Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความนำ

แนวความคิดเรื่องบารมี (ปารมิ-มหายาน) และ แนวคิดเรื่องการแปลความหมายทางภูมิทัศน์วัฒนธรรม มีความสอดคล้องต้องกันโดยบังเอิญอยู่ 2 ประการ ประการแรกแนวคิดหลักอาจแยกย่อยออกเป็น 10 ประการ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่สองนั่นก็คือ แนวคิดทั้งสองเป็นแนวคิดเชิงสัมพัทธ์ ที่การอธิบายด้วยแง่มุมที่ไม่รอบด้านมากพออาจทำให้เสียการทำความเข้าใจโดยรวมและมีความเป็นเงื่อนไขกันและกันระหว่างปัจจัยย่อยต่างๆ

บทความนี้จะนำเอาวิธีการแปลความหมายของภูมิทัศน์ โดยอาศัยตัวบทหลักของ ไมนิก (Donald William Meinig: 1924-) นักภูมิศาสตร์อเมริกันที่งานของเขามีส่วนสำคัญในการก่อร่างสร้างฐานแก่ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ในสาขาภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landsape) จากบทความ The Beholding eye: Ten versions of the Same Scene วางอยู่ในตำแหน่งระดับสัจจพจน์ฐานบทในหนังสือ The Interpretation of Ordinary Landscapes: Geographical Essays (1979) มาใช้ช่วยทำความเข้าใจภูมิทัศน์ “บารมี” ที่ถูกอ้างถึงและถกเถียงกันในเหตุการณ์บุคคลสังคมของประเทศไทย ในปี 2016 ต่อเนื่องมาจนถึง 2017 หลายเหตุการณ์ จึงอาจเป็นประโยชน์แก่สาธารณะโดยทั่วไป


บารมี-ปารมี-10-6-อำนาจบุญญาธิการ

ในคติเถรวาท-หีนยาน “บารมี”มี สิบประการ คือ ทาน, ศีล, เนกขัมมะ (การออกจากชีวิตครองเรือน) , ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา. ส่วนคติมหายานเรียกในรูปสันสกฤตว่า “ปารมี” ลดแทนที่กันเหลือหกประการ คือ ทาน, ศิล, ขันติ (กษานติ) , วิริยะ, สมาธิ (ฌาน) , ปัญญา (ปรัชญา) ทั้งนี้จะมี ชาดก เป็นเรื่องเล่า (narrative) มีบุคคลสำคัญ (personification) ของบารมีแต่ละข้อ รวมเรียกว่า ทศชาติชาดก

ความหมายโดยทั่วไปของบารมีได้แก่ ปฏิปทาอันยวดยิ่งเพื่อบรรลุจุดหมายสูงส่ง, กำลังใจเต็ม, กำลังใจ (10 ประการ) ที่ต้องเติมให้เต็ม นัยยะของการเติมหม้อทุกใบให้เต็มนี้ชี้บารมีแบบพุทธว่ามีคุณสมบัติเชิงสัมพัทธ์มากกว่าคุณสมบัติเชิงสัมบูรณ์

นอกจากนี้ในสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ก็ได้สำรวจพัฒนาศึกษาแนวคิบารมีจากกลุ่มชาติพันธุ์วัฒนธรรม และเห็นว่า “บารมี-บุญญาบารมี” (Mana, Charisma) (ไม่อาจแยกออกจากอำนาจ (power) ต่างเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกันมีความสัมพันธ์ กับ พื้นที่ เศรษฐมิติ และ บุคคลสังคม เช่น พิธีกรรมpotlatch ซึ่งเกี่ยวกับการให้และรับระหว่างผู้แข่งบารมีกัน กับ สมาชิกในเผ่า (The Gift ,mauss) อันอาจมองเห็นในด้านอำนาจ ส่วนการอดทนสร้างเสริมคุณภาพในตัวเอง (การสักร่างกาย, การศึกษา- embodiment) , การเป็นที่พึ่งให้กับคนจำนวนมาก (การทำนายอนาคต, การไล่ผี-รักษาโรค, การเป็นตัวแทนเพื่อประกันความเป็นไปตามความคาดหมายของธรรมชาติฤดูกาลความอุดมสมบูรณ์) ก็มองเห็นได้จากด้านบุญญาบารมี

