Skip to main content
sharethis

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นของคนไทยทุกคน มันช่วยชีวิตพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บ และการล้มละลาย นี่คือสิ่งที่ผู้คนจากภาคต่างๆ ในเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ คิดและเชื่อ คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมพวกเขาเหล่านี้จึงต้องออกมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ไปฟังเสียงของพวกเขา

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ภาคเหนือ

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องออกมาปกป้อง

สาเหตุที่เราต้องเข้าไปมีส่วนในการปกป้องเป็นเพราะว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ร่วมล่ารายชื่อในปี 2544-2545 เพื่อให้มีการทำนโยบายดังกล่าว ถามว่าตอนนั้นเราเข้าใจหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขนาดไหน ก็ยังไม่เข้าใจอะไรมาก รู้แค่ว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยคือการทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกันน่าจะเป็นเรื่องดี การที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการแบบนั้น ไปรณรงค์ ไปล่ารายชื่อ ไปสร้างความเข้าใจ มันทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนจริงๆ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งจำเป็น

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือ มันได้พิสูจน์แล้วว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยเหลือคนได้จริงๆ ตัวอย่างที่เราได้เห็นคือพี่น้องภาคเหนือ พี่น้องเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวี กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ เราพบว่าคนเหล่านี้ได้ประโยชน์ จากเดิมที่ต้องล้มละลายเมื่อเจ็บป่วย ต้องคิดว่าจะหาเงินจากไหนมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชนมันแก้ปัญหาให้เราได้จริง คนที่ป่วยไม่ต้องทุกข์ทรมานเรื่องค่ารักษาพยาบาล เพราะแค่ทุกข์จากภัยไข้เจ็บก็เป็นเรื่องแย่แล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถแก้โจทย์ตรงนี้ได้ และไม่ได้แก้ปัญหาให้เฉพาะคนจน คนทุกข์คนยากเท่านั้น แต่มันรวมคนทุกคนและดูแลทุกคนตามสิทธิที่พึ่งมีพึงได้

เหตุผลข้อต่อมาคือเพราะเราเห็นพลังและการมีส่วนร่วมของประชาชนในส่วนต่างๆ ที่ลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องระบบ ตัวอย่างง่ายๆ ในระบบหลักประกันถ้วนหน้า มันไม่มีแค่ว่าเราต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่มีเรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น การทำเรื่องส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค คนเล็กคนน้อยในชุมชนก็ลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานเหล่านี้ เข้ามาบริหารจัดการ มาดูแล และทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ ทั้งหมดนี้ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราต้องเข้ามามีส่วนร่วมและปกป้อง ใครจะเปลี่ยนเจตนารมณ์ ใครจะมาทำให้ระบบนี้หายไป เรายอมไม่ได้


ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนอะไรบ้างเพื่อปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

มีสองเรื่องใหญ่ที่พวกเราพยายามทำในปีที่ผ่านและจะต้องทำต่อในปีถัดไปคือเรื่องของการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรงนี้คือหัวใจสำคัญ เพราะในปีที่ผ่านมามีความพยายามของทั้งกระทรวงสาธารณสุขหรือใครต่อใครที่พยายามบอกว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องมีการแก้ไข ซึ่งพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการแก้ไข เราเห็นด้วยเพราะมีบางเรื่องต้องแก้ แต่มันกลายเป็นว่าสิ่งที่ควรจะแก้ กลับไม่แก้ แต่ดันไปแก้สิ่งที่ไม่ควรแก้ นี่คือภาระกิจหลักที่กลุ่มเราพยายามผลักดัน

สิ่งที่สองคือ เรามีโอกาสเข้าไปร่วมในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนของบอร์ดควบคุมคุณภาพระดับประเทศ เราก็พยายามชวนองค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะงานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประการหนึ่งคือการทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาคุ้มครองสิทธิของตัวเอง ทำให้มีการจัดตั้งหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 50(5) คือทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนมีหน่วยในการร้องเรียน เพราะมาตรา 50(5) เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่พวกเราภาคประชาชนรวมตัวกันและยกระดับตัวเอง เป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน หน้าที่เราคือการสนับสนุนคนทำงานในหน่วยดังกล่าวให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น มีข้อมูลข่าวสารที่จะเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้ามาเรียกร้องสิทธิได้ และประสานให้หน่วยงานเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาล เพื่อช่วยกันพัฒนาหน่วยบริการ

และสุดท้ายการขับเคลื่อนที่สำคัญในปีที่ผ่านมาคือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีหลายภาคส่วน เราพยายามแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่องว่ามีสถานการณ์อะไรที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบ และพวกเราจะช่วยกันทำอย่างไรเพื่อที่จะสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ
 

