Skip to main content
sharethis

ประยุทธ์ ชี้ การดูด ส.ส. มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา หากมีเป้าหมายร่วมกันสร้างเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศและประชาชนก็น่าจะช่วยกันทำงานได้

เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งถึงประเด็นการเลือกตั้ง  ความเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการดูด ส.ส. ดังนี้

ผมอยากจะฝากให้ “ติดตาม” ว่าเหตุใดที่รายได้ประชาชนยังไม่ดีพอ ที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง อันนี้ก็มีผลมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน เราต้องไปดูว่าเชื่อมโยงกับ “ต้นตอ” กับปัญหาอย่างไร ความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเรามีส่วนหรือไม่ เราทุกคนนั้นถ้าเราหวังให้ทุกอย่างดีขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และเราทุกคนก็ควรต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม  ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง หรืออาจจะไม่ต้องซื้อ เพราะเป็นเสียงที่ติดกับตัวบุคคลไปนานแล้ว แต่มีการอาจจะหาเสียง ให้ประโยชน์ล่วงหน้า ว่าจะสร้างหรือทำอะไรให้ ซึ่งทำไม่ได้ ในรัฐบาลต่อ ๆ ไป จะต้องทำในสิ่งที่อยู่ในแผน แต่ต้องทั่วถึงทุกพื้นที่

เรารู้อยู่แล้วว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะข้าราชการก็มีข้อมูล การฟังเสียงประชาชนก็เป็นข้อมูลเสริมเข้ามา แล้วมาพิจารณาว่าเราจะทำอะไรกันต่อไป ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนมาร้องเรียนด้วยซ้ำไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของข้าราชการ ต้องทำเพราะฉะนั้นเราต้องเลือกคนดีมีคุณธรรม เลือกพรรค เลือกคนด้วยนโยบายที่ชัดเจน

ใช้เหตุผลในการเลือก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้มาเป็นรัฐบาล ด้วยความคุ้นเคย ด้วยความไม่รู้จักคนอื่น หรือด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทั้งนี้ อาจจะเพียงเพื่อตอบสนอง “ความคาดหวัง” ว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ด้วยการกระทำแบบเดิม ๆ ที่เคยทำได้เหมือนที่ผ่านมา รายได้ดีขึ้นเพราะไม่ต้องระมัดระวังอะไร เช่น จากการปล่อยปละละเลยของการให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย  มีการทุจริต สังคมขาดความมีระเบียบวินัย  เศรษฐกิจบกพร่องนะครับ งบประมาณมีปัญหา ไร้ซึ่งระเบียบวินัยการเงินการคลังนะครับโดยไม่มีการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ หรือมีการดำเนินการอย่างไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน ไม่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่เรียกว่าทำเป็นขั้นเป็นตอน 1-2-3 ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปในสิ่งที่จำเป็น ว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง ทุกคนต้องการหมดแต่ทำไม่เป็น จะเอาโน่นเอานี่กันทุกคน แล้วทำได้หรือไม่ รัฐบาลพยายามเลือกง่ายทำก่อน ยากน้อยหน่อยก็ระดับสอง ยากมาก ๆ ระดับสาม เพราะการปฏิรูปต้องทำ 2 ลักษณะด้วยกัน อันแรกคือ แต่ละหน่วยงานทำเอง อาจจะเป็นเรื่องงานตามฟังก์ชั่นของตัวเอง เขาต้องปฏิรูปของตัวเองจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น อันที่สองคือการปฏิรูปในลักษณะที่เป็นการบูรณาการ หลายหน่วยงานจะต้องมาทำงานด้วยกัน มาทำแผนแม่บท มาทำแผนปฏิบัติการด้วยกัน ใช้งบประมาณด้วยกัน เช่นการบริหารจัดการน้ำ ทำนองนี้ หรือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรอื่น ๆ ที่หลายกระทรวงต้องมาทำร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ บูรณาการอย่างที่ว่า ที่ผ่านมาทั้งหมด ทุกอย่างจะกลับมาที่เดิม

