Skip to main content
sharethis
ขอนแก่นโวยประปาหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน
 
ชาวบ้านขอนแก่น โวย ประปาหมู่บ้านไม่ได้มาตรฐาน ทำหมู่บ้านขาดน้ำอุปโภคและบริโภค วอน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ
 
ชาวบ้านจากทั้ง 3 หมู่บ้าน ในเขต ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ร่วมทำการตรวจสอบสภาพความเสียหายภายในโครงการก่อสร้างระบบประปาผิวดินขนาดใหญ่มาก ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณหนองแจ หนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ของชุมชน หลังแท้งค์น้ำที่มีความสูงกว่า 15 เมตร ได้หักพังลงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค
 
นายลำดวน ลาดลงเมือง สมาชิก อบต.ดอนหัน กล่าวว่า ระบบประปาหมู่บ้านแห่งใหม่สร้างด้วยงบประมารรวมกว่า 2.9 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองใช้น้ำและการตรวจรับ แต่ใช้งานได้ไม่ถึง 1 เดือน ก็หักถล่มลงมาสร้างความเสียหายให้กับชุมชนอย่างมาก และยังคงไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามขณะนี้ ประชาชนกว่า 800 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากต้องแย่งกันใช้น้ำร่วมกับ อีก 4 หมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่ติดกัน
 
 
โวยทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัว ชาวปทุมฯผวาขนของหนีตาย แฉเคยพังมาแล้วนับสิบหลัง
 
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจากชาวบ้านในหมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ว่าเกิดเหตุทาวเฮ้าส์ที่อยู่อาศัยเกิดการทรุดตัว แตกร้าวหลายหลัง ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยด้านในหวั่นเกรงอันตราย ต่างพากันอพยพออกจากบ้านตั้งแต่กลางดึกของคืนที่ผ่านมา หลังรับแจ้งจึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ
 
เมื่อเดินทางไปถึงพบที่เกิดเหตุเป็นทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้น ภายในซอยรินทร์ทอง 6 และ 7 ซึ่งอยู่ติดกัน โดยพบว่ามีกลุ่มชาวบ้าน เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองลำสามแก้วและทหาร รวมทั้งฝ่ายปกครองจากอำเภอลำลูกกา กำลังช่วยกันขนย้ายข้าวของที่อยู่ภายในบ้านออกทั้งหมด เนื่องจากเกรงว่าอาคารทาวน์เฮ้าส์จะเกิดทรุดตัวพังลง
 
จากการตรวจสอบพบว่าทาวน์เฮ้าส์ที่ทรุดตัวแตกร้าวมีทั้งหมด 4 หลังที่แตกร้าวเสียหายเป็นอย่างมาก คือบ้าน เลขที่ 59/317 ,59/197 ,59/198 และ 59/223 โดยทั้งหมดมีสภาพทรุดตัวเอียง ผนังแตกร้าวแทบจะทั้งตัวบ้าน
 
นางสุพัตรา ธานีรัตน์ อายุ 59 ปี เจ้าของบ้านเลขที่ 59/223 เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ของเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะครอบครัวคือสามีและลูกๆ ทั้งหมด 4 คน กำลังทำภารกิจต่างๆ อยู่ในบ้าน โดยตนและสามีอยู่ที่ชั้น 2 ระหว่างนั้นได้ยินเสียงดังคล้ายกับเสียงปูนแตกร้าวและตัวบ้านมีอาการสั่นสะเทือน ครอบครัวจึงรีบวิ่งออกมาจากบ้าน เพราะตอนแรกคิดว่าเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวิ่งออกมาแล้วก็พบว่ามีข้างบ้านและคนอื่นอีกหลายคนก็ออกมานอกบ้านเหมือนกัน จากนั้นก็มองดูตัวบ้านพบมีร่องรอยปูนแตกร้าวหลายแห่ง จึงไม่กล้าที่จะกลับเข้าไปในบ้านอีก แต่ได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ทางเทศบาลเมืองลำสามแก้วให้เข้ามาตรวจสอบ ก่อนครอบครัวจะไปพักอาศัยอยู่กับญาติที่อยู่ใกล้เคียงเป็นการชั่วคราว
 
