Skip to main content
sharethis

ฉายวัฒนธรรมการใช้ภาพสื่อสารต่อต้านก่อน-หลัง คสช. ยึดอำนาจ หลายฝ่ายหยิบใช้ช่วงชิงพื้นที่รับรู้ ดราม่าไกลถึงเกาหลี ใต้รัฐประหารควรแสดงออกได้ตามสิทธิปกติ พิชญ์ตั้งคำถามบทบาทศิลปะ ศิลปินในขบวนต่อต้านประชาธิปไตย เส้นทางแนวคิดศิลปะกับสังคม มองและขับเน้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านวงการศิลปะ ถาม-ตอบ ศิลปะกับพลังแฝงตามบริบท พลังแห่งการตีความ มาตรวัดลักษณะสังคมและมุมมองต่อหมุดคณะราษฎร

ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

22 ส.ค. 2560 มีงานเสวนา รัฐศาสตร์เสวนา ชุด ไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย ครั้งที่ 1 หัวข้อ ทำการต่อต้านให้ปรากฎ : ศิลปะและการเมืองของการต่อต้านหลังรัฐประหาร 2557 โดย ผศ.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ห้องมาลัย ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 

ฉายวัฒนธรรมการใช้ภาพสื่อสารต่อต้านก่อน-หลัง คสช. ยึดอำนาจ หลายฝ่ายหยิบใช้ช่วงชิงพื้นที่รับรู้ ดราม่าไกลถึงเกาหลี

บัณฑิตกล่าวว่า ในกรณีของไทย ศิลปะกับการเมืองก็ถูกใช้กันอย่างต่อเนื่อง อยากยกคำพูดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เขียนสุนทรพจน์สำหรับการรับรางวัล “ยังมีสถานที่มากมายที่การจดจำและแบ่งปันเรื่องราวเป็นเรื่องอันตราย ผมรู้เพราะผมมาจากที่แบบนั้น คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าถึงและการสื่อความหมายด้วยความเห็นอกเห็นใจ ในเมื่อแต่ละแห่งดดำเนินไปด้วยเหตุผลตรรกะที่แตกต่างกัน ผมไม่รู้คำตอบนั้น แต่ผมเชื่อว่าการส่องสว่างไปที่สิ่งๆ หนึ่งอาจจะพาเราพ้นจากความมืดมนและไปสู่ความสว่าง และแสงสว่างนั้นก็ย่อมสะท้อนกลับไปที่คูุณ เพราะสิ่งที่เราทำล้วนกระทบกับเราทั้งสิ้น” จริงๆ ก็สะท้อนเรื่องราวร่วมสมัยเรื่องการส่งต่อข้อความ การแชร์สิ่งต่างๆ ในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องอันตรายเพราะการที่รัฐเข้าถึงพื้นที่สื่อออนไลน์ทำให้การส่งข้อความต่างๆ เป็นอันตราย

ในรอบ 10 ปีมานี้ บทบาทศิลปินกับการเมืองก็มีไม่ใช่น้อย ในช่วงค้านกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเห็นว่าการต่อต้านการนิรโทษกรรมชัดเจนมาก วสันต์เขียนรูปไปไว้ที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากนั้นยังมีไปเป็นคณะ เป็นมหาวิทยาลัย ที่กำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากรก็มีการใช้โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แนวคิดทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง และกลุ่มที่จะไปเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557

ภาพการแสดงออกของแนวคิดที่มีต่อการเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ในท่ามกลางความพยายามที่จะปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ก็มีหลายคนที่ใช้ความสร้างสรรค์ เช่นภาพที่คุณป้าเดินเข้าไปชูไฟฉายบริเวณมวลชน กปปส. ปิดล้อมคูหาเลือกตั้ง มันสะท้อนแทนคนที่อยากพูด อยากแสดงออกและต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก การเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองในส่วนหนึ่งมันสร้างการต่อต้านให้ปรากฏ เพราะในเวลาวิกฤติของสังคม การพูดด้วยเหตุผลมันอาจจะไม่สื่อหรือไม่พอ แต่การพูดด้วยภาพและสัญลักษณ์มันกลับส่งความหมายได้ดีกว่า ดังนั้นการใช้วัฒนธรรมการมองเห็นมาใช้นำเสนอจึงมีนัยทางการเมืองที่สำคัญที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการต่อต้านอย่างใดอย่างหนึ่ง

