Skip to main content
sharethis

"ดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ." รื้อฟื้นและทบทวนความทรงจำ เพื่อจดจำ ผ่านคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2542

ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หมุนกลับอีกเป็นครั้งที่ 41 ความทรงจำในหนนั้นต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย คล้ายคลึงมีอยู่ คลับคล้ายถูกลืม เป็นโศกนาฏกรรมที่ชนชั้นนำไม่อยากให้จารึกในบทเรียน ฝ่ายขวาไม่อยากเอ่ยถึง และเหยื่อยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรม

‘ประชาไท’ โดยความอนุเคราะห์ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำส่วนหนึ่งของความทรงจำ 6 ตุลา 19 กลับมาทบทวนอีกครั้ง ผ่านปากคำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2542

 

อภินันท์ บัวหภักดี-เวลาเขาขาดคน ผมก็เข้าไปแจมเป็นตัวประกอบบ้าง

“เมื่อก่อนนี้ อมธ. ก็เป็นที่อยู่ของชมรมหลายชมรม รวมทั้งนาฏศิลป์การแสดงของอนุพงษ์ ก็มีวงดนตรีอย่างวงต้นกล้า วงคาราวาน ก็เข้ามาใช้เป็นห้องฝึกซ้อม ชมรมรู้สึกจะอยู่ข้างล่าง ผมจริงๆ ก็นอกจากเป็นนักกีฬาแล้วก็เล่นดนตรีได้ ก็เลยมาแจมๆ กับเขาด้วยบางครั้งบางคราว นึกสนุกบางทีเขาไปเล่นที่ไหนก็ขนเครื่องไปช่วยเขาบ้าง เริ่มจากความเป็นเพื่อน แล้วในที่สุดไปช่วยมากเข้าๆ ก็เหมือนเป็นนักกิจกรรมเหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่ (หัวเราะ) บางครั้งบางคราวเวลาเขาขาดคน ผมก็เข้าไปแจมเป็นตัวประกอบบ้าง จำได้ว่าเป็นตัวประกอบอยู่สองสามงาน ปี 1 ก็เป็นตัวประกอบงานรับน้องใหม่ ปี 2 ก็เป็นตัวประกอบงานรับน้องใหม่ เป็นตัวที่ไม่สำคัญอะไร นานๆ เขาขาดคนก็เข้าไปแจมกับเขาสักที

“จริงๆ แล้วเรื่องเชิงการเมืองอะไรต่ออะไร ผมก็ไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไหร่ ผมเป็นนักศึกษาประเภทสุขนิยมมากกว่าอย่างอื่น แต่ว่าเป็นคนธรรมศาสตร์มันหลีกเลี่ยงไม่พ้นเรื่องแบบนี้ แล้วหลายๆ เรื่องเราเห็นด้วย เรื่องนี้ทำถูก เรื่องนี้ถูกต้อง หลายๆ เรื่องเราเห็นใจเพื่อน เพื่อนไปบาดเจ็บ ไปล้มตาย อยู่ดีๆ ไปปิดโปสเตอร์ ไปถูกเขาเล่นงานมา

“เรื่องแสดงละครไม่รู้เรื่องเลยว่าพล็อตเรื่องหรือการเตรียมการแสดงเป็นยังไง รู้แต่ว่ามีพระถนอมเข้ามา อันนี้รู้ รู้เรื่องมีคนถูกแขวนคอที่นครปฐม อันนี้รู้ เพราะว่าลงหนังสือพิมพ์ ชัดเจน วันที่ 4 จริงๆ แล้วไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาเตรียมการแสดงกันยังไง ผมนัดกับเพื่อนวันที่ 3 จะไปดูหนังตอนเช้า นัดกันที่ชมรมวอลเล่ย์บอล...นัดกันจะไปดูยุทธภูมิมิดเวย์ รู้สึกจะรอบเช้า เช้าผมก็มารออยู่ที่ชมรมวอลเล่ย์ฯ ปรากฏว่า...ไม่มา ไม่รู้หายจ้อยไปไหน ผมก็เลยว่าง ไม่รู้จะทำอะไร เช้าๆ พวกชมรมกีฬาก็ยังไม่มากัน เลยเตร่ขึ้นไปดูที่ อมธ. ไปที่ชมรมนาฏศิลป์การแสดง ก็จริงๆ ก็ขึ้นไปเป็นประจำอยู่แล้ว