นางสุพัตรา กล่าวอีกว่า พอตอนเช้าก็กลับมาดูบ้านอีกครั้งพบบ้านทรุดตัวและแตกร้าวแทบทั้งหลัง จนไม่กล้าเข้าไปในบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลและทหารเข้ามาตรวจสอบช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์สินในบ้านออกมา เพื่อป้องกันความเสียหาย โดยคงต้องขนย้ายไปฝากบ้านญาติพี่น้องก่อน ส่วนสาเหตุที่บ้านทรุดตัวแตกร้าวนั้น คาดคงเพราะเป็นดินอ่อนทรุดตัว เพราะที่ผ่านมาบ้านในหมู่บ้านรินทร์ทองนับสิบหลังก็เคยเกิดปัญหาแบบนี้และมีการฟ้องร้องกันจนคดีอยู่ในระหว่างศาลพิจารณาอยู่ในขณะนี้
 
ด้านนายบุญไกร บุญคุ้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลำสามแก้ว เปิดเผยว่า เทศบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว และในช่วงเช้าให้เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยขนย้ายข้าวของทรัพย์สินของชาวบ้านออกจากตัวอาคาร ส่วนสาเหตุนั้นคงต้องตรวจสออย่างละเอียด โดยที่ผ่านมาในหมู่บ้านแห่งนี้ก็เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มาแล้วและมีการฟ้องร้องกันอยู่ โดยคราวก่อนนั้นก็ทรุดตัวนับสิบหลัง แต่ครั้งนี้อยู่ในจุดใหม่แต่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ซึ่งกำลังประสานงานกับทางโยธาธิการจังหวัดเข้าตรวจสอบแล้ว เบื้องต้นสั่งห้ามเข้าใช้อาคารบ้านทั้ง 4 หลัง เพราะหวั่นเกรงอันตราย ร่วมทั้งเฝ้าระวังอีกนับ 10 หลังที่อยู่ติดกัน ถ้าตรวจสอบแล้วมีอันตรายก้จะสั่งเป็นเขตอันตรายห้ามเข้า
 
 
ชาวสวนยางฯ ขู่ 'ก่อม็อบ' หากรัฐเฉย 15 ต.ค. เจอกัน
 
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายสุนทร รักษ์รงค์ และนายกัมพล เพิงมาก ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ภาคกลางและภาคตะวันออก เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากปัญหาราคายางตกต่ำ โดยนายสุนทร กล่าวว่า ตามที่แนวทางร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ จ.สุราษฎร์ธานี จนถึงปัจจุบันแนวร่วมกู้ชีพฯ แต่ละจังหวัดได้ทยอยประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ให้เกษตรกรแสดงออกอย่างถูกกฎหมาย เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำให้รัฐบาลได้รับรู้ โดยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนคือ 1. ให้ชดเชยส่วนต่างของราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ ให้กับชาวสวนยางที่จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย
 
นายสุนทร กล่าวอีกว่า 2.ให้อนุมัติกองทุนข้าวสาร ที่แนวร่วมกู้ชีพฯ เคยเสนอต่อนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ 3.ให้ชะลอการตัดโค่นยางพาราตามนโยบายทวงคืนพื้นป่า และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดโดยมีเกษตรกรเข้าร่วม เพื่อแยกพื้นที่สวนยางของคนจนและนายทุนตามคำสั่ง 4. ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และคนกีดยางในที่ดินดังกล่าว สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ของพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการยื่นรายชื่อตัวแทนแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั่วประเทศ จำนวน 25 คน เพื่อขอพูดคุยโดยตรงกับนายกฯ ในการหาทางออกจากปัญหาครั้งนี้ ขณะเดียวกันแนวร่วมกู้ชีพฯขอเสนอโครงการชดเชยส่วนต่างโครงการยางพารา ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยไม่เกิน 15 ไร่ เป็นการชดเชยรายได้แก่เกษตรที่คำนวณมาจากผลผลิตยางต่อปี คูณกับส่วนต่างราคาตามที่คณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการชดเชยส่วนต่างราคายางพารา แทนการรับซื้อผลผลิตเก็บเข้าสต๊อก เพื่อให้ความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมไปถึงคนกรีดยางด้วย
 
