Skip to main content
sharethis

เนื่องในวาระ ผอ.ซีไอเอคนใหม่เคยคุมคุกลับในไทย และครบรอบความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 2 ศตวรรษ ย้อนดูความร่วมมือต้านก่อการร้าย 'คุกลับ' ซีไอเอในไทย และวิธีสืบสวนที่ทารุณจนโดนแบนจากกฎหมายสหรัฐฯ แต่ไทยยังคงใช้อยู่ และยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ

การเถลิงตำแหน่งของกิน่า ฮาสเปล ในฐานะว่าที่ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันผ่านหน้าข่าวและหนังทั้งจอเงิน จอแก้วในนามซีไอเอ เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง สาเหตุเพราะมีรายงานว่าเธอเคยกำกับดูแลคุกลับของซีไอเอในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ถูกคุมขังตกเป็นเหยื่อการทรมานและการอุ้มหาย นอกจากนี้ยังถูกต้องสงสัยว่าเป็นคนสั่งให้ทำลายหลักฐานเกี่ยวกับการทรมานที่อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ นอกจากนั้น ผอ.ซีไอเอคนก่อนหน้า ไมก์ ปอมเปโอ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่นาน ก็มีประวัติสนับสนุนการทรมาน

จีน่า ฮาสเปล (ที่มา: wikipedia)

ท่าทีของทางการไทยต่อเรื่องคุกลับคือการปฏิเสธการมีอยู่ของคุกลับในแบบปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือ เพราะรายงานของกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ เรื่องปฏิบัติการของซีไอเอที่ออกมาเมื่อปี 2557 ระบุถึงความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้ายผ่านซีไอเอ รวมถึงสื่อต่างประเทศหัวใหญ่หลายเจ้าต่างก็กล่าวเป็นทำนองเดียวกันทั้งนั้นว่าคุกลับในไทยมีอยู่จริง

แม้ปัจจุบันสหรัฐฯ จะยกเลิกแนวทางการสอบสวนที่รวมวิธีการทรมานต่างๆ อย่างที่เคยเป็น ไม่ให้ชอบด้วยกฎหมายไปตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบาม่า แต่แนวทางการทรมานเพื่อการรีดเร้นข้อมูลยังถูกใช้อยู่ในประเทศไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการร้องเรียนจากทั้งผู้ถูกกระทำ และภาคประชาชนถึงมาตรการทรมานเช่นว่า แต่ทางการไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่มีบทบาทมากในพื้นที่ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกยังคงตอบโต้ด้วยการปฏิเสธ

ในเวลาที่ไทยและสหรัฐฯ เฉลิมฉลองความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกว่า 200 ปี ประชาไทชวนย้อนอ่านรายงาน Senate Select Commitee on Intelligence แสดงความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างไทย-สหรัฐฯ พฤติการณ์การสอบสวนผู้ต้องสงสัยของซีไอเอที่โหดร้ายจนสหรัฐฯ สั่งแบน กระนั้น ผู้กระทำผิดก็ยังไม่ได้รับผิด ซ้ำยังได้ดิบได้ดีในหน้าที่การงาน และแม้ว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกวิธีสอบสวนสุดโหดไปแล้ว แต่ลักษณะการสอบสวนเช่นว่ากลับมาปรากฏในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยชนิดที่เรียกว่าสำเนาถูกต้อง

ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ต้านก่อการร้าย กับคุกลับในฐานะความลับที่ไม่ลับ

ความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ กับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ปรากฏอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ภายหลังเหตุการณ์ ‘ไนน์วันวัน (9-11)’ (เหตุการณ์ที่มีผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบิน บังคับให้พุ่งชนตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2544) มีปฏิบัติการร่วมกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง การส่งตัวผู้ต้องสงสัยจากไทยให้กับซีไอเอ