“มันจะมีระเบียง เห็นเขาเอาเฮียวิโรจน์ (ตั้งวาณิชย์) มาแขวนคอที่ระเบียง คนเห็นหน้ากัน ก็อยู่ด้วยกันนั่นแหละ ก็ไปดู ก็สนุกดี สักประเดี๋ยวหนึ่งเขาก็ขนเฮียกลับเข้าห้องไป ผมก็เข้าไปดูเล่นๆ ว่าทำอะไรกัน ไปๆ มาๆ เฮียคงจะพูดว่ามันเจ็บ แขวนนานไม่ได้ หน่อยก็หาคนอื่นเข้าไปแทน ถามคนนั้นก็ไม่เอา คนนี้ก็ไม่เอา พอดีผมว่างอยู่ ไปเองก็ได้ (หัวเราะ) เขาบอกต้องตัวเล็กๆ เบาๆ ด้วย ก็อาสาสมัคร สมัครปุ๊บ แทบจะทันทีเลย มีคนแต่งตัวให้ผึบผับๆ ช่วยกันแต่งตัว แล้วก็เอาไปทดลองแบบเฮียเมื่อกี้นี่”

 

อนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ-ฆาตกรมันกลับมาแล้ว ยังจะสอบกันอยู่รึ

“ผมเรียนนิดหนึ่งว่าที่มาของละครเรื่องนี้มีที่มาที่ไป เพราะว่าตอนช่วงที่จะมีการเคลื่อนไหวประท้วงถนอมเข้ามา ผมจำได้ว่า...คือชุมนุมเป็นชุมนุมที่ทำกิจกรรม แล้วในช่วงนั้นชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้งหมดก็จะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทั้งหมด อย่างชมรมเราหลายๆ ครั้งก็เคยไปเล่นละครล้อเลียนแถวหน้ารัฐสภาที่ทำมาตลอด

“ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่ 3 ตุลา มีการประชุมของแนวร่วม 21 กลุ่มในธรรมศาสตร์ กลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์เข้าร่วมประชุมกัน เนื่องจากวันที่ 3 มีนักศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ประท้วงไม่เข้าสอบกัน แล้วเลยมีมติว่าในวันรุ่งขึ้นจะมีการเคลื่อนไหวให้นักศึกษาชั้นปี 1 ไม่เข้าสอบในวันที่ 4 ...ที่ตึกศิลปศาสตร์ ผมเข้าร่วมประชุมก็เลยรับมติมาว่าทุกส่วนต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้ แล้วแต่ละชุมนุมก็ไปคิดรูปแบบการเคลื่อนไหวของตัวเองว่าจะเคลื่อนไหวยังไง ทางผมก็ไปประชุมที่ชุมนุม เขาเลยบอกว่าเราก็เล่นละครที่ธรรมศาสตร์ ที่ลานโพธิ์ในวันที่ 4 ที่มาที่ไปของละครก็เกิดจากการที่จะเข้าร่วมเคลื่อนไหว เพื่อให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 หรือที่จะสอบตอนบ่ายวันนั้นไม่เข้าห้องสอบ

“จริงๆ วันนั้นมันจะไม่ใช่เป็นละครเป็นเรื่องเป็นราว คือหมายความว่าเราจะเอาภาพความโหดร้าย ทั้งคนที่ถูกแขวนคอหรือคนที่เป็นประชาชนถูกยิงตายตอน 14 ตุลาต่างๆ ที่ลานโพธิ์ แล้วเราก็จะไปเคลื่อนไหวและถามนักศึกษาว่า ฆาตกรมันกลับมาแล้ว ยังจะสอบกันอยู่รึ จุดประสงค์จริงๆ มันแค่นี้ คือพล็อตของเรา ส่วนที่จะมีการพูดการอะไรในละคร มันมีการเตี๊ยมกันก่อนหน้าวันที่จะขึ้นไปไม่นาน

“พอหลังจากมีการคุยกัน ก็มีการเตรียมการ ก็มีเอาวิโรจน์ เอาอภินันท์มาทดลอง อย่างที่เขาเล่าไปแล้ว พอวันรุ่งขึ้น วันที่ 4 เราก็ไปเล่นละครกันที่ลานโพธิ์ เพราะวันนั้นเขาจะสอบกันประมาณบ่ายโมง เราก็ไปกันประมาณ 11 โมง ก็จับขึ้นแขวน แขวนกัน...ใช้ผ้าพันรั้งหน้าอก แล้วก็เอาผ้าไปผูกกับเชือก ตรงปมก็ทำเป็นเอาเชือกมาคล้องเฉยๆ ก็เอาอภินันท์ขึ้น พอเจ็บ ก็เอาวิโรจน์ขึ้น แล้วก็จะมีคนในชุมนุมที่เหลือแต่งตัวเป็นพระถนอม หรือเป็นทหาร แล้วเป็นประชาชนก็นอนถูกยิงตาย เลือดสาด ทหารก็เดินไปบ้าง เตะไปบ้าง ถีบไปบ้าง แล้วก็จะมีคนถือโทรโข่งพูดชวนนักศึกษาให้หยุดสอบนะ บรรยากาศที่ลานโพธิ์จะเป็นอย่างนั้น

