Skip to main content
sharethis

หลังจากกรณีที่เฟซบุ๊คถูกเปิดโปงเรื่องส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานให้กับเคมบริดจ์อนาไลติกาก็ทำให้เกิดความกังวลต่อสิทธิความเป็นส่วนตัว เรื่องนี้ทำให้กลุ่มเสรีภาพพลเมืองและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ เรียกร้องให้บริษัทไอทีเหล่านี้มีความรับผิดชอบมากขึ้นในการนำข้อมูลของประชาชนไปหาผลกำไร และมีข้อเสนอเรื่องการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้ 5 ข้อ

 

องค์กรด้านสิทธิพลเมืองหลายกลุ่มในสหรัฐฯ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ใหม่เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา เรียกร้องให้บริษัทไอทีทุกบริษัทคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้มากขึ้นไม่ให้ถูกนำไปใช้หาผลประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และให้มีการสร้างเว็บในแบบที่สามารถ "ต้านทานการสอดแนมได้"

อีแวน เกรียร์ รองผู้อำนวยการขององค์กรไฟต์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์แถลงว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ต จากการที่มีผู้คนจำนวนมากเริ่มเข้าใจแล้วว่าข้อมูลของพวกเขา "ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธ" และ "ถูกนำมาใช้ทำลายพวกเขาเอง" อย่างไรบ้าง นั่นทำให้ประชาชนเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

เกรียร์กล่าวอีกว่ากรณีเคมบริดจ์อนาไลติกานั้นเป็นแค่ปัญหาระดับ "ยอดภูเขาน้ำแข็ง" ที่เห็นได้ชัดเจนแต่ยังมีปัญหาอื่นๆ ซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวนี้ไม่ได้เริ่มต้นหรือจบลงแค่ที่เฟซบุ๊ค ถ้าหากพวกบริษัทไอทีใหญ่ๆ ออกมาปฏิบัติตามแนวทางที่จะให้ความปลอดภัยทางข้อมูลแก่ผู้ใช้งานก็จะทำให้อนาคตของมนุษยชาติสว่างไสวขึ้น

กลุ่มองค์กรสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ ที่ออกมาร่วมเรียกร้องในครั้งนี้ประกอบด้วยสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน, องค์กรฟรีเพรส, องค์กรดีมานด์โปรเกรส, คัลเลอร์ออฟเชนจ์ และองค์กรอื่นๆ ที่เรียกร้องให้องค์กรไอทียักษ์ใหญ่ทำตามข้อตกลงที่เรียกว่า "สัตย์ปฏิญาณเรื่องความปลอดภัย" ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้คือ

ประเด็นแรก เรียกร้องให้มี "ความโปร่งใสอย่างจริงจัง" โดยการให้ผู้ใช้งานสามารถ "เข้าถึงและควบคุมข้อมูลของพวกเขาเองได้"

ประเด็นที่สอง คือการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้โดยการเข้ารหัสข้อมูลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง (end-to-end encryption) เพื่อป้องกันการสอดแนมจากบรรษัทและรัฐบาล

ประเด็นที่สาม คือการหยุดเก็บและกักตุนข้อมูลที่ "ไม่จำเป็นต่อผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจของพวกคุณ"

ประเด็นที่สี่ คือควรให้มีการคุ้มครองข้อมูลของทุกชุมชนโดยเท่าเทียมกันและหยุดการเก็บข้อมูล "ที่เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด" เช่น ช้อมูลเกี่ยวสถานะผู้ลี้ภัยและแนวคิดทางการเมือง

ประเด็นที่ห้า คือสนับสนุนให้มี "กฎหมายที่ระบุให้ต้องมีหมายค้นก่อนรัฐบาลถึงจะเรียกขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้งานได้" รวมถึงให้มีการ "ปฏิรูปการสอดแนมประชาชนแบบเหวี่ยงแหตีขลุม"

เดวิด ซีกัล ผู้อำนวยการบริหารของดีมานด์โปรเกรสแถลงว่าการโต้ตอบในระยะยาวของบริษัทไอทีในกรณีเฟซบุ๊ค-เคมบริดจ์อนาไลติกาจะเป็นตัวชี้วัดว่าอินเทอร์เน็ตจะถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือจะถูกใช้ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวและถูกชักใยเพื่อให้เกิดผลทางบวกต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่กับถูกรัฐบาลนำไปใช้ควบคุมทางสังคมต่อไป

ซีกัลบอกว่าต้องคอยดูกันต่อไปว่าผู้ให้บริการพื้นที่ไอทีใหญ่ๆ จะกลายเป็นผู้บุกเบิกดินแดนอุดมคติแห่งโลกอินเทอร์เน็ตหรือจะละเลยผลประโยชน์ของประชาชนแล้วทำให้อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่จะให้ประโยชน์กับเอกชน

เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงในหน้าสื่อต่างประเทศจำนวนมากเกี่ยวกับกรณีที่เฟสบุ๊คส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ 50 ล้านรายให้บริษัทเคมบริดจ์อนาไลติกาซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2559 

แต่กลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิความเป็นส่วนตัวต่างก็เน้นย้ำว่ากรณีแบบนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เฟซบุ๊คเท่านั้นบริษัทไอทีอื่นๆ ก็นำข้อมูลส่วนตัวของผู้คนไปใช้อาประโยชน์แบบนี้ได้เช่นกัน

นีมา สิงห์ กิวลือานี ที่ปรึกษาด้านนิติบัญญัติของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวว่าบริษัทไอทีทั้งหลายควรจะหยุดการแทรกซึมข้อมูลและใช้ข้อมูลของผู้รับบริการอย่างไร้ความรับผิดชอบได้แล้ว และควรจะมีการคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานไม่ให้ถูกนำไปใช้ในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติ รวมถึงให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมได้ว่าจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง

 

เรียบเรียงจาก

As Facebook Scrutiny Grows, New Campaign Demands Tech Giants Pledge to Build 'Surveillance-Resistant Web', 02-04-2018

https://www.commondreams.org/news/2018/04/02/facebook-scrutiny-grows-new-campaign-demands-tech-giants-pledge-build-surveillance

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net