Skip to main content
sharethis
เผยเฉาก๊วยเกือบ 50 % ไม่พบสารกันบูด จากผลการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ จำนวน 30 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม. เครือข่ายต้านสารพิษผิดหวังปมกรมวิชาการเกษตรแถลงข่าวยื้อเวลาการแบนและจำกัดการใช้ 3 สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง

13 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (13 ก.ย.60) ที่ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลทดสอบ สารกันบูด ใน "เฉาก๊วย" โดย สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ สมนึก งามละมัย กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ โดยแถลงระบุว่า เฉาก๊วย 14 ยี่ห้อ ไม่พบสารกันบูด (เบนโซอิก และซอร์บิก) ในการทดสอบ ได้แก่ 1. เฉาก๊วย อาม่า, 2. ละออ, 3. เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ, 4. แฮปปี้เฉาก๊วย (สั่งซื้อออนไลน์), 5. หวานเย็น, 6. ตลาดคลองเตย ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, 7.เฉาก๊วยเกาลูน, 8.เฉาก๊วยยูเทิร์น (สั่งซื้อออนไลน์), 9.ตราศรีลำทับ (SRI-LAM-THAP), 10. เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม, 11.น้ำเฉาก๊วย ตรากรีนเมท, 12.เฉาก๊วยชากังราว,13.เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม, 14.เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง

ขณะที่ เฉาก๊วย 6 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเบนโซอิก น้อยกว่า 1.5 - 1.75 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่ 1.ตลาดอมรพันธ์ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, 2.เฉาก๊วยตราจริงใจ แบบก้อนใหญ่, 3. ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, 4.เฉาก๊วยเกาลูน บางกอกเกาลูน (แบบถุง), 5.นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ, 6.ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ร้านข้าวเหนียวมูลแม่สุวิมล เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่ 1.เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ถั่วแดงฯ 2. เฉาก๊วย นายอ๋อง

เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่ 1.เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) (68.85 มิลลิกรัม), 2.เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) (79.41 มิลลิกรัม) เฉาก๊วย 2 ยี่ห้อ พบสารกันบูดไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม คือ ได้แก่ 1.เฉาก๊วยตลาดบางแค ไม่มียี่ห้อ (124 มิลลิกรัม)  2. เฉาก๊วยปุ้น & เปา (399.73 มิลลิกรัม) เฉาก๊วย 3 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเกิน 500 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม ได้แก่ 1. เฉาก๊วย (jelly glass) (523.08 มิลลิกรัม) 2. แม่ปิงเฉาก๊วย (581.34 มิลลิกรัม) 3. คิด+ เฉาก๊วยธัญพืช (627.91 มิลลิกรัม) และเฉาก๊วย 1 ยี่ห้อ พบสารกันบูดเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัม คือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอกที่พบปริมาณเบนโซอิกเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม

ข้อสังเกต จากตัวอย่างที่พบสารกันบูดเบนโซอิก-ซอร์บิก

แถลงของ นิตยสารฉลาดซื้อ ระบุอีกว่า ยังพบว่าการแสดงฉลาก มีข้อสังเกตดังนี้ ตัวอย่างที่พบสารกันบูดเบนโซอิกและหรือซอร์บิก จำนวน 16 จาก 30 ตัวอย่าง มีเพียง 4 ตัวอย่างที่แจ้งข้อมูลบนฉลาก ว่า มีการใช้สารกันบูด ประกอบด้วย 1. ยี่ห้อ ปุ้น & เปา แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย INS202, 211 หรือ โปแตสเซียม ซอร์เบต และ โซเดียม เบนโซเบต ซึ่งเป็นสารในกลุ่มสารกันเสีย เบนโซเอต ทั้ง 2 ชนิด โดยผลทดสอบพบ เบนโซอิก 219.56 มก./กก. และพบซอร์บิก 180.17 มก./กก. 2. เฉาก๊วย (jelly glass) ของ นิตยาวุ้นมะพร้าว แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสีย โซเดียมเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 292.03 มก./กก. และพบซอร์บิก 231.05 มก./กก. 3. ยี่ห้อ แม่ปิงเฉาก๊วย แจ้งว่า ใช้วัตถุกันเสียโซเดียมเบนโซเอท (INS211) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 321.05 มก./กก. และพบซอร์บิก 260.19 มก./กก.  และ 4. เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางปะกอก แจ้งว่า มีโซเดียมเบนโซเอท 0.02% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 1,387.37 มก./กก.