การศึกษาบารมีในวงการเถรวาทไทยยังช่วยให้เห็นภาพตัวแทนของการถ่ายทอดบารมีระหว่างมนุษย์กับวัตถุสิ่งของวัตถุมงคลที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ในตลาด (ทัมไบ/คายส์/ฮายามิ/ฉลอง สุนทราวณิช)

บารมีจึงมีคุณสมบัติสัมพัทธ์ ระหว่างองค์ประกอบทั้งสามมิติซึงกันและกันของพื้นที่เงื่อนไขและบุคคล (place-สนามอาณาบารมี, เงื่อนไขทางสังคม power-เศรษฐมิติและอุดมการณ์บทกำหนดข้อตกลงทางวัฒนธรรม และ บุคคล-สังคม person-subject จุดตำแหน่งบารมี) ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันและกันอย่างละเอียดลึกซึ้งแนบเนียนในชีวิตประจำวันทั้งด้านที่สามานย์และสูงส่งที่ฟูโกต์เรียกว่าจุลอำนาจหรือชีวอำนาจ (Bio-power, Governmentality)

นอกจากนี้ก็ใช่ว่า บารมีทั้งสิบแบบเถรวาทเอง จะจำแนกกันและกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างจาก เรื่อง เตมีย์ชาดก ชาดกเรื่องเล่าเรื่องนี้โดยทั่วไปถือว่าเป็นตัวแทนของ เนกขัมมะบารมี บารมีของการออกบวชละทิ้งครัวเรือนชีวิตครอบครัว ท้องเรื่องเล่าเป็นชีวิตของเตมียราชกุมารได้ตั้งแต่เป็นทารกก็รู้ความก่อนวัยได้ยินได้เห็นการตัดสินคดีความของบิดา (กาสิกราช) รำลึกได้ชาติได้ว่าเคยเป็นกษัตรย์เหมือนกันติดสินคดีแนวนี้มาเหมือนกัน แล้วต้องไปรับผลกรรมที่ตัดสินอย่างสาหัสสากรรณ์ ก็รู้สึกสลดใจเบื่อหน่ายวงจรป้อนกลับซ้ำซากเป็นนิพพิทาญาณ ประกอบกับได้รับคำแนะนำของมารดาในชาติก่อนแนะนำให้อธิษฐานแสร้งทำเป็น ใบ้ หูหนวก และเป็นง่อย (ปัญญาบารมี, อธิษฐานบารมี) จากนั้นอยู่ในสภาวะทั้งสามนั้นไปจนอายุสิบหกปีโดยไม่มีใครรู้ซึ่งยากมากต้องอดทนมาก (ขันติบารมี, วิริยบารมี) ต่อมาบิดาเชื่อคำแนะนำจากปุโรหิตขุนนางต่างๆที่ว่ากุมารเป็นตัวซวยกาลกิณีได้สั่งให้นายสุนันทะสารถีคนใกล้ชิดในครอบครัวนำตัวไปหาที่ฝังเสียในป่า ทั้งสองก็ออกเดินทางด้วยรถเทียมม้าไปด้วยกันเข้าป่าลึก เมื่อถึงที่เปลี่ยวที่หมายตาไว้ สุนันทะก็จอดรถแล้วหยิบเสียมมาขุดหลุม เตมีย์ก็เลิกเป็นง่อยเป็นใบ้เป็นบ้าทดลองกำลังยกรถแล้วก็พูดกับสุนันทะมีเนื้อหาหลักว่า มิตรย่อมไม่ให้ร้ายทำร้ายมิตร (มิตตานิสังสะ) ได้ให้สติแก่สุนันทะ (เมตตาบารมี, อุเบกขาบารมี) สุนันทะเดินทางกลับเมืองแต่เตมีย์ไม่กลับด้วยมุ่งมั่นจะใช้ชีวิตผู้สละครัวเรือนอยู่ในป่า (เนกขัมมบารมี) เมื่อกลับเมืองแล้วสุนันทะได้รายงานให้กษัตริย์รับทราบ กษัตรย์,ครอบครัวและบริวารก็ชวนกันออกมาหาเตมีย์ฤาษีเพื่อชวนให้กลับไปอีกครั้ง เมื่อได้พบกันเตมีย์ฤาษีให้อภัยทานครอบครัว (ต้องทะลุปมoedipal complex บิดาที่สั่งฝังบุตรจึงยากพอกับเวสสันดร) แล้วก็ให้ข้อคิดเห็นตามที่มีเค้าตั้งแต่แรกเรื่องและปฏิเสธที่จะกลับใช้ชีวิตแบบฆราวาส ทุกคนได้ฟังก็เลื่อมใสกลับตัดสินใจออกบวชกันหมดในที่นั้น (ทานบารมี, ปัญญาบารมี)                