ที่ ถ.ราชดำเนิน มีภาพปูแดงที่ทักษิณขี่ ที่ก้ามคว่ำประเทศไทยกลับด้าน บัณฑิตมองว่าสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนที่ไปร่วมกับ กปปส. เชื่อว่าถ้ากำจัดปูตัวยักษ์ตัวนี้และคนที่ขี่จะทำให้ประเทศไทยสงบสุข (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ก่อนการรัฐประหารปี 2557 มีความพยายามจะจุดเทียนหน้าหอศิลปะและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ แล้วก็โดนปรับ 2,000 บาทเพราะมีน้ำตาเทียนหยดบนพื้นที่ของหอศิลป์ฯ นอกจากจุดเทียนแล้วยังปล่อยลูกโป่ง เป็นอีกความพยายามที่ทำให้การต่อต้านปรากฎ จนการจุดเทียนและการติดป้ายไปใช้ตามที่ต่างๆ เช่นที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีการจุดเทียน

การแสดงออกด้วยลูกโป่งขาวที่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน

การสร้างการต่อต้านให้ปรากฏนั้นสำคัญเพราะมันเป็นหมุดหมายที่ทำให้คนสื่อสารได้ในเวลาอันรวดเร็วผ่านภาษาภาพ (Visual Language) มีกรณีหนึ่งหลังรัฐประหารก็มีน้องคนหนึ่งไปยืนเป่าสากที่สะพานรถไฟฟ้าบีทีเอสพร้อมแปะป้ายที่ร่างกายกล่าวถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เนื่องจากมีกรณีการเรียกคนเข้าปรับทัศนคติ จะเห็นว่าหลังรัฐประหารก็ยังมีคนที่พยายามทำให้การต่อต้านปรากฎ ในทางกลับกัน ความพยายามของรัฐบาลที่จะส่งคนไปแทรกซึมก็สามารถเห็นได้ เช่นการปรากฎตัวของทหารในงานรำลึกครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กิจกรรมยืนเป่าสาก (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

ความเป็นไทยร่วมสมัยก็ชวนให้เราตีความความเป็นไทย หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์ หอศิลป์ กทม. กระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจัดงาน Imagine Peace ฝันถึงสันติภาพ และจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมอื่นเช่น มีกิจกรรม Big Cleaning Day ที่สี่แยกราชประสงค์และวัดปทุมวนาราม สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความพยายามใช้ศิลปะเป็นเครื่องเปลี่ยนมุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่องใดๆ ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ทีนี้ถามว่าศิลปินที่เคยวิจารณ์สังคมอย่างวสันต์ เริ่มออกมาพูดอะไรหรือไม่ จนในที่สุดก็ออกมาทำงานชิ้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่งานที่แสดงออกมาสาธารณะ แต่อัพเอาไว้ในเฟซบุ๊ก วสันต์ ระเบิดข้อความว่า “รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาครองอำนาจมากว่า 3 ปีแล้ว ขอรวบรวมไว้ในโพสท์นี้ บอกเลยว่าทักษิณยังอาย” “เปรตบ้าทำรัฐประหารเพื่อตัวเองและทุนชั่วช้าสามานย์” และก็มีอีกรูปที่มีคำอธิบายว่า "เปรตบ้าเรือดำน้ำ อยากร่ำรวยจากการกินหัวคิว"

การเปลี่ยนท่าทีของวสันต์สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่จากคนที่พยายามให้เกิดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่ตอนนี้ก็เริ่มออกมาพูดแล้ว ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากว่านี้ มันชวนให้เราคิดว่า การนำเสนอการต่อต้านการรัฐประหารไม่ได้มาจากรูปแบบงานศิลปะจากมุมเดียวอีกต่อไป คนที่เคยสนับสนุนก็ไม่ได้มีท่าทีเหมือนเดิม

