Skip to main content
sharethis

ร่องรอยความเชื่อและศาสนาดั้งเดิมในสังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผูกพันเรื่องเพศชายหญิงกับความอุดมสมบูรณ์และสังคมเกษตรกรรม ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะลดทอนเหลือเพียงรูปอวัยวะเพศชายนาม "ปลัดขิก" และความเชื่อเรื่องโชคลาภด้านการค้า

"…โอม ไอ้ขลิกไอ้ขลัก เงี่ยงหักเงี่ยงหงิก ปกเอยปกหาง หางเอยหางอะไร..." ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของคาถาบูชาปลัดขิกอาจารย์ซ่วน แห่ง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งหลายคนคงเคยได้ยินเวลาพ่อค้าแม่ขายสวดเพื่อขอขอความสำเร็จทางธุรกิจจากปลัดขิก แต่ก่อนที่ปลัดขิกจะมีฟังก์ชันนี้ รายการหมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ชานันท์ ยอดหงษ์ และศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ จะพาสำรวจพิธีกรรมและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยสมัยโบราณก่อนได้รับอิทธิพลจากศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา ซึ่งความเชื่อแต่เดิมผูกโยงเรื่องเพศเข้ากับความอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้แต่ดั้งเดิม มีความเชื่อว่าอวัยวะเพศหญิงและชายคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ โดยพบตุ๊กตาสำริดรูปคนเปลือยอวดอวัยวะเพศชาย อายุราว 2,500 ปีพบที่บ้านโคกไม้เดน อ.พยุหะคีรี หรือการพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปกบหรือคนทำท่ากบทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสื่อถึงฝนฟ้าบริบูรณ์ นอกจากนี้คำว่า "กบ" ในภาษาโบราณยังใช้เรียกอวัยวะเพศหญิงอีกด้วย

ความเชื่อทำนองนี้ยังเคยปรากฏอยู่ในพิธีหลวงด้วย อย่างเช่นใน "พระราชพิธีสิบสองเดือน" จะมี "พระราชพิธีพรุณศาสตร์" ซึ่งทำในเดือน 9 พิธีนี้จะมีการขุดสระจำลอง ในสระจะมีรูปสัตว์ต่างๆ รวมทั้งปั้นรูปเมฆ หรือรูปบุรุษและสตรีเปลือยกายทาด้วยปูนขาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า "อยู่ข้างจะเร่อร่าเป็นของคนเถนๆ" โดยไม่มีการทำพิธีเช่นนี้มานานแล้ว ขณะที่ในปัจจุบันยังคงพบร่องรอยเช่นนี้ในพิธีกรรม "ปั้นพ่อเมฆแม่เมฆ" ที่ปัจจุบันชาวบ้านในหลายท้องที่คงยังมีการปั้นดินเป็นรูปสมสู่ของชายหญิง เพื่อขอให้เกิดฝนตก

โดยในเวลาต่อมาความเชื่อเรื่องเพศกับความอุดมสมบูรณ์ถูกลดทอนจากเดิมที่ต้องมีทั้งอวัยวะเพศทั้งหญิงและชาย ก็เหลือแต่อวัยวะเพศชาย ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็สะท้อนถึงยุคสังคมชายเป็นใหญ่ ปัจจุบันจึงเหลือแต่ปลัดขิกที่ยังคงทำหน้าที่อ้อนวอนขอความอุดมสมบูรณ์โดยเปลี่ยนโหมดจากท้องไร่ท้องนามาสู่ฟังก์ชันด้านการค้าการขาย ส่วนโยนีหรืออวัยวะเพศหญิงที่เคยบูชาคู่กันกลับเลือนหายไป

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่
เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net