Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

ผู้เขียนบทความนี้ไม่ได้เป็นกลาง ด้วยเหตุผลว่าใคร ๆ ก็มีทัศนคติทางการเมืองได้ทั้งนั้น แต่ในฐานะศิษย์เก่าและในฐานะอดีตสภานิสิต รู้จักทั้งประธานสภาคนที่กำลังมีเรื่อง แต่ก็รู้จัก “ต้นตอของปัญหา” ที่พรางตัวอยู่ในเงามืดด้วย ไหน ๆ พ้นจากมหาวิทยาลัยนี้ไปแล้ว คิดว่าคงไม่น่ามีเหตุร้ายแรงอะไรหากจะเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาเล่า โดยพยายามที่จะไม่พาดพิงใคร หากบทความนี้จะมีรหัสลับก็ขอให้ท่านผู้ใฝ่รู้ไปแสวงหาเอาเองเถิด

สภานิสิตจุฬา ฯ มีชื่อมีเสียงดังขึ้นทุกทีอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องโชคช่วย หากเป็นผลมาจากหลายปีก่อนที่มีรุ่นพี่เขาช่วยดันกันไว้

บทความนี้ยังต้องการเล่าความหลังในส่วนนี้ด้วย เมื่อท่านอ่านบทความนี้จนจบ ท่านก็จะเห็นสภาพแวดล้อมที่เนติวิทย์กำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เป็นปัญหา ซึ่งไม่ว่าเจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ก็ตามว่ามันเป็นปัญหาเร่งด่วน แต่ทุกวันนี้ที่แน่ ๆ เนติวิทย์ก็ต้องเจอพิษภัยจากมันอยู่ดี

ในฐานะที่รู้จักกันกับทั้งเนติวิทย์และผู้ถูกพาดพิงหลาย ๆ ท่าน บทความนี้เขียนขึ้นกลางดึกโดยไม่ได้ปรึกษาใคร หากกล่าวถึงท่านในทางที่ผิด ก็ต้องขออภัยและจะพยายามหาทางแก้ไขข่าวให้ในภายหลัง หากว่ามันถูกแล้วแต่ท่านทำใจรับไม่ได้เองก็ขอให้อดกลั้นเอาไว้เถิด

ทั้งนี้ ต้องขออภัยด้วย บทความนี้จนถึงที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรเกินเลยไปกว่าแค่การแสดงทัศนะ เมื่อเทียบกับบทความทั้งหมดที่เคยเขียนมา งานนี้มีลักษณะของการ “บ่น” มากที่สุด


ปีการศึกษา 2554 – 2555

ผู้เขียนเพิ่งเรียนจบจากระดับชั้นมัธยมศึกษา ด้วยความที่ทำกิจกรรมมียศฐาบรรดาศักดิ์มาตั้งแต่สมัยเรียนโรงเรียน พอขึ้นมหาลัยก็เลยตามมาทำกิจกรรมต่อ ตอนนั้นมีรุ่นพี่มาชวนที่โรงอาหารหอใน เขาถามว่าเราสนใจจะมาทำสภานิสิตมั้ย? เราไม่รู้หรอกว่าสภานิสิตมันคืออะไร หรือมันมีอำนาจอะไร แต่มันคงเหมือนสภานักเรียนแหละน่า

ก็เลยไป

คนที่ชักชวนเรามาในวันนั้นเป็นรองประธานสภาคนที่สอง ต้องเท้าความก่อนว่าผู้มีอำนาจในสภานิสิตมีสี่คน คือ ประธาน รองประธานทั้งสอง กับเลขาธิการ นั่นหมายความว่าคนที่มาชวนเราให้ทำงานคือเบอร์สามของสภานิสิต พี่แกเป็นคนคณะเดียวกันกับเรา แกบอกกับผู้เขียนว่าสภา ณ ตอนนั้นเป็นเหมือนเสมียน วัน ๆ มีแต่งานเอกสารกองเป็นตั้ง กิจกรรมอะไรก็ทำไม่ได้ แต่ก็พอมีตำแหน่งอะไรให้เชิดหน้าชูตาอยู่บ้าง