ช่วงหลังรัฐประหารมีกรณีการนำงานศิลปะที่ใช้ในการชุมนุม กปปส. ไปแสดงที่หอศิลป์เมืองกวางจู เมืองกวางจูเป็นเมืองที่คนลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารที่เกาหลีใต้เมื่อทศวรรษที่ 1980 คนกวางจูถูกสังหาร ถูกทำร้าย คนตายนับร้อย คนกวางจูถูกประณามว่าเป็นพวกแดงในความหมายคอมมิวนิสต์สมัยนั้น ในที่สุดกวางจูก็สามารถเรียกร้องและเรียกคืนความยุติธรรมได้ และต่อมาก็มีการตั้งหอจดหมายเหตุ การรำลึกเมืองกวางจู เปิดงานแสดงศิลปะปีละ 2 ครั้งและมีหอศิลป์ที่นำศิลปินชั้นนำของโลกมาแสดงเพื่อยกย่องสปิริตการต่อสู้ เลยเป็นคำถามว่า กวางจูเลือกผิดงานหรือเปล่าเพราะนี่เป็นงานต่อต้านประชาธิปไตยจนเป็นการถกเถียงใหญ่ เสียงสนับสนุนก็บอกว่า งานชิ้นนี้กระทำในช่วง กปปส. แต่ไม่ใช่งานที่ต่อต้านประชาธิปไตย แล้วถ้าคิดว่า กปปส. คือความพยายามหนึ่งที่จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วมันแยกความรับผิดชอบต่อสังคมออกจากกันได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ตอบไม่ง่าย แต่ในพื้นที่ของกวางจูก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสาธารณชนก็ต้องตอบ และคนที่กวางจูก็ต้องตอบว่าการเอางานที่สร้างสรรค์ในช่วง กปปส. มาแสดงในที่ๆ แสดงสปิริตต่อสู้กับรัฐบาลทหารอย่างกวางจูหรือไม่ จนเป็นการถกเถียงครั้งใหญ่ถึงขั้นที่กวางจูต้องจัดพื้นที่เสวนาสาธารณะให้แลกเปลี่ยนความเห็นกัน และสุดท้ายงานนี้ก็ไม่เคยถูกถอด

ศิลปินนิรนามกลุ่ม Guerrilla Boys โพสต์ภาพอยู่เบื้องหน้าผลงาน "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" ผลงานศิลปะของสุธี คุณาวิชยานนท์ เมื่อ 25 พฤษภาคม 2559 โดยศิลปินนิรนามผู้สวมหน้ากากกอริลลายังถือกระดาษเขียนข้อความว่า "This work still waiting 'Junta' create democracy for them!!!" หรือ "ผลงานนี้ยังคงรอ 'รัฐบาลทหาร' เนรมิตประชาธิปไตยให้พวกเขา" และลงชื่อ Guerrilllaboys ท้ายข้อความ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนั้นยังมีงานของ ตะวัน วัตุยา และกฤษดา ดุษดีวณิชย์ เป็นงานที่เหมือนภาพฟรานซิสโก โกยา ว่าด้วยการสังหารหมู่ แต่ตะวันพูดถึงนักโทษการเมือง ตอนนั้น ไผ่ จตุภัทร (จตุภัทร บุญภัทรรักษา' หรือ 'ไผ่ ดาวดิน') ถูกจับขังคุกแล้ว ในงานก็จะมีภาพเขียนที่เขียนโดยลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมที่เคยถูกขังคุก ก็มาร่วมเขียนงาน condemned to be free (ถูกประณามเพื่อให้มีเสรีภาพ)

ภาพงาน Condemned to be Free (ภาพจากสไลด์นำเสนอ)

แล้วก็มีอีกภาพ แสดงเหตุการณ์ทางการเมืองในหลายปีที่ผ่านมา มีพรรคศิลปินของคุณวสันต์ มีการเคลื่อนไหวของ กปปส. มีศิลปินที่ห้อยนกหวีด และรายละเอียดอีกเยอะ แต่ที่น่าสังเกตคือมีมือที่ชูนิ้วกลางใส่ทุกคนในภาพ ที่ข้อมือประดับด้วยธงชาติไทย ภาพนิ้วกลางมาจากงานของอ้ายเหว่ยเหว่ย (ศิลปินและนักกิจกรรมผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับทางการจีน) ที่ชื่อ Never Sorry ที่ไปตามที่ต่างๆ แล้วชูนิ้วกลาง

ใต้รัฐประหารควรแสดงออกได้ตามสิทธิปกติ พิชญ์ตั้งคำถามบทบาทศิลปะ ศิลปินในขบวนต่อต้านประชาธิปไตย

บัณฑิตกล่าวว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติที่เราพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง ในมุมมองการเมืองเรื่องสื่อภาพ มันมีภาพของการต่อต้านปรากฏมากขึ้น ทั้งในแบบทื่อๆ และแยบยล ในฝั่งผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีสีสันไม่น้อยไปกว่าฝั่งของศิลปินเช่นการรำลึกเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในปี 2553 ที่วัดปทุมวนารามที่แต่งตัวเหมือนผีไปเดินหาอะไรบางอย่าง ในวงการศิลปะก็คุยกันว่ามันสร้างสรรค์กว่างานศิลปะที่ผลิตโดยศิลปินจริงๆ เสียอีก