การร่วมมือในปฏิบัติการก่อการร้ายยังถูกสื่อต่างประเทศพูดถึงในลักษณะการใช้พื้นที่ในไทยจัดตั้งสถานกักเพื่อปฏิบัติการของซีไอเอ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ‘คุกลับ’ และมีการส่งตัวผู้ต้องสงสัยที่จะถูกกักกันมาสอบสวนที่ประเทศไทยด้วย สื่อเดอะการ์เดียนของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ผู้ต้องสงสัยของซีไอเอชื่อ อาบู ซูบัยดะห์ เคยถูกส่งตัวมากักขังและสอบสวนที่ประเทศไทยจนเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า จากเอกสารรายงาน Senate Select Comittee on Intelligence พบว่า มีการจัดตั้งค่ายทหารอเมริกันในพื้นที่ประเทศอื่นที่ให้ความร่วมมือกับการปราบปรามการก่อการร้าย ไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นหลังเหตุการณ์ 9-11 (เหตุการณ์จี้เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์ เทรด เซนเตอร์ ประเทศสหรัฐฯ) ในช่วงปี 2001-2003 ไทยกลายเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลอเมริกันมาแสวงหาความร่วมมือเพราะกลุ่มเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการ อยู่ในประเทศมุสลิมในเอเชียหรือทางอัฟริกาเช่น อัฟกานิสถาน ปากีสถาน หรือแม้แต่ลิเบีย  โดยภูมิศาสตร์การเมืองของไทยก็เหมาะที่จะเป็นที่พักในการปฏิบัติการเพื่อติดต่อกับกลุ่มเป้าหมาย ตัวละครสำคัญหรือผู้ต้องสงสัยที่มีความสำคัญในเรื่องการปราบปรามการก่อการร้ายหลายคนถูกควบคุมตัวในไทย โดยตนคิดว่าเป็นหน่วยงานราชการไทย เพราะว่ามีการขึ้น-ลงของเครื่องบินที่ต้องผ่านระบบตรวจสอบ ไม่ใช่อยู่ๆ จะขึ้นลงที่ใดก็ได้ ปฏิบัติการนั้นใหญ่เกินกว่าจะทำกับส่วนที่ไม่ใช่ราชการ ตามหลักฐานที่เห็นมาเชื่อว่าน่าจะเป็นค่ายทหารแห่งใดแห่งหนึ่งในไทย

สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์  (HRW) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรทางการเมืองและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ พยายามตรวจสอบกรณีข้อครหาว่าไทยให้ซีไอเอมาจัดตั้งคุกลับในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ จากรัฐบาลไทย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่ามีการเปิดคุกลับของซีไอเอ มีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายถูกคุมตัวที่นั่นและข้อกังวลเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ข้อคำถามที่มีในตอนนั้นคือ หนึ่ง ที่ตั้งที่แท้จริงในไทยคือที่ไหน เป็นฐานทัพแห่งใดแห่งหนึ่งที่เคยเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-สหรัฐฯ หรือเปล่าหรือว่าเป็นที่อื่น สอง ขั้นตอนการอนุมัติเป็นอย่างไร มีการตรวจสอบไม่ให้มีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะไทยมีพันธะตามกฎหมายในประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศไม่ให้มีการปฏิบัติในทางละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น ข้อยืนยันว่ามีคุกลับและการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวในไทยเพิ่งได้รับการยืนยันจากรายงานของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ออกมาเป็นรายงานจากคณะกรรมาธิการฯ

ในปี 2003 ทางการไทยได้ควบคุมตัวอาบู ‘ซูแบร์’ อัล ฮาอิลี บุคคลที่ซีไอเอระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัลเคดา มีความเชื่อมโยงกับ ริดวน อิซามุดดิน หรือที่เรียกกันว่า “ฮัมบาลี” เป้าหมายอันดับหนึ่งของซีไอเอในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยซูแบร์ถูกทางการไทยกักตัวและสอบสวน จากนั้นถูกส่งต่อให้กับซีไอเอ และถูกส่งไปยังสถานกักกัน ‘โคบอลท์’ และถูกสอบสวนด้วย EIT

เมื่อ 11 ส.ค. 2003 ฮัมบาลี ผู้เป็นคนกลางสำคัญที่เชื่อมโยงกลุ่มอัลเคดากับกลุ่มก่อเจอาห์ อิสลามียา (เจไอ) ที่ฮัมบาลีเป็นสมาชิกอาวุโส เป็นผู้ต้องสงสัยว่าวางแผนลอบวางระเบิดแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อ 12 ตุลาคม ปี 2002 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมตัวที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยรายงานระบุว่า การจับตัวฮัมบาลีเป็นผลสืบเนื่องจากงานข่าวกรอง แหล่งข่าวของซีไอเอ และทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของไทย

