Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความสรุปเหตุการณ์คร่าว ๆ ให้ท่านผู้สนใจมาค้นหาคำตอบเพิ่มเติมในงานเสวนาหัวข้อ “มากกว่าเรื่องการเมืองร่วมสมัย?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา” อันเป็นงานเสวนาที่ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2560 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้อง 802 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แคว้นกาตาลูญญา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสเปน มีบาร์เซโลนาเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคว้น อีกทั้งเป็นเมืองที่ความหนาแน่นของประชากรนับเป็นอันดับ 2 ของประเทศและอันดับที่ 7 ของประเทศในสหภาพยุโรปทั้งหมด ชาวกาตาลันนี้มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตน ได้เผชิญความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มาหลายศตวรรษ ความผันผวนของระบอบการเมืองและกระแสชาตินิยมสเปนและกาตาลันได้นำมาสู่การออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ผลคะแนนของประชามติจากการเลือกตอบ “ใช่” หรือ “ไม่” ต่อคำถามที่ว่า “ท่านประสงค์ให้กาตาลูญญาเป็นรัฐอิสระปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐหรือไม่?” ชี้นำสู่ความประสงค์ของชาวกาตาลันที่จะจัดตั้งแคว้นกาตาลูญญาเป็นรัฐอิสระจากสเปน ในสัดส่วน 90% จากสัดส่วนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 42%

การเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยระหว่างสเปนและแคว้นกาตาลูญญาอย่างรอบด้านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทประวัติศาสตร์ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ชาติสเปนและการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวกาตาลันซึ่งยาวนานกว่า 3 ศตวรรษ ปีอันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้อันยาวนานคือ ค.ศ. 1714 อันเป็นปีที่ พระเจ้าเฟลีเปที่ 5 แห่งสเปนได้ยึดครองบาร์เซโลนา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มอินเดเปนดีสตัส (independistas) หรือกลุ่มผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวกาตาลันได้พยายามต่อสู้ยื้อเอกราชหรือหาหนทางปกครองตนเองโดยเอกเทศและเป็นอิสระจากสเปน ปีที่สำคัญอีกปีหนึ่งคือ ค.ศ. 1932 อันเป็นปีที่ผู้นำแคว้นได้ร่างคำประกาศการปกครองตนเองของกาตาลูญญาปี 1932 อันเป็นร่างคำประกาศฉบับแรกที่เรียกร้องให้กาตาลูญญาแยกตัวเป็นสาธารณรัฐ คำประกาศนี้ได้รับเสียงสนับสนุนถึง 99%  ของผู้ออกเสียงประชามติรับรองเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1931 ต่อมารัฐบาลสเปนเองได้รับรองคำประกาศฉบับนี้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1932 ประเด็นสำคัญของคำประกาศดังกล่าวคือข้อความที่ว่าชาวกาตาลันจะสามารถตัดสินใจเลือกทางเดินของแคว้นตนได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี คำประกาศการปกครองตนเองของกาตาลูญญาปี 1932 อันนำมาสู่การประกาศตนเป็นสาธารณรัฐของกาตาลูญญานี้มีผลบังคับใช้เพียงในช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้นคือค.ศ. 1933 เมื่อพรรค CEDA ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาของสเปน (Confederación Española de Derechas Autónomas) ชนะการเลือกตั้ง จากนั้นได้มีความพยายามที่จะรื้อฟื้นคำประกาศดังกล่าวหลายครั้งในช่วงสงครามการเมืองสเปน (ค.ศ. 1936-1939) แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากแคว้นกาตาลูญญาเป็นพื้นที่ที่มีกระแสต่อต้านนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก (ค.ศ. 1892-1975) อย่างรุนแรง นายพลฟรังโกจึงประกาศถอดถอนและยกเลิกคำประกาศและข้อตกลงในคำประกาศตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1938

ภายใต้ระบอบเผด็จการของฟรังโกตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ขบวนการชาตินิยมกาตาลันได้ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเป็นระบบ โดยการปราบปรามดังกล่าวมิเพียงสะท้อนความพยายามที่จะรื้อถอนอำนาจทางการเมืองของแคว้นกาตาลูญญาเท่านั้น หากยังสะท้อนความพยายามที่จะกลืนภาษาและทลายสถาบันทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวกาตาลันอย่างสิ้นซาก ชาวกาตาลันหลายพันคนถูกประหารชีวิต นับว่าไม่มีครอบครัวใดที่ไม่ได้รับบาดแผลจากการผ่านเผชิญการกดขี่ข่มเหง กาลผ่านไปจนจอมพลฟรังโกเสียชีวิต ขบวนการชาตินิยมกาตาลันได้กลับมาต่อสู้เพื่อเอกราชอีกครั้งจนเมื่อค.ศ. 2006 สเปนได้มอบสถานะความเป็น “ชาติ” และอำนาจในการเก็บภาษีอากรแก่แคว้นกาตาลูญญา ทว่าในปี 2010 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสเปนกลับไม่รับรองสถานะดังกล่าว โดยอ้างว่าสถานะของแคว้นกาตาลูญญาเป็นสถานะทางเชื้อชาติเท่านั้น ไม่ใช่ชาติ ผลของการตัดสินเช่นนี้คือการลุกฮือประท้วงของชาวกาตาลันกว่า 1 ล้านคน แต่เป็นการประท้วงที่ไม่ประสบผลสำเร็จแต่อย่างใด

