Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“การเลือกตั้ง” อาจเป็นวัตถุในการศึกษาโดยศาสตร์แขนงต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะในทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ตลอดจนถึงนิติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ในขณะที่ศาสตร์อื่นๆ อาจศึกษาข้อเท็จจริงทางสังคมที่การเลือกตั้งในรูปแบบต่างๆ อาจกระทบต่อพฤติกรรมของบรรดา “ผู้เล่น” ต่างๆ ในสนามเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรืออาจศึกษาผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจในสถาบันตามระบบรัฐสภาอันเป็นผลจากรูปแบบการเลือกตั้งลักษณะต่างๆ ที่แตกต่างกัน การศึกษา “การเลือกตั้ง” ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นนอกเหนือไปจากการให้คำอธิบายแก่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่จริงแล้ว ยังมุ่งต่อไปถึงการพิจารณาความสอดคล้องของหลักเกณฑ์ที่กำหนดกระบวนการต่างๆ ในการเลือกตั้งว่าเป็นไปโดยสอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานของสิทธิเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการคุณค่าพื้นฐานของการเลือกตั้งที่ว่าจะต้องเป็นไป “โดยทั่วไป โดยเสรี โดยเสมอภาค โดยลับ และโดยตรง”

คงจะไม่สายเกินไปนัก หากจะกล่าวถึงระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ถูกนำเสนอขึ้นมาโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม” อันเป็นระบบการเลือกตั้งแบบใหม่อีกรูปแบบหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกนำมาใช้ในสังคมไทยมาก่อน หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ได้นำเสนอ “ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม” หรือ “ระบบเยอรมัน” ที่ในท้ายที่สุดก็ได้ตกไปพร้อมกับตัวร่างรัฐธรรมนูญ

กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้นดูเหมือนว่า ณ ปัจจุบัน โครงร่างของระบบการเลือกตั้งดูจะเริ่มนิ่งและชัดเจนแล้ว กล่าวคือ จะกำหนดให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกาลงคะแนนได้หนึ่งครั้งคือเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต โดยจะมีผลต่อไปใช้คำนวณคะแนนรวมของพรรคการเมืองทั้งหมดจากทุกเขตทั่วประเทศต่อไปในการคำนวณสัดส่วนของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ

จะเห็นได้ว่าโครงร่างปัจจุบันมีความ “ใกล้เคียง” กับระบบการเลือกตั้งที่ถูกเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ คือ เน้นคำนวณสัดส่วนคะแนนเสียงของพรรคการเมืองจากคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ แล้วจึงจัดสรรไปตามสัดส่วนดังกล่าว โดยคำนึงถึงจำนวนของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตที่ชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขต อย่างไรก็ตามความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ในขณะที่ระบบแบบร่างรัฐธรรมนูญเดิมที่ตกไปนั้นประชาชนมีสิทธิลงคะแนนในสองลักษณะคือเลือกตัวบุคคล และเลือกพรรคการเมือง โดยที่คะแนนหลักก็คือการเลือกพรรคการเมืองอันจะเป็นตัวกำหนดสัดส่วนจำนวนทั้งหมด และการเลือกผู้สมัครที่ชนะในแต่ละเขตนั้นเป็นเพียงการเลือกตัวบุคคลเพื่อเข้าไปสวมสิทธิในโควต้าสัดส่วนที่ได้คำนวณไว้แล้วเท่านั้น ในระบบตามร่างรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่นี้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะมีสิทธิลงคะแนนเพียงลักษณะเดียวโดยที่คะแนนดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นทั้งการเลือกตัวบุคคลและเลือกพรรคการเมืองไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม กว่าจะเป็นร่างโครงสร้างในปัจจุบัน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ปล่อย “โมเดลต้นร่าง” ออกมาซึ่งนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความปราศจากหลักการในระบบที่ถูกนำเสนอ (ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม V.1) หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ได้แก้ไขและปรับปรุงใหม่จนมีลักษณะรูปลักษณ์ของระบบดังที่เราได้เห็นในปัจจุบัน (ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม V.2)


(1) ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม V.1 – “คะแนนเสียงไม่ทิ้งน้ำ? หรือคะแนนเสียงทิ้งขว้าง?”

ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม V.1 นั้นได้ถูกเปิดออกมาว่าจะคำนวณคะแนนโดยพิจารณาจากการที่ให้สิทธิประชาชนเลือกเฉพาะผู้สมัครแบบแบ่งเขตเช่นกัน แต่การคำนวณคะแนนนั้นมีการเสนอว่าคะแนนของผู้ชนะการเลือกตั้งในแบ่งเขตถือเป็นการได้ที่นั่งไปแล้ว แต่สำหรับคะแนนเสียงอื่นๆ ของผู้ไม่ได้รับเลือกตั้งในเขตจะถูกนำมารวมกันทั้งประเทศ เพื่อนำคะแนนดังกล่าวมาจัดสรรปันส่วนแก่บรรดาพรรคการเมืองนั้นๆ ต่อไป[1]

มีการอธิบายว่าระบบเช่นนี้มีข้อดีคือ “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ” คือคะแนนของผู้แพ้ยังคงมีผลในการถูกนำไปคำนวณที่นั่งส.ส. ต่อไป จึงทำให้คะแนนเสียงของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมีความหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเหตุผลดังกล่าวอย่างจริงจังแม้เหตุผลเรื่องคะแนนไม่ทิ้งน้ำจะฟังดูดี แต่จะเห็นได้ว่าตรรกะแห่งเหตุผลนี้ไม่ต่างจากการพูดความจริงบางส่วนหรือบอกกล่าวเฉพาะข้อเท็จจริงบางแง่ โดยละเลยหรือจงใจมองข้ามเหตุผลหรือหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อทำความเข้าใจกับความเป็นมาหรือที่มาของความคิดเรื่อง “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ”

แนวความคิดเรื่องคะแนนไม่ทิ้งน้ำนั้นถือเป็นเพียงแค่ผลที่ตามมาประการหนึ่งของแนวความคิดการเลือกตั้งแบบสัดส่วนที่วางอยู่บนหลักความเสมอภาคของสิทธิเลือกตั้งอย่างเคร่งครัดกว่าระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมาก กล่าวคือคำนึงถึงทั้งความเสมอภาคในค่าการนับ และความเสมอภาคในค่าผลสำเร็จ โดยความเสมอภาคในค่าผลสำเร็จนั้น เรียกร้องว่า คะแนนแต่ละคะแนนทั้งหมดต้องมีผลนำไปสู่การได้มาซึ่งผู้แทน อันย่อมนำไปสู่การกระจายที่นั่งตามสัดส่วนคะแนนจริงซึ่งพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับ เป็นการให้เหตุผลโดยยืนความคิดบนหลักความเสมอภาคนำไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ แต่กรณีระบบเลือกตั้งแบบไทยๆ อันใหม่ กลับกลายเป็นว่าเหตุผลเรื่องคะแนนเสียงไม่ตกน้ำนั้นถูกนำมาหยิบยกโดยหลุดลอยไปจากแนวความคิดเรื่องความเสมอภาค ไม่เช่นนั้นแล้วคงไม่ปรากฏออกมาเป็นดังเช่นโมเดล v.1 ที่นำเสนอต่อสาธารณะ

นั่นคือ ในร่างโมเดล v.1 นั้นจากการที่นำเฉพาะคะแนนเสียงของผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้งมาคำนวณสัดส่วนเฉพาะบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองจากจำนวนที่แยกออกมาต่างหาก ไม่ใช่การคำนวณบนฐานของจำนวนเต็มของที่นั่งทั้งหมดในสภา ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สุดท้ายจะเป็นการทำให้ได้คะแนนสัดส่วนตามความเป็นจริงตามความนิยมหรือตามคะแนนที่พรรคการเมืองนั้นๆ ได้รับทั้งประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นหากคะแนนเสียงของผู้ได้รับการเลือกตั้งซึ่งชนะการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมีจำนวนมาก เมื่อถูกตัดทิ้ง ไม่ได้นำมาคิดคำนวณ ย่อมเป็นกรณีที่ส่งผลต่อการคำนวณให้เป็นไปตามสัดส่วนที่ไม่มีทางเกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้จริง ในที่นี้คะแนนเสียงจำนวนมากจึงถูกพิจารณาอย่าง “ทิ้งขว้าง” ไปและไม่ได้มีคุณค่าในการถูกนำมาพิจารณาการได้มาซึ่งผู้แทนในอย่างที่ควรจะเป็น