จะเห็นว่าเนื้อหา (narrative) ชาดกที่เป็นตัวแสดงแทน (representative) ของเนกขัมมบารมีที่มีพระเตมีย์เป็นบุคคลาทิฏฐาน (personification) นี้ ยังประกอบไปด้วยบารมีสิบครบครันทั้งเรื่องอาจจะขาดแต่ศีลบารมี ซึ่งก็อาจอนุมานว่าเตมีย์ฤาษีมีอยู่ตามเป็นธรรมชาติ

เราเห็นได้ว่าบารมีสัมพัทธ์ทั้งกับบริบทของบารมีรวมถึงสัมพัทธ์กับเศรษฐกิจสังคมการเมือง ทางพุทธถือว่าบารมีต้องสะสมกันเองเชิงสัมพัทธ์ การนวดโหนเพื่อบารมี เช่น ถ่ายภาพกับบุคคลสำคัญ, การใช้เครื่องแบบแต่งกาย-ความพร้อมเพรียงและฉากหลังอันวิจิตรอลังการณ์นาฏกรรม เป็นต้น ต่างเป็นไปโดยอาศัยเทคนิควิธีที่ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติการถ่ายทอดบารมีจากวัตถุหรือคนอื่น ทั้งนี้ก็ไม่เกินเลยจากข้อค้นพบที่สังคมศาสตร์มนุษยวิทยาการเมืองได้เสนอไว้  กล่าวได้ว่าทั้งหมดต่างจัดวางอยู่ในบริบทสัมพัทธภาพของบารมี


มุมมองของภูมิทัศน์เดียวกันทั้ง 10

วงวิชาการแนวข้ามศาสตร์ เป็นหนึ้นักภูมิศาสตร์หลายท่าน เช่น มานุษยวิทยาสังคมวิทยาต่องานของเดวิด ฮาร์วี่, นิเวศวิทยาภูมิทัศน์ต่อคุณูปการของ เอียน แมกฮาร์ก และ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมสถาปัตยกรรมศึกษาต่อการมองทั้งสิบแบบของโดนัล วิลเลียม ไมน์นิก.  

ไมน์นิกปัจจุบันดำรงตำแหน่งเกียรติคุณทางวิชาการ (Maxwell Research Professor of Geography, Syracuse University) เคยวิจัยในออสเตรเลียและมีงานสำคัญทางภูมิศาสตร์เป็นหนังสือชุดสี่เล่ม The Shaping of America: A Geographical Perspective on 500 Years of History ทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ 1988-2000 การเสนอบทสังเคราะห์ที่คมลึกซึ้งใน“The Beholding Eye: Ten Versions of the Same Scene.” เป็นผลประมวลจากประสบการณ์ยาวนาน