ภาพและวิดีโอกิจกรรมของญาติผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 

ภายใต้เงื่อนไขของรัฐขณะนี้ การเคลื่อนไหวการเมืองจำกัดแต่ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แล้วทหารก็ไม่รู้อะไรก็ไปตั้งข้อหาเขา อย่างเช่นกรณีที่มีการดำเนินคดีกับนักวิชาการในงานไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ ผมเองก็อยู่งานกับอาจารย์พิชญ์ อาจารย์ปิ่นแก้ว แต่กลับไปตั้งข้อหากับ อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ ธีรมล บัวงาม ภัควดี วีระภาสพงษ์ ชัยพงษ์ สำเนียง นลธวัช มะชัย ซึ่งคนเหล่านี้เป็นนักวิชาการจริงๆ เพียงแต่ว่าเขาคับข้องใจกับการปรากฏตัวของทหารที่เข้ามาแบบไม่จ่ายสตางค์ค่าลงทะเบียน แต่มาเดิน มากินกาแฟ มาขอฟังล่ามแปลภาษา ซึ่งค่าจ้างล่ามวันหนึ่งเป็นหมื่นบาท แล้วพี่เล่นส่งคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษมา มันก็ทำให้ทำให้บรรยากาศแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในระดับนานาชาติไม่ค่อยรื่นหูรื่นตาเท่าไหร่ คนก็เลยออกมาเขียนป้ายว่าเวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหารเท่านั้นเอง ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แล้วเอาเข้าจริง จะเป็นอะไรไปถ้าเป็นการเมือง ผมคิดว่าเราควรจะมีสิทธิ์พูด มีสิทธิ์บ่น ผมไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา ตราบเท่าที่ผมไม่จับปืนขึ้นมาสู้กับใคร ไม่จับไม้ขึ้นมาตีกบาลใคร มันเป็นสิทธิ์ที่มนุษย์ปกติคนหนึ่งในสังคมปกติมี ยกเว้นว่าสังคมนั้นไม่ปกติ แน่นอน นี่คือสิ่งที่เราอยู่ร่วมกันในสังคมแบบนี้ เราจะเห็นมากขึ้นและขอทิ้งประเด็นทางทฤษฎี การเคลื่อนไหว การใช้ภาษาผ่านการมองเห็นมันง่ายกว่าการใช้ตัวอักษร เพราะถ้ามานั่งอธิบายก็จะยาวมาก แต่ถ้าใช้แบบผ่านการมองมันย่นย่อข้อถกเถียงและมีพลัง แต่มันก็อาจจะไร้พลังก็ได้ มันมีขีดจำกัดบางประการเหมือนกัน ในกลุ่มของวัฒนธรรมการมองเห็นมีการตั้งคำถามในประเด็นการเมืองชัดเจนมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พิชญ์ เสนอแนะว่าสิ่งที่อยากให้เพิ่มในเปเปอร์หน้าคือ การสร้างต่อต้านให้ปรากฏทำงานอย่างไรในภาพรวมของขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย หน้าที่ของของกลุ่มศิลปินในขบวนการใหญ่คืออะไร ไม่ได้รู้สึกว่ามันทำแค่ทำการต่อต้านให้ปรากฏ แต่มันทำหน้าที่สร้างรสนิยมกับชุมชนนั้น ทำให้เหนือกว่าพวกเสื้อแดง พวกไพร่ ทำให้ฉันรู้สึกว่ามีรสนิยม เป็นการใช้สถานะการยอมรับทางสังคมมาใช้ในพื้นที่การเมือง มันมีหน้าที่ที่ทำงานกว่าการสอดประสานกัน เพราะสุดท้ายก็ต้องกลับไปอยู่ที่เดิมคือทุกคนผลิตงานศิลปะได้ แต่เขาไม่ใช่ศิลปิน การเมืองของการต่อต้านการเมืองก็น่าสนใจ ตรรกะของศิลปินหรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า “ถ้าไม่แย่จริงๆก็คงไม่ออกมาหรอก” เป็นหลักการเดียวกับทหารที่ทำรัฐประหารเลย