“ตอนนี้มันจะมีบทพูดอยู่ตรงช่วงหนึ่งก็คือว่า เรากะว่าพอได้ยินเสียงออด ทุกคนต้องเข้าห้องสอบ เราจะเริ่มเล่นละครเลย เรากะว่าจะถ่วงนักศึกษาให้อย่าเพิ่งเข้า ดูละครของเราก่อน ช่วงนั้นเราก็เตี๊ยมกัน พอเสียงออดปั๊บ เราจะให้คนที่นอนตายทุกคนนอนเรียงๆๆๆ กันแบบเป็นถนนจากลานโพธิ์ไปถึงบันไดห้องสอบ คือบันไดตึกศิลปศาสตร์ แล้วก็จะมีนักศึกษาคนหนึ่งถือหนังสือจะเข้าห้องสอบ เขาก็จะเดินเหยียบไปบนร่างของคนตายเพื่อจะเข้าห้องสอบ ภาพมันอย่างนั้น ก็เดินเหยียบไป นักศึกษาคนนี้ก็จะถามว่า เฮ้ย พวกแกเป็นใคร มานอนอยู่ทำไม ก็จะมีคนตอบว่า พวกฉันก็คือประชาชนที่ถูกทรราชฆ่าตาย นักศึกษาคนนี้ก็จะบอกว่าไม่รู้ เขาไม่สนใจ เขาจะเข้าห้องสอบ มันก็เดินอย่างเดียว เดินเหยียบไปบนคนตาย พอเดินๆ ไป ก็เหมือนกับเขานึกอะไรขึ้นมาได้บางอย่าง แล้วเขาบอกว่าเขาไม่สอบแล้ว เขาโยนหนังสือทิ้ง แล้วเขาก็ลงมาจากร่างของคนตาย คือมันก็มีการพูดกันแค่นี้ จุดไคลแมกซ์มันก็คือให้นักศึกษาหยุดสอบ”

 

สุธรรม แสงประทุม-ผมและพรรคพวกรวม 6 คนถูกจับชุดแรก

“ครั้งแรกเราประชุมเสร็จมีมติยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลจัดการก่อน แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงขึ้น ความรุนแรงมาจากปฏิกิริยาของประชาชน ของนิสิตนักศึกษาที่มีต่อจอมพลถนอม ก็มีการลุกขึ้นประท้วง ลุกขึ้นแสดงออก ก็มีกรณีของสองช่างไฟฟ้านครปฐม สองช่างไฟฟ้านี้เป็นนักกิจกรรม เป็นนักเรียนนักศึกษาเทคนิคก่อน แล้วก็ไปเป็นพนักงานการไฟฟ้าภูมิภาคที่ทำงานอยู่ที่นครปฐม ก็ร่วมกับประชาชนในนครปฐมคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมด้วย สองคนนี้ก็ถูกจับไปซ้อมและทุบตีจนเสียชีวิต แล้วมีการนำไปแขวนคออำพรางว่าสองคนนี้แขวนคอฆ่าตัวตาย

“...เราได้รับรูปนี้มาจากแนวร่วมที่นครปฐม ก็มาบอกเรา บังเอิญคนเขาหายไปสองคน เขาตามไปเจอ รูปนี้ก็ถูกนำมาและเผยแพร่ต่อสาธารณะว่าการที่รัฐบาลขาดความรับผิดชอบ ปล่อยให้คนบริสุทธิ์ตายไปเรื่อยๆ นี่เป็นรูปธรรมหนึ่ง เราจึงมีการนัดชุมนุมกันครั้งแรกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราไม่พยายามใช้ธรรมศาสตร์ เพราะรู้ว่าธรรมศาสตร์ล่อแหลม ทั้งในภาพพจน์ก็เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ ก็ใช้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการชุมนุมครั้งแรกและเป็นการระดมผู้คน ผู้ปฏิบัติงานของศูนย์นิสิตหรือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกัน

“หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จากกันยานะครับ ผมคิดว่า 25 กันยา เราชุมนุมที่จุฬาฯ นะครับ แล้วเหตุการณ์ก็ยืดเยื้อ แต่เราก็ได้มีมติให้องค์การนักศึกษาทุกแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะพยายามระดมผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมให้มากที่สุด

“...พอชุมนุมวันที่ 4 ทำไมผมพูดถึงการรักษาความปลอดภัย เราชุนนุมในวันที่ 4 เราจะชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และโดยความตั้งใจ เราจะชุมนุมแล้วสลาย ชุมนุมแล้วสลาย ทำไปเรื่อยๆ มากกว่าชุมนุมแล้วยืดเยื้อ โดยความตั้งใจนะครับ แต่เราคิดว่าเวลานั้น ความพยายามที่จะหยิบฉวยสถานการณ์ขยายผลมีสูง เราจึงทำเป็นลายลักษณ์อักษรขออนุญาตชุมนุมต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ทั้งในฐานะนายกฯ และรักษาการณ์รัฐมนตรีมหาดไทยและมีการประกาศที่สนามหลวง ขอชุมนุมที่สนามหลวงและขอให้รัฐบาลส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอารักษ์ขาคุ้มครองผู้ชุมนุม พร้อมทั้งอำนวยแสงสว่างตามจุดต่างๆ เพราะเกรงว่าจะมีการคุกคามการชุมนุม