ที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล พูดชี้นำล่วงหน้าว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรรายย่อย ทำเกษตรกรเสียนิสัย และทำให้กลไกตลาดบิดเบือนนั้น การพูดเช่นนี้ พล.ต.สรรเสริญ ทราบหรือไม่ว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เกษตรกรกำลังจะตาย เลือดกำลังไหล ลูกต้องออกจากโรงเรียน บอกให้ใช้โครงการระยะยาวมันไม่ถูกต้อง วันนี้พี่น้องเขาเตรียมการเคลื่อนไหวทั่วประเทศในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช แค่บอกว่ารัฐบาลไม่มีเงินก็พูดตรง ๆ ไม่ต้องพูดลีลา อ้อมค้อม เอาแบบแมน ๆ เราจะได้เดินหน้าได้ถูกต้องว่าต้องทำอย่างไร รัฐบาลต้องไปคุยกับชาวสวนเอง หากรัฐบาล หรือนายกฯ เพิกเฉยมีการเคลื่อนไหวเร็ว ๆ นี้แน่นอน”นายสุนทร กล่าว
 
 
ศรีสะเกษ-พระสงฆ์ชาวบ้านร้องประปาหมู่บ้านสร้างแล้วเสร็จมากว่า 5 ปี แต่กลับใช้การไม่ได้
 
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. พระสงฆ์ และชาวบ้านโพธิ์น้อย ต.หนองคล้า อ.พยุห์ จ.ศรีสะเกษ ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการประปาหมู่บ้าน ปีงบประมาณ 2551 ของกรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)หนองคล้า เป็นผู้จัดหาพื้นที่ก่อสร้างโครงการประปาหมู่บ้านขนาดใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท แต่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมากว่า 5 ปีแต่กลับยังไม่สามารถใช้การได้
 
นายแหลม พิมเสน ชาวบ้านโพธิ์น้อย กล่าวว่า ได้สอบถามไปยังสมาชิก อบต.ได้รับคำตอบว่าแหล่งน้ำธรรมชาติมีน้ำไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถเดินเครื่องสูบน้ำได้ ทำให้ชาวบ้านต้องขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง จึงร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขและเร่งดำเนินการก่อนจะเข้าสู่ฤดูแล้งในปีนี้
 
ด้านพระบุญเลิศ ฐิตสีโล พระลูกวัดป่าเมธีบ้านโพธิ์น้อย กล่าวว่า จำพรรษาอยู่วัดนี้มา 7 ปี แล้ว ตั้งแต่สร้างประปาหมู่บ้านมาไม่เคยได้มีการเปิดน้ำมาให้ทางวัดได้ใช้เลย แม้ว่าวัดนี้จะอยู่ใกล้กับประปาหมู่บ้านก็ตาม ทางวัดต้องขุดเจาะน้ำบาดาลใช้เอง
 
ด้านนายมงคล แซ่ซือ นายกอบต.หนองคล้า กล่าวว่า ทราบปัญหาประปาชุมชนมาตั้งแต่ตอนแรกเพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาเรื่องที่ดินและปัญหาแหล่งน้ำไม่เพียงพอจึงเตรียมที่จะแก้ไขปัญหาโดยเร่งหาแหล่งน้ำใหม่เพื่อเปิดให้บริการประปาหมู่บ้านให้โดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้ทางอบต.ได้งบประมาณขุดรอกแหล่งน้ำห้วยแฮด เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตประปาหมู่บ้านแล้ว
 
 
มัคคุเทศก์ไทยร้องนายกฯ จัดการไกด์เถื่อน-จัดระเบียบค้าเร่ ชี้ตร.ท่องเที่ยวรู้เห็น
 
(15 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. กลุ่มมัคคุเทศก์อาชีพ นำโดยนายไพศาล ซื่อธานุวงศ์ รวมตัวเข้าเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีให้ดำเนินการต่อกลุ่มมัคคุเทศก์ต่างชาติผิดกฎหมาย การทำงานของตำรวจท่องเที่ยว และพ่อค้าเร่หน้าพระบรมมหาราชวัง ทำร้ายนักท่องเที่ยว
       