บันทึกเล่าเทคนิคการสอบสวนด้วยการทรมาน ไม่ได้เรื่องได้ราว แถมยังเจ็บปวดทั้งผู้ทำและผู้ถูกกระทำ

Enhanced Interrogation Techniques (EIT) หรือเทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับ เป็นชื่อมาตรการการสอบสวนที่ซีไอเอใช้ในการรีดข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยภายใต้การกักกัน เป็นการสร้างความเสียหายทางร่างกายและจิตใจผสมผสานกัน มาตรการเช่นว่ากลายเป็นที่ประณามว่าเป็นการทรมาน เป็นสิ่งที่ทำให้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ต่อประชาคมโลกเสียหายอย่างหนักและต่อมาถูกยกเลิกไปในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา

อาบู ซูบัยดะห์ เป็นผู้ต้องสงสัยของซีไอเอที่ตกเป็นเหยื่อของการสอบสวนหฤโหดเช่นนี้ในไทยจนเสียตาหนึ่งข้าง ไม่เพีียงเท่านั้น เขายังถูกสอบสวนโดยวิธีการดังกล่าวอีกเมื่อครั้งอยู่ที่สถานกักกัน ‘กิตโม’ หรือที่รู้จักกันในชื่อคุกกวนตานาโม พื้นที่ใช้งานของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ที่คิวบา เขายังเป็นผู้ต้องขังของซีไอเอคนแรกที่ถูกสอบสวนด้วยวิธีดังกล่าว

เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับที่ระบุในรายงาน มีไปตั้งแต่การฟาดผู้ต้องขังใส่กำแพง รบกวนการนอนหลับ ทำให้ผู้ต้องขังอดนอนเป็นเวลา 180 ชั่วโมงด้วยการจัดให้ยืน หรืออยู่ในท่วงท่าที่เจ็บปวด เป็นเวลานานในขณะที่ใส่กุญแจมือเอาไว้ในตำแหน่งเหนือหัว ทำให้ผู้ต้องขังอยู่ในสภาพเปลือย รวมทั้งวิธีที่เรียกว่า Waterboarding (วอเตอร์บอร์ดิง) คือการใช้น้ำหยดใส่ผ้าที่คลุมหน้าอยู่ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ถูกสอบสวนอยู่ในภาวะคล้ายจมน้ำ นอกจากนั้นยังมีการข่มขู่เอาชีวิตผู้ต้องขัง ญาติ ครอบครัว รวมไปถึงขู่ว่าจะล่วงละเมิดทางเพศสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขังอีกด้วย มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอขู่ว่าจะเชือดคอแม่ของผู้ต้องขังคนหนึ่ง

คณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปว่าวิธีการสอบสวนเช่นว่าไม่ได้เกิดประสิทธิผลในทางข่าวกรอง นอกจากไม่ได้ทำให้ผู้ต้องขังให้ความร่วมมือแล้ว ยังไม่ใช่วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ จากบันทึกของซีไอเอ ผู้ต้องขังจำนวน 7 จาก 39 คนถูกใช้วิธีการสอบสวนแบบยกระดับไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลย หลายคนเลือกที่จะสร้างข้อมูลเท็จขึ้นมา ส่งผลให้ข่าวกรองไม่แม่นยำ โดยเจ้าหน้าที่ซีไอเอเองได้ให้การว่าวิธีที่ดีที่สุดในการรีดข้อมูล คือการเอาข่าวกรองที่มีอยู่แล้วไปสอบถาม

ข้ออ้างของซีไอเอที่ระบุว่าเทคนิคการสอบสวนเป็นการรีดข้อมูลที่มีประสิทธิภาพถูกแย้งด้วยสถิติของคณะกรรมาธิการว่า ใน 20 กรณีที่ซีไอเอมักนำมาใช้อ้างอิงนั้น บางกรณี คำให้การของผู้ต้องขังไม่มีความเชื่อมโยงกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ประสบความสำเร็จ หลายกรณีนั้นข้อมูลที่ถูกนำมาอ้างก็เป็นข้อมูลที่หน่วยข่าวกรองทราบอยู่แล้ว

รายงานของกรรมาธิการฯ ได้ระบุถึงกระบวนการและผลกระทบของวิธีการสอบสวนที่มีต่อทั้งตัวผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเอง

สถานกักกัน ไซต์กรีน : โทรเลขได้อธิบายสภาพของอาบู ซูบัยดะห์ให้ศูนย์บัญชาการของซีไอเอทราบว่า เมื่อพนักงานสอบสวนยักคิ้วโดยไม่ได้ให้คำชี้แจงใดๆ ซูบัยดะห์ จะเดินอย่างช้าๆ ไปยังโต๊ะและนั่งลง เมื่อพนักงานสอบสวนดีดนิ้วสองครั้ง อาบู ซูบัยดะห์จะนอนลงบนโต๊ะ (ที่ใช้ทำวอเตอร์บอร์ด) แม้ว่าผลการประเมินจากเจ้าหน้าที่ที่สถานกักกันจะระบุว่าอาบู ซูบัยดะห์ให้ความร่วมมือ แต่ทางศูนย์บัญชาการซีไอเอก็เชื่อว่าอาบู ซูบัยดะห์ ยังคงเก็บงำข้อมูลอยู่ จึงให้พนักงานสอบสวนของซีไอเอใช้เทคนิคสอบสวนแบบยกระดับต่อไป

ในช่วงที่อาบู ซูบัยดะห์ ถูกอธิบายว่ามีลักษณะ “มีอาการทางประสาท” และ “เครียดจนไม่สามารถสื่อสารได้” การทำวอเตอร์บอร์ดิง “ส่งผลให้เกิดภาวะรับของเหลวแบบฉับพลันและการชักเกร็งของแขน ขา และหน้าอก” … มีกรณีที่ทำวอเตอร์บอร์ดิงอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ที่อาบู ซูบัยดะห์ “อยู่ในภาวะไม่ตอบสนองใดๆ และมีฟองฟอดจากปากจนเต็มปาก” จากบันทึกของซีไอเอ อาบู ซูบัยดะห์ยังคงไม่ตอบสนองใดๆ จนกระทั่งได้รับการดูแลทางการแพทย์ … เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทำวอเตอร์บอร์ดถูกกล่าวถึงในอีเมล์ แต่ไม่ได้ถูกบันทึกลงในโทรเลขของซีไอเอ  เมื่อเจ้าหน้าที่ซีไอเอจากศูนย์บัญชาการสองคนได้ทำการดูบันทึกเทปเพื่อเปรียบเทียบระหว่างวิดีโอบันทึกการสอบสวนของอาบู ซูบัยดะห์ กับบันทึกของซีไอเอก็พบว่าช่วงวอเตอร์บอร์ดิงของอาบู ซูบัยดะห์หายไปจากบันทึกเทป

เจ้าหน้าที่ซีไอเอ ณ สถานกักกันไซต์กรีน รายงานว่าไม่สบายใจกับการใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับต่ออาบู ซูบัยดะห์ บันทึกของซีไอเอได้ระบุถึงปฏิกิริยาและความเห็นของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ:

5 ส.ค. 2545 : ต้องการจะเตือน (เจ้าหน้าที่แพทย์) ว่านี่เป็นจุดที่เขาไม่เคยประสบพบเจอมาก่อนตั้งแต่ทำงานด้านการแพทย์มา… เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดตั้งแต่เห็นและเป็นที่อึดอัดใจ

8 ส.ค. 2545: การทำ (เทคนิคสอบสวนแบบยกระดับ) ครั้งแรกของวันนี้… มีผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่ทุกคน… ความเห็นที่เรามีร่วมกันเหมือนจะตกลงว่าไม่ควรจะดำเนินการต่อ...

8 ส.ค. 2545: หลายคนในทีมเริ่มมีผลกระทบ… บางคนถึงกับน้ำตาไหลและสะอื้น

9 ส.ค. 2545: (เจ้าหน้าที่) จำนวนสองหรืออาจจะสามคนแสดงความประสงค์จะย้ายไปจากสถานกักกันนี้ถ้ามติยังคงตัดสินใจใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับต่อไป

รายงานคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า ผู้ถูกคุมขังหลายคนที่ได้เข้ารับการสอบสวนแบบยกระดับแล้วนำไปขังเดี่่ยวต่อจะมีภาวะผิดปรกติทางพฤติกรรมและสภาพจิต มักเห็นภาพหลอน หวาดกลัว นอนไม่หลับ พยายามจะตัดชิ้นส่วนของร่างกายตนเอง ไปจนถึงพยายามฆ่าตัวตาย มีผู้ถูกคุมขังถูกล่ามโซ่ในสภาพเปลือยกายจนหนาวตาย แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่ต้องรับผิดชอบ แต่แม้ว่าปฏิบัติการทั้งหลายจะมีข้อบกพร่อง แต่ซีไอเอเลือกที่จะใช้เทคนิคการสอบสวนแบบยกระดับเพราะว่ามันทำให้พวกเขาแน่ใจว่าผู้ต้องสงสัยไม่เหลืออะไรที่จะต้องรีดแล้วจริงๆ

สำเนาถูกต้อง: ไทย-สหรัฐฯ กับการผลิตซ้ำการลอยนวลพ้นผิด

แม้การสอบสวนด้วยเทคนิคการสอบสวนยกระดับจะถูกทำให้ผิดกฎหมายไปแล้วในสหรัฐฯ แต่บุคคลที่มีส่วนร่วมในการซ้อมทรมาน ควบคุมคุกลับ สนับสนุนการซ้อมทรมานกลับไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ แถมยังได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นถึง ผอ.ซีไอเอ และ รมว. กระทรวงการต่างประเทศ ส่วนกรณีคุกลับในไทยก็ยังคงมืดแปดด้าน แถมเทคนิคการสอบสวนที่สหรัฐฯ ยกเลิกไป กลับมาปรากฏในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ไทย โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและสหรัฐฯ คือการที่ตัวรัฐเป็นผู้ทำให้การลอยนวลพ้นผิดเป็นเรื่องปรกติใช่หรือไม่

สุนัยแสดงความกังวลว่า การที่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แถมยังได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผนวกกับทางการไทยไม่มีความจริงจังในการหาคำตอบเรื่องคุกลับในไทย และการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ไทย อาจเป็นบรรทัดฐานให้เกิดคุกลับในไทยได้ในอนาคต แต่สิ่งที่น่ากังวลและสังคมไทยควรจะส่งเสียงดังๆ คือการยุติการซ้อมทรมานและการคุมขังในลักษณะเดียวกันกับซีไอเอที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. หรือการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ อีกทั้งเมื่อมีผู้ให้เบาะแส ร้องเรียนก็กลับถูกแจ้งความกลับ

“ยังเป็นปัญหาว่า เกิดการซ้อมทรมานขึ้น ก็ต้องย้อนกลับมาถามว่า ไทยได้มีการอนุมัติให้มีการจัดตั้งคุกลับได้หรือเปล่า แล้วคุกลับที่ปฏิบัติการอยู่ ขั้นตอนการสอบสวนมีเจ้าหน้าที่ไทยมีส่วนร่วม หรือมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ อย่างไร ได้ไปรับรู้เรื่องการซ้อมทรมานแล้วไม่ทำอะไรหรือไม่ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมีคำตอบ” สุนัยกล่าว

“เป็นที่น่าผิดหวังมากเพราะหลังจากรัฐบาลทักษิณพ้นจากอำนาจไป ก็ไม่มีความพยายามตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ ถ้าเป็นพรรคฝ่ายเดียวกันจะทำการตรวจสอบก็คงเป็นไปได้ยาก แต่แม้ว่าเป็นพรรคฝ่ายตรงข้าม เป็นขั้วอำนาจอื่น ก็ไม่พยายามทำให้ความจริงเรื่องนี้ปรากฏขึ้นมา”

“คำถามที่ตามมาคือ ถ้าปล่อยให้ซีไอเอมาตั้งคุกลับ แล้วในอนาคตจะมีการอนุญาตให้ประเทศอื่นหรือซีไอเอเข้ามาตั้งคุกลับอีกหรือเปล่า ถ้าไม่มีกระบวนการขั้นตอนการกระทำผิด แล้วเอาคนผิดมาลงโทษในการทำให้เกิดคุกลับขึ้น มันก็เกิดบรรทัดฐานว่าต่อไปจะมีการสมคบคิดทำอะไรปิดบัง ทำเป็นเรื่องลึกลับและเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้าย”