ในวันไหว้ครูซึ่งนิสิตปีหนึ่งต้องเข้า ประธานสภา ณ ตอนนั้นก็ขึ้นไปรับเกียรติบัตรอะไรสักอย่างจากอธิการบดี แน่นอนว่าคนที่นั่งข้าง ๆ ก็ถามว่าสภานิสิตมันคืออะไร และมันต่างจากองค์การบริหารยังไง

จนมารู้เอาในปีหนึ่งนั่นแหละว่ามันมีระเบียบของมหาวิทยาลัยชุดหนึ่ง ที่เขียนไว้นานนมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ระเบียบนั้นบอกว่ามีสโมสรนิสิตเป็นศูนย์กลางกิจกรรมของจุฬา ฯ มีสภากับมีองค์การบริหารทำงาน ระเบียบเขียนด้วยตัวพิมพ์ดีด หน้าตาเก่าแก่โกโรโกโส เมื่อทีมงานของพี่เบอร์สามมาประชุมกันทั้งหมด ตกลงกันซะดิบดีจนได้ความว่าจะลงสมัครสมาชิกสภากันปีหน้า แล้วจะไปล็อบบี้ล้างบางสภากันใหม่หมด เห็นระเบียบหน้าตาแบบนั้นก็เริ่มงง ๆ กัน แล้วพอแบ่งกันอ่านทุกคนก็กระจ่างใจขึ้นมาเองว่า

องค์กรนี้มันเสือกระดาษดี ๆ นี่เอง

ระเบียบกำหนดฐานะสภานิสิตสูงกว่าองค์การบริหาร ทั้งควบคุมนโยบาย การใช้งบประมาณ เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เสนอความเห็นต่อกิจการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยก็ได้ วางระเบียบภายในของสโมสรก็ได้ จะตั้งกรรมาธิการศึกษาอะไรก็ได้ สามารถจะใช้สิทธิวีโต้โครงการต่าง ๆ ที่นิสิตฝ่ายองค์การบริหารเสนอมาได้ ก็เป็นแบบนี้แล้วมันจะเสือกระดาษได้อย่างไร?

 ระเบียบไม่เคยบอกเราว่ามันมีหน่วยงานที่ชื่อว่าสำนักบริหารกิจการนิสิต ที่สามารถใช้ “อำนาจทั่วไป” สั่งการอะไรก็ได้ แม้ระเบียบจะไม่มีกำหนดไว้

ครูที่ปรึกษาของผู้เขียนสมัยมัธยมก็แสนดี พอเข้ามาสภาใหม่ ๆ ก็พาซื่อ จะเข้าไปหาครูที่ปรึกษาของสภานิสิต (ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับองค์การบริหาร) อนิจจา ดูท่านจะไม่แฮปปี้ที่เจอเราเท่าไหร่ แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย แต่ช่างเถอะท่านอาจจะรีบ

มารู้เอาทีหลังเมื่อผ่านไปเกือบปีแล้ว ว่าองค์กรแห่งนี้ “หลังหัก” มาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ การใช้อำนาจขององค์กรนี้ไม่เคยมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ สมาชิกสภามักเป็นคนที่สโมสรส่วนคณะไม่อยากได้ มันมีแต่คน “แปลกๆ” “เยอะๆ” เต็มไปหมด เหตุผลหนึ่งที่สภานิสิตดูไม่ดีและไม่มีอำนาจอะไรเลยก็เพราะเหตุนี้ ที่ประชุมสภามักทะเลาะกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง เถียงกันเอาเป็นเอาตายเพื่อตัดงบกันไม่กี่สลึง คนของชมรมและบอร์ดบริหารสโมสรมักส่ายหัวให้กับการประชุมของเราเสมอ

ความพยายามจะ “ปฏิรูป” ของพี่เบอร์สามของเราไม่เป็นผลอีกตามเคย ตอนนี้ผู้เขียนขึ้นปีสองแล้ว ที่มันไม่สำเร็จก็เริ่มต้นจากหัวขบวนดันสอบตกสนาม ส.ส. ซะก่อน เลยต้องหาหัวขบวนใหม่ หลังจากล็อบบี้กันจะเป็นจะตาย ผู้นำทีมของเราก็ได้เป็นประธานสภา และนั่นคือจุดที่เราพบว่า

- มันมีพวกที่ ณ เวลานั้นเรามองว่าเขา “หัวโบราณ” อยู่เต็มไปหมด และขจัดออกก็ไม่ได้

- กิจการนิสิตเพิกเฉยต่อคำร้องขอต่าง ๆ ของเราแม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดี

- กิจกรรมบางอันที่เราตั้งกรรมาธิการเสนอ เขาเอารายงานเราไปดองไว้ และไม่นานนัก กิจกรรมนั้นก็ได้เกิดขึ้น แต่เป็นไปในนามคนอื่น ตั้งชื่อโครงการเป็นชื่อหน่วยงานเขา ให้เจ้าของโครงการศึกษาช้ำใจเล่น ขโมยเครดิตกันตรง ๆ

- พยายามที่จะกวาดล้างหรือเล่นนอกกติกาเพื่อเร่งรัดการปฏิรูปให้ไวขึ้นก็ทำไม่ได้

- ทุกครั้งที่ทนไม่ไหวจนต้องร้องออกมาด้วยความเจ็บใจ “ผู้ใหญ่” คือคนกลุ่มแรกที่บอกว่าเรา “ก้าวร้าว”

- ผู้ยิ่งใหญ่ในสโมสร เป็นนิสิตด้วยกันแท้ ๆ วิพากษ์วิจารณ์งานไม่ได้ วันที่เราบ่นถึงงานเขาลอย ๆ ในเฟสบุค เขาเห็นเข้าและมองว่าสภาเป็นตัวถ่วง ทำไมต้องทำร้ายจิตใจกันด้วย ทำไมไม่อภิปรายในสภาอย่างเดียว

- ที่สำเร็จมีแค่นี้ คือ เราพยายามจะปรับภาพลักษณ์องค์กร ด้วยการประดิษฐ์คำขวัญขึ้นมาว่า “ผลประโยชน์สูงสุดของนิสิต คือ ภารกิจเรา” แต่มันก็ไม่ได้มีอะไรไปมากกว่านั้น กับตั้งฝ่ายงานที่ชื่อว่า “ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์” ขึ้นมา ซึ่งทั้งปีก็ไม่เชิงว่าจะมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

โดยสรุปคือ นี่คือสภาพแวดล้อมที่ไม่ยินยอมให้สภานิสิตมีบทบาทอะไรเลย นอกจากทำหน้าที่เป็นเสมียนตราตรวจดีเทลโครงการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเวลาตรวจ ทุกฝ่ายก็จะพอใจถ้าเราแก้คำผิดให้ แบบไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร

ด้วยความผิดหวัง ผู้เขียนหนีสโมสรนิสิตไปทำงานฟรีแลนซ์อยู่ปีหนึ่ง และหวนคืนมาอีกครั้งในปีการศึกษา 2556 ตอนนั้นผู้เขียนจะอยู่ปีสี่แล้ว


ปีการศึกษา 2556

สภานิสิต ณ ตอนนั้น ได้ประธานเป็นเด็กปีสาม ขณะที่วัฒนธรรมการเมืองทั่วไปคาดคิดว่าผู้นำควรจะเป็นเด็กปีสี่ซึ่งแก่ที่สุดตามหลักสูตรทั่ว ๆ ไปของปริญญาตรี

เด็กปีสาม ณ เวลานั้น คือ รุ่นน้องในทีมเก่าของเรานั่นเอง หนึ่งปีที่เราหายไปทำอย่างอื่น เขายังอยู่กับสภานิสิตโดยไม่หนีหายไปไหน จนก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งประธานสภานิสิต มาพร้อมกับนโยบายที่ต้องการจะปฏิรูปอีกเช่นเคย

ในช่วงแรก ไม่คิดว่าจะกลับไปอะไรอีก จนกระทั่งว่า สทศ. ในปีนั้นมีความคิดที่จะให้มีการสอบของระดับอุดมศึกษาที่เรียกว่า U – NET มาใช้ มันก็จะวัดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อนุกรม หรืออะไรทั่ว ๆ ไป ที่ร้ายกาจคือมีความพยายามจะวัดจริยธรรมด้วย ที่ประชุมสภา ณ เวลานั้นไม่มีความรู้เรื่องการศึกษาเลย คือ หมายความว่าขาดคนที่พอจะมีความรู้พื้นฐานทางการศึกษา ผู้เขียนเรียนครุศาสตร์ แต่ตอนที่ประชุมมันหัวค่ำแล้ว มีคนโทรศัพท์มาให้ผู้เขียนช่วยไปอธิบายในที่ประชุมสภาให้หน่อย ว่าสภาควรจะเอายังไงดีกับการสอบ U – NET