อาจกล่าวได้ว่าโมเดล v.1 เป็นความคิดแปลกประหลาดที่ไม่ได้อยู่บนหลักความคิดหรือหลักการอย่างใดๆ อันจะสามารถนำมาอธิบายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาบนฐานความคิดว่าด้วยหลักความเสมอภาคของสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ไม่พักต้องกล่าวถึงปัญหาทางปฏิบัติในการรณรงค์หาเสียงเมื่อบังคับใช้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่สามารถคาดหมายอย่างใดๆ ได้เลยว่าเมื่อใดคะแนนเสียงจึงจะตกมาอยู่บนฐานการคำนวณแบบบัญชีรายชื่อ

ด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทำให้ในที่สุดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรับปรุงระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมใหม่เป็น v.2 ที่สอดคล้องมากกว่ากับหลักความเสมอภาคในค่าความสำเร็จของสิทธิเลือกตั้งดังที่กล่าวมา ซึ่งบนฐานของร่าง v.2 นี้ คำอธิบายเรื่องคะแนนเสียงไม่ทิ้งน้ำย่อมถูกอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า


(2) ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม V.2 – “ตอบโจทย์คะแนนเสียงไม่ทิ้งน้ำ แต่...”

ภายหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่สมเหตุสมผลของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม V.1 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเสียใหม่กลายมาเป็น V.2 โดยที่ยังคงยืนยันให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวใช้เลือก ส.ส. เขต 350 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ซึ่งจะมีการนำคะแนนรวมของพรรคการเมืองจากทุกเขตที่เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตมาคำนวณเป็นสัดส่วนที่พรรคการเมืองควรจะได้จากจำนวนรวมทั้งหมดคือ 500 คน

ดูเหมือนว่า เลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม V.2 นี้จะผสานลักษณะเด่นของระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมหรือแบบที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้วได้ไปดูต้นแบบมาจากเยอรมันเพียงแต่แตกต่างกันในรายละเอียดที่สำคัญก็คือ “สิทธิลงคะแนน” ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวคือ ในขณะที่ระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันนั้นผู้ไปใช้สิทธิจะมีสิทธิเลือกตั้งได้ในสองลักษณะคือสิทธิเลือกพรรคการเมืองและสิทธิเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต โดยเป็นการเลือกในบัตรใบเดียวกันแต่ลงคะแนนแยกเป็นสองประเภท โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครในแบบเขตเลือกตั้งที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกันก็ได้ ซึ่งในระบบแบบเยอรมันนั้นได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและได้คำนึงถึงหลักการความเสมอภาคในการออกแบบจึงทำให้คะแนนเสียงของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคนมีอิทธิพลต่อจำนวนสัดส่วนที่นั่งในสภาอย่างใกล้เคียงกันมากที่สุด แต่ระบบจัดสรรปันส่วนผสม V.2 นี้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสามารถกาลงคะแนนได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นทั้งการเลือกทั้งคนและพรรคการเมืองไปพร้อมกันอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

มีการพยายามยกข้อดีของการออกแบบระบบดังกล่าวนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการลดงบประมาณและเพิ่มความสะดวกในการจัดการเลือกตั้ง (จากเดิมที่ต้องมีบัตรสองใบ ทำให้การดำเนินการจัดการเลือกตั้งต้องเพิ่มเติมคูณสองในทุกกระบวนการ), การเชื่อมโยงระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขตและพรรคการเมืองที่จะเป็นไปอย่างแน่นแฟ้นขึ้น ตลอดจนเหตุผลเรื่อง “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ” ที่ยังคงถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง

