Skip to main content
sharethis

ขีปนาวุธพิสัยกลางหนึ่งลูกยิงผ่านเกาะฮอกไกโดเช้านี้ โสมขาวซ้อมยิงขีปนาวุธ 2 ลูกโต้ตอบ พบ จรวดบิน 3,700 ก.ม. ไกลสุดเท่าที่เกาหลีเหนือเคยยิง ผู้เชี่ยวชาญคาด จะมีทดลองจรวดมากขึ้น โสมแดงมุ่งพัฒนานิวเคลียร์ไว้ป้องกันตัวเอง การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คืออะไร ครั้งนี้เวิร์คแค่ไหน และแนวโน้มอาวุธนิวเคลียร์ลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพ

การซ้อมยิงขีปนาวุธโดยหน่วยทหารปืนใหญ่ฮวาซ็อง กองทัพเกาหลีเหนือ (ที่มา: www.uriminzokkiri.com)

15 ก.ย. 2560 สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ รายงานว่าเกาหลีเหนือได้ยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง (IRBM) ข้ามเขตแดนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อเวลา 6.57 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโซล เกาหลีใต้

คณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้รายงานว่า จรวดถูกยิงจากกรุงเปียงยาง เกาหลีเหนือก่อนที่จะเดินทางเป็นระยะทางทั้งสิ้นราว 3,700 ก.ม. ไกลกว่าการยิงครั้งที่แล้วเมื่อ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาถึง 1,000 ก.ม. ไต่ระดับความสูงได้สูงสุด 770 ก.ม. ข้ามประเทศญี่ปุ่นไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ถือเป็นขีปนาวุธที่เดินทางได้ไกลที่สุดเท่าที่เกาหลีเหนือเคยยิงมาหากไม่นับจรวดที่ทางเกาหลีเหนืออ้างว่าเป็นยานอวกาศ

สื่อในญี่ปุ่นรายงานว่าจรวดบินผ่านพื้นที่ตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด โดย 17 วันที่แล้ว เกาหลีเหนือก็มีการยิงขีปนาวุธข้ามประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว โดยเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางฮวาซอง-12 ซึ่งเดินทางเป็นระยะทาง 2,700 ก.ม. แต่มีรายงานว่าระยะทางสูงสุดของจรวดดังกล่าวอยู่ที่ 4,000-5,000 ก.ม.

ศูนย์บัญชาการสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก (PACOM) ได้ยืนยันว่าจรวดดังกล่าวเป็นจรวดพิสัยกลาง และระบุว่าจรวดจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อเกาะกวม อันเป็นพื้นที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ทั้งศูนย์บัญชาการการป้องกันทางอากาศอเมริกาเหนือ (NORAD) ก็สรุปว่าจรวดดังกล่าวจะยังไม่เป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคอเมริกาเหนือเลย

อย่างไรก็ดี ระยะเดินทางของจรวดนั้นสะท้อนถึงสมรรถนะของเกาหลีเหนือในการยิงจรวดใส่เกาะกวม เพราะระยะทางระหว่างเกาะกวมและกรุงเปียงยางห่างกันราว 3,400 ก.ม.

ผู้เชี่ยวชาญคาด จะมีทดลองจรวดมากขึ้น โสมแดงมุ่งพัฒนานิวเคลียร์ไว้ป้องกันตัวเอง หนุนคว่ำบาตรให้หนักกว่านี้

แฮรี่ เจ คาเซียนิส ผู้อำนวยการความมั่นคงศึกษาจากศูนย์ผลประโยชน์แห่งชาติที่กรุงวอชิงดัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ให้ความเห็นกับสำนักข่าวยอนฮัป ต่อการทดลองขีปนาวุธที่มีบ่อยขี้น โดยเห็นว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Deterrent)

“เปียงยางจะยังคงดำเนินการทดลองขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภทเพื่อสร้างสมรรถนะการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์…เราจึงควรคาดว่าจะมีการทดลองอีกหลายครั้ง”

แฮรี่ยังได้เสนอให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเกาหลีเหนือมากขึ้นด้วยการไม่รับแรงงานของเกาหลีเหนือ โดยแรงงานที่ถูกขนานนามว่าเป็นแรงงานทาสเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของรายได้ รวมถึงลงโทษธนาคารจีนที่ช่วยเหลือเกาหลีเหนือจากการถูกคว่ำบาตร

การยิงจรวดครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการทดสอบยิงจรวดผ่านเขตแดนญี่ปุ่นเมื่อ 29 ส.ค. ที่ผ่านมา ตามมาด้วยรายงานการทดลองระเบิดไฮโดรเจนในเกาหลีเหนือที่อ้างว่าทดลองสำเร็จ และตามมาด้วยมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่ตัดสินใจดำเนินมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือด้วยการตัดปริมาณการส่งออกน้ำมัน