โดยที่ผ่านมามีมัคคุเทศก์ต่างชาติผิดกฎหมายจำนวนมากเข้ามาแย่งงานมัคคคุเทศก์ชาวไทย โดยเฉพาะมัคคุเทศก์จากประเทศจีน ที่มีพฤติกรรมบังคับขู่เข็ญให้ข้อมูลเท็จต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ สร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก เชื่อว่ามีตำรวจท่องเที่ยวรู้เห็นการกระทำเหล่านี้เนื่องจากมัคคุเทศก์เหล่านี้สามารถไปรับนักท่องเที่ยวจากสนามบินได้โดยสะดวก ขณะที่มัคคุเทศก์ชาวไทยต้องผ่านการตรวจสอบเอกสารหลายขั้นตอน รวมทั้งบริเวณพระบรมมหาราชวังที่มีป้อมตำรวจท่องเที่ยวมากมายและมีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ตลอด แต่ก็ยังมีการเพิกเฉยปล่อยให้มัคคุเทศก์ต่างชาตินำเที่ยวได้อย่างเปิดเผย เมื่อมีการไปร้องเรียนก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและมีข้ออ้างต่างๆ นานา จึงคาดว่าจะมีขบวนเรียกรับสินบนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่ใช้บริการมัคคุเทศก์ต่างชาติเหล่านี้หรือไม่
       
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์มัคคุเทศก์ชาวไทยถูกพ่อค้าเร่ในบริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง รุมทำร้ายร่างกายต่อหน้านักท่องเที่ยวจำนวนมาก พ่อค้ากลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมบังคับให้นักท่องเที่ยวซื้อของ จึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการปราบปรามมัคคุเทศก์ต่างชาติที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และขอให้ตรวจสอบตำรวจท่องเที่ยว ให้ทำตามหน้าที่จับกุมมัคคุเทศก์ผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงดำเนินการจัดระเบียบพ่อค้าเร่บริเวณด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง โดยให้สิทธิคนในท้องถิ่นในการค้าขายก่อน และขอให้ผู้ค้าทุกรายต้องมีการขึ้นทะเบียนและสวมเสื้อติดเลขประจำตัว เพื่อจะสามารถตรวจสอบได้หากผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
 
 
ม็อบชาวบ้าน 3 อำเภอบุกศาลากลางจี้ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ฯ แก้ปัญหาอุทยานฯ ประกาศทับที่ทำกิน
 
(15 ต.ค.) กลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ อ.เวียงสระ อ.บ้านนาสาร อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 300 คน นำโดย นายนิคม ดำกูล ประธานเครือข่าย เดินทางมายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายวงศศิริ พรหมชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุข้อเรียกร้อง จำนวน 6 ข้อ ประกอบด้วย
       
1.ขอให้ชะลอการตัดทำลาย รื้อถอนผลอาสิน และทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่ทับซ้อน 2.ขอให้ชะลอการจับกุม การดำเนินคดี การรื้อฟื้นคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อราษฎรในพื้นที่ทับซ้อนฯ เพื่อให้ราษฎรดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขไปก่อน 3.ขอให้ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิการเข้าทำกินก่อนปี 2545 โดยมรส่วนร่วมของราษฎร และเครือข่ายฯ ในพื้นที่ทับซ้อน และการรองรับสิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรม 4.ขอโค่นไม้ยางพาราที่หมดหน้ากรีด หรือหมดสภาพ และปลูกใหม่ทดแทนได้
       
5.ขอซ่อมแซมถนนเก่าที่ชำรุดเสียหายโดยใช้เครื่องจักรกลได้ 6.ขอให้ยกเลิกเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นที่ทับซ้อนที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของราษฎรที่ทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานในพื้นที่ 3 อำเภอ จำนวน 28,770 ไร่
       
นายนิคม ดำกูล ประธานเครือข่ายฯ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นได้ประกาศเขตทับที่ทำกินของราษฎรใน 3 อำเภอ 10 ตำบล 58 หมู่บ้าน พื้นที่ถูกประกาศทับประมาณ 28,770 ไร่ มาตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรในพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
       
