Skip to main content
sharethis

คุยกับประทับจิต นีละไพจิตร ในฐานะลูกสาวผู้ได้รับผลกระทบจากการหายไปของพ่อ 'สมชาย นีละไพจิตร' กับกว่า 14 ปีที่การสูญหายยังคงไม่ได้อะไรกลับมาในทางกฎหมาย สะท้อนภาพสิทธิมนุษยชนย้อนแย้งที่รัฐเลือกสนับสนุนบางเรื่อง เลือกจับบางคน ชี้ พัฒนาสังคมประชาธิปไตยคือทางออก ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมการปรองดอง

วนมาอีกครั้งสำหรับวันสตรีสากลที่จะมาถึงในวันที่ 8 มี.ค. นี้ สิ่งที่ควรทำมากไปกว่าการฉายสปอตไลท์ไปที่สิทธิสตรี คือการสะท้อนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในด้านอื่นๆ และการตอบสนองจากหลายภาคส่วนในไทย

การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในไทยยังคงมีปัญหาเรื่องการตอบสนองต่อบรรทัดฐานสากลของรัฐบาล ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งสหประชาชาติถือเป็นสนธิสัญญาหลัก จำนวน 7 ฉบับ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) แต่การทำให้เกิดผลทางปฏิบัติโดยรัฐบาลยังคงมีเครื่องหมายคำถามตัวโต เนื่องจากการตอบสนองต่อมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนโยบายกลายเป็นเรื่องที่ถูกเลือกปฏิบัติ บางประเด็นได้รับการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเดินหน้ารณรงค์ได้เต็มที่ บางประเด็นกลับถูกจับดำเนินคดี บางประเด็นก็ถูกละเลยและค่อยๆ ระเหยหายไป

 

ประทับจิต นีละไพจิตร

ประชาไทคุยกับประทับจิต นีละไพจิตร ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาระดับชาติในประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR SEARO) แต่ในวันนี้เธอจะพูดคุยในฐานะผู้หญิง ลูกสาวคนหนึ่ง และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกบังคับให้สูญหายของสมชาย นีละไพจิตรผู้เป็นบิดา ถึงพ่อและแม่ในฐานะส่วนหนึ่งของการทำงานบนเส้นทางสายสิทธิมนุษยชน ความเชื่อมั่นว่าสิทธิมนุษยชนสามารถอยู่กับศาสนาอิสลามและความเชื่อต่างๆ ได้หากมีสังคมประชาธิปไตย สะท้อนการเคลื่อนไหวสิทธิสตรี และการเคลื่อนไหวด้านต่างๆ โดยสตรีในไทย รวมถึงสถานการณ์เรื่องการ ‘อุ้มหาย’ ในไทยที่สังคมรับรู้มากขึ้นแต่ภาครัฐยังไม่ตอบสนอง จนขณะนี้จะครบรอบ 14 ปีที่ทนายสมชายหายตัวไปในวันที่ 12 มี.ค. ที่จะถึง แต่สิ่งที่ครอบครัวได้รับกลับเป็นเพียงความว่างเปล่า

ภาพรวมการเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิสตรีเป็นอย่างไรในปีที่ผ่านมา

ไทยเพิ่งถูกทบทวนสถานการณ์การปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เมื่อปีที่แล้วก็ได้เห็นความกระตือรือร้นของภาคประชาสังคมที่ได้เข้าไปทำงานร่วมประสานกันกับทั้งระดับท้องถิ่น ประเทศและนานาชาติ การทำงานด้านสิทธิสตรีในไทยค่อนข้างจะเป็นโอกาส ไม่ค่อยมีอุปสรรคมากนักเพราะสำหรับประเทศไทยมีทัศนคติกับสิทธิสตรีในทางบวก ทุกรัฐบาลก็จะให้ความสำคัญ เพราะเขาค่อนข้างสนใจกับสิทธิที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะพิเศษ หรือบางคนเรียกว่า กลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มคนพิการ เด็ก สตรี ประเด็นที่ไม่ร้อนแรงมากก็จะมีสถานะที่เป็นจุดร่วมที่ทั้งรัฐ ประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศได้มาเข้าร่วมและประสานงานกัน ในปีที่แล้วเราก็จะเห็นภาพของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงมีบทบาทนำในการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในท้องถิ่น ซึ่งก็มีหลายกรณีที่ถูกดำเนินคดี เป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนน้อย