รูปแบบดังกล่าวที่ถูกนำเสนอขึ้นมานี้ แม้จะเคยนำไปใช้ในบางประเทศ เช่น ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในกฎหมายเลือกตั้งฉบับ ค.ศ. 1949 ที่ใช้บังคับกับการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐานเพียงสมัยเดียว (และต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้รูปแบบที่ได้อนุญาตให้ผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนได้สองลักษณะ) หรือยังคงถูกนำไปใช้อยู่ในบางแห่ง เช่น ประเทศเม็กซิโก

ในการเลือกตั้งระดับมลรัฐในเยอรมนี ก็มีบางมลรัฐที่ใช้ระบบการเลือกตั้งในลักษณะคล้ายกับ “ระบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม” นี้ กล่าวคือ ในมลรัฐ Baden-Württemberg ที่ให้มีการเลือกโดยลงคะแนนเพียงครั้งเดียวเช่นกันโดยเป็นการเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตซึ่งคะแนนดังกล่าวทั้งหมดจะถูกนำมารวมคำนวณเป็นคะแนนทั้งหมดของพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาที่นั่งทั้งหมดของแต่ละพรรคการเมืองตามสัดส่วน โดยมีสมาชิกสภาในแบบแบ่งเขตทั้งสิ้น 70 คนจากจำนวนทั้งหมด 120 คน อย่างไรก็ตามสิ่งที่แตกต่างกันนั้นก็คือการเลือกตั้งในมลรัฐ Baden-Württemberg จะไม่มีการจัดทำบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเพื่อคำนวณสมาชิกแบบบัญชีรายชื่อ แต่จะเป็นการกระจายที่นั่งไปให้แก่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองดังกล่าวที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตโดยพิจารณาจากลำดับคะแนนเสียงที่ได้รับไล่เรียงไป ในกรณีที่มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเกินไปกว่าสัดส่วนที่ได้รับ คือเกิดกรณีสมาชิกเกินส่วน (Überhangsmandate) ขึ้น ก็จะมีการคำนวณและเพิ่มสัดส่วนที่นั่งของสมาชิกเกลี่ยส่วน (Ausgleichsmandate) ให้กับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้สัดส่วนในท้ายที่สุดแล้วนั้นเป็นไปตามความเป็นจริง

น่าสนใจว่าทำไมรูปแบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” หรือแบบสัดส่วนที่มีการลงคะแนนเพียงลักษณะเดียวเช่นนี้ถึงไม่ได้รับความนิยมเมื่อเทียบกับกรณีของการเลือกตั้งแบบ “สัดส่วนผสม” หรือแบบสัดส่วนที่อนุญาตให้มีการลงคะแนนเป็นสองลักษณะซึ่งใช้อย่างแพร่หลายกว่า ไม่ว่าจะในเยอรมนีเองหรือในนานาประเทศ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ

ภายใต้ระบบการเลือกตั้งลักษณะเช่นนี้อาจทำให้บทบาทของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแท้จริง กล่าวคือ ไม่มีการแยกบทบาทของการกำหนดตัวบุคคลและการเลือกในนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เอื้อต่อสภาพการแข่งขันเชิงนโยบายของพรรคการเมือง ในขณะเดียวกันก็สร้างภาระให้กับบรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะหากไม่ได้มีการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตทุกเขตก็ย่อมไม่มีทางได้รับคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองในพื้นที่ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งนั้นๆ การปฏิบัติที่ “เหมือนกัน” บน “สาระสำคัญ” ที่ “แตกต่าง” กันระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือขนาดเล็ก ย่อมมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับหลักความเสมอภาคที่ต้องพิจารณา

