Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



นายป๋วย อึ๊งภากรณ์  สามัญชนในไม่กี่คนซึ่งจะได้รับการยกย่องจากยูเนสโกในปีนี้ เป็นที่รับรู้กันว่าเขาเป็นผู้มีคุณูปการต่อสังคมอย่างใหญ่หลวงในหลายด้านอย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ชีวิตของป๋วย เท่าที่รับรู้ เป็นชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ แม้ว่าตนจะเป็นข้าราชการระดับสูงและมีชื่อเสียง ทั้งยังซื่อสัตย์ตงฉิน  ในหลายสถานการณ์ ป๋วยกล้าพอที่จะพูดต่อผู้มีอำนาจเชิงทั้งตักเตือนและต่อต้านการกระทำที่ผิด จนเป็นเหตุให้ป๋วยต้องถูกอัปเปหิจากการงาน

ป๋วยเป็นบุคคลหนึ่งที่เลือกจะทำตามอุดมคติของตน เขามีเป้าหมาย ความมุ่งมั่นขับเคลื่อนภายใน และมีความรักชาติอย่างที่ตนเชื่อถือ และต้องการเจริญแนวทางสันติประชาธรรม

ถึงกระนั้น เมื่อเรามองภาพถ่ายป๋วยในหลายภาพ ภาพที่เราเห็นกลับไม่ใช่บุคคลที่โดดเดี่ยวยืนตระหง่าน กลับเห็นป๋วยมีลูกศิษย์มิตรสหายล้อมรอบอยู่ด้วยมากมาย ป๋วยเองก็คงจะชอบเช่นนั้น เมื่อลองอ่านข้อเขียนของป๋วยหลายต่อหลายครั้งเราจะเห็นว่าเขายกย่องความสำเร็จของตนมาจากการที่ผู้อื่นมาเกี่ยวข้อง เขาเห็นว่าตัวเองเป็นหนี้ประชาชนให้ได้ไปเรียน เพราะมีแม่ดี เพราะมีเมียดี

การเป็นข้าราชการที่ซื่อสัตย์และมีเป้าหมายนั้นไม่ใช่สิ่งที่ป๋วยมี แต่เขายังมีความคิดและการปฏิบัติที่ดึงดูดนักศึกษาให้เข้าหาอีกด้วย พูดคุยและเปิดกว้างถกเถียงกับเขา เขาทำในสิ่งตรงข้ามกับผู้ใหญ่ในระบบความเชื่อที่ว่าเด็กต้องตามหลังผู้ใหญ่  ไม่ถกไม่เถียง เขาเป็นคณบดีและอธิการบดีที่ส่งเสริมการศึกษาศิลปศาสตร์ (Liberal Art)  ฝึกให้นักศึกษาคิดในหลากหลายมุม มีความรู้ทางมนุษยศาสตร์ รู้รอบ ป๋วยเองยังส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้นักศึกษาคิดอย่างมีเหตุผลด้วย (ขอเสริมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยว่า ป๋วยเป็นคนแนะนำหนังสือชื่อ “Education For Liberation” ที่เขียนโดย อดัม เคิร์น (Adam Curle) ให้สุลักษณ์ ศิวรักษ์ไปอ่าน ซึ่งภายหลังมีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นไทย)

อย่างไรก็ดี เมื่อมองความพยายามสร้างการศึกษาเพื่อความเป็นไท และปลดแอกตนสู่การคิดที่มีเหตุผล ไม่งมงาย และยกย่องคนอื่นของป๋วย สิ่งนี้ดูจะเจือจางไป อย่างน้อยที่สุดจากการเห็นการสร้างอนุสาวรีย์ป๋วยจำนวนมากมายกลาดเกลื่อน ที่สุดท้ายกลับกลายเป็นอนุสาวรีย์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการกราบไหว้บูชาไป เพื่อบนบานสำหรับการสอบเข้าคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยและสำหรับการเรียน 

