Skip to main content
sharethis
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเผยยอดผู้ร้องเรียน ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป นำโด่ง 41.54% ของปัญหาทั้งหมดโดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า   
 
 
25 ธ.ค.60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในรอบปี พ.ศ.2560  มกราคม – พฤศจิกายน มียอดร้องเรียนจำนวน 1,153 รายผ่านช่องทางโทรศัพท์  เว็บไซต์  ร้องเรียนผ่านจดหมาย เข้ามาด้วยตนเอง อีเมล และการร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ก ตามลำดับ 
 
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบของผู้บริโภคที่มีการร้องเรียนมากที่สุด อันดับแรก คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป ที่มียอดผู้ร้องเรียน เพิ่มขึ้นถึง 41.54% โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริงที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อสินค้า เช่น การโฆษณาขายกระทะยี่ห้อโคเรียคิงส์ ที่ข้อความโฆษณาระบุการลดราคาจาก 18,000 บาท และ 15,000 บาท ลดราคาเหลือ 3,900 บาท และ 3,300 บาท ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง มีคุณสมบัติทนความร้อน  และไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากหลงเชื่อและซื้อสินค้าดังกล่าว แต่เมื่อผู้บริโภคนำมาใช้งานกลับไม่เป็นตามโฆษณา และมาทราบภายหลังว่าราคากระทะดังกล่าวเป็นราคาปลอม เป็นต้น  และบริการสถานเสริมความงามที่ซื้อคอร์สบริการแล้ว ไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ เพราะข้อสัญญาระบุไม่คืนเงินทุกกรณี อีกทั้งบริการสถานออกกำลังกาย ที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น    
 
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุต่อว่า อันดับสองคือด้านการเงินการธนาคาร 34.69% ได้แก่ ปัญหาหนี้บัตรเครดิตร้องเรียนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาเช่าซื้อรถ อันดับสาม ด้านบริการสาธารณะ คือ การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแล้วเกิดอุบัติเหตุ  เป็นต้น 
 
“เมื่อนำปัญหาที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบมาวิเคราะห์ทำให้เราทราบว่า สาเหตุของปัญหาที่สำคัญในการร้องเรียนเกิดจาก พฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ครบถ้วน จนทำให้หลงเชื่อโฆษณาซื้อสินค้าและบริการ อีกทั้งข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภคทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ที่สำคัญอีกอย่างคือหน่วยงานรัฐไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นรูปธรรม  โดยเฉพาะปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการใช้ช่องทางการการโฆษณาขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ที่หลากหลาย เช่น เว็บไซต์  เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น จึงทำให้ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สินค้ามีเป็นจำนวนมากขึ้นด้วย  อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงหน่วยงานที่ดูแลผู้บริโภคต่างๆ มีมาตรการที่ล้ำหน้าในการแก้ปัญหาผู้บริโภคเชิงนโยบายไม่ใช่แก้ปัญหาเพียงรายกรณี แม้จะมีผู้เสียหายต่อผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกัน รวมถึงขอให้มีการออกระเบียบ หรือเป็นกฎหมายบังคับ การอนุมัติโฆษณาขายสินค้าที่กระทบกับสุขภาพของผู้บริโภคเช่นโฆษณาเครื่องสำอาง  โฆษณาอาหาร  ไม่ใช่เปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบการด้วยการแค่เพียงขอความร่วมมือ  ซึ่งโดยมากหากไม่บังคับก็จะไม่ปฏิบัติตาม  และขอให้ทำงานเชิงรุกในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการโฆษณาขายของทางโทรทัศน์  สื่อออนไลน์ เหมือนการออกไปตรวจจับการผลิตเครื่องสำอางต่างๆด้วยเช่นกัน  ไม่ต้องรอให้ผู้บริโภคร้องเรียนมาก่อนจึงจะดำเนินการ”  หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net