ในที่นี่ไมน์นิกอธิบายถึงเงื่อนไขฉากหลังที่ทำให้การรับรู้ถึงภูมิทัศน์เดียวกันนั้นกลับอาจแตกต่างกันไปสำหรับผู้ดูแต่ละคน เขาเสนอว่าสิ่งประกอบสร้างที่เรียกว่าภูมิทัศน์นั้นไม่ได้ประกอบจากแต่สิ่งที่วางอยู่เบื้องหน้าตาคนดูเท่านั้นแต่ยังประกอบด้วยสิ่งที่วางอยู่ในหัวคนดูเบื้องหลังสายตาอีกด้วย  เมื่อมองไปยังภูมิทัศน์เบื้องหน้าผู้ดูได้ผนวกเอาความเชื่อ,คุณค่า,ศรัทธา,ความกลัว และอื่นๆ ร่วมประเมินภูมิทัศน์นั้น (อันนี้คล้ายแนวคิดอายตนะภายนอก/อายตนะภายในและนามขันธ์ 4)  เปรียบเสมือนแว่นตาเฉพาะสีและความโค้งเลนส์เฉพาะที่ทำให้ภาพที่เห็นแตกต่างเฉพาะตัว เขาเตือนให้เราระมัดระวังอคตินี้และเปิดใจให้กว้างต่อการแปลความหมายในมุมอื่นๆ ที่สำคัญเขาลองนับมุมมองต่างๆที่เป็นไปได้ สิบ มุมมอง ได้แก่ ธรรมชาติ (nature) , แหล่งถิ่นที่อาศัย (habitat) , ประดิษฐกรรมสรรค์สร้าง (artifact) , ระบบ (system) , ปัญหา (problem) , ความมั่งคั่ง (wealth) , คตินิยมอุดมการณ์ (ideology) , ประวัติศาสตร์ (history) , สถานที่เฉพาะ (place) , สุนทรียภาพ (aesthetic) .

ต่อไปเราจะถือโอกาสสำรวจภูมิทัศน์ของ “บารมี” จากแง่มุมมองตามลำดับนี้


ธรรมชาติ (Nature)

มนุษย์ช่างกระจ้อยร่อยในธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ในมุมมองภูมิทัศน์นี้ อำนาจตามธรรมชาติของ ดวงอาทิตย์ ขุนเขา ทะเล คลื่น พายุ ล้วนยิ่งใหญ่เกินชะตากรรมมนุษย์  แต่ก็ทำให้มนุษย์โหยหาอำนาจที่จะจัดการกับทุกข์ยากและพลังอำนาจเหล่านั้น ภูมิทัศน์นี้จึงสร้างมโนทัศน์ อำนาจบารมี พื้นฐานความคาดหวังให้กับมนุษย์


แหล่งที่อยู่ (Habitat)

ภูมิทัศน์ที่มนุษย์ได้ประยุกต์อำนาจธรรมชาติบางประการให้เหมาะสมกับการพำนักพักอาศัยของกลุ่มชน แม่น้ำที่เป็นแหล่งอาหารและการเดินทางคมนาคม การเพาะปลูก ความต่อเนื่องของความคาดหวังสังคมเกษตรกรรมน้ำฝนหาของป่า ที่ต้องการดินฟ้าอากาศที่ตกต้องตามฤดูกาลเชื่อมโยงอำนาจบารมีในธรรมชาติเข้ากับตัวแทนมนุษย์ผู้ทำหน้าที่ตัวแทนกลุ่มสังคมในการเซ่นสรวงสังเวยเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยทางกำลังใจของชุมชน


ประดิษฐกรรมสรรค์สร้าง (Artifact)

ประสิทธิภาพที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์คิดค้นปรับสภาพให้ศักยภาพในการผลิตสะดวกและเพิ่มพูน ด้วยมรรควิธีต่างๆ บนผืนแผ่นดินในฐานะที่เป็นลานเวทีของประดิษฐกรรมเหล่านั้นจนยากที่จะพบเศษเสี้ยวของสิ่งธรรมชาติบริสุทธิปราศจากมนุษย์  ซึ่งอำนาจบารมีก็เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมชิ้นหนึ่งที่ครอบงำไปถึงแม้ในแผ่นดินที่ไร้มนุษย์พักอาศัยดังที่แสดงในแผนที่


ระบบ (System)