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ชี้แจง และรับปากว่า จะเร่งติดตามการยกเลิกเพิกถอนเขตทับซ้อนที่เรื่องยังค้างคาอยู่ที่ส่วนกลางให้เรียบร้อยโดยเร็ว ส่วนข้อ 1 ถึง 5 เป็นอำนาจของทางส่วนกลางไม่สามารถยับยั้งได้ ขอให้ชาวบ้านปฎิบัติตามกฎหมาย และขออย่าทำผิดกฎหมายเพิ่ม ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่พอใจ แต่ก็ยินยอมสลายตัวกลับไปโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น
 
 
ชาวบ้านรวมตัวโวย รถขนดินทำถนนพัง
 
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 15 ต.ค. 2558 ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท กว่า 70 คน รวมตัว กันร้องเรียนที่บริเวณทางลูกรัง เส้นตัดระหว่าง หมู่ 8 มายัง หมู่ 6 หลังถนนเส้นดังกล่าวถูกรถบรรทุกขนดินทั้งแบบ 10 ล้อ 18 ล้อ และรถพ่วงผ่านไปมา จนถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้เหมือนเดิม
 
ตัวแทนชาวบ้านเผยว่า ช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถไถที่ปากทางเข้าถนนเส้นนี้ นายนพพล เรียงครุด ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 จึงนำรถไถมาขวางไว้ไม่ให้รถวิ่งชั่วคราว เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก ซึ่งถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ชาวบ้านนำดินลูกรังมาไถกลบกันเอง เพื่อใช้สัญจรไปมาของประชาชนทั่วไป เด็กนักเรียน รวมไปถึงใช้สำหรับการเกษตร เนื่องจากระหว่างเส้นทางดังกล่าวจะมีไร่มันสำปะหลัง ที่ชาวบ้านปลูกกันไว้ รวมกว่า 1,000 ไร่ กระทั่งช่วงเดือนที่แล้ว มีรถบรรทุกดินของผู้รับเหมาใน อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ใช้ถนนเส้นนี้ในการขนดิน โดยอ้างว่าเป็นเส้นทางลัด
 
จากการที่ขนดินไป-มาวันละหลายๆรอบทำให้ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทั้งยังเกิดฝุ่นควันรบกวน เวลาที่รถบรรทุกดินผ่านเส้นทางนี้ รถทุกชนิดก็ไม่สามารถสวนทางไปได้ ต้องหลบข้างทางเพื่อให้รถบรรทุก ไปก่อน ประกอบกับช่วงฤดูฝน น้ำท่วมขัง เป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนลื่น อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ตลอดเวลา จึงอยากให้ทางผู้รับเหมาออกมารับผิดชอบห้ามไม่ให้รถบรรทุกวิ่งถนนเส้นนี้ ให้หลีกเลี่ยงไปใช้เส้นอื่นแทน ก่อนที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน หากผู้รับเหมายินยอมก็จะสลายตัว แต่ถ้าหากรับปากแล้วยังวิ่งอีกชาวบ้านทุกคนจะไม่ยอมนิ่งเฉยอย่างแน่นอน
 
ต่อมาตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชัยนาทพร้อมผู้รับเหมา ได้เดินทางมาพูดคุย และไกล่เกลี่ยตามความต้องการของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีดังกล่าว โดยผู้รับเหมาขนดินยินยอม เปลี่ยนเส้นทางไปใช้เส้นทางอื่น และจะไม่มาวิ่งบนถนนเส้นนี้ ให้ชาวบ้านเดือดร้อนและหวาดระแวงว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกแน่นอน จากการยินยอมรับข้อเสนอของผู้รับเหมาทำให้ชาวบ้านทุกคนพอใจ และแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน
 
 
ชาวบ้านค้านกรมธนารักษ์ออกโฉนด-หวั่นติดคุกฟรี
 
ชาวบ้านแม่สอด เดินหน้าค้าน “ออกโฉนด” ที่ป่าสงวนเดิม เหตุอยู่ในพื้นที่มาก่อน หากรัฐทำสำเร็จจะกลายเป็นผู้บุกรุก-ถูกจับทันที ด้าน “กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น” ระบุ มีโครงการจ้องใช้ที่ดินอีกร่วม 1,300 ไร่ ส่งผลให้ชาวบ้านถูกไล่รื้อ
 
ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชักชวนผู้สื่อข่าว 16 ราย จาก 10 สำนักข่าว ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2558 เพื่อติดตามข้อเท็จจริงภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 17/2558 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพิกถอนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าถาวร และพื้นที่สาธารณประโยชน์ ใน ต.ท่าสายลวด รวม 2,998 ไร่ รองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
สำหรับพื้นที่ซึ่งถูกเพิกถอน ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ 803 ไร่ พื้นที่ป่าถาวร 2,182 ไร่ และพื้นที่สาธารณะประโยชน์ 13 ไร่ โดยได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้ามาบริหารพื้นที่จำนวน 813 ไร่ ขณะที่กรมธนารักษ์บริหาร 1,287 ไร่
 
นายสำรวม พันธุ์พืช ชาวบ้านหมู่ 4 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด กล่าวว่า ตั้งแต่ ต.ท่าสายลวด ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และอยู่ในการดูแลของ กนอ.ชาวบ้านต่างกังวลว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการ
 
นายสำรวม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามจากภาครัฐที่บอกกับชาวบ้านว่ามีความผิดเพราะเป็นผู้บุกรุกที่หลวง ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นก็เสนอพื้นที่ให้กับส่วนกลางไปพิจารณาโดยไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีชาวบ้านอาศัยและทำกินอยู่ แต่ท้องถิ่นกลับแจ้งไปว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่า
 
“ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้คัดค้านการออกรางวัดที่ดินแต่ก็ไม่สำเร็จ ปัจจุบันมีความพยายามจะออกโฉนดในที่ป่าซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิไปแล้ว แต่กรมธนารักษ์เตรียมออกโฉนดตามกฎหมายปกติ ซึ่งชาวบ้านมีช่องที่จะคัดค้านต่อไป เพราะหากปล่อยให้มีการออกโฉนดสำเร็จ ชาวบ้านจะกลายเป็นผู้บุกรุกจริงๆ สุดท้ายคนที่อยู่ในพื้นที่ก็จะติดคุกกันหมด”นายสำรวม กล่าว
 
นายสุทธิชัย พะโกล ชาวปกาเกอะญอ หมู่ 3 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ กล่าวว่า มีข้อมูลว่า ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จะเป็นพื้นที่ส่วนขยายของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และล่าสุดเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้นำท้องถิ่นได้เข้าไปแจ้งชาวบ้านในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอว่ารัฐจะขอคืนพื้นที่ราชพัสดุเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะนำความเจริญและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชน
 
“พวกเราไม่เคยรู้เลยว่าเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร เลยยังบอกไม่ได้ว่ามันจะดีหรือไม่ดี จะกระทบอะไรกับเราหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ไม่ใช่เข้ามาบอกว่าจะมาขอพื้นที่ไป และถ้าต้องการพื้นที่จริงๆ ถามว่าทำไมถึงไม่เอาป่าเสื่อมโทรม แต่กลับมาเอาป่าสงวน 3,000-4,000 ไร่ ไปทำไม แล้วจะมีนโยบายทวงผืนป่ากันทำไม” นายสุทธชัย กล่าว
 
นายสุทธิชัย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ แต่ต้องการความชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนทำประชาคมเท่านั้น และอยากเสนอให้รัฐออกกฎหมายสำหรับชดเชยหรือเยียวยาผลกระทบให้กับชาวบ้านที่อาจได้รับปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมด้วย
 
นายชนกานต์ ชาญประกาศ ชาวบ้านหมู่ 4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือผู้นำท้องถิ่นหลายรายใน อ.แม่สอด อ.พบพระ และ อ.แม่ระมาด ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจพิเศษ แต่ก็น้ำท่วมปากไม่สามารถพูดได้ จึงอยากเรียกร้องให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านช่วยกัน เพราะถือว่าลงเรือลำเดียวกันแล้ว ก็ต้องช่วยกันพายให้ตลอดรอดฝั่ง
 
น.ส.ชมพูนุท เครือคำวัง กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น กล่าวว่า นอกจากพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ที่ถูกเวนคืนไปแล้ว นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษยังต้องเตรียมพื้นที่รองรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานอื่นๆ โดยขณะนี้มีโครงการขอทำบ่อน้ำดิบริมแม่น้ำเมย ประมาณ 800 ไร่ และขอตั้งด่านศุลกากรอีก 500 ไร่ ซึ่งทั้งสองโครงการมีชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น หากเดินหน้าจริงชาวบ้านคงถูกไล่รื้อเพิ่มอีกหลายครัวเรือน
 
“ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมแต่เรื่องก็เงียบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปแล้ว ดิฉันไม่เข้าใจว่าเหตุใดโครงการจึงเดินหน้าไปทั้งๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งหมดคัดค้าน”น.ส.ชมพูนุท กล่าว
 
น.ส.ชมพูนุท กล่าวอีกว่า ปัจจุบันที่ดินใน อ.แม่สอด มีราคาพุ่งสูงเฉลี่ย 800% จากเดิมที่ไร่ละ 1 ล้านบาท ปัจจุบันราคาไร่ละ 12-25 ล้านบาท แต่ชาวบ้านกลับได้เงินชดเชยจากการเวนคืนเพียงไร่ละ 7,000- 1.2 หมื่นบาทเท่านั้น
 
ทั้งนี้ ขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก มีพื้นที่ทั้งสิ้น 886,875 ไร่ ใน 3 อำเภอ ได้แก่ แม่สอด พบพระ และแม่ระมาด โดยเบื้องต้นได้สร้างผลกระทบกับชาวบ้านแล้ว 97 ครัวเรือน ซึ่งต้องอพยพย้ายถิ่นฐานและสูญเสียที่ดินทำกิน
 
 
ชาวบ้านทุ่งเจริญแห่ร้องศูนย์ดำรงธรรมผู้นำท้องถินส่อทุจริตเงินกู้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนหมู่บ้านเนื่องจากมีการจ่ายไม่ทั่วถึง
 
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.กลุ่มตัวแทนชาวบ้านทุ่งเจริญ หมู่17 ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์ กว่า 60 ครัวเรือน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ เรื่องผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านจำนวน 6 คน ได้ไปติดต่อธนาคารออมสินสาขาสังขะ เพื่อขอรับเงินกู้กระตุ้นความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยที่ยังไม่ได้ประชาคมหมู่บ้าน และได้สั่งจ่ายให้คนใกล้ชิดกรรมการ จำนวน 23 ราย จากทั้งหมดของสมาชิกหมู่บ้าน 98 ครัวเรือน
 
นายนิรัญ โพธิ์แก้ว ตัวแทนชาวบ้านทุ่งเจริญ กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บ้านทุ่งเจริญ ต.พระแก้ว อ.สังขะ จ.สุรินทร์  นำโดยประธาน คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการ รวมจำนวน 6 คน ได้ไปติดต่อธนาคารออมสินสาขาสังขะ เพื่อขอรับเงินกู้กระตุ้นความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยที่ยังไม่ได้ประชาคมหมู่บ้านแต่อย่างใด และได้สั่งจ่ายให้กับตัวเองและคนใกล้ชิดกรรมการ จำนวน 23 รายโดยโอนเข้าบัญชี คณะกรรมการ 6 คน รายละ 50,000 -100,000 บาท และสมาชิกคนใกล้ชิดที่เหลือ รายละ20,000 -50,000 บาท จึงนำชาวบ้านร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสังขะ ไปแล้ว ผ่านปลัดอำเภอ เพื่อให้มาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
 
ด้านนายนคพล บุญโสดากร ผู้ช่วยศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุรินทร์ กล่าวภายหลังผู้รับเรื่องร้องเรียนว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมา เพื่อให้ความเป็นธรรมเนื่องจากชาวบ้านมีความเดือดร้อนในเรื่องการบริหารงาน บริหารจัดการเงินกองทุนหมู่บ้าน ที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรม ตามนโยบายมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมามาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก ของรัฐบาล.
 