คิดว่าการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้หญิงที่ผลักดันประเด็นบางเรื่อง แต่เลือกดำเนินคดีในบางเรื่องเป็นความย้อนแย้งหรือไม่

คิดว่าเป็นปัญหาของประเทศไทยในเชิงทัศนคติในภาพรวม ที่ผ่านมาเวลาเราพูดเรื่องการช่วยเหลือก็มักมีลักษณะไปทางการสังคมสงเคราะห์เสียเป็นส่วนใหญ่ แม้เราบอกว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ลึกๆ เราก็มองมันไปในแบบของการทำบุญสงเคราะห์ ไม่ได้ใช้มุมมองหรือทัศนคติแบบสิทธิมนุษยชนทั้งกระบวนการ ทำให้เกิดภาพความย้อนแย้ง

การเคลื่อนไหวของผู้หญิงเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางสังคมในภาพใหญ่ มีความแตกต่างเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยค่อนข้างสูง เป็นอีกส่วนที่ทำให้ภาพยังย้อนแย้งบ้าง ขัดแย้งบ้าง ประนีประนอมบ้างในบางเรื่อง แต่ก็คิดว่าความไม่สม่ำเสมอก็ฉายภาพให้สังคมไทยเห็นว่าเราอาจต้องหลุดออกจากฐานคิดเรื่องการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์และสนับสนุนการกระบวนการคิดและสร้างนโยบายสาธารณะให้เป็นแบบสิทธิมนุษยชนจริงๆ ต้องคิดจากพื้นฐานของบรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เราลงนามไว้ ซึ่งการคิดตามฐานสิทธิมนุษยชนประกอบด้วยความรับผิด (accountability), การมีส่วนร่วม (participation), และการไม่เลือกปฏิบัติ (non-discrimination)

บางทีเราก็พูดเรื่องเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายมีเอกภาพมีความปรองดองกัน แต่ลืมคำนวณบริบทความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนาน ละเลยที่จะพูดเรื่องใหญ่ๆ เช่น การเป็นประชาธิปไตย การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะเราก็หวังว่าจะประนีประนอมกันและปล่อยให้แต่ละคนทำหน้าที่ตัวเองไป แต่สุดท้ายก็พบว่าความแตกต่างเรื่องความคิดเห็น ความรู้สึกต่อสังคมประชาธิปไตยในระดับลึกยังต่างกัน การรีบเร่งให้เกิดเอกภาพจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

การคิดแยกส่วนการปรองดองและความขัดแย้งทางการเมืองออกจากการพัฒนาประชาธิปไตยเป็นปัญหา เพราะการสร้างความปรองดองต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของประชาธิปไตย มุมมองความขัดแย้งทางสังคมที่มีความเชื่อว่าความสงบหมายถึงสงบราบคาบ ไม่ขัดแย้งเลยเป็นความเข้าใจผิด คิดว่าหลายคนก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะคุยเรื่องประชาธิปไตยอย่างจริงจังเพราะกลัวจะมีความขัดแย้งกัน

การเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับสูญหาย มีอิทธิพลต่อการทำงานกับการใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างไร

มีมากค่ะ ก่อนหน้านี้เราก็อยู่กับพ่อที่เป็นนักปกป้องสิทธิรุ่นเก่า ด้วยความที่เขาไม่ได้โด่งดังมาก และอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยเขาก็จะเป็นห่วงเราและไม่ได้กระตุ้นให้เราทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทันที พ่อก็ไม่ได้หมายมั่นว่าเราจะเป็นนักกิจกรรมเพราะเขาไม่อยากให้เราไปเจอความไม่ปลอดภัยที่เขาเจอ ก็จะบอกให้เราตั้งใจเรียนให้ดีที่สุดเพราะเราเป็นลูกชนชั้นกลางที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง เราก็คิดว่า ถ้าสมมติว่าไม่ได้เกิดกรณีของคุณพ่อซึ่งผลักให้เราออกมาเจอ มาหาความรู้ในเรื่องต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องกลไกระหว่างประเทศ ก็คงจะเป็นลูกชนชั้นกลางธรรมดา อาจจะเสียโอกาสในการได้มาเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชน แม้ส่วนตัวมีพื้นฐานชอบช่วยเหลือแต่ก็ไม่รู้จะหลุดจากการช่วยเหลือในแบบการกุศลหรือเปล่า