ในขณะเดียวกันข้ออ้างเรื่อง “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ” นั้นก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้โดยสมบูรณ์กับรูปแบบการเลือกตั้งลักษณะนี้ กล่าวคือ บรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองเพิ่งก่อตั้งที่อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตครบทั้งหมดนั้น ดูเหมือนจะไม่มีโอกาสได้รับคะแนนไปเสียเลย ซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าคะแนนหล่นหายไปเสียอีก

หากต้องการให้เหตุผลเรื่อง “คะแนนไม่ทิ้งน้ำ” ใช้ได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต้องหันไปพิจารณาระบบเลือกตั้งที่ยืนพื้นฐานอยู่บนระบบสัดส่วน กล่าวคือ เน้นการเลือกพรรคการเมืองนั้นเป็นหลัก ซึ่งอาจเป็นระบบสัดส่วนแบบบริสุทธิ์ ระบบสัดส่วนซึ่งรวมกับเทคนิคการเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อแบบเปิดหรือโอเพ่นลิสต์ หรือระบบสัดส่วนที่นำเอาระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเข้ามาเสริมเพื่อให้โอกาสประชาชนเลือกตัวบุคคลด้วย ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกว่าการกลับหัวกลับหางมองระบบเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเป็นเกณฑ์เพื่อนำไปสู่การคำนวณคะแนนแบบสัดส่วน

ข้อกล่าวอ้างเรื่องงบประมาณนั้นก็ดูไม่สมเหตุสมผล หากมองว่ากิจกรรมการเลือกตั้งนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองตนเองของประชาชนโดยตรง ในขณะเดียวกับประเทศเยอรมนีก็สามารถใช้รูปแบบการเลือกตั้งที่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกทั้งคนและพรรคการเมืองได้โดยอาศัยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว ที่ยังสามารถตอบโจทย์หลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งได้สมบูรณ์

นอกจากปัญหาเชิงหลักการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว มีตัวอย่างที่น่าสนใจในประเด็นเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งในลักษณะจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งได้เคยถูกนำไปใช้และเป็นประเด็นปัญหาทางรัฐธรรมนูญในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เข้ามาวินิจฉัยปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของรูปแบบการเลือกตั้งที่กำหนดให้ประชาชนสามารถลงคะแนนเสียงได้ในลักษณะเดียวแล้วคะแนนจะถูกนำไปคำนวณทั้งคะแนนของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและคะแนนของพรรคการเมืองว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ขัดต่อหลักการเลือกตั้งโดยตรง โดยเสรี และโดยเสมอภาค


(3) ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมในมุมมองศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้[2]   

กล่าวเบื้องต้นสำหรับระบอบการเมืองของประเทศเกาหลีใต้นั้นยึดหลักประชาธิปไตย ทำให้บรรดาการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ที่สำคัญของรัฐโดยเฉพาะ ประธานาธิบดี และสภานิติบัญญัตินั้นต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง โดยสภานิติบัญญัติประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 299 คน แบ่งเป็นมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 245 คนและจากระบบสัดส่วนอีก 54 คน โดยรัฐธรรมนูญประกันเอาไว้ว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยทั่วไป โดยเสมอภาค โดยตรง โตยลับ และอย่างเสรี อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดในรายละเอียดของการเลือกตั้งเอาไว้ จึงเป็นหน้านี้ของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ

แต่เดิมนั้นกฎหมายเลือกตั้งเกาหลีใต้กำหนดเอาไว้ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนได้เพียงลักษณะเดียว โดยไม่อนุญาตให้มีการลงคะแนนแยกระหว่างการเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตและการเลือกพรรคการเมืองออกจากกันได้ โดยการคำนวณสัดส่วนที่นั่งของพรรคการเมืองนั้นจะพิจารณาจากคะแนนรวมที่ได้รับจากผู้สมัครแบบแบ่งเขตของพรรคการเมือง โดยถือว่าการเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองใดย่อมเท่ากับการสนับสนุนในพรรคการเมืองดังกล่าวไปพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม มีการโต้แย้งไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าภายใต้ระบบดังที่กล่าวมานี้ หากเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนับสนุนเพียงเฉพาะแต่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครแบบแบ่งเขตอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นแต่ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง การเหมารวมย่อมทำให้คุณค่าครึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงถูกบิดเบือนหรือเสียเปล่าไปไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเลือกไปในทางที่อยู่บนฐานของการพิจารณาตัวผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเป็นหลัก นอกจากนั้นแล้วระบบการเลือกตั้งนี้เอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ดำรงอยู่มาก่อนแล้วแต่ไม่สนับสนุนส่งเสริมพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ จึงถือว่าขัดต่อหลักประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้การเลือกตั้งนั้นต้องสะท้อนเสียงของประชาชนอย่างถูกต้องโดยที่ประชาชนมีสิทธิในการเลือกอย่างเสรี

