Skip to main content
sharethis

ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค เผยการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิด้านที่อยู่อาศัยไม่ได้รับผลตอบรับที่เป็นรูปธรรม ระบุรัฐบาลทหารคุยยากกว่ารัฐบาลปกติ และคาดหวังได้น้อยเรื่องการแก้ปัญหา แต่เครือข่ายฯต้องการออกมาสื่อสารปัญหาว่ายังมีอยู่ในสังคมไทย

6 พ.ย. 2560 ที่บริเวณด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) เครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมด้วยภาคคีเครือข่าย 9 เครือข่าย ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านในเครือข่ายหลายร้อยคน นำโดย นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นข้อเสนอสำหรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ถึง อังตอนีอู กูแตรึช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เพื่อขอให้องค์การสหประชาชาติกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลไทยเคารพต่อสิทธิด้านที่อยู่อาศัยของคนจน และให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรม

นุชนารถ ระบุว่าข้อเรียกร้องในวันนี้คือ การเรียกร้องในด้านที่อยู่อาศัย โดยต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเช่น การนำที่ดินสาธารณต่างๆ ที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์มาทำเป็นเป็นอยู่อาศัยของคนยากจน รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลทบทวนการไล่รื้อบ้านและที่ดินของคนจน และขอให้มีการยกเลิกคำสั่งของ คสช. ที่มีผลกระทบต่อชุมชน และที่อยู่อาศัย ขณะที่ข้อเรียกร้องในเรื่องคุณภาพชีวิตได้มีข้อเรียกร้องในเรื่องรัฐสวัสดิการซึ่งเห็นว่า รัฐควรจัดสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ขณะที่ช่วงบ่าย นุชนารถ ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนของสำนักงานกรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นข้อเสนอให้ทางกรุงเทพมหานครได้ส่งมอบพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งทางเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ยื่นเสนอ 4 ชุมชนร่องในโครงการโฉนดชุมชนซึ่งได้ผ่านเกณฑ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว แต่ทางกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ส่งมอบที่ดินให้กับชุมชนเสียที โดยวันนี้ได้เข้าไปติดตามเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นุชนารถ กล่าวด้วยว่าการยื่นข้อเสนอเรียกร้องให้กับ UN เพื่อกดดันรัฐบาลนั้นได้มีการจัดขึ้นในทุกๆ โดยปีที่ผ่านมานั้นก็ได้ยื่นข้อเสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยไป แต่ไม่มีผลตอบรับที่เป็นรูปธรรม มีเห็นเพียงแค่การตั้งยุทธศาสตร์ชาติที่มีการพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะเวลา 20 ปี โดยมีการตั้งเป้าว่าจะมีการสร้างบ้าน ที่อยู่อาศัยให้กับคนมีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยประมาณ 1 ล้านหลังภายใต้โครงการบ้านมั่นคง แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวบ้านที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลได้

“โดยสรุปเลยมันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากจากปีที่แล้ว คือตั้งแต่รัฐบาลนี้ เรารู้สึกว่าเป็นรัฐบาลที่พูดคุยยากที่สุด และปีนี้สิ่งที่มีผลกระทบโดยตรงกับเราคือ นโยบายต่างๆ ที่ออกมามันไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมจากผู้ประสบปัญหาหรือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่นการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือบัตรสวัสดิการคน ซึ่งคนจนในชุมชนแออัดในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้ หรือบางคนที่ได้บัตรมาแล้วก็ประสบปัญหาในการใช้สิทธิ เช่นร้านค้าสวัสดิการอยู่ไกลจากชุมชน การจะไปซื้อของกลายเป็นว่าเขาต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มไปอีก และสำคัญคือการมีบัตรคนจนก็เหมือนเป็นการจำแนกคนจนคนรวย เป็นการสร้างชนชั้น เหมือนกับถูกตราหน้า” นุชนารถ

นุชนารถ กล่าวต่อไปว่า การรวมตัวเพื่อยื่นข้อเสนอเรียกร้องในรัฐบาลทหาร ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะกฎหมายต่างๆ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนด รวมทั้งยังมีช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

"ยุทธศาสตร์ชาติที่สร้างมายาวนาน 20 ปี มันจะแก้ปัญหาได้ไหม ในเมื่อคนที่เข้าไปร่างยุทธศาสตร์ไม่ใช่พวกเรา เอาคนที่ไม่มีส่วนร่วมกับปัญหาไปร่างยุทธศาสตร์มันจะสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยปกติแล้วหากเราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเรายังเรียกร้องในเชิงนโยบายได้ แต่ตอนนี้หากมีการเลือกตั้งรัฐบาลที่เข้ามาก็ต้องทำตามยุทธศาสตร์ พรรคไหนเข้ามาก็ต้องทำตาม ในขณะที่เรากำลังเห็นความเหลือมล้ำ และเราเห็นความเห็นแก่ตัว การที่เรายังไปยื่นเรืองเราก็เพียงต้องการที่จะสื่อสารกับสังคมว่ามันยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่” นุชนารถ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net