที่ทำกินอยู่ในเขตป่า กระบวนการจัดทำแผนนี้ใช้เวลาไม่ถึง 45 วันหลังจากที่ คสช. มีการประกาศใช้คำสั่งที่ 64 กับ 66 ซึ่งเร็วมากและขาดกระบวนการมีส่วนร่วม  ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ธนากรกล่าวว่าเมื่อปี 2528 รัฐเองก็มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% โดยกำหนดจากมติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ขณะนั้นประเทศไทยมีประชากรไม่ถึง 54 ล้านคน แต่ขณะนี้ปี 2558 มีประชากรถึง 60 กว่าล้านคน รัฐก็ยังมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% เหมือนเดิม คำถามคือเหมาะสมหรือไม่กับสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งตัวเลข 40% มาจากไหนก็ไม่มีใครตอบได้ รัฐมนตรีก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมต้อง 40%

ธนากรกล่าวถึงพื้นที่แม่ฮ่องสอน ลำปาง หรือตาก ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่วิกฤตในแผนแม่บทป่าไม้ แต่กลับเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากทั้งหมด สมมติฐานมีอยู่ว่าทำไมพื้นที่ป่าที่มีอยู่เยอะในปัจจุบัน แต่กลับกลายเป็นพื้นที่วิกฤต และยังมีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนที่ทำกินอีกด้วย แต่กับที่ดินบางประเภทอย่างกรณีคนที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งได้ส่งมอบให้ สปก. จำนวนมากกลับไม่ถูกดำเนินการทวงคืน และถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนจำนวนมาก อีกคำถามคือนโยบายการปลูกป่าทดแทนต้องใช้งบประมาณแต่ละปีสูง แต่มีความสำเร็จแค่ไหน ได้ป่าเพิ่มขึ้นเท่าไร

ธนากรกล่าวว่าทำไมไม่มีการใช้ มติค.ร.ม. 3 ส.ค. 53 ในเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งพูดถึงการอยู่รวมกันของชาวกะเหรี่ยงกับทรัพยากรป่าไม้ได้ ทั้งที่เป็นที่ยอมรับตามมติสากล หากดูตามแผนที่พื้นที่ป่าในปัจจุบันแล้ว ป่าไม้ที่ยังหลงเหลือล้วนแต่เป็นที่อยู่อาศัยของพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งสิ้น แสดงได้ว่าเขาอยู่กับทรัพยากรได้โดยมีป่าหลงเหลือมาถึงปัจจุบัน แต่พวกเขากลับต้องถูกทวงคืนผืนป่า

ชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าตั้งแต่เมื่อปี 2541 ตนก็ได้ไปที่ศาลากลาง ผ่านไป 17 ปี ก็ยังคงมาคุยเรื่องนี้ และเหตุการณ์ยิ่งแย่ไปกว่าเดิม คำถามคือทำไมรัฐบาลหรือ คสช. ถึงไม่ใช้ธรรมมาภิบาลในการใช้ที่ดิน นโยบายการใช้ที่ดินเพื่อการพัฒนาประเทศดูเหมือนว่าจะฟังความเห็นของนายทุนอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ที่ดินเพื่อการปลูกข้าวโพดตอนนี้ไปไหนก็จะพบแต่ข้าวโพดไปหมด น่าน แม่ฮ่องสอน หรือเชียงราย แต่กลับไม่ถูกหยิบยกมาจากรัฐว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลง ทั้งยังมีการเข้าไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือของพม่าเพื่อส่งไปยังจีน เป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีอิทธิพลอย่างมากและครบวงจร

ชยันต์กล่าวว่าความคิดที่ถูกมองจากรัฐว่าคนจนคือคนที่ทำลายป่า ความยากจนกับการทำลายป่าไปด้วยกัน ซึ่งมีความคิดแบบนี้โดยพื้นฐาน แต่กลับไม่มองว่าอุตสาหกรรมการเกษตร ยางพารา ข้าวโพด ปาล์มน้ำมันเป็นสาเหตุของการลดจำนวนป่าลง

ในส่วนภาคเหนือนั้น มีพี่น้องที่ยากจนที่ทำกินในเขตพื้นที่ป่า โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ และคนกลุ่มนี้มีอำนาจน้อยในการต่อรอง ถูกปฏิบัติการได้ง่ายโดยไม่ได้ถูกคำนึงว่าคนกลุ่มนี้จะเดือดร้อนอย่างไร ไม่ได้คำนึงว่าจะเอาคำสั่ง 66/57 มาใช้ เพื่อผ่อนปรนความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างไร มีเพียงการมุ่งทวงคืนพื้นที่ป่าให้ได้ตามเป้าหมายของคำสั่ง คสช. สุดท้ายแล้วจะทำอย่างไรให้เรื่องราวเล่านี้สามารถออกไปสู่สาธารณะมากขึ้น และจะทำอย่างไรที่จะสามารถเข้าไปพูดกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้เกิดการมีส่วนร่วมขึ้นมาให้มากขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net