 
ชาวบ้านสระบุรีร้อง “บิ๊กตู่” สั่งปิดบ่อขยะเบตเตอร์เวิลด์ปล่อยสารพิษลงน้ำทนทุกข์นาน 18 ปี
 
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชน 3 ตำบลในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ ตำบลหนองปลาไหล อ.เมือง ต.กุดนกเปล้า ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จำนวน 11 คน นำโดยน.ส.ศรีวิรินทร์ บุญทับ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีต่อต้านบ่อขยะของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) เพราะว่าได้รับความเดือดร้อนจากบ่อขยะดังกล่าว ที่เปิดมาตั้งแต่ปลายปี 2540 พบว่ามีสารพิษปนเปื้อน ที่ปล่อยสู่สิ่งเเวดล้อมที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ปล่อยน้ำเสียลงมาลำรางสาธารณะ จึงก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางน้ำ ปัญหาทางด้านกลิ่น ปัญหาทางด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
 
 น.ส.ศรีวิรินทร์ กล่าวว่า ขณะที่มาร้องเรียนก็เพิ่งมีชาวบ้านเสียชีวิตจากการมีสารพิษในร่างกาย และเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ก็มีคนเสียชีวิต 1 รายจากสารพิษเช่นกัน จึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และใช้อำนาจออกมาตรการปิดบ่อขยะดังกล่าว เร่งก่อสร้างระบบน้ำประปาภูมิภาคจากนอกพื้นที่ ส่งทีมแพทย์เข้าไปตรวจรักษาประชาชนที่ได้รับสารพิษมานานกว่า 18 ปี พร้อมกันนี้ขอให้ตรวจสอบที่ตั้งของโรงงาน และการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเสนอให้รัฐบาล สร้างโรงพยาบาลที่รักษาเกี่ยวกับการได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ และให้มีการผลิตแพทย์ที่สามารถตรวจรักษาโรคที่เกิดจากสารพิษด้วย
 
 
หนองกรูดพัฒนาโวย ถนนพัง 50 ปีไม่ซ่อม
 
หลังจากได้รับการร้องเรียนว่าถนนทางเข้า หมู่บ้านหนองกรูดพัฒนา หมู่ 10 ต.เมืองแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พังเป็นหลุมเป็นบ่อตลอดสาย เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบพบกลุ่มชาวบ้านกว่า 50 คน รวมตัวกันที่บ้านนายเสถียร ปักกัง อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บ้านหนอง-กรูดพัฒนา เพื่อทำหนังสือร้องเรียนนายก อบต.เมืองแก นายเสถียรเปิดเผยว่า ชาวบ้านหนองกรูดพัฒนา มี 58 หลังคาเรือน ประชากร 380 คน ทุกคนต่างได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรบนถนนลูกรังที่เป็นหลุมเป็นบ่อระหว่างหมู่บ้านหนองกรูด-บ้านเมืองแก ระยะทาง 1.5 กม. และเดือดร้อนมานานนับ 50 ปีแล้ว โดยไม่มีหน่วยงานของรัฐดำเนินการทำเป็นถนนลาดยางให้แต่อย่างใด
 
นายพรศักดิ์ หมื่นเจริญ อายุ 42 ปี นายก อบต.เมืองแก อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เนื่องจากเส้นทางถนนสายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.บุรีรัมย์ ขณะนี้ทาง อบต.ยังไม่ได้รับการถ่ายโอนถนนมาจาก อบจ.ขณะที่งบประมาณมีจำกัดเพียง 4 ล้านบาท ถนนสายหนองกรูดพัฒนา-บ้านเมืองแก ระยะทาง 1.5 กม. หากทำถนนลาดยางผิวจราจร (Cape seal) ต้องใช้งบประมาณกว่า 4 ล้านบาท อบต.ดูแลพี่น้องประชาชน 19 หมู่บ้าน ประชากร 11,000 คน 2,000 หลังคาเรือน อย่างไรก็ตาม อบต.ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อซ่อมแซมปรับปรุงถนน โดยรื้อผิวถนนแล้วบดทับใช้งบประมาณ 74,324 บาท และจะเร่งดำเนินการในเร็วๆนี้
 
ขณะที่นายรังสิกร ทิมาตฤกะ รองนายก อบจ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า อบจ.ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จึงอยากฝากไปยังผู้ใหญ่บ้านหนองกรูดพัฒนา และนายก อบต.เมืองแก จัดทำหนังสือที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนส่งถึง นายก อบจ.บุรีรัมย์ เพราะมีงบประมาณฉุกเฉินเร่งด่วน สามารถนำมาดำเนินการได้เลย เนื่องจากถนนเส้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ อบจ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้ อบจ.บุรีรัมย์ ได้จัดสรรงบจัดทำถนนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในปีงบประมาณ 2558 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net