ปัญหาทางประวัติศาสตร์ส่งผลถึงสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในระดับเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ในระดับเศรษฐกิจ รายได้จากแคว้นกาตาลูญญานับเป็น 20% ของเศรษฐกิจสเปน แม้แคว้นกาตาลูญญาซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมก้าวหน้า (ด้วยเป็นถิ่นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเหล็กกล้า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยา) และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นำรายได้มหาศาล แต่ชาวกาตาลันเชื่อว่าตนไม่ได้รับประโยชน์และสวัสดิการที่สมสัดส่วนการเสียภาษีหล่อเลี้ยงสเปน เมื่อค.ศ 2014 ชาวกาตาลันเสียภาษีให้ทางการสเปนมากถึง 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในเชิงการบริการพื้นฐานเช่นการศึกษาหรือสาธารณสุข ส่วนในระดับของวัฒนธรรมแม้แคว้นกาตาลูญญาจะมีอำนาจปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจอันเจริญมั่งคั่ง แต่ทางวัฒนธรรมนั้น ชาวกาตาลันไม่คิดว่าตนเป็นชาวสเปน ดังนั้นอำนาจปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแคว้นกาตาลูญญาได้แยกตัวออกมาจากสเปน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการลงประชามติในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ได้สะท้อนความประสงค์ที่จะแยกแคว้นเป็นอิสระถึง 90% จากสัดส่วนผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมด 42% อย่างไรก็ตามสัดส่วนผู้ออกมาลงคะแนนจริงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการต่อต้านจากรัฐบาลมาดริดและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ถึงความชอบธรรมของผลการลงประชามติดังกล่าว

ท่าทีและปฏิกิริยาจากรัฐบาลสเปนอาจสะท้อนประวัติศาสตร์สมัยฟรังโกและลัทธิชาตินิยมสเปน มารีอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปน ได้กล่าวประณามว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามการประท้วงของชาวกาตาลันอย่างรุนแรง จนกระทรวงสาธารณสุขแคว้นกาตาลูญญาประกาศยืนยันว่าประชาชน 893 คนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามสถานีเลือกตั้งต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจถึงขั้นลากประชาชนออกจากคูหาและยิงกระสุนยางใส่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้ยึดใบลงประชามติหลายล้านใบ จับกุมเจ้าหน้าที่ผู้เห็นด้วยกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของแคว้นกาตาลูญญามากกว่า 10 คน อีกทั้งปลดเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อสถานีลงคะแนน การนับคะแนน และการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต

ส่วนท่าทีของสหภาพยุโรปนั้นได้ก่อให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง เพราะสหภาพยุโรปแสดงจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลสเปนโดยกล่าวว่าประชาชนควรเคารพรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายในประเทศของตน และจะได้ก้าวก่ายความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญาโดยมองว่าเป็นปัญหาภายในประเทศ เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 แห่งสเปนทรงกล่าวประณามผ่านสื่อโทรทัศน์ว่าผู้นำขบวนการต่อสู้เพื่อแยกแคว้นกาตาลูญญาจากสเปนนั้นเป็นผู้กระทำการ “นอกกฎหมาย” และไร้ความรับผิดชอบ นอกจากนี้ทรงเรียกร้องให้ทุกคนเคารพรัฐธรรมนูญ คำแถลงการณ์จากกษัตริย์สเปนนี้ได้ส่งผลให้ความขัดแย้งสเปน-กาตาลันรุนแรงกว่าเดิม โดยการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน ประธานทบวงการปกครองกาตาลุญญาได้กล่าวว่าแคว้นกาตาลุญญาจะประกาศอิสรภาพภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับและดำเนินการนับผลคะแนนจากเสียงของชาวกาตาลันที่พำนักอยู่ที่ต่างประเทศ

ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการในสาขาวิชายุโรปศึกษาเห็นความสำคัญของการเรียนรู้และความเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงจากสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา และเชื่อว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยุโรปและเข้าใจวิวัฒนาการทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวทางความคิดอันเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยมสเปนและกาตาลันอันนำมาสู่ความขัดแย้งในศตวรรษที่ 21 จะนำมาซึ่งฐานความรู้ที่จะช่วยให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ สื่อมวลชน หน่วยงานรัฐและเอกชน อีกทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญาอย่างลึกซึ้งและรอบด้าน อันนำไปสู่การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของประเทศสเปนและแคว้นกาตาลูญญา อีกทั้งความรู้เกี่ยวกับสหภาพยุโรปต่อไป

ดังนั้น ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงจัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ “มากกว่าเรื่องการเมืองร่วมสมัย?: ร่วมกันเข้าใจสถานการณ์และความขัดแย้งสเปน-กาตาลูญญา” ร่วมกับสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2560
เวลา 09.30-12.00 น.
ณ ห้อง 802 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (จามจุรี 10)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 4 ท่าน มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ดังนี้

1) รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
2) อ.ดร.สุกิจ พู่พวง อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้นำการเสวนา)
3) อ.ดาบิด กูเตียร์เรซ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4) คุณณภัทร พุ่มสิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย

ลงทะเบียนหน้างานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ verita.s@chula.ac.th

 

หมายเหตุ: 
ผู้เขียนขอขอบคุณ ผศ.ดร.ณํฐนันท์ คุณมาศ ที่กรุณาช่วยอ่านและช่วยแก้ไขเพิ่มเติมร่างบทความมา ณ ที่นี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net