“แต่พอชุมนุมได้สักพัก เหตุการณ์ก็เริ่มรุนแรงขึ้น มีการย้ายผู้ชุมนุมจากสนามหลวงเข้าไปธรรมศาสตร์ ...ในวันที่ 4 ตอนเย็น ซึ่งเวลานั้นท่านอธิการบดีคืออาจารย์ป๋วยก็ไม่เห็นด้วยที่จะย้ายเข้าธรรมศาสตร์ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างล่อแหลม โดยตัวมันเอง ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่รุนแรงและสับสน เพียงแต่มันมาเกี่ยวเนื่องกับการแสดงละครที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการแสดงของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง

“...ความพยายามที่จะชุมนุมแล้วสลาย ชุมนุมแล้วสลาย เราคิดว่าเป็นมาตรการที่ปลอดภัยกว่า รัดกุมกว่า แต่ว่าทางการเมืองต้องยอมรับว่าการคิดและปฏิบัติ มันไม่ใช่เวลาราชการ ชุมนุมสามโมงเย็น หกโมงเย็นเลิก มันไม่ใช่ง่ายๆ อย่างนั้น เพราะกว่าจะระดมผู้คนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนบอกว่าถ้าอย่างนั้นอย่าเพิ่งสลายเลย เพราะรัฐบาลก็ขาดความจริงใจ ก็สร้างมาตรการต่อรองรัฐบาลให้มากขึ้น

“...ผมและพรรคพวกรวม 6 คนถูกจับชุดแรก เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้น แล้วก็มีการขยายผล เผยแพร่ บิดเบือน โจมตี แล้วก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้ ผมก็เป็นคณะชุดแรกที่ได้ประสานติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีอยู่ ผ่านทางเจริญ คันธวงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น บอกว่าจะนัดประสานงานให้พวกเราเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้นายกฯ ซึ่งเป็นนักกฎหมายได้รับทราบและได้หาทางผ่อนคลายสถานการณ์ เพื่อให้เรื่องการเข้าพบสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเรา เราก็ได้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเหตุการณ์การแสดงละครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนว่ามีส่วนหมิ่นเหม่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุดของบ้านเมือง

“เวลานั้นผมก็ได้ชวนผู้ที่เป็นกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย 12 คน ตอนนั้นผมเป็นเลขาธิการศูนย์นิสิต มีคุณสุรชาติ บำรุงสุข วันนี้เป็น ดร.สุรชาติ  บำรุงสุข อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลานั้นสุรชาติเป็นอุปนายกฝ่ายกิจการภายนอกขององค์การนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นนายกฯ แล้วก็คุณประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ ซึ่งเวลานั้นเป็นนายกฯ ของสโมสรสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด เป็นตัวแทนศูนย์ 2 คน แล้วเอาบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงละคร 3 คนไปด้วย คือคุณอนุพงษ์ พงษ์สุวรรณ เป็นประธานชมรมนาฏศิลป์และการละครขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) แล้วก็คุณวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่แสดงละครเลียนแบบการแขวนคอของช่างไฟฟ้าที่นครปฐม แล้วก็คุณอภินันท์ บัวหภักดี ซึ่งแสดงละครเลียนแบบการแขวนคอที่นครปฐม แล้วก็ถูกกล่าวหาไปด้วย

“พวกผมจึงเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ถูกนำตัวจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลานั้นประมาณสัก 06.45-07.00 เห็นจะได้ ก่อนไปเราก็ได้แจ้งต่อเวทีเช้าวันที่ 6 ตุลาเลยครับ ...แต่ตอนนั้นชี้แจงยากแล้ว ต้องหลบกระสุนแล้ว กระสุนยิงเข้ามาตลอดเวลา

“...หลังจากเราถูกควบคุมตัวก็ถูกนำไปที่บ้านนายกรัฐมนตรีคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยเอกมัย แต่พอไปถึงปรากฏว่านายกฯ ไม่อยู่รอพบเราเสียแล้ว คิดว่าสถานการณ์เวลานั้นก็คงวุ่นวาย ทหารคงเตรียมตัวยึดอำนาจแล้ว มีตำรวจจากกองปราบปรามสามยอด ตอนนั้นถ้าจำไม่ผิดก็มีอธิบดีกรมตำรวจ คุณศรีสุข มหินทรเทพ ก็มาบอกเราว่า ทั้งหมดไม่ต้องลงจากรถ เขาให้ไปที่กองปราบปรามสามยอดเลย