อาจารย์จาก จุฬาฯ เจ้าของเปเปอร์กล่าวว่า สิ่งที่ตนสนใจคือการฝึกการรับรู้วัฒนธรรมการมองเห็น นึกถึงทั้งสังคมที่ถูกกำกับ มีบทที่ต้องแสดง ต้องเล่น ต้องนึกถึงสังคมทั้งสังคมในฐานะโรงละครและเราคือผู้เล่นที่ถูกมือที่มองไม่เห็นกำกับ ถูกกระแสวัฒนธรรม สังคมเกาะเกลาอยู่ การทำการต่อต้านให้ปรากฎก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของสังคม แต่การทำความเข้าใจปรากฎการณ์ดังกล่าวจะทำให้เข้าใจว่ามนุษย์ไม่หยุดนิ่ง และตัวกรองไม่ได้มีตัวเดียว มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พรมแดนสังคมจะเปลี่ยน สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของนิยาย กวีนิพนธ์ ศิลปะ ถ้าจับตัวนี้ได้ก็จะรู้ว่าสังคมจะเคลื่อนไปทางไหน วัฒนธรรมการมองเห็นสำคัญเพราะมันเป็นพื้นที่ที่ข่าวสารถูกตีความได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันมีความแยบยลบางอย่างที่เทคนิคของฺศิลปินทำให้เราใช้จินตนาการและความคิดเพื่อคิดต่อได้ แต่มนุษย์จะธำรงไว้ซึ่งความสามารถในการคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมการมองเห็นได้มากน้อยเพียงใด

เส้นทางแนวคิดศิลปะกับสังคม มองและขับเน้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยผ่านวงการศิลปะ

บัณฑิตตั้งคำถามว่า เวลาศิลปินเข้าไปสู่ปริมณฑลสาธารณะ ศิลปินมีความรับผิดชอบอย่างไรและต้องทำอย่างไรบ้าง วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินชาวไทยเคยพูดถึงบทบาทนักการเมือง และหน้าที่ของศิลปินในการสร้างเสริมประชาธิปไตย เคยนำเสนอว่านักการเมืองควรรับโทษในนรกอย่างไร วสันต์นำเสนอภาพนักการเมืองรับโทษในนรกที่ถูกเฉือนเนื้อตัวเองเป็นริ้วๆ แล้วก็กินเนื้อตัวเองเรื่อยๆ จนกว่าจะสิ้นกรรม หรือการสร้างงานชื่อ Truth is Elsewhere ด้วยการทำตัวหนังตะลุง 50 ตัว ตั้งชื่อตามนักการเมืองไทยที่มีชื่อเสียงที่เขาเชื่อว่าทำให้การเมืองเสื่อมทราม และนำมาแสดงเป็นหนังตะลุง วสันต์พากย์หนังตะลุงว่า “ควรจะตายดีกว่าไร้ประชาธิปไตย เหตุไฉนเราจึงมีชีวิตอยู่เมื่อเราไร้ซึ่งเสรี” ปี 2544 วสันต์ตั้งพรรคเพื่อกู เป็นพรรคศิลปินที่ต่อต้านทุนนิยม แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนักการเมือง ในปี 2548 ก็ตั้งพรรคการเมืองจริงๆ ชื่อพรรคศิลปิน โดยมุ่งกระจายอำนาจ กวาดล้างอิทธิพลมืดมาเฟีย ยึดทรัพย์นักการเมืองโจร และยึดหลักปกครองตนเอง

วสันต์มีความตื่นตัวทางการเมืองและต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน บทกวีชิ้นหนึ่งเขาเขียนว่า “ไม่มีรัฐซะดีกว่า ถ้าชอบทำแต่ความจัญไร จะมีรัฐไปทำไมถ้าเอาใจแต่นายทุน ไม่มีกองทัพเสียจะดีกว่าถ้ารังแกประชาชน ชอบเข่นฆ่าคนยากจน ต้องจับขุนพลมาลงทันฑ์ ไม่มีศาลเสียดีกว่า ถ้าไม่มีความยุติธรรม เงินและปืนคอยชี้นำ เมืองต้องมืดดำเพราะกฎหมาย ไม่มีตำรวจเสียดีกว่า ถ้ารีดไถเป็นมือปืน อำนาจของเราต้องเอาคืน ถ้าปืนปกครองตนเอง ไม่ต้องศึกษาเสียดีกว่าถ้าสอนคนให้เป็นควาย ล้างสมองคนเมามาย มอบใจกายให้นายทุน...ไม่มีชีวิตเสียดีกว่า ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ”จะมีชีวิตไปทำไม หากไร้ซึ่งอิสระเสรี”