หากเรามองเห็นแม่น้ำในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของวงจรวัฏจักรของน้ำ นั่นคือมุมมองเชิงระบบ มุมมองระบบต่ออำนาจบารมีคือ ระบบอุปถัมถ์ การไหลเวียนแลกเปลี่ยนของ ฐานะอำนาจการยอมรับนับถือ การแบ่งสรรค์ผลประโยชน์ ความชอบธรรมและ การปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน


ปัญหา (Problem)

สิ่งบ่งชี้ทั่วไปคือ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปด้วยการเปลี่ยนแปลง ภูเขาต้องกร่อนราบลงสักวันหนึ่ง (อนิจจาลักษณ์ในไตรลักษณ์) อำนาจบารมีเองฉายโชนรุ่งเรืองก็ย่อมมีวันเสื่อมถอยอับแสง ดังที่หลายท่านเสนอว่าความชอบธรรมบุญญาบารมีเป็นอีกด้านของอำนาจในเหรียญเดียวกันเหรียญที่ยังใช้แทนค่าเงินในตลาดได้ต้องมีทั้งด้านหัวด้านก้อยอำนาจที่ปราศจากความชอบธรรมย่อมไม่ยั่งยืน

ส่วนชีวอำนาจ (Bio-power) ที่ล้นเกินบิดเบี้ยว บิดเบือนรบกวนความเที่ยงตรงของการรับรู้และยถาภูตญาณทัศน์ก็เป็นปัญหาต่อระบบในตัวเอง


ความมั่งคั่ง (Wealth)

เมื่อเราทอดสายตาไปที่ผืนแผ่นดินตรงหน้าเราอาจรู้สึกได้ว่ามันมีคุณค่ามีราคามีผลิตภาพและเป็นที่มาของความมั่งคั่งรุ่งเรือง บารมีก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่งคั่งแน่มิฉนั้นภูมิทัศน์โหนบารมีก็คงไม่มีให้เราเห็นบ่อยทั้งอย่างแนบเนียนและตรงไปตรงมา

คตินิยมอุดมการณ์ (Ideology)

เราอาจมองทัศนีย์ภาพตรงหน้าและเห็นสัญญะต่างๆของคุณค่าแบบต่างๆ แบบแผนที่ใช้การกำกับความเป็นไป ปรัชญาความเชื่อในแบบแผนของแต่ละวัฒนธรรมย่อมทำให้ทัศนียภาพแตกต่างกัน ในมุมนี้ของอำนาจบารมีกล่าวได้ว่าระบบอุปถัมถ์ที่เกิดขึ้นแพร่หลายแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมย่อมเกิดจากรากฐานคตินิยมอุดมการณ์อยู่ด้วย (เช่น ระบบอุปถัมถ์พบได้มากสังคมเคร่งศาสนาเช่น ลาตินอเมริกา อิตาลี ไอร์แลนด์ ไทย ฯลฯ เป็นเพราะมีคตินิยมบางอย่างที่ลัทธิศาสนาในพื้นที่เหล่านั้นรับรองกำกับที่เอื้อต่อการงอกงามของระบบอุปถัมถ์ )


ประวัติศาสตร์ (History)

ภูมิทัศน์ย่อมเป็นผลระยะยาวจากการที่มนุษย์และธรรมชาติได้สั่งสมบางสิ่งบางอย่างที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง  สำหรับพุทธบารมีสิบ การนำเสนอเรื่องเล่าผ่านภาษาภาพให้ผู้คนทั่วไปเข้าใจนิยมทำผ่านจิตรกรรมฝาผนังของอุโบสถวิหารมาแต่โบราณ ทั้งนี้ความจำเป็นที่ต้องเลือกสรรค์เรื่องใดเรื่องหนึ่งในโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่งก็ย่อมเกิดขึ้นและมีเรื่องที่นิยมมากกว่าเรื่องอื่น ลักษณะทำนองเดียวกันจะดำเนินไปนำไปสู่ความนิยมในเรื่องใดเรื่องหนี่งเป็นแบบแผนประเพณี เช่น เวสสันดร-มหาชาติ (มหา-ใหญ่,สำคัญ)