สองทุ่มแล้ว สภายังเถียงกันอยู่เลยว่าเป็นอำนาจสภามั้ยที่จะเข้าไปพูดคุยหรือเกี่ยวข้องกับสังคมภายนอก ก่อนหน้าที่เนติวิทย์จะเข้ามาได้สองปี สภาไม่กล้าเท่าไรนักที่จะเข้าไปข้องแวะกับเรื่องราวนอกมหาวิทยาลัย คำแนะนำของผู้เขียนในที่ประชุมวันนั้น คือ เราไม่ควรมีข้อสอบ U – NET แต่เราควรไปพูดคุยกับคณาจารย์ทางฝั่งครุศาสตร์ซะก่อน เพราะว่าผอ. สทศ. เป็นคณบดีเก่าของที่นั่น เผื่อจะตกลงอะไรกันได้ ที่ประชุมอภิปรายกันต่อไปอีกว่าสภาจะสามารถจัดงานพูดคุยได้ และตั้งหัวข้อให้มันฟันธงได้แค่ไหน กลายเป็นว่าด้วยความกลัวเสี่ยง เราเลือกตั้งธงที่มันกลางที่สุด “ยูเน็ตกับอนาคตเด็กไทย” แล้วเชิญวิทยากรที่เกี่ยวข้องมาให้ได้มากที่สุด เช่น ก.พ. และตัว สทศ. เอง

สาระสำคัญของปีนี้ นี่คือครั้งแรกที่เราพยายามจะหนีงานเสมียนไปทำงานอื่นที่มันชุ่มชื้นใจเรามากกว่า แต่ถึงแม้จะมีแอคชั่นอะไรบ้างก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ไม่กล้าฟันธง ไม่กล้าข้องแวะกับการเมือง ทำหน้าที่แบบนักข่าว คือ ต้องทำยังไงก็ได้ให้กลางที่สุด นี่คือปีที่ คสช. ขึ้นสู่อำนาจแล้ว ความเป็นอิสระในการจัดงานพูดคุยเรื่องปัญหาสังคมของเรายิ่งมืดมัวลงไปอีก

หลังจากนั้นก็พยายามคิดกันว่าจะทำอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับสิทธิของนิสิตได้บ้าง ก็โดนคำถามกลับมาว่านิสิตมีสิทธิอะไร? (น่าคิดนะ) ตอนต้นปีมีงานรับน้อง ก็ไปประเมินงานรับน้อง องค์การบริหารปีนั้นพยายามกันสุดฤทธิ์ไม่ให้เราเข้าไปในงานแต่ก็ไม่วายทำจนได้ ท่าทางน่าจะมีปัญหาเยอะ เราก็เลยพยายามไปดูเรื่องสวัสดิการโรงอาหารแต่ไม่มีใครอยากทำ โครงการก็เลยพับไป เคยช่วยกระจายข่าวอาชญากรรมรอบรั้วจุฬาฯ อีกครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าได้ผลดีมาก แฟนเพจของสภานิสิตเพิ่งจะมาปั่นยอดไลค์กันขึ้นก็ตอนนี้นี่เอง

ทุกอย่างดังกล่าวมาดูเหมือนจะดี แต่ความพยายามจะจำกัดปากเสียงสภาให้น้อยลงก็ไม่ได้น้อยลง ระเบียบที่ให้อำนาจสภาฉบับนี้เคยถูกตั้งกรรมการสั่งแก้อยู่สองสามครั้ง แน่นอนว่ากิจการนิสิตตั้งกรรมการแก้ตามใจชอบ (คือ ระเบียบบอกว่าให้ตั้งกรรมการจากสองฝ่ายทั้งสภาและองค์การบริหาร แต่ไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยถ้าจะแก้ต้องทำยังไง) แล้วกรรมการนั้นก็ไม่มีประธานสภานั่งอยู่ด้วย โชคดีว่ามีคนเห็นใจเลยคาบข่าวมาบอก ประธานสภาเลยบุกเข้าไปในที่ประชุมได้ทันหวุดหวิดหลังจากทำแลปเสร็จ แล้วก็เลยเห็นว่าที่แก้นี่คือตัดสิทธิ์วีโต้ของสภาและสารพัดอำนาจของสภาให้หายไปเลย

โครงการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวที่มานำเสนอในปีนั้นถูกตีตก ผู้เขียนยังจำได้ว่าคนสวยนางหนึ่งยังพูดในที่ประชุมว่าการข้ามหัวครูบาอาจารย์ (ด้วยการไม่อนุมัติโครงการของหล่อน – ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากผู้บริหารมาแล้ว) เป็นเรื่องเลวร้าย สภานิสิตเป็นองค์กรที่ไม่มีสัมมาคารวะ จากนั้นผู้บริหารท่านหนึ่งก็เซ็นอนุมัติโครงการข้ามหัวสภาไปเฉย ๆ “อาจารย์” ท่านนั้นไม่เคยมองหน้าพวกเราด้วยสายตาตรง ๆ อีกเลย

 “เรา” สภานิสิต ณ เวลานั้น รู้สึกว่าทั้งผู้บริหารในงานด้านนี้รวมทั้งเจ้าหน้าที่ มีอคติต่อเรา

เวลาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จมามหาวิทยาลัย กิจการนิสิตพยายามจะไม่เอาคนของสภานิสิตไปออกงานต่าง ๆ

เวลาไปสัมมนา จะจองห้องหรือรถบัสที่ไม่สู้ดีมาให้สภา

มีอยู่คราวหนึ่ง มีคณะศึกษาดูงานอยากจะมาดูงานสภานิสิต กิจการนิสิตให้นายกองค์การเข้าแทน และแนะนำสภานิสิตแบบไม่ต้องเข้าห้องสภานิสิต และไม่มีสมาชิกสภาอยู่แม้แต่คนเดียว

ถ้าจะมีใครอ่านเกมออกอยู่บ้าง มันมี “อำนาจมืด” มากมายที่อยากจะล้อมกรอบสภานิสิตให้เป็นเสมียนต่อไป ที่สำคัญก็คือฉันทามติบางอย่างของกิจการนิสิตจุฬา ฯ นั่นแหละ ไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการ แต่ทุกคนพยายามจำกัดวงไม่ให้สภาทำอะไร

คนทำงานในสภานิสิตในตอนนั้นไม่ได้มีหลักการอะไรเลย เราทุกคนก็ยังเป็นคนที่คณะเอย ส่วนกลางเอยไม่เอาเหมือนเดิม ที่ต่างกันคือ เรากล้าสู้และกล้าที่จะปกป้องสิทธิที่สภาควรจะได้มากกว่าที่เคยมีมาก่อน

สามปีที่ทำงานให้สภานิสิตจึงได้รู้ว่าวัฒนธรรมการเมืองของคนทำงานกิจกรรมในจุฬา ฯ อาจจะไม่ได้อิงอยู่บนฐานของมวลชนหรือประชาธิปไตยอะไรเลย

ในปีนี้เช่นกันที่พยายามสืบค้นประวัติสภาเพื่อสร้างอัตลักษณ์องค์กร แล้วก็พบว่าสภาคือหน่วยงานที่มีรุ่นพี่ในอดีต (พิรุณ ฉัตรวนิชกุล) พยายามตั้งขึ้นเพื่อไม่ให้กิจการนิสิตมาสกัดกั้นโครงการ

กิจการนิสิตน่าจะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปแผ่อิทธิพลเหนือกิจกรรมนิสิตมากเหลือเกินมาแต่ไหนแต่ไร นี่อาจจะเป็นวัฒนธรรมบางอย่างที่ฝังรากลึกและแก้ไม่หายก็เป็นได้

เมื่อยามที่ท้อใจและเหนื่อยล้า บางทีก็เดินไปกราบพระบรมรูปสองรัชกาล บางทีก็ทำให้เข้มแข็งขึ้น แต่บางทีก็ชวนน้อยใจว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองแม้คืนพระชนม์มาก็อาจจะจัดการกับมาเฟียตัวเล็กตัวน้อยพวกนี้ไม่ได้ ชะรอยพระบารมีเจ้านายคงคุ้มครองคนทุกคน รวมทั้งพวกบ้าอำนาจเหล่านั้นด้วย

