Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เคยได้ยินแต่สำนวน “น้ำลดตอผุด” แต่ในพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรนาน 4 เดือน จากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐ ที่อยู่ภายใต้โครงการโขง ชี มูน ที่มีการเริ่มก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำชี ตามมติครม. ตั้งแต่ปี 2532 ในสมัยนั้น และในลุ่มน้ำชีก็ทยอยสร้างเขื่อนประมาณปี 36 เดิมเป็นของกระทรวงวิทย์ฯ กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน  ทยอยเสร็จประมาณปี 43 เป็นต้นมา สมัยนั้นภาครัฐได้ใช้วาทกรรมจากเขื่อน มาเป็น “ฝายยาง” เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยในมิติของชาวบ้านเข้าใจว่าคงเป็นฝายขนาดเล็กคงขนาดไม่ใหญ่ ซึ่งเขื่อนในลุ่มน้ำชีมีทั้งหมด 6 ตัว คือเขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร เขื่อนธาตุน้อย (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อจากฝาย มาเป็นเขื่อนทั้งหมด)

ครั้นทยอยทดลองการปิดเขื่อนประมาณปี 2543 ก็ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมขังยาวนานจนผิดปกติ ติดต่อกันมาหลายปี ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจนิเวศชุมชนทันที อย่างเช่นการทำนาในพื้นที่ทามซึ่งชาวบ้านได้ให้ความหมายว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การปลูกข้าวที่สร้างรายได้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงระบบการเกษตรเป็นหลัก พื้นที่ปลูกผักริมแม่น้ำชีก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย พื้นที่เลี้ยงวัวควายซึ่งเป็นอีกฐานเศรษฐกิจในการออมทรัพย์ระยะยาวของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป ระบบนิเวศน์ทั้งปลาในแม่น้ำ ป่าทามริมแม่น้ำก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

บางปีฝนตกไม่กี่ครั้งหรือฝนไม่ตกน้ำก็มาท่วม คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชียังเป็นพื้นที่รองรับน้ำ จากลำน้ำที่มีเขื่อนขนาดใหญ่ก็คือ เขื่อนอุบลรัตน์(ลำน้ำพอง) เขื่อนลำปาว(ลำน้ำปาว) และยังมีลำน้ำยัง ที่ไหลมาสมทบอีก ความเหมาะสมของลุ่มน้ำชีที่มีความยาว 756 กิโลเมตร ไหลผ่านหลายจังหวัดในพื้นที่ชัยภูมิ ขอนแก่น สารคาม กาฬสินธ์ุ ร้อยเอ็ด ยโสธร ไปบรรจบแม่น้ำมูนที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ บางส่วน จะทำใหเราเห็นว่าความแคบของแม่น้ำและการไหลคดเคี้ยวของแม่น้ำชีไม่เหมาะจะมีโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เนื่องจากลัษณะร่องน้ำกว้างและแคบสลับกันไปซึ่งคงเหมาะให้แม่น้ำชีทำหน้าที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูน หรือไม่งั้นก็ควรที่จะมีการบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กที่ให้ชาวบ้านเข้าถึงตามนิเวศน์นั้นๆ ซึ่งจะเป็นการให้คุณค่าของคนในชุมชนได้เข้าใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำอย่างแท้จริง

เปลี่ยนหน่วยงานดูแลหลังจากการปฎิรูประบบราชการประมาณปี 2546 จากกระทรวงวิทย์ฯ มาเป็นกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ทำให้ชาวบ้านคาดหวังว่าจะเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมซักที แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะไม่เป็นไปอย่างที่คิด เนื่องจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำยังคงอยู่ที่การรวมศูนย์เป็นหลัก ตามรูปแบบและโครงสร้างการเข้าร่วมของประชาชนในพื้นที่ซึ่งกรมชลประทานได้กำหนดไว้แล้ว จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเพราะการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐในลุ่มน้ำชีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มปี 2553 เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐเร่งรีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็คงทำได้แค่ตั้งคณะกรรมการฯ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อประชุมตามหน้าที่ได้กำหนดไว้ (ยื้อเวลาซื้อเวลาหรือเอายาดม) ให้ชาวบ้านมีความหวังในการประชุมในแต่ละครั้ง จึงสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในลุ่มน้ำชีตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการสร้างเขื่อนตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งผ่านมาหลายรัฐบาลแล้ว

มาปีนี้ 2560 ปรากฏการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำชีกลับเพิ่มขึ้นอีกเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม น้ำระลอกแรกทำเอาพื้นที่การเกษตร และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านถูกน้ำท่วม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางพื้นที่ต่างหาตัวรอดในการร่วมกันนำกระสอบทรายที่ได้รับจากหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น การบริจาคของภาคเอกชน การบริจาคกันเองของชุมชน เพื่อนำมาปิดกั้นทางน้ำที่จะไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน ท่วมถนน เป็นส่วนน้อยบางพื้นที่รอดพ้น แต่ส่วนมากหลายพื้นที่ต้องเจอกับปัญหาน้ำท่วมเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ  การไม่สรุปบทเรียนของภาครัฐ การไม่ฟังเสียงชาวบ้าน ได้นำมาซึ่งความเสียหายแก่ชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลต่อระบบจิตใจของชาวนาลุ่มน้ำชี ระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ทำนาเป็นหลัก ระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

น้ำลดตอผุด คงเป็นอีกสำนวนที่เปรียบเปรยถึงเวลามีน้ำมากก็จะมองไม่เห็นตอไม้ แต่เมื่อน้ำลดแห้งลง ก็จะเห็นตอผุดขึ้นมา คำนี้คนไทยเรามักจะรู้ดี แต่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีอาจจะเป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐ คือ “น้ำลดคันนาผุด” ซึ่งเปรียบให้เห็นว่าพื้นที่การเกษตรหรือนาทามที่ชาวบ้านลงทุนปลูกเพื่อไว้เก็บเกี่ยวผลผลิต และเป็นทุนต่อไป แต่กลับมาถูกนโยบายการจัดการน้ำของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการโขง ชี มูล และโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำน้ำ บริหารจัดการน้ำผิดพลาดส่งผลให้ต้นข้าวที่รอวันเก็บเกี่ยวกลับกลายถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลา 4 เดือน พอน้ำลดต้นข้าวที่พอเป็นความหวังได้เน่าเสียหายไปตั้งแต่เดือนแรกที่น้ำท่วม แต่ยังคงสัญลักษณ์ที่เป็นร่องรอยให้เห็นบนที่นาคือ คันนา นั้นเอง

ปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำชีที่ท่วมซ้ำซากและกินเวลายาวนานเริ่มชักจะทำให้ชาวบ้านได้เห็นแล้วว่าการบริหารจัดการน้ำภาครัฐไม่ได้มีความเข้าใจกับภูมินิเวศน์นั้นๆ เลย เพราะรัฐได้ตั้งธงทางแนวคิดบริหารจัดการน้ำไว้เบ็ดเสร็จตั้งแต่ระดับนโยบายลงมาจนถึงระดับล่าง การจัดประชุมแต่ละครั้งหรือการรับฟังความคิดเห็นก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ปรากฏการณ์อย่างนี้จะให้ชาวบ้านน้ำท่วมซ้ำซาก และ น้ำลดคันนาผุด อีกกี่ครั้งรัฐถึงจะลงมือแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net