Skip to main content
sharethis

เปิดตัวไดอารี่บันทึกความหวังและความฝันของหญิงนักปกป้องสิทธิ พร้อมอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ


ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW

29 พ.ย. 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรโพรเทกชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดงานเปิดตัวไดอารี่บันทึกความหวังและความฝันของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เนื่องในวันที่ 29 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากล และในปี 2561 จะครบรอบ 20 ปี ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภายในงาน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานและความหวังของนักปกป้องสิทธิผู้หญิงที่เข้าร่วมเปิดตัวไดอารี่ เช่น สมหมาย จันทร์ตาวงศ์ ตัวแทนผู้หญิงให้บริการจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์, อังคณา นีละไพจิตร ผู้เรียกร้องให้เกิดกฎหมายการอุ้มหายและซ้อมทรมานจากกรณีที่ สมชาย นีละไพจิตร สามีถูกอุ้มหายไปเมื่อหลายสิบปีก่อน, ศรีไพร นนทรี ตัวแทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต, นุชนารถ แท่นทอง ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ผู้ต่อสู้เพื่อที่ดินอยู่อาศัย, อัศนีย์ รอดผล สหพันธ์เกษตรภาคใต้, อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน, นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการทางเลือก, ชลิตา บัณฑุวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฯลฯ และภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดย Luke Duggleby ช่างภาพระดับโลก


ปรียนันท์ ล้อเสริมพัฒนา
ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW


ปรียนันท์ ล้อเสริมพัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ หนึ่งในผู้ร่วมเขียนไดอารี่ Side by side WHRDs 2018 Diary กล่าวพร้อมน้ำตาว่า ดิฉันเป็นผู้หญิง เป็นแม่ เป็นผู้เสียหางทางการแพทย์ เมื่อความรักลูกของดิฉันกลายเป็นความผิดสูญสิ้นทุกอย่างแม้กระทั่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อเริ่มต่อสู้ ดิฉันคือคนที่ถูกฆ่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากความอยุติธรรมในสังคมนี้จนเคยคิดฆ่าตัวตาย เมื่อดิฉันรอดชีวิตและคิดว่าหนีไปไหนไม่ได้ ดิฉันต้องอยู่ในสังคมนี้ และต้องมีส่วนเปลี่ยนแปลงในสังคมนี้ ดิฉันต้องตกเป็นจำเลยอีกครั้งเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีอาญาจากสภาวิชาชีพ ต้องวิ่งหาเงินประกันตัวและต้องสู้คดีต่อ หลังลูกชายของเธอต้องกลายเป็นคนพิการจากการรักษาของแพทย์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน

เธอกล่าวต่อว่า เธอต้องการให้หมอกับคนไข้ต้องไม่ฟ้องร้องกันอีก และต้องไม่มีครอบครัวไหนต้องตายทั้งเป็นเหมือนครอบครัวเธอ ทุกคนมีโอกาสได้เป็นคนไข้ และมีโอกาสได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากทางการแพทย์ทั้งสิ้น ฉะนั้น ชีวิตที่เหลือของเธอก็จะพยายามผลักดันให้เกิดระบบเยียวยาผู้เสียหายโดยไม่ฟ้องหมอ ที่ผ่านมาได้จัดทำแคมเปญผ่าน change.org คนในสังคมและบุคลากรทางการแพทย์ร่วมลงชื่อมากมาย ทั้งนี้ได้รวบรวมรายชื่อและส่งมอบให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ซึ่งแม้จะได้รับคำตอบว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและพยายามที่จะผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้ แต่เรื่องก็ยังเงียบอยู่

นอกจากวงเสวนา ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการคุ้มครอง ปกป้อง ดูแลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ์ 3 ข้อ ได้แก่
1.ต้องยุติวัฒนธรรมการทำผิดและลอยนวลพ้นผิด การเลือกปฏิบัติและการใช้หลักนิติธรรมเป็นข้ออ้างในการจัดการกับประชาชน และปฏิเสธไม่ให้ประชาชนเข้าหาความยุติธรรม รวมถึงต้องมีกระบวนการทบทวนอย่างโปร่งใสในกรณีที่มีการใช้คดีเป็นเครื่องมือในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

2.รัฐและสาธารณชนต้องยอมรับและตระหนักถึงคุณค่าของบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องมีหลักประกันว่าจะมีการปกป้องคุ้มครองและสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

3.รัฐต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงต่อการทำงานของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรา 44, คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 พระราชบัญญัติห้ามชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งกฎหมายอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดกับสิ่งที่รัฐบอกว่าปรารถนาให้มีส่วนร่วมจากประชาชน


ภาพ: จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net