ปีนี้ ผู้เขียนถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยนิสิตจากการถูกไล่แคปหน้าจอในเฟสบุค เจ้าหน้าที่กิจการนิสิตอาวุโสรายหนึ่งโจทก์ว่าผู้เขียนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  อีกกระทงหนึ่ง คือ หอพักนิสิต (หอใน) ปีนั้นให้นิสิตหอย้ายออกจากที่พักโดยบอกล่วงหน้าไม่ถึงครึ่งเดือนดี เมื่อผู้เขียนทวงถามความสมเหตุสมผลขึ้นมาและมีคนไปตั้งกระทู้ในพันทิพ เจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าอีกรายในกิจการนิสิตตั้งข้อหาหมิ่นหอพักนิสิต อาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่าไม่รักจุฬา ฯ ใช่หรือไม่? โชคยังดีที่ผลการสอบสวนถือว่าไม่มีมูลให้ยกฟ้องไป แต่เพื่อนอีกรายต้องเอาพวงมาลัยไปขอขมาผู้บริหาร

ความเจ็บปวด คือ เมื่อมาอ่านระเบียบเรื่องวินัยนิสิต คนที่ฝักใฝ่แนวคิดเสรีนิยมคือกลุ่มคนที่ถูกควบคุมมากที่สุด วินัยนิสิตให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ในการตัดสินโทษนิสิตได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ


ปัจจุบัน

ช่วงตอนจะเรียนจบและรู้ว่าต้องฝากสภานิสิตไว้ในมือคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ก็ใจชื้นขึ้น

เนติวิทย์ที่ผู้เขียนรู้จัก คือ นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าแรดิคัลคนหนึ่งที่พวกพี่เก่า ณ ช่วงเวลานั้นปรึกษากันแล้วว่าถ้าหากทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ไม่มีใครโดดเด่นเลย เราก็ชวนเนติวิทย์ให้มาช่วยทำงานให้สภานิสิตจะดีกว่าไหม

เราบอกผู้ใหญ่ที่ยังพอจะเมตตาเราอยู่บ้างว่า ถ้าเนติวิทย์มาทำงานในตำแหน่งที่เป็นทางการ มันเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยจะได้วางกรอบการทำงานให้เขา ตรงกันข้าม เนติวิทย์ได้เสพย์สถานภาพอันเป็นทางการบางอย่างแล้ว ก็ควรจะมีวุฒิภาวะที่สุขุมคัมภีรภาพมากยิ่งขึ้น

ก่อนที่เขาจะได้เป็นประธาน เราก็ได้พบแล้วว่า ไม่ใช่ว่าวิธีคิดในการทำงานของเขาไม่มีปัญหา มีแน่ แต่สเป็คของเขาคือความฝันอันสูงสุดที่คนสภานิสิตในอดีตอยากทำแต่ไม่กล้าทำ (บางทีออกจะสุดโต่งไปด้วยซ้ำ) เขาปฏิเสธที่จะทำงานเสมียนให้สโมสรกับให้กิจการนิสิตทุกรูปแบบ เขาให้น้ำหนักทุ่มเทกับการพัฒนาสวัสดิการนิสิตและการพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพ มีความพยายามสร้างบทบาทนำในสังคมอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือเขากล้าชนกับมหาวิทยาลัยในประเด็นต้องห้ามเสียด้วยซ้ำ

ถ้ามองในมุมแบบอวยสภาไว้ก่อน เนติวิทย์ คือ กุญแจหนึ่งเดียวในการจัดการกับอำนาจมืดทั้งหลายที่ผู้เขียนเคยประสบพบเจอเหล่านั้น และจะเป็นคนที่ทวงคืนความเป็นธรรมที่หายไปให้กลับคืนมา

ถ้ามองในมุมกลับ เขาเป็นคนที่ไม่ให้กำลังใจคนทำงานบริหารเลย เข้มงวดกับเรื่องงบประมาณ และปฏิเสธความเคยชินทุกรูปแบบ ทำให้ทุกอย่างวุ่นวายโดยใช่เหตุ ฯลฯ

