Skip to main content
sharethis
'มีชัย' ระบุรอเอกสารข้อเสนอของ คสช. ก่อนเริ่มพิจารณาข้อเสนอกลไกพิเศษ เล็งใช้วิธีกล่อมชาวบ้านหากข้อเสนอ คสช. ขัดใจประชาชน ด้านประธาน สนช. รับลูก ส.ว. เปลี่ยนผ่านสูตร 'ประวิทย์' 
 
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมกรธ.วาระพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ต่อประเด็นข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนต้องรอรายละเอียดอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะส่งมายังตนก่อนการเริ่มพิจารณาในรายละเอียด เพราหากไม่มีรายละเอียด ทางกรธ. ยังไม่สามารถพิจารณาเนื้อหาได้ เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1–2 วันนี้จะได้รับเอกสาร ส่วนหลังจากได้รับเอกสารรายละเอียดแล้วจะกลายเป็นข้อผูกมัดหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบเพราะต้องรอดูก่อน หากรายละเอียดดี ก็คือดี หากไม่ดีก็คือไม่ดี อย่างไรก็ตามข่าวเกี่ยวกับข้อเสนอของคสช.ที่ปรากฎตามสื่อมวลชนเป็นรายวันนั้น ตนไม่รู้สึกกดดัน
 
"จากที่เห็นตามข่าว ก็เห็นแต่เงา ๆ ยังไม่รู้รายละเอียด จึงไม่รู้จะดูอะไร ยังไม่เห็นก็ยังคุยกันไม่ได้ ซึ่งเวลาของกรธ.ก็เหลืออยู่เพียงเท่านี้ ก็ต้องรอดูรายละเอียดก่อน ส่วนจะปรับปรุงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องรอหลังการพิจารณา สำหรับกลไกพิเศษที่หลายฝ่ายเสนอให้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ข้อเท็จจริงในบทเฉพาะกาลของกรธ. นั้นเป็นกลไกที่ไว้ใช้เป็นปกติ แต่หากจะมีความพิเศษเพิ่มมากขึ้นนั้นต้องดูเหตุผล และยึดประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก"นายมีชัย กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีข้อเสนอของคสช.ซึ่งที่ไม่ผ่านความเห็นหรือเป็นที่ยอมรับของประชาชนจะทำอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่า "ก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง" 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าก่อนการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นายมีชัยได้ชี้แจงต่อกรณีที่มีสื่อมวลชนกล่าวหาว่าโดดการประชุม ว่า การที่ตนมีธุระและออกจากห้องประชุมไปก่อน ไม่ใช่ว่าตนโดดประชุม ซึ่งการที่สื่อมวลชนนำไปเขียนพาดหัวทำนองว่าตนโดดประชุมนั้น สร้างความเสียหาย โดยนาน ๆ ครั้งตนจะมีธุระสำคัญที่ต้องไปทำ
 
ด้าน สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการโจมตีร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรณรงค์การทำประชามติ รวมถึงการดำเนินการของ สนช. เพื่อทำความเข้าใจแก่ประชาชนในการทำประชามติ ว่าขณะนี้ รัฐบาล และ สนช. กำลังจะออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำประชามติ เพื่อให้การลงประชามติเป็นไปอย่างเรียบร้อย และสะท้อนเจตจำนงของประชาชน พร้อมย้ำว่า การดำเนินการเพื่อล้ม หรือบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ส่วนบทลงโทษของการรณรงค์บิดเบือนนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็น แต่คงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและการกระทำความผิด ขณะที่ในส่วนของคำถามพ่วงประชามตินั้น ทาง สนช. และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท. ) คงจะหารือร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งช้าที่สุดจะได้คำถามภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์มา ซึ่งคำถามที่ตั้งจะต้องทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้นทางการเมือง แต่ขณะนี้ ยังคิดไม่ออกเป็นรูปธรรม แต่หากคิดออกก็คงจะพูดไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการชี้นำ
 
ประธาน สนช. ยังกล่าวถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติในช่วงเปลี่ยนผ่าน ว่า กระทบกับรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน และถ้าประชาชนเห็นชอบ ก็ต้องไปปรับแก้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนได้เรียกร้องจริงหรือไม่ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน ตนคิดว่ามีความจำเป็น และไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่ที่มาของ ส.ว. โดยเลือกกันเองแบบไขว้ ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น มีเสียงไม่เห็นด้วย และถูกท้วงติง เรื่องบล็อกโหวต ซึ่งควรศึกษากฎหมายให้รอบคอบ และในระหว่างนี้ก็ควรให้ที่มาของ ส.ว. เป็นการสรรหาแบบเดิม ที่คุ้นเคยไปก่อน โดยนำจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับแก้ไข
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net