จากวันที่คุณสมชายหายไป คิดว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยทั้งกรณีการบังคับสูญหายและการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในภาพใหญ่มาไกลแค่ไหน

ก็คิดว่ามันดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดการบังคับสูญหายก็ลดลงมากตามสถิติที่พบ ณ ตอนนี้สังคมไทยก็มีความรู้เรื่องอุ้มหาย แต่ก่อนจากงานวิจัยที่ตัวเองทำพบว่า สังคมไทยแต่ก่อนมีความรับรู้แค่คำว่า ‘หาย’ คือหายไปเฉยๆ แต่ตอนนี้คุณก็จะเห็นว่าคนใช้คำว่าอุ้มหายบ่อยขึ้น สังคมก็มีกลไกการปกป้องไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายที่เข้มแข็งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังรอการตอบสนองที่จริงจังในเรื่องการรับผิดชอบจากทางรัฐบาล โดยเฉพาะการออกกฎหมายเพื่อที่อย่างน้อยทำให้การบังคับสูญหายในไทยเป็นอาชญากรรม เพราะตอนนี้ยังไม่มีอะไรเลย หลังจากที่คำพิพากษาเรื่องคดีคุณพ่อออกมาในปี 2558 พอคดีจบแล้วเราไม่เหลืออะไรเลย พ่อหายไปโดยที่ไม่มีใครทำให้หาย หายไปเพราะอะไร และตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน เราไม่ได้ความจริงอะไรเลยจากกระบวนการยุติธรรมซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2548 ด้วยเหตุผลว่าหาศพไม่เจอ พิสูจน์ชะตากรรมไม่ได้ และส่งผลให้ครอบครัวถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นโจทก์ร่วมฟ้องแทนทนายสมชาย เพราะคำพิพากษาระบุว่า ไม่มีศพจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าทนายสมชายไม่สามารถฟ้องร้องได้ด้วยตนเอง และไม่มีกฎหมายที่ระบุว่าการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา การบังคับสูญหายจึงยังคงเกิดขึ้นอยู่ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก โดยส่วนตัวในฐานะครอบครัวของผู้สูญหายก็มาคิดว่าสังคมไทยได้ความตระหนักรู้ แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ได้เห็นบทบาทของผู้มีหน้าที่ทำให้ความจริงปรากฎ ก็คือภาครัฐ ในการอำนวยความยุติธรรม ทำให้เรื่องการบังคับสูญหายมีบรรทัดฐานเดียวกัน และทำให้การบังคับสูญหายในสังคมไทยยุติลง

สิ่งที่เห็นมากไปกว่านั้นคือเรื่องวาทกรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน เดี๋ยวนี้เวลามีคนถูกจับโดยอำเภอใจ ไม่มีหมายจับ คนในสังคมก็จะใช้คำว่า อาจจะเป็นการอุ้มหาย สิ่งที่รัฐบาล คสช. ทำคือการตอบสนองข่าวหรือข้อกล่าวหาเหล่านั้นด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการควบคุมตัว เช่น ควบคุมไปแล้วแล้วไปบอกครอบครัวผู้ถูกควบคุมตัวหรือองค์กรระหว่างประเทศว่าอยู่ที่ไหน มีชะตากรรมอย่างไร แต่ก็ยังคงใช้วิธีการควบคุมตัว จับกุมโดยพลการอยู่ ทั้งที่จริงแล้วในอนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องทุกคนจากการบังคับสูญหายที่ไทยได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2554 ข้อหนึ่งในนั้นคือการป้องกันการบังคับสูญหายต้องทำตั้งแต่ต้นทาง คือยุติการควบคุมตัวโดยพลการ สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะที่สังคมสร้างวาทกรรมขึ้น รัฐก็มีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนแต่ไม่ใช่เพื่อยุติการกระทำ แต่เป็นการเปลี่ยนเทคนิคเพื่อลดข้อกล่าวหาดังกล่าว ตรงนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ประชาสังคมต้องนำไปพัฒนาเทคนิคการทำงาน เพื่อให้ทันกับเทคนิคของเจ้าหน้าที่รัฐ