ดังนั้น คุณสมบัติเชิงสัมพัทธ์ของบารมีแบบพุทธในภูมิภาคนี่จึงค่อยๆถูกความเฉพาะเจาะจงและความสัมบูรณ์เข้าแทนที่


สถานที่เฉพาะ (place)

ในเมื่อภูมิทัศน์เป็นผลมาจากปัจจัยอันสลับซับซ้อนหลายปัจจัย แต่ละทัศนียภาพย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะตรงกันเหมือนกันทุกประการแม้แต่ทัศนียภาพเดียวกันต่างเวลาก็ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ดังนี้เมื่อภูมิทัศน์หนึ่งๆเป็นที่พำนักหล่อหลอมบุคคลสังคมหนึ่งๆ บุคคลเหล่านั้นย่อมผูกพันเป็นส่วนหนึ่งกับภูมิทัศน์นั้น ภูมิทัศน์ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชีวิตส่วนบุคคลของเขา ในแง่สถานที่เฉพาะของบารมี (อาณาปารมี) นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยให้ภาพที่ชุมชนแต่ละแห่งอาจจะอยู่ในอิทธิพลความสว่างของแสงเทียนของอำนาจปกครองที่แรงเทียนสูงกว่า ทั้งนี้หากระยะทางไกลจากศูนย์กลางอำนาจมาก ก็ยังอาจเลือกอยู่ในอาณัติของอำนาจได้มากกว่าหนึ่งศูนย์กลาง ลักษณะนี้ก็เกิดกับชุมชนในที่สูงสลับซับซ้อนตอนบนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่เรียกว่าโซเมีย (Zomia) อีกด้วย

ในขนาดที่ย่อมลงมาการเลือกยึดครองพื้นที่สาธารณะในลักษณะอีเวนต์ก็เป็นการแสดงออกของอำนาจบารมี เช่นกัน การต่อธนบัตรให้ยาวเพื่อครองแสดงพี้นที่ การพาเหรดในการออกกำลังกาย การเดินธุดงค์หมู่ กองเกียรติยศเดินสวนสนามฯลฯ อีเวนต์เหล่านี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อกระทำในพื้นทีสาธารณะ นักวิชาการบางท่านก็ตั้งข้อสังเกตปรากฏการณ์ลักษณะนี้กับเมืองที่มีศาสนาอำนาจนิยมสุดโต่ง (Fundamentalism City) ทั่วโลกที่เริ่มเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่แล้วข้ามมาจนถึงปัจจุบันด้วยสายตาหวาดระแวง


สุนทรียภาพ (Aesthetic)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิทัศน์ที่มีอำนาจเป็นศูนย์กลางมีอิทธิพลทางสุนทรียภาพ ทัศนียภาพอันมีดวงอาทิตย์ปริ่มทะเลท้องฟ้า และ ภาพยนตร์เรื่อง God ‘s Father ของมีคุณภาพนี้ร่วมกัน แต่การเหมารวมว่าความงามในตัวเองเป็นอันหนึ่งเดียวกับความจริงและความดีน่าจะนำสู่อุปาทานอคติที่อันตราย เราอาจได้ประโยชน์จากกลไกพลังของดวงอาทิตย์ได้โดยไม่ต้องบูชายัญใคร  หรือเข้าใจกลไกของระบบอุปถัมถ์จากภาพยนตร์โดยซาบซึ้งไปกับสุนทรียภาวะของภูมิทัศน์

วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือเปิดให้เห็นความเป็นไปหลายมิติตามความเป็นจริง ท่ามกลางคุณสมบัติทั้งสิบภูมิทัศน์อำนาจ/บารมี ก็คือ ความย้อนแย้งไม่ลงรอยในบารมีเอง ในทานบารมี ทานอันจะนับเป็นบารมีได้ต้องประกอบด้วยสติปัญญาไม่สร้างผลกระทบทางลบอีกทั้งปราศจากความต้องการผลตอบแทนใด อย่าว่าแต่ชื่อเสียงอำนาจที่มักโหนนวดเลยแม้แต่บารมีเองก็ไม่พึงคาดหวัง

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net