“...แล้วระหว่างไปที่กองปราบปราม เขาก็ตั้งข้อหา แล้วก็ให้เราให้การ ผมบอกขอปรึกษาทนายก่อน ก็บอกได้ เราก็โทรติดต่อ เขาถามว่าทนายที่จะปรึกษาคือใคร ก็บอกคุณทองใบ ทองเปาด์ บอกไม่ได้ เราบอกว่าเราไม่ให้การ เราให้การชั้นศาล และเราไม่ถือว่าคุณจับกุมนะ เราถือว่าเราไม่ใช่ผู้ต้องหา เราก็ไม่ยอมเซ็นต์รับ หลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงก็เริ่มเกิด

“เราไปทราบข่าวอีกครั้งหนึ่งตอนอยู่ที่กองปราบปรามสามยอด ตอนที่ตำรวจพยายามประสานให้สื่อมวลชนเข้ามาถ่ายรูปพวกเรา เพราะพวกเราถูกจับกุมแล้วเป็นชุดแรก ก็มีผู้สื่อข่าวบางคนมาบอกเราว่าที่ธรรมศาสตร์เริ่มถูกปราบ ถูกกวาดล้างแล้ว แล้วมาทราบอีกทีตอนเวลาประมาณสัก 19.00 น. ว่ามีการยึดอำนาจแล้ว โดยตำรวจที่กองปราบมาบอกเราว่าหลบเข้าไปข้างในหน่อย เดี๋ยวลูกเสือชาวบ้านมาแล้วยุ่งเท่านั้นเอง”

 

อมรสิริ สัณห์สุรัติกุล เกียระสาร-ดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ.

“ก่อนเช้าวันรุ่งขึ้นที่จะเป็นเหตุการณ์นองเลือด คืนนั้นดิฉันก็อยู่ที่ม็อบ อยู่ที่สนาม แล้วก็ยังฟังธงชัยบ้างสลับกับคนอื่น แล้วก็มีเพลงของกรรมาชนบ้าง แล้วเราก็คุยกันไป ก็มีอาจารย์แวะเวียนเข้ามาคุยบ้าง ...กระทั่งพอถึงกลางดึก ตอนมีการยิงปืนเข้ามา เราก็ยังคงอยู่กัน คอยนั่งฟังว่าจะต้องทำอะไร ยังไง

“ดิฉันคิดว่า (ตอนที่เกิดการยิง) ยังไม่สว่าง ตอนที่สว่างคือตอนช่วงที่เราหนีกันชุลมุน ตอนที่โฆษกไม่อยู่บนเวทีแล้ว แล้วก็ระเบิดมาลงตูมใหญ่มากอยู่ตรงกลาง ช่วงนั้นเราก็... พอเขาบอกให้ทุกคนหาที่หลบภัย...เราก็วิ่งหนีไปทางตึกคณะเศรษฐศาสตร์ แล้วก็ไปหลบอยู่ที่ใต้เคาท์เตอร์ของร้านอาหาร อันนั้นก็เป็นช่วงก่อนเช้ามืด ตอนแรกได้ยิน (เสียงปืน) เป็นนัด ตอนช่วงต้นๆ พอมาตอนหลังที่เราต้องหนี มันก็เป็นเสียงดังมากๆ ดิฉันคิดว่าไอ้เสียงดังนั้นที่ทำให้ทุกอย่างโกลาหลมาก มันบึ้มใหญ่ลงมา

“จนกระทั่งมองเห็นกันแล้ว สว่างแล้ว ก็มีนักศึกษาแพทย์สองคนนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ฝั่ง แล้วก็มายืนถามว่ามีใครที่จะไปช่วยเขาได้บ้าง ที่จะเข้าไปที่สนามบอล เพื่อไปชวนกันพยาบาลคนเจ็บ ดิฉันฟังอยู่ แล้วดิฉันก็ยกมือและบอกว่าดิฉันจะไปด้วย แล้วจากนั้นดิฉันก็เดินไปกับหมอ กับนักศึกษาแพทย์ ดิฉันคิดว่ายังคงเป็นนักศึกษาอยู่ ...แล้วดิฉันก็เดินคล้องแขนไป ดิฉันจำได้ว่านักศึกษาสองคนก็คล้องแขนดิฉัน แล้วคนที่อยู่ข้างนี้ก็ดึงผ้าข้างหนึ่ง อีกคนก็ดึงผ้าอีกข้างหนึ่ง แล้วในผ้านั้นก็เขียนว่าเป็นหน่วยพยาบาล

“ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ให้ดิฉันลุกขึ้นทันทีโดยไม่ลังเล ไม่ช้าเลย เพราะว่าดิฉันจำได้ว่ากลัวเสียงปืนมาก แล้วอีกอันหนึ่งก็เป็นห่วงลูกศิษย์มาก ไม่ทราบว่าอุดมสุขไปอยู่ที่ไหน ตุ้ยไปอยู่ที่ไหน แล้วเกษียรจะเป็นยังไง ก็คือคนที่เรารู้จัก ใกล้ชิด ธงชัยซึ่งอยู่บนเวทีจะเป็นยังไง ดิฉันก็มีความรู้สึกอย่างนี้และอยากจะเข้าไปดูว่าที่นั่งๆ กันอยู่เป็นยังไงบ้าง เพราะจำได้ว่าตอนที่วิ่งกระเจิงนั้น ไอ้ลูกใหญ่ที่ตูมลงมา จำได้ว่าเสียงมันดังมาก แล้วมันชวนให้เรากลัวมาก ก็วิ่งกันอุตลุต

“ดิฉันจำได้ว่าดิฉันไปเห็นคนตายอยู่ตรงหน้า อมธ. แล้วดิฉันก็ร้องไห้ ก็ปล่อยโฮออกมา ขณะนั้นเราเดินเข้าไปแล้วถึงหน้า อมธ. เดินเข้าไปในสนามบอลแล้ว ...ยังยิงอยู่ค่ะ ยังมีเสียงตลอด เสียงกระจกที่หล่นลงมายังจำได้ว่าติดอยู่ในหัวเป็นเดือน เสียงกระจกของคณะบัญชีที่ร่วงกราวลงมา ก็จำได้ว่าเวลาเขายิง เขาใช้ปืนที่มีลูกยาวเหยียดเลยที่วางอยู่กับพื้น ไม่ทราบว่าเขาเรียกปืนอะไร ดิฉันเห็นคนตายก่อน ดิฉันก็ร้องไห้

“...หมอพยายามเดินเข้าไปหาคนเจ็บ แต่ดิฉันก็ยืนร้องไห้อยู่ ตกใจมาก ดิฉันคิดว่าก็มีกระทิงแดง พวกวัยรุ่นนี่แหละค่ะ เข้ามาแล้วก็กระชากตบตีดิฉัน แล้วก็บอกว่าเป็นนักศึกษาที่นี่ นักศึกษาแพทย์ก็เข้ามาบอกว่าไม่ใช่ เป็นนักศึกษาพยาบาลมาด้วยกันเพื่อที่จะช่วยรักษาคนเจ็บ แต่ว่ามีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาแล้วดึงผม แล้วก็บอกว่าไม่ใช่ ใส่แว่นอย่างนี้ หน้าตาอย่างนี้ต้องเป็นนักศึกษา ดิฉันก็ทำอะไรไม่ได้เลย ร้องไห้อย่างเดียว ยิ่งมองไปในสนาม ดิฉันเห็นแต่คนถอดเสื้อแล้วนอน มันก็เกิดความรู้สึกมาก

“นักศึกษาแพทย์สองคนนี้เท่านั้นที่เห็นอาการดิฉันแล้วก็เข้ามาบอกว่า อย่าอยู่เลยดีกว่า ช่วยไม่ได้หรอก เพราะว่ามันจะไม่ปลอดภัยกับคุณ คุณขึ้นรถพยาบาลไปดีกว่า ดิฉันคิดว่านี่ทำให้ดิฉันไม่ถูกจับเหมือนกับคนอื่นๆ ดิฉันก็เลยขึ้นไปอยู่บนรถ พอขึ้นไปอยู่บนรถดิฉันก็เจอคนอีกหลายคน ...มีอาการเจ็บหนักกันทั้งนั้น มีคนหนึ่งดิฉันจำไม่ลืมเลยก็คือคนที่ท้องข้างซ้ายหรือข้างขวาเขาแหว่งไปหมดเลย แล้วผู้หญิงคนหนึ่งก็มีอาการเยอะมากที่ไหล่”

 

วีระ สมความคิด-พอมาถึงก็เห็นภาพของเพื่อนนักศึกษาถูกแขวนคอ

“ในวันที่ 6 ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ในขณะที่มีการล้อมปราบ เพราะว่าคืนวันที่ 5 ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามกับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ได้เผยแพร่ภาพนักศึกษาธรรมศาสตร์ 2 ท่านที่เล่นละครเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าที่นครปฐมที่ถูกแขวนคอ วันที่ 4 ผมก็นั่งดูอยู่ ก็ไม่ไกล มองเห็นได้ชัดเลย ใบหน้านะครับ ไม่มีการแต่งเลย ไม่มีการแต่งให้คล้ายเลย อย่าว่าเหมือนเลย คล้ายหรือใกล้เคียงก็ไม่ใกล้เคียงเลย ไม่มีใครเอะใจ แล้วก็ไม่มีใครที่จะไปคิดว่าประเด็นนี้จะนำมาซึ่งสาเหตุที่ฝ่ายอำนาจรัฐหยิบยกขึ้นมาใช้กำลังเข้าล้อมปราบ ซึ่งตรงนี้ผมขอยืนยันเลย