เรื่องการรณรงค์ให้มีการรับรองว่าทนายความต้องเข้าถึงตัวผู้ถูกควบคุมตัวก็ยังมีเป็นปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทนายความไม่มีโอกาสเข้าไปเลย ในระดับประเทศ หลังรัฐประหารก็จะพบว่าสิทธิการได้พบทนายเป็นสิทธิที่ได้รับเป็นรายกรณี

การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนใน 3 จ.ชายแดนใต้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และหน่วยงานความมั่นคงมีบทบาทสูงจะทำได้ในแบบไหน เป็นไปได้จริงหรือไม่

คิดว่าเป็นไปได้ และเห็นว่ามันดีขึ้น ที่เห็นและพยายามจะทำคือ จะทำอย่างไรให้ประชาสังคมที่นั่นและทั่วประเทศทำงานอย่างเป็นมืออาชีพ เพราะพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้มีความเฉพาะ จะทำอย่างไรให้การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนยืนบนหลักการว่า สิทธิมนุษยชนเป็นของคนทุกคน คนทำงานก็ต้องยืนอยู่บนหลักการนั้น ไม่ใช้สิทธิมนุษยชนไปในเจตนา หรือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแบบหนึ่งแบบใดเท่านั้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ  เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กลุ่มประชาสังคม ที่เป็นทั้งชาวพุทธและมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่ ระดับชาติและนานาชาติรวมตัวกันแถลงให้ยุติการดำเนินคดีสื่มวลชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น นอกจากนั้น การถกเถียง การทำงานของประชาสังคมที่อื่น และการทำข่าวเรื่องสิทธิมนุษยชนทำให้คนใน 3 จ.ชายแดนภาคใต้ตระหนักว่าการทำงานเป็นมืออาชีพเป็นเรื่องสำคัญ

ความเป็นมืออาชีพก็คือ เราต้องถือว่าหลักการอนุสัญญาต่างๆ ที่ไทยได้ลงนามไว้กับสหประชาชาติไว้ หลักการสำคัญอีกประการคือ หลักการไม่แบ่งแยก (Non Discrimination) ทำข้อมูล ข้อเท็จจริงให้มีความน่าเชื่อถือ ใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลที่ชัดเจน มีมาตรฐานในการเก็บข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง โดยไม่ใช้ความรู้สึกร่วม และค่อยๆ ขยายเรื่องที่ตัวเองทำอยู่ ไปสู่ประเด็นที่ครอบคลุมประชากรที่หลากหลายมากขึ้น ข้ามกลุ่มมากขึ้น

ที่สำคัญก็คือ ต้องไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าในรูปแบบใด ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราบอกนักปกป้องสิทธิ์ทุกครั้งว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิวัติ การเปลีี่ยนแปลงโครงสร้างใหญ่ของประเทศ แต่เราต้องชัดเจนว่าเราปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ เพราะถ้าขาดหลักการตรงนี้จะเสียความชอบธรรมในการทำงานด้านนี้

การเป็นผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามมีผลต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะสิ่งที่เรารณรงค์คือ สิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานสากล การทำงานในด้านนี้อย่างเป็นมืออาชีพจึงต้องก้าวข้ามอคติ ซึ่งเราถือว่าเป็นความท้าทายเพราะทุกคนต่างมีอคติที่ตัวเองไม่ทันได้รู้ตัว คือเป็นจิตสำนึกลึกๆ จากวัฒนธรรม ก็ถือเป็นข้อท้าทายและเป็นโอกาสที่เราจะเข้าไปแก้ไขตรงนั้น ถ้าเราแสดงอัตลักษณ์ตัวเองจากการแต่งกายหรือปฏิบัติตัว ก็คงเป็นโอกาสที่ดีในการได้คุยกับผู้คนแล้วรู้สึกว่าเราได้ก้าวข้ามอคติส่วนตัวของเรา และพร้อมที่จะปฏิบัติงานให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจออุปสรรคเรื่องความไม่ไว้วางใจ