นอกจากนั้นแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ยังพิจารณาประเด็นกรณีหลักการเลือกตั้งโดยตรงด้วยว่า เหตุที่การเลือกตั้งผู้แทนแบบสัดส่วนและผู้แทนแบบแบ่งเขตนั้นเป็นสองระบบที่แตกต่างกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงควรมีสิทธิเลือกทั้งสองลักษณะแยกจากกันทั้งการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครแบบแบ่งเขตตามที่ตนชอบ ระบบการเลือกตั้งแบบที่อนุญาตเพียงให้เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตโดยไม่อนุญาตให้เลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแยกออกมาอีกลักษณะหนึ่งนั้น ทำให้เป็นการตัดสินใจโดยลำพังและเป็นที่สุดของพรรคการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้แทนในระบบสัดส่วนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถมีอิทธิพลอย่างใดๆ ได้เลย เช่นนี้ย่อมถือว่าขัดต่อหลักการเลือกตั้งโดยตรง

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพิจารณาก็คือความสอดคล้องกับหลักความเสมอภาคของการเลือกตั้ง กล่าวคือ จากการที่คะแนนเสียงของพรรคการเมืองจะถูกคำนวณจากคะแนนที่เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตนั้น หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับผู้สมัครแบบอิสระในแบบแบ่งเขต คะแนนดังกล่าวย่อมถูกใช้พิจารณาเฉพาะในเขตเลือกตั้งเท่านั้นโดยไม่ถูกนำไปคำนวณสัดส่วนที่นั่งในระบบสัดส่วนต่อไป ทำให้เป็นกรณีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเกิดความไม่เสมอภาคในค่าของคะแนนเสียงแก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าวได้

ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้พิจารณาว่าการให้ผู้ใช้สิทธิลงคะแนนได้เพียงลักษณะเดียวภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่ผสมกันระหว่างการเลือกแบบสัดส่วนและการเลือกผู้แทนแบบเสียงข้างมากนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกผู้สมัครแบบสัดส่วนและละเมิดสิทธิในความเสมอภาคของผู้ที่ลงคะแนนเลือกผู้สมัครแบบอิสระ ทำให้ต่อมาได้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งใหม่โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถลงคะแนนเสียงได้ในสองลักษณะ คือทั้งการเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง และการเลือกพรรคการเมืองซึ่งได้จัดทำบัญชีรายชื่อ

นี่คือข้อพิจารณาซึ่งเกิดขึ้นในเกาหลีใต้ และย่อมเป็นประโยชน์ในการพิจารณาข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย

 

อ้างอิง

 

1] กรธ.ผุดเลือกตั้งแบบใหม่ “คะแนนแพ้” นับรวมบัญชีรายชื่อ, http://www.dailynews.co.th/politics/356872.

2] รายละเอียดระบบการเลือกตั้งและคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี อ้างอิงจาก Wan Sik Hong, Electoral systems and constitutional principles in Korea เข้าถึงได้จาก http://www.juridicas.unam.mx/wccl/ponencias/1/35.pdf.

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข คอลัมน์สนามรบกฎหมาย ฉบับวันที่ 5 – 11 ธันวาคม 2558, 12 – 18 ธันวาคม 2558, และ 20 – 26 กุมภาพันธ์ 2559.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net