“พอวันที่ 5 ในช่วงหัวค่ำ ภายหลังจากที่สื่อมวลชนสองฉบับ ดาวสยามกับบางกอกโพสต์ได้เผยแพร่ภาพ ทางพวกนักศึกษาก็มานั่งวิเคราะห์กันที่กลางสนามบอล เรารู้ว่าเราคงจะต้องถูกล้อมปราบ เพราะประเมินจากสถานีวิทยุยานเกราะ พันโทอุทาน สนิทวงศ์ ได้พูดและปลุกระดมลูกเสือชาวบ้านและประชาชนว่า เรามีการกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น... และให้มีการรวมตัวกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเราก็ประเมินกันแล้วว่า เราคงจะต้องถูกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง และคิดว่าน่าจะเป็นการใช้กำลังเข้าจับกุม ปราบปราม แต่เราไม่คิดว่าเขาจะทำอย่างป่าเถื่อน อย่างเป็นภาพที่ปรากฏ

“ผมจะต้องออกมาจากมหาวิทยาลัยในช่วงประมาณห้าทุ่มครึ่ง เพราะว่าทางรุ่นพี่ซึ่งเป็นกรรมการของพรรคประชาธรรม ซึ่งเป็นผู้ดูแลที่ทำการของพรรคประชาธรรม เขาเรียน อศมร. องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อให้ผมไปเก็บเอกสารลับ ...ผมก็เลยรับมอบหน้าที่นี้กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เราก็เล็ดลอดออกไปจากธรรมศาสตร์ตอนห้าทุ่มครึ่ง กว่าจะไปถึงรามคำแหงก็ประมาณตีสาม หลังจากจัดการเก็บข้าวของเสร็จ ประมาณหกโมงกว่าๆ รถจีเอ็มซี 2 คันก็เข้าไปที่รามคำแหงแล้ว เราก็เลยต้องเผาบัตรนักศึกษาทิ้งแล้วก็แฝงตัวเดินทางกลับมาที่ธรรมศาสตร์ เพราะเราก็ได้ข่าวว่ามีการล้อมปราบตั้งแต่ประมาณตอนตีสี่แล้ว พอมาถึงก็เห็นภาพของเพื่อนนักศึกษาถูกแขวนคอ ถูกทำร้าย ถูกตี ถูกทรมาน ซึ่งตรงนั้นก็ทำให้เรารู้สึกกลัว โกรธแค้น แต่เราก็ไม่สามารถจะช่วยเพื่อนๆ ได้”

 

สุชาติ อารยพัฒนกุล-ลากคอคนออกจากตึกนิติศาสตร์มากลางสนามฟุตบอล

“วันที่ 6 ตอนเช้ามืดผมได้ผู้โดยสารไปสามแยกไฟฉาย ในขณะที่ผ่านสนามหลวง ได้ยินเสียงปืน ตอนนั้นยังไม่สว่าง ก็รู้ว่าเกิดยิงกันที่ธรรมศาสตร์ ...เมื่อไปส่งคนที่นั่นแล้วรีบกลับมาเลย ไม่ได้คิดจะรับผู้โดยสาร ผมก็เอารถเข้าไปจอดที่สนามหลวง ที่ศาล กระทรวงยุติธรรม จอดที่นั่นแล้ว บังเอิญในรถผมมีกล้องถ่ายรูปอยู่ แต่ผมถ่ายไม่ติด เมื่อเห็นเหตุการณ์อย่างนี้ผมก็ไปซื้อฟิล์มมาม้วนหนึ่ง เป็นฟิล์มขาวดำ ก็มาถ่ายตั้งแต่ก่อนประตูธรรมศาสตร์จะแตก คือเข้าไปทางด้านหอประชุมใหญ่

“ตอนนั้นก็ประมาณ 6 โมงกว่าแล้ว ตอนนั้นมีรถเมล์เหลืองขับถอยหลังไปชนประตูธรรมศาสตร์ แล้วจะมีพวกประชาชนค่อยๆ บุกเข้าไป ในฐานะที่ผมมีกล้องสะพายอยู่ที่คอ แล้วก็เห็นพวกนักหนังสือพิมพ์เขาก็ถ่าย เราก็ตามเขาเข้าไป บางทีถ้าเสียงปืนมันดัง เราก็แอบอยู่ตรงโคนต้นมะม่วง ในขณะนั้นคนที่จะกล้าเข้าไปเสี่ยง มันไม่มาก คนเยอะ คนที่กระจายอยู่ จนกระทั่ง 7 โมงกว่าๆ 8 โมงกว่าๆ เขาบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ได้แล้ว