มีข้อบังคับหรือความเข้าใจ วิถีชีวิตของศาสนาอิสลามที่ไปกับสิทธิมนุษยชนไม่ได้หรือไม่ เช่น เพศทางเลือก หรือข้อบังคับเรื่องการแต่งกาย

จริงๆ ยังไม่เห็นว่าตรงไหนไปด้วยกันไม่ได้ เช่น เรื่อง LGBTI หลักการสำคัญจริงๆ ต้องใช้หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ในคำสอนของศาสนาอิสลามอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่แน่ใจว่า ความรู้ ความมั่นใจในการมุ่งมั่นทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละคนมีมากแค่ไหน

เรื่องการแต่งกาย เราอยู่ในประเทศที่ไม่ได้มีกฎหมายห้ามหรือบังคับการใส่ผ้าคลุมศีรษะ เรื่องการเลือกคลุมหรือไม่คลุม ก็ไม่คิดว่าขัดกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะตามหลักศาสนาอิสลาม การคลุมผมเป็นไปตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ตามคำสั่งผู้ชายหรือผู้มีอำนาจในสังคม การคลุมผมจริงๆ ควรเป็นการตัดสินใจของผู้หญิง ตัวดิฉันเองตัดสินใจสวมผ้าคลุมผมด้วยตนเองเพราะต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างของตนเอง ซึ่งการตัดสินใจก็เป็นผลมาจากการต่อสู้ต่อรองอัตลักษณ์ของตนเองและอัตลักษณ์รวมหมู่เรื่องความเป็นไทยในระบบโรงเรียนและมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลาหลายปี  

คิดว่าสังคมไทยมีความพร้อมที่จะผสานความคิดแบบสิทธิมนุษยชนกับความเชื่ออื่นทางสังคมแค่ไหน

ประเทศไทยก็มีความแตกต่างหลากหลายอยู่แล้ว ความพร้อมหรือไม่พร้อมคงต้องขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ เพราะมันต้องใช้พลังทางสังคมพอสมควรที่จะชี้ว่าพร้อมหรือไม่พร้อม สิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้คือความเชื่อที่ว่า แนวทางของเราเป็นแนวทางที่ถูกที่สุด ทุกคนต้องเดินไปตามแนวทางของเรา ประเทศของเราแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงนี้แหละที่คิดว่าจะทำให้สิทธิมนุษยชนกับความคิด ความเชื่อ ไปด้วยกันไม่ได้ ทางกลุ่มสิทธิมนุษยชนเองก็เหมือนกันที่หลายครั้งเราก็ใช้สิทธิมนุษยชนเป็นไม้บรรทัดวัดทุกคนให้เป็นไปในแบบของเรา ที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือต้องพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่มีทางเลือกอื่น

ได้อะไรจากการการทำงานเรื่องสิทธิเหมือนกับแม่ เห็นปัญหาที่ตรงกันหรือเปล่า

เราทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ตอนเป็นเอ็นจีโอที่มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และสิ่งที่ได้รับจากแม่คือเรื่องความเท่าเทียมในเวลาทำงาน โดยเฉพาะตอนที่มาทำงานที่ OHCHR และแม่ไปทำงานที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แม่สอนมาตลอดว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน เรากับแม่เลยจริงจังกับการทำงาน และคิดว่าสำหรับผู้หญิง คุณค่าของตัวเราเองก็ต้องมาจากการทำงานของเรา การเคารพและให้เกียรติในความเห็นของกันและกันแม้จะมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือมีอายุที่ต่างกัน โดยยิ่งหลังๆ พยายามอ้างอิงเรื่องของคุณพ่อให้น้อยที่สุด พยายามไม่อ้างอิงถึงเรื่องทนายสมชายในการทำงานตามหน้าที่และต่างพัฒนาศักยภาพตนเองให้มากที่สุด เพื่อให้เราแปลงเปลี่ยนเป็นตัวของแต่ละคนมากที่สุด ไม่เฉพาะในฐานะลูกและภรรยาทนายสมชายตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net