ในการก่อตั้งพรรคศิลปิน วสันต์ มุ่งให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เขาบอกว่าเราเหมือนอยู่ในโลกระบอบปีศาจประชาธิปไตยจอมปลอมที่ผู้แทนราษฎรที่ถืออำนาจอยู่หลังฉากไม่ได้ทำให้รัฐบาลเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน แต่เป็นรัฐบาลของนายทุน โดยนายทุนและเพื่อนายทุุน พรรคคุณวสันต์ถึงแม้ไม่ได้จดทะเบียนพรรคการเมือง แต่ใบปลิว ป้ายประชาสัมพันธ์ก็ถูกติดอยู่ตามท้องถนน ศิลปินคนอื่นๆ ก็ทำงานเกี่ยวกับการเมือง เช่น สุธี คุณาวิชยานนท์ ในนิทรรศการณ์กลุ่มชื่อประวัติศาสตร์และความทรงจำเมื่อปี 2544 ร่วมกับมานิต ศรีวานิชภูมิ และ หญิง กาญจนวนิช ตั้งห้องเรียนประวัติศาสตร์โดยสลักภาพนูนต่ำไว้กับโต๊ะเรียน 14 ตัว ทุกโต๊ะจะมีเรื่องราวต่างกันไป พูดถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองในแต่ละช่วง ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเสรีไทย เหตุการณ์ 6 ต.ค. 14 ต.ค. ทุกคนก็สามารถเอากระดาษมาทาบแล้วใช้สีทาถูบนกระดาษ แล้วก็จะได้ภาพนูนต่ำกลับบ้านเป็นที่ระลึก นอกจากห้องเรียนของสุธีแล้วยังมีวิดีโอชุดเดียวกัน เป็นห้องเรียนที่มีเรื่องราวบนกระดานดำเรื่องการเมืองสมัยใหม่ แต่บางสิ่งถูกลบไป ตอกย้ำความทรงจำทางการเมืองบางอย่างที่สูญหายและทำให้พร่าเลือนไปในสังคมไทย

นอกจากนี้ก็มีงานของมานิต ศรีวานิชภูมิ ปีศาจสีชมพู เอาภาพฉากการเมืองที่สำคัญเช่นเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ไปตัดต่อภาพคนใส่เสื้อชมพูหรือ Pink man ปรากฏตัวในฉากการเมืองที่สำคัญและแสดงสีหน้าไม่สนใจไยดี  ในงานชิ้นเดียวกันก็มี หญิง กาญจนวนิช วาดภาพบุคคลสำคัญของไทยตั้งแต่ ร.4 ปรีดีพนมยงค์ และภรรยาของผู้ต้องหาคดีการสวรรคตของ ร.8 ทุกคนต่างมีน้ำตาไหลพราก แสดงความเสียใจ ศิลปินไทยจึงไม่ได้ปลอดไปจากการเมือง จะพบว่าศิลปินไทยก็ไม่ได้ปลอดจากการเมืองอย่างที่ได้ยกตัวอย่าง กรณีวสันต์ก็เป็นศิลปินคนหนึ่งที่มีบทบาทในทางการเมืองและการชุมนุมมาโดยตลอด

อีกกลุ่มหนึ่งผมเรียกว่า่เป็นแนวทางศิลปะอีกแบบมากกว่า สังคมไทยมีศิลปะสมัยใหม่ด้วยความพยายามของคอร์ราโด เฟโรชี ชาวอิตาลี หรือที่รู้จักกันในชื่อศิลป์ พีระศรี ผู้มาเป็นช่างประติมากรให้รัฐบาลไทยสมัย ร.6 ผู้มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดแนวคิด ทักษะการสร้างศิลปะตามแนวศิลปะสมัยใหม่ เมื่อโลกเคลื่อน ศิลปะก็เคลื่อน ศิลปะสมัยใหม่คือการมีเอกลักษณ์ของตัวเองและสะท้อนปัจจัยเบื้องลึก ความรู้สึกนึกคิดของตัวเองที่มีต่อสังคมภายนอก ทำให้ ศิลปินมีความเป็นปัจเจกชน มีความเป็นเอกชนสูง ทำให้มนุษย์มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น สามารถสะท้อนประเด็นได้อย่างอิสระอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เมื่อพ้นยุคศิลปะสมัยใหม่มาก็เป็นศิลปะร่วมสมัยที่มาจากการที่มนุษย์ตั้งคำถามกับความเป็นสมัยใหม่ ที่หลายคนเรียกว่าโพสท์โมเดิร์น มันเคลื่อนตัวมาจากศิลปะสมัยใหม่ที่แต่เดิมศิลปินตั้งคำถามกับสังคมผ่านมุมมองของตนเอง แต่ศิลปะร่วมสมัยกระจายไปตามพื้นทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพพิมพ์ หรือมีทีมงานผลิตผลงานแทนตัวศิลปินเองก็ได้ สิ่งที่สำคัญในศิลปะร่วมสมัยกลับกลายเป็นความคิดหรือ Conceptual Art และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีขึ้นมาใหม่ทำให้ขีดความสามารถในการทำศิลปะเป็นไปอย่างไม่มีขอบเขต