“สำหรับสังคมไทยเกิดบรรทัดฐานว่าการปล่อยให้มีคุกลับซีไอเอเกิดขึ้นแล้วไม่เกิดการเอาผิดใดๆ มีผลสะท้อนกลับมาว่าเมื่อฝ่ายความมั่นคงเข้ามาทำหน้าที่รักษากฎหมายก็มีการใช้คุกลับเช่นกัน แล้วก็ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อใช้แล้วก็ไม่ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใสและไม่ต้องรับผิดใดๆ เลย” สุนัยกล่าว

พรเพ็ญระบุเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า มีการถูกซ้อมทรมาน บังคับให้สารภาพและถูกปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมในลักษณะใกล้เคียงกับที่ซีไอเอทำกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลก เช่นใช้น้ำหยดบนหน้าผากแล้วใช้ผ้าเปียกคลุม ไม่ให้เห็นแสงเป็นเวลาหลายวัน ให้ยืนท่าเดียวกัน ไม่ให้นั่ง ให้ทำท่าประหลาด จับถอดเสื้อผ้า ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต สหรัฐฯ เคยรับรองว่ามันเป็นเทคนิคพิเศษที่ทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย จนสมัยรัฐบาลโอบามาก็มีการสั่งห้ามแนวปฏิบัติดังกล่าว

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากญาติผู้ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวว่า เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการวางระเบิด โดยระหว่างควบคุมตัวมีการถูกทำร้ายที่ใบหน้าจนฟันหัก  ถูกเตะและต่อยจนล้มแล้วถูกเหยียบที่ก้น โดนดึงโสร่งให้ท่อนล่างเปลือย มีการเอาผ้าปิดหน้าแล้วเอาน้ำราด ถูกเตะ ต่อยจนสลบ เมื่อสลบไป เจ้าหน้าที่ก็ใช้นิ้วดีดที่อัณฑะให้รู้สึกตัว แต่ผู้ถูกควบคุมตัวลุกไม่ไหว

ปัจจุบัน รัฐบาลยังคงประกาศกฎอัยการศึกและภาวะฉุกเฉินในบางพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีหมายจับได้เป็นระยะเวลา 7-30 วัน อัญชนายังระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ปฏิเสธว่ามีการซ้อมทรมานอย่างสิ้นเชิง โดยระบุว่าปฏิบัติการต่างๆ ดำเนินไปภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ตนยังได้รับทราบข้อมูลว่า จำนวนผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษมีจำนวนมากโดยในช่วงปลายปีที่แล้วจนถึง ก.พ. นี้มีจำนวนประมาณ 600 คน เฉลี่ยแล้วจะมีผู้ถูกควบคุมตัวถึงวันละ 4 คน

อัญชนาเคยถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความหมิ่นประมาทและความผิดทางคอมพิวเตอร์ พร้อมกับสมชาย หอมลออและพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ หลังทั้งสามทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย รายงานดังกล่าวเป็นการบันทึกคำให้การเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ทั้งหมด 54 กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงตำรวจและทหารในพื้นที่ ตีพิมพ์และเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. 2559 โดยความร่วมมือของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ ซึ่งสำนักงานอัยการ จ.ปัตตานีสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีเมื่อ 24 ต.ค. 2560

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ 

การก้าวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของงานต่างประเทศและงานข่าวกรองของบุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับการทรมานและการใช้คุกลับ ภายใต้ประธานาธิบดีที่เคยกล่าวสนับสนุนการซ้อมทรมาน ในยุคสมัยที่ภูมิทัศน์การก่อการร้ายเปลี่ยนไปจากเดิมในแบบที่ใครๆ ก็ก่อวินาศกรรมได้ในนามของการสมาทานแนวคิดผ่านสื่อสักช่องทางหนึ่ง (และแน่นอนว่าจะมีองค์กรออกมาแสดงความรับผิดชอบหลังเกิดเหตุการณ์) ยิ่งทำให้ข้อสงสัยเรื่องการเกิดขึ้นใหม่ของคุกลับ และวิธีสอบสวนหฤโหดที่อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่อย่างหนักข้อ จนเป็นบรรทัดฐานให้กับประเทศอื่นๆ หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลไทยจะเอาอย่างไร แล้วใครจะรับกรรมซ้ำซ้อน...ถ้าไม่ใช่ประชาชน

เนื้อความจากรายงานแปลมาจาก

Senate Select Committee on Intelligence:

Committee Study ofthe Central Intelligence Agency's Detention and Interrogation Program, Amnestyusa.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net