ฉลากสินค้าที่แจ้งว่าไม่มีวัตถุกันเสีย แต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน กลุ่มตัวอย่างที่แจ้งว่า “ไม่มีวัตถุกันเสีย” บนฉลากแต่จากผลทดสอบพบว่า มีการปนเปื้อน ได้แก่ 1. ยี่ห้อ นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ ผลทดสอบพบ เบนโซอิก น้อยกว่า 1.50 มก./กก. 2. ยี่ห้อ เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ ขนมเยลลี่คาราจีแนน ผสมบุกผง ถั่วแดงและน้ำเฉาก๊วย 15% ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 6.53 มก./กก. และพบซอร์บิก 3.74 มก./กก. 3. ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถัง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 68.85 มก./กก. และ 4. ยี่ห้อ เฉาก๊วยดอนเมือง (แบบถุง) ผลทดสอบพบ เบนโซอิก 79.41 มก./กก.

สำหรับมาตรฐานการใช้สารกันบูดใน เฉาก๊วย นั้นเฉาก๊วย จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับผลิตภัณฑ์ เยลลี่ เพราะมีกรรมวิธีในการผลิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 213) พ.ศ. 2543 เรื่อง แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นิยามความหมายของ เยลลี่ ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ได้จากการคั้นสดหรือสกัดจากผลไม้ หรือทำจากน้ำผลไม้ล้วนที่ผ่านกรรมวิธี หรือทำให้เข้มข้น หรือแช่แข็ง ซึ่งผ่านการกรองและผสมกับ น้ำตาลทำให้มีความข้นเหนียวพอเหมาะ (ส่วนเฉาก๊วยทำจากพืชที่เรียกว่า หญ้าเฉาก๊วยหรือGrass Jelly )

แถลงของ นิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่า ข้อกำหนดเรื่องการใช้สารกันบูด กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) กำหนดไว้ อาหารกลุ่ม แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด สามารถใช้ กรดเบนโซอิก ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถใช้ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อปริมาณอาหาร 1 กิโลกรัม เช่นกัน

ทั้งนี้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ปริมาณรวมที่ใช้ต้องไม่เกินปริมาณสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตของสารตัวใดตัวหนึ่ง (อิงตัวที่ปริมาณน้อยที่สุด) ซึ่งในกรณีของ เฉาก๊วย อนุญาตให้ใช้สารกันเสีย กรดเบนโซบิก และ กรดซอร์บิก รวมกันสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม 

อันตรายของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก

นิตยสารฉลาดซื้อ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวอันตรายของสารดังลก่าวว่า เป็นกลุ่มสารกันเสียที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ในอาหาร ซึ่งนิยมใช้ใน แยม เยลลี่ ผักผลไม้ดอง เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม แต่หากได้รับสารทั้ง 2 ชนิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณสูง อาจส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะ

'ต้านสารพิษ' ผิดหวังปมกรมวิชาการเกษตรแถลงข่าวยื้อเวลาการแบนและจำกัดการใช้ 3 สารพิษที่มีความเสี่ยงสูง

วานนี้ (12 ก.ย.60) เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรและเครือข่ายต่างๆมากกว่า 40 องค์กร ออกแถลงการณเครือข่าว โดยระบุว่า รู้สึกผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป 

แถลงการณ์ ระบุว่า ตามที่ สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ได้แถลงว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย จึงจะขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ทางเครือข่ายเห็นว่าเป็นการยื้อเวลา และหมกเม็ดให้มีการใช้สารพิษดังกล่าวออกไป เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นมาพิจารณาผลกระทบโดยรอบด้าน และมีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 25 คือ ใบอนุญาตที่ออกไปแล้ว หากมีเหตุสําคัญเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอํานาจออกใบอนุญาตมีอํานาจสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขในการอนุญาตได้ตามความจําเป็น แต่กรมวิชาการเกษตรมิได้กล่าวถึงประเด็นนี้แต่ประการใด

การผลักเรื่องนี้ออกไปทั้งๆที่สามารถดำเนินการระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้ ไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเข้าทางบริษัทสารพิษ เนื่องจากในคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีกรรมการอย่างน้อย 2 คน เป็นตัวแทนของสมาคมของบริษัทสารพิษร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย โอกาสที่จะแบนสารพิษดังกล่าวจะเป็นไปได้ยากหรือยื้อเวลาต่อไปอีกหลายปี ดังที่ปัจจุบันคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่ได้ประกาศแบนคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ทั้งๆที่กรมวิชาการเกษตรได้เสนอให้มีการแบนทั้งสองสารดังกล่าวมานานมากกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม

กรณีการจำกัดการใช้สารพิษไกลโฟเซต โดยระบุพื้นที่ห้ามใช้ในฉลากไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ทางกรมวิชาการเกษตรต้องมีมาตรการและกลไกมารองรับการจำกัดการใช้ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานตาม Road Map ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้วางแนวทางไว้

แถลงการณ์ ระบุถึงข้อเรียกร้องว่า เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เครือข่ายฯจะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศตามกำหนดการเดิมในวันที่ 19 ก.ย. 2560 หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตาม Road Map เพื่อให้มีการยุติการใช้สารดังกล่าวภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net