ในช่วงหนึ่งก็มีคำถามเรื่องวัตถุประสงค์ของการมีหอศิลป์ว่าเป็นที่จัดปาร์ตี้ให้ผู้อุปถััมภ์และสมาชิกด้วยเงินภาษี ก็มีฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินที่ลงมือทำผัดไทยในพื้นที่หอศิลป์ให้คนกิน ทำให้งานของฤกษ์ฤทธิ์สัมผัสได้ กินได้ ลดระยะห่างระหว่างงานศิลปะกับผู้ชมผ่านผัสสะอื่นๆ นอกจากตา การข้ามพ้นสุนทรียศาสตร์ทำให้ฤกษ์ฤทธิ์และเพื่อนๆ มีอีกหลายคนเช่น เกเบรียล รอสโซ กลุ่มซูเปอร์เฟลกซ์ และกลุ่มอื่นๆ ถูกนักทฤษฎีศิลปะมองว่าเป็น Relational Aesthetic หรือสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธภาพที่ไม่ได้สร้างระยะห่างระหว่างผู้ชมกับศิลปะ แต่สามารถสัมผัสเชื่อมโยงกันได้ แนวทางแบบนี้ทำให้เกิดกระแสของการทำศิลปะประเภท Participatory Art ให้ผู้ชมร่วมเขียน ร่วมโหวต ร่วมสร้างผลงานจากแต่เดิมที่ผู้ชมดูได้อย่างเดียว ศิลปะแนวนี้ถูกยกย่องเชิดชูในฐานะที่มันปลดปล่อยผู้ชมจากกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของหอศิลป์ ทำให้ศิลปะเคลื่อนตัวไปสู่ความหมายใหม่เข้าถึงประชาชน เข้าถึงคนดู ถ้าพูดอย่างนี้ก็จะคิดถึงเรื่องในสังคมไทยที่มีเรื่องงานศิลปะเพื่อมวลชน ศิลปะเพื่อชีวิต หรือศิลปะเพื่อศิลปะ เรื่องนี้ถกเถียงกันเมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ เริ่มสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยศิลปากรแล้วเอาแนวคิดของลีโอ ตอลสตอย เอาความคิดศิลปะแบบสังคมนิยมมาเผยแพร่ ในขณะที่กลุ่มที่มองศิลปะเป็นศิลปะก็จะบอกว่างานศิลปะมีความบริสุทธิ์ อลังการ  

แนวคิดสองชุดดังกล่าวก็ปะทะกันในสังคมไทยจนกระทั่งมีเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 เป็นการปลดปล่อยงานศิลปะจากสถานศึกษา จากเดิมต้องเรียนศิลปะ แต่ตอนนั้นเริ่มมีศิลปินใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับการยอมรับแม้ไม่มีความรู้อย่างเป็นทางการอย่างประเทือง เฮงเจริญและ จ่าง แซ่ตั้ง แต่พอเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. ศิลปินที่ทำเรื่องการเมืองก็กระจัดกระจายหายไปจากเวที ที่ทำอยู่ก็ทำเงียบๆ ไม่ก็ทำแล้วก็ทำลายไป บทบาทศิลปินกับการเมืองหลัง 6 ต.ค. ก็ค่อยๆ ลดน้อยลง แต่พอมีแนวคิดศิลปะร่วมสมัยจำพวกศิลปะเชิงสัมพันธภาพที่ตั้งคำถามกับสังคม ทำให้บทบาทของศิลปินก็กลับมา