ขอสมมติดูก็ได้ ถ้ามีคนคนหนึ่งมีอนุสาวรีย์สักสิบสิบยี่สิบแห่ง จะไม่น่าเบื่อสำหรับผู้หนึ่งหรือ หรือได้ยินยกย่องวีรกรรมทั้งวันคืนจะไม่แย่เอาหรือ แล้วการรำลึกถึงป๋วยส่วนอื่นๆอีกเล่า เช่น การจัดเสวนารำลึกต่างๆนานา ครั้งหนึ่งผู้เขียนไปฟังเสวนาเปิดตัวแสตมป์ป๋วยที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ทั้งงานทุกคนพูดแต่รำลึกความหลังและสรรเสริญป๋วย บางคนถึงกลับบอกว่า “ทำให้ได้สักครึ่งหนึ่งของท่านก็พอแล้ว” ผู้เขียนได้แต่รำพึงรำพัน ฤาป๋วยกำลังถูกวัฒนธรรมวีรบุรุษแบบไทยๆกัดกิน ทำให้กลายเป็นอัศวินขี่ม้าขาว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสียแล้ว– ผู้เขียนตามกิจกรรมรำลึกป๋วยมาหลายครั้ง ไม่เคยเห็นสักครั้งว่าจะมีการพูดในแง่วิพากษ์วิจารณ์สักเท่าไหร่เลย

มิไยต้องเอ่ยถึงเหล่าผู้สรรเสริญเยินยอบางคนเล่า เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณาจารย์ที่รับใช้เผด็จการ ไม่ว่าเผด็จการจะทำอย่างไร จะจับนักศึกษาหรือไม่ จะย่ำยีทรมานคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนเท่าไร ก็โค้งหัวให้อย่างไม่อายอะไร นี่หรือคือผู้ที่จะมากล่าวสดุดีสรรเสริญอุดมการณ์สันติประชาธรรมของป๋วย

ผู้เขียนในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่งและเชื่อว่าคนในวัยเดียวกันอีกจำนวนมากก็คงจะรู้สึก ผู้ถูกกรอกหูให้รับรู้เรื่องอภินิหารยอดมนุษย์จำนวนมาก  ซึ่งได้เกิดอาการตามองทะลุออกจากถ้ำแล้ว – ไม่เชื่อในวีรบุรุษคนดีที่จะมากอบกู้โลก- คงจะตั้งคำถามคาใจแม้จะมีการสร้างอนุสาวรีย์และยกย่องป๋วยไม่หยุดหย่อน; ป๋วยคงจะมีอีกหลายอย่างที่เราไม่รู้ที่น่าจะรู้ แล้วมีใครบ้างหนอที่ช่วยเหลือป๋วยจนสำเร็จมาได้ สามัญชนคนนี้ทำงานในลักษณะเครือข่ายหรือตัวคนเดียว เขาล้มเหลวอะไรบ้างไหม นี่คือคำถามที่เกิดขึ้น

สำหรับผู้เขียนแล้ว ถ้าร้อยปีแห่งชาตกาลของป๋วยยังเดินกันไปแบบยกย่องตามวัฒนธรรมวีรบุรุษที่ทำกันมาอย่างช้านานในสังคมไทย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ได้เป็นคุณกับใคร ไม่แม้แต่ป๋วย อึ๊งภากรณ์ผู้ล่วงลับ นอกจากจะเป็นการปลุกใจกันไปตามวาระโอกาสเท่านั้นเอง ผู้เขียนรู้สึกว่าอนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้น พิธีกรรมตามเคยนั้นไม่มีความหมายที่เพียงพอ มันไม่ได้สร้างเสริมต่อเติมหรือทบทวนเพื่อพัฒนาสังคมไทยที่ดีดังที่ป๋วยหวังจะให้เป็น – ขอให้โอกาสร้อยปีนี้ ไปมากกว่าร้อยปีข้างหน้าของป๋วย เราได้ก้าวเดินไปไกลกว่ายกย่องแบบที่ผ่านๆมาเถิด
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net