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ได้มีการตอบโต้การยิงขีปนาวุธด้วยการซ้อมยิงขีปนาวุธ โดยกองทัพได้ยิงจรวดฮยุนมู-2 ไปสองลูกและหนึ่งลูกนั้นตกสู่เป้าหมายที่ห่างออกไป 250 ก.ม. ในทะเลตะวันออกอย่างแม่นยำ ส่วนอีกลูกนั้นตกลงไปในน้ำในช่วงออกตัว การยิงขีปนาวุธของเกาหลีใต้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังเกาหลีเหนือยิงจรวดพิสัยกลางเพียง 6 นาทีเท่านั้น

การป้องปรามด้วยนิวเคลียร์คืออะไร ครั้งนี้เวิร์คแค่ไหน และแนวโน้มอาวุธนิวเคลียร์ลดปริมาณแต่เพิ่มคุณภาพ

เว็บไซต์ politics.co.uk ให้นิยามของการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ว่า เป็นหลักการทางยุทธศาสตร์ว่าด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จึงสามารถมองได้ว่าเป็นเครื่องมือต่อรองทางการทูตในเวทีนานาชาติและส่งให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มีเสียงที่ดังกว่าและมีแต้มต่อมากกว่าประเทศอื่น

ก่อนหน้าการยิงจรวดของเกาหลีเหนือครั้งนี้ ทางการเกาหลีเหนือก็ออกมาข่มขู่สหรัฐฯ ว่าจะส่งจรวดฮวาซอง-12 จำนวน 4 ลูกไปถล่มเกาะกวมอันเป็นฐานที่มั่นทางทหารของสหรัฐฯ แต่ตัดสินใจยั้งเอาไว้ก่อนเพื่อที่จะดูท่าทีของทางรัฐบาลกรุงวอชิงตันอีกสักนิด

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ของสหรัฐฯ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ กล่าวหลังจากเดินทางไปเยือนอินเดียว่า “เราจำเป็นที่จะต้องทำให้เกาหลีเหนือตระหนักว่าพวกเขาจะไม่มีอนาคตที่สดใส ถ้ายังคงเลือกที่จะเดินบนเส้นทางนี้”

ในขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่เคยออกมาแถลงการณ์โต้ตอบท่าทียั่วยุของเกาหลีเหนืออย่างเผ็ดร้อนก็ยังคงหัวเสียกับมติการคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เขาเห็นว่าสามารถทำได้มากกว่าการตัดจำนวนการนำเข้าน้ำมันและเชื้อเพลิง ข้อเสนอที่ตกไปจากมติการคว่ำบาตรในครั้งนี้ได้แก่การอนุญาตให้ใช้กำลังทหารได้ถ้ามีความจำเป็น และการอนุญาตให้ตรวจค้นเรือสัญชาติเกาหลีเหนือในน่านน้ำสากลเพื่อตรวจสอบว่ามีอาวุธและสิ่งของต้องห้ามตามระเบียบขององค์การสหประชาชาติ มติของสหประชาชาติและข้อเสนอที่ตกไปที่ทำให้รัฐบาลกรุงเปียงยางเอาตัวรอดจากผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดบนความเป็นไปได้ อาจจะเป็นคำตอบต่อคำถามเรื่องประสิทธิภาพของยุทธศาสตร์การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ได้ไม่มากก็น้อย

ข้อมูลเมื่อ 3 ก.ค. 2560 จากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่า ปัจจุบันมี 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ได้แก่สหรัฐฯ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อินเดีย ปากีสถาน อิสราเอลและเกาหลีเหนือ และ 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองกันทั้งนั้น (จีน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซียและสหรัฐฯ) 9 ประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์รวมกันราว 14,935 ลูก ร้อยละ 93 ของอาวุธนิวเคลียร์อยู่ที่สหรัฐฯ และรัสเซีย

Pie chart showing global share of nuclear weapons in January 2017

สัดส่วนการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เมื่อเดือน ม.ค. 2560 (ที่มา:sipri.org)

ข้อมูลยังระบุว่า ที่ผ่านมาหัวรบมีจำนวนลดลงเนื่องจากข้อตกลงการลดอาวุธระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย อย่างไรเสีย จำนวนการลงทุนไปกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความทันสมัยนั้นกลับเพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ มีแผนที่จะใช้เงินจำนวน 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อรักษาและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2560-2570 ส่วนประเทศอื่นที่มีนิวเคลียร์ต่างก็เริ่มสร้างระบบจัดส่งอาวุธนิวเคลียร์กันแล้ว เช่นจีน อินเดีย ปากีสถาน รวมไปถึงเกาหลีเหนือ ที่ทาง SIPRI ได้คาดคะเนจำนวนหัวรบจากทรัพยากรที่เกาหลีเหนือมี ซึ่งได้คาดเอาไว้ว่ามีจำนวน 10-20 ลูก โดยในปี 2559 เกาหลีเหนือได้ทดลองยิงขีปนาวุธหลายครั้ง และผลที่ได้ก็มีความแปรผันผสมปนเปกันไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net