ช่วงถาม - ตอบ: ศิลปะกับพลังแฝงตามบริบท พลังแห่งการตีความ มาตรวัดลักษณะสังคมและมุมมองต่อหมุดคณะราษฎร

ถาม: ในแง่ศิลปะ ในช่วง กปปส. งานที่ฮิตส่วนมากจะเป็น hard copy งานเขียน งานวาดที่เก็บไ้ด้ แต่หลัง รัฐประหาร เป็นงาน performance art มันจะมาเร็วไปเร็วหรือเปล่า ไม่เกิดอิมแพคเท่างานแบบ Hard copy

บัณฑิต: ขึ้นอยู่กับบรรยากาศของสังคมด้วย อย่างเช่นภาพชูนิ้วกลางที่จตุรัสเทียนอันเหมินของ อ้ายเหว่ยเหว่ย มันแรงมาก และคนที่เข้าใจภาพนี้ได้ก็คงเข้าใจว่าเขาอยู่ในระบอบการเมืองแบบไหน เขาสู้กับใคร ถ้าศิลปะมันถูกอธิบายอย่างเหมาะสมในช่วงเวลาและถ้อยคำที่เหมาะสมมันจะมีพลังในตัวของมันเอง เพลงสู้ไม่ถอยในการชุมนุม กปปส กับม็อบ 14 ต.ค. ก็ให้ความรู้สึกต่างกัน

ถาม: เวลาที่งานศิลปะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะแล้วคนเข้าไปเสพ ในฐานะของศิลปิน เขาจัดการการตีความของคนเสพอย่างไร ควบคุมเนื้อหาที่เขาจะสื่อหรือไม่ และเวลางานศิลปะออกไปก็จะมีผู้ชมที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มันจะนำไปสู่การต่อต้านมากขึ้นหรือไม่

บัณฑิต: ผมคิดว่าการตีความเป็นเรื่องยากที่จะกำกับ แต่ศิลปินที่ฉลาดจะพยายามกำกับพื้นที่การตีความให้ผู้ชมได้รับสารที่ตัวเองอยากจะสื่อผ่านเทคนิคการนำเสนอ ผ่านเรื่องเล่า ที่เหลือก็เป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะตีความ แต่ท้ายที่สุดการตีความก็เป็นของผู้ชม ทั้งนี้ผู้ชมก็ต้องมีความรู้พอๆ กับศิลปิน เช่นเดียวกันกับภาพชูนิ้วกลางของอ้ายเหว่ยเหว่ย

ถาม: การเข้าถึงศิลปะที่แสดงให้เห็นถึงการขัดขืนมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่าสำหรับคนที่ไม่ใช่คนชั้นกลาง ไม่มีความเข้าใจเรื่องศิลปะและเข้าไม่ถึงโซเชียลมีเดีย

บัณฑิต: ขอเสนอไอเดียของ เรย์มอนด์ วิลเลียมที่บอกว่า ถ้าอยากรู้ว่าสังคมเปลี่ยนก็ต้องไปดูพื้นที่ cutting edge ของความรู้ก็คืองานเขียน ศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี วรรณคดี ละคร เมื่อดูตอนแรกอาจจะไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปสังคมจะตกตะกอนแล้วเข้าใจ และสำหรับผู้ชมที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงภายในก็คงเป็นขีดจำกัดซึ่งคนทำศิลปะ ทำงานสายสื่อต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึง เพียงแต่เทคโนโลยีปัจจุบันมันทำให้คนเข้าถึงได้มากกว่าเดิมเช่นเฟซบุ๊ก เฟซบุ๊กไลฟ์ คนสมัย 14 ต.ค. ก็ไม่มี มันเปลี่ยนการมุมมองและลดช่องว่างของคนกับกคน เพียงแต่งานบางชิ้นต้องใช้เวลาถึงจะคิดได้ หรือบางทีก็เกิดฮีโร่โดยบังเอิญที่ไปคิดต่ออีกที แต่มันก็คืออำนาจของศิลปะที่มีพลังจากการตีความ

ถาม: หมุดคณะราษฎรเป็นหมุดสมัยใหม่หรือศิลปะร่วมสมัย

บัณฑิต: ให้ความเห็นว่าหมุดคณะราษฎรมีเป้าหมายคือเป็นหมุดหมายย้ำเตือนเหตุการณ์บางอย่าง ในแง่ศิลปะไม่คิดว่าจะมีความเป็นศิลปะอะไรแต่มันคือสารที่ต่ำต้อยและตรงไปตรงมาที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net