ยังมีประเด็นความเปลี่ยนแปลงอีกมากที่สภานิสิตเคยพยายามเรียกร้องอย่างสันติวิธี แน่นอนว่าไม่เป็นผลอะไรขึ้นมา อย่างที่กล่าวมาแล้ว บางงานถูกขโมยชื่อด้วยซ้ำ ปราศจากเนติวิทย์ สภานิสิตซึ่งเป็นหน่วยงานที่อ่อนแอ ก็จะยิ่งไม่มีใครสนใจฟังเสียงของเราเลย ตกอยู่ในสภาพไร้เสียงเหมือนอย่างสามหรือสี่ปีที่ผ่านมา

แต่ถ้าเนติวิทย์จะโดนปลดจากตำแหน่งประธานสภานิสิต แน่นอนว่าเวทีที่ใช้ในการประสานประโยชน์กับเขาก็จะสูญไปโดยสิ้นเชิง คนมีอำนาจต่อจากนี้ก็คงจะข่มเหงสภารุนแรงขึ้น (เพราะอยากให้เป็นแค่เสมียนมาตั้งแต่ต้น) ที่สำคัญ ในยามที่ทุกคนเป็นเดือดเป็นร้อนกับการขึ้นหรือลงจากตำแหน่งของประธานสภาคนปัจจุบัน ไม่มีใครเห็นว่าความร้ายกาจมันถูกหมักหมมไว้ขนาดไหน ที่ทุกอย่างจบแบบนี้ เพราะเห็นว่าเนติวิทย์จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลง เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงก็จะทำให้ระเบียบอำนาจที่สร้างไว้เสียดุล ก็จำจะต้องเขี่ยออก

มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราทุกคนที่มีใจรักความก้าวหน้าและรักความเป็นธรรมต้องมารอเด็กคนเดียวให้ช่วยแก้ปัญหาให้

แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้ากว่า ที่เมื่ออาจารย์ทำผิด เช่น อาจารย์ทางรัฐศาสตร์บางท่านสอนหนังสือได้อย่างยอดแย่ แต่ก็ไม่มีช่องทางเอาผิดอาจารย์เหล่านั้นได้ พอมีนิสิตที่ไม่ชอบขี้หน้าจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนได้ กลับสอบสวนได้แล้วเสร็จอย่างเป็นกระบวนการ

ตอนนี้แฟรงก์ เนติวิทย์คงจะร้อน ๆ หนาว ๆ แถลงการณ์ล่าสุดของเขาไม่ได้ออกมาด้วยกระบวนการที่เป็นปกตินัก คือ รีบร้อนออกจนสมาชิกไม่ทันได้อภิปรายอะไร แต่เขาคงจะรีบทำทุกอย่างในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ ถ้าผู้เขียนเจอกับตัวก็คงจะทำแบบเดียวกัน แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่สมาทานเรื่องประชาธิปไตยมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง แต่ลองคิดจะสถาปนาระบบระเบียบใหม่ในสโมสรก็ต้องอาศัยผู้นำที่มีบุคลิกเข้มแข็งอย่างเขา

จริงอยู่ที่เข้มแข็งไปหน่อย ออกจะแข็งกร้าวจนพลอยทำให้ลูกน้องซวยไปตาม ๆ กัน พ้นยุคเขาแล้ว สภาก็คงได้ทำหน้าที่เสมียนต่อไปตามเดิม เป็นผู้ประกอบสารพัดพิธีต่อไปตามเดิม เว้นแต่เขาจะค่อย ๆ ปรับบุคลิกบางอย่างได้ที่คนเขาไม่ชอบได้ พัฒนาตนเองต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าเรื่องทุกอย่างเป็นไปอย่างมีขันติธรรม เรื่องคงไม่ลงเอยแบบนี้ แต่ถ้าให้ดี มันไม่ควรมีเรื่องแย่ ๆ เกิดตั้งแต่สี่ปีห้าปีที่แล้ว

ทั้งนี้ หากแม้นว่าเทพไท้ทั้งหลายในจุฬาฯ ศักดิ์สิทธิ์จริง ขอให้ระบบยุติธรรมและหลักการถ่วงดุลแบ่งแยกอำนาจ หลักการความเป็นอิสระของกิจกรรม (ซึ่งอาจไม่เคยมีอยู่จริงในจุฬาฯ) ให้กลับคืนมาสู่กิจกรรมนิสิตจุฬา ฯ โดยเร็วเทอญ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net