คิดว่าอะไรคือภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพมากที่สุด

ตอนนี้เรื่องใหญ่ที่สุดคือการแก้กฎหมาย ซึ่งเราเชื่อว่าประเด็นที่ประชาชนอยากให้แก้จะไม่เกิดขึ้นในการแก้ไขกฎหมาย เพราะกระบวนการที่ผ่านมาไม่มีความชอบธรรมและไม่ยุติธรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเด็นที่ประชาชนยืนยันว่าควรมีการแก้ไขคือเรื่องการร่วมจ่าย ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับการใส่ใจเลย ซึ่งพวกเราเห็นว่าควรแก้ไขโดยตัดประโยคที่ระบุว่าประชาชนต้องร่วมจ่ายออกไป แต่ที่สุดแล้วในกระบวนการแก้ไขกฎหมายประโยคนี้ก็ยังคงอยู่ หมายความเราไม่มีหลักประกันเลยว่าอนาคตข้างหน้าจะมีการให้ประชาชนร่วมจ่ายหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดกลไกโครงสร้างใหม่ เนื่องจากเวลานี้กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะดึงบทบาท และอำนาจการจัดการดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปไว้ในมือของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขถูกแยกบทบาท โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีบทบาทของตัวเอง โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีสิ่งที่เรียกว่า ซุปเปอร์บอร์ดหรือคณะกรรมการสุขภาพระดับประเทศ ที่คุมอำนาจอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข ให้อำนาจทำหน้าที่การกำกับดูแลระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหมด และลดบทบาท สปสช. ลง ซึ่งกลไกนี้กำลังมีการนำเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข หากกลไกนี้เกิดขึ้น ก็จะทำให้บรรดาองค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพตามบทบาทของตัวเองเปลี่ยนไป โดยเฉพาะ สปสช. จะถูกลดบทบาทลงมาก

สิ่งที่เป็นภัยอีกประการคือการสนับสนุนงบประมาณ ขณะนี้รัฐมักจะให้ข้อมูลว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นภาระ รัฐต้องดูแลคนจำนวนมาก ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณ แทนที่จะเพิ่ม รัฐบาลกลับคิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรให้สิทธิเฉพาะคนจนเท่านั้น คนที่ขึ้นทะเบียนคนจนควรได้รับการดูแล ถ้าคิดแบบนี้มันจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เราเคยพูดกันว่า เป็นการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ทุกคนเท่ากัน ไม่มีคนรวย ไม่มีคนจน เปลี่ยนไป ซึ่งแนวโน้มของรัฐบาลชุดนี้จะสนับสนุนงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขลดลงเพราะความเชื่อแบบนี้


ข้อเสนอ?

สิ่งที่เราทำกันอยู่คือการเฝ้าระวังและจับตากันอยู่ตลอดว่า การแก้ไขกฎหมายจะเข้าไปในชั้นพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไหร่ ตอนนี้เราก็พยายามอบรมให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพราะหากประชาชนยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังจะกระทบสิทธิของตัวเอง เราก็ไม่อาจขับเคลื่อนได้อย่างมีพลังเพราะขาดแนวร่วม

นอกจากนี้ เราก็พยายามช่วยกันเขียนจดหมายส่งไปที่สำนักงานเลขานุการ ครม. ว่าพวกเราไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแก้ไขกฎหมายและเนื้อหา พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลที่จะได้เข้ามาหลังการเลือกตั้งเป็นผู้แก้ไขกฎหมายนี้แทน

 

บุคคลแห่งปีของประชาไท ประจำปี 2017 นี้ มาเป็นทีม พวกเขาคือ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนมากหน้าหลายตา ท่ามกลางความพยายามทำลายหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของรัฐบาล คสช.และรัฐราชการ 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ' ออกมาเคลื่อนไหว เฝ้าระวัง ปกป้อง และยันสถานการณ์เอาไว้อย่างสุดกำลัง สำหรับสถานการณ์ในปีหน้าที่พอจะเห็นเค้าลางว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะยิ่งเผชิญการคุกคามที่หนักข้อขึ้นเรื่อยๆ คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ กำลังยืนขวางระหว่างรัฐบาลและกลุ่มคนที่ต้องการทำลายกับผู้คน 48 ล้านคนที่ได้รับการดูแลหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคอยย้ำเตือนว่าการรักษาพยาบาลคือสิทธิของประชาชนที่รัฐไม่อาจพรากมันไปได้



บุคคลแห่งปี 2017: ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ ภูมิคุ้มกันสวัสดิการสุขภาพเพื่อทุกคน
บุญยืน ศิริธรรม: ประวัติศาสตร์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภาคประชาชน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล: ภัยคุกคามที่สุดต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ คือการที่รัฐมองคนไม่เท่ากัน
นิมิตร์ เทียนอุดม: “เพราะวิธีคิดตั้งต้นของรัฐเริ่มจากความไม่เป็นธรรม” กับปัญหาในระบบหลักประกันสุขภาพฯ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้

เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคใต้) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันตก) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคกลาง) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคอีสาน) ทำไมเราต้องปกป้อง?
เสียงจากเครือข่าย ‘กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ’ (ภาคตะวันออก) ทำไมเราต้องปกป้อง?

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net