“เมื่อบุกเข้าไปถึงหน้าหอประชุมใหญ่แล้ว มีคนออกมาจากหอประชุมใหญ่ ซึ่งถูกจับมา ถูกซ้อมมา เลือดออก เดินออกมาจากหอประชุมใหญ่ เขาเข้าไปจับในนั้น แล้วก็เดินผ่านหน้าออกไป ผมก็ถ่ายรูปไว้ จากคนที่ผ่านเราไป เข้าใจว่าไปถูกแขวนคอกับไปถูกเผาที่นางธรณีบีบมวยผม ...จากหน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ เรามองเข้าไปไกลๆ จะเห็นตึกโดม มองไปทางด้านนี้เห็นตึกบัญชี ในขณะนั้นมีสนามฟุตบอลอยู่ตรงกลาง ด้านขวาของสนามฟุตบอลที่เรามองไปเป็นตึกนิติศาสตร์ จำได้แม่นยำว่าเป็นตึกนิติศาสตร์ แล้วก็มีคนผูกคอคน คล้ายๆ จะเป็นเชือกหรือผ้าขาวม้ามองไม่ชัด แต่ลายๆ ลากคอคนออกจากตึกนิติศาสตร์มากลางสนามฟุตบอล

“ระหว่างหอประชุมใหญ่ติดอยู่กับพิพิธภัณฑ์ บนเพดานพิพิธภัณฑ์มีช่องลม ปืนนี่โผล่ออกมาจากช่องลมพิพิธภัณฑ์ คนชี้ให้ดู พอคนชี้ให้ดูกันเสร็จแล้ว คนข้างบนเอาหมวกตำรวจโผล่ออกมาให้เห็นว่านี่เป็นตำรวจ ทำให้เรารู้ว่าเสียงปืนยิงจากพิพิธภัณฑ์ มันจะมีช่องตรงไปที่ตึกบัญชี ยิงเข้าไป เราอยู่ที่หน้าหอประชุมธรรมศาสตร์ เวลาปืนดังขึ้นมาแล้วจะเห็นนักศึกษาลงมาจากตึกโดม แล้วคลานไปตามถนนรอบสนามฟุตบอล คลานไปเข้าตึกบัญชี คลานเป็นแถวเลย เสร็จแล้ว ทางด้านพิพิธภัณฑ์ยิงปืนเข้าไป นักศึกษาที่อยู่บนตึกบัญชีคลานลงมายอมจำนนที่สนามหลวง

“ขณะที่นักศึกษายอมจำนนอยู่ที่สนามฟุตบอล ผมตามนักข่าวเข้าไปในสนามฟุตบอล นักศึกษาให้ไปนอนคว่ำในสนามฟุตบอล มัดมือ ในขณะที่เดินไปอยู่ที่สนามฟุตบอลก็มีตำรวจแต่งเครื่องแบบเข้าไปในสนามฟุตบอล ตำรวจคนหนึ่งเอาส้นปืนกระแทกปากนักศึกษาอย่างแรง แล้วผมมาติดตามข่าวว่านักศึกษาคนนี้กรามหัก ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 10 วันหรือ 20 วัน ผมเห็นด้วยตา

“แล้วหลังจากที่นักศึกษายอมจำนนแล้ว รถเมล์ขาวมารับนักศึกษา ก็ต้อนนักศึกษาขึ้นบนรถเมล์ เสร็จแล้วจะมีประชาชนพวกที่เข้าไปอยู่ในนั้นขว้างหิน ขว้างดินใส่นักศึกษา นี่ก็เหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งตอนนั้นใกล้ๆ จะ 11 โมง แล้วผมเหนื่อยมาก พอนักศึกษากลับแล้ว ผมก็เดินออกจากธรรมศาสตร์ ออกจากธรรมศาสตร์ก็มีเจอคนถูกแขวนคอที่ต้นไม้ แล้วก็มีพวกที่ทำร้ายร่างกายพวกที่โดนแขวนคอ แล้วก็เดินเลยข้ามสนามหลวงมา

“เห็นเหตุการณ์ที่กำลังแขวนแล้ว แล้วก็มีคนไปซ้อม ไปทำร้ายคนที่ถูกแขวนคอ แต่เข้าใจว่าเขาตายแล้ว ก็ยืนดูอยู่สักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็เดินเลยข้ามสนามหลวงจะไปหารถ เห็นคนมุงดูอยู่ แล้วมีควันไฟขึ้น ก็ได้ไปดูตรงนั้น จะมีศพถูกเผาโดยยางรถยนต์ ถูกเผาประมาณสามหรือสี่ศพ มีผู้หญิงที่ยืนอยู่ข้างๆ ผมบอกว่า เมื่อกี้นี้ศพขายังกระดิกอยู่เลย แล้วหลังจากนั้นผมก็กลับบ้าน ต้องการพักผ่อน เพราะเหนื่อยมาก ก็กลับไปเอารถแท็กซี่”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net