กรณีมีข่าวเรื่อง “การดูด ส.ส.” พรรคต่าง ๆ  ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมทำงานทางการเมืองให้ตอนนี้ แต่ทุกคนทราบดีว่า การดูดมีเป็นมายาวนานแล้ว ไม่ใช่มาบอกแต่ คสช. ดูด ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ผมก็เป็นรัฐบาล ผมก็อยู่ตรงกลางตรงนี้ ที่ต้องอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ เป็นหน้าที่ของผมในขณะนี้ ฉะนั้นการดูดกันก็มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา หลายคนอาจจะอ้างว่าทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบาย “เพื่อชาติและประชาชน”  คำว่า “ดูด ส.ส.” คงเป็นภาษาของสื่อฯ เป็นการตลาดนะครับ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนควรใช้วิจารณญาณได้เองว่าอะไรคือการทำเพื่อส่วนรวม อะไรที่เป็นการทำเพื่อพวกพ้อง หากมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญเช่นเดียวกันแล้ว ก็น่าจะช่วยกันทำงานได้นะครับ เราไม่อาจมองข้ามกันได้ เราจะต้องทำให้นักการเมืองทุกคนที่เข้าสู่ระบบเลือกตั้ง ครั้งหน้าให้เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะนักการเมืองเก่า นักการเมืองใหม่ หรือคนที่เคยทำผิดกฎหมาย มีคดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม  หรือเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ คนเหล่านี้ใครควรจะได้รับการเลือกตั้งหรือใครไม่ควรจะได้รับการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องของประชาชนพิจารณา ผมไปชี้นำไม่ได้  ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำพาประเทศของเราไปสู่ทางออกของปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ไม่อยากให้ขัดแย้งกันอีก เพราะต้องแก้ไขด้วยกัน รัฐบาลหรือ คสช. จะไปสั่งให้เลิกทะเลาะกัน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ที่ใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราน่าที่จะปฏิรูปการเมืองทีละขั้นหรือไม่ วันนี้เราไปตั้งหลักกันที่การเลือกตั้งก่อน เพราะฉะนั้น วันนี้ผมก็สร้างสภาวะแวดล้อมเตรียมการทั้งหมดให้พร้อมที่จะไปสู่การเลือกตั้ง รักษาความสงบ เรียบร้อย ก็อย่าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาระหว่างการเลือกตั้งอีกเลย

ถ้าเราเอาการเลือกตั้งมาเป็น “ตัวตั้ง” เราจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน จากความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ที่ผมติดตาม ศึกษาอยู่ พรรคการเมือง มีอยู่ 3 ทางด้วยกัน ทางที่ 1 คือการเคลื่อนไหวของนักการเมืองใหม่ทั้งหมด ทางที่ 2  นักการเมืองเดิม อาจจะที่มีคุณภาพ หลายพรรคต่าง ๆ ก็มาช่วยกัน ทางที่ 3 คือนักการเมืองจากทุกพรรค ทุกกลุ่มเดิม ๆ ที่ไม่ได้แยกย้ายพรรคอะไร พวกนี้ก็จะเข้ามาเลือกตั้งเหมือนเดิม วิธีการเดิม ๆ อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานหรือไม่  ผมไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นหลายคนอย่างที่บอกไปแล้วว่า จำเป็นต้องสังกัดพรรคด้วยเหตุผล ความจำเป็น คือ เมื่อจะเข้ามาก็ต้องมีการสนับสนุนและอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาล แต่เพียงอย่างเดียว อันนี้คงไม่ดี วันนี้ต้องแก้ไขใหม่ ลองไปคิดดูสิว่าเราฝืนข้อเท็จจริงไม่ได้ เรามีนักการเมืองแบบไหนบ้างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเก่า จะใหม่ จะดี ไม่ดี ก็มีอยู่เท่านี้ เราอาจจะต้องใช้วิธีผสมกันหรือไม่ 1 หรือ 2 เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ นักการเมืองใหม่เข้ามาน้อยมาก เราน่าจะอยากได้คณะรัฐมนตรีที่ควรมีนักการเมืองใหม่เข้ามาเติม มาเสริม แล้วมีนักการเมืองเก่าที่ดีๆ หวังดีกับประเทศชาติจริง ๆ เข้ามาทำงานด้วยความสมัครใจ ทำเพื่อชาติ เพื่อพี่น้องประชาชน มากกว่าทำเพื่อพรรคอย่างเดียว โดยเราทุกคน ประชาชนจะต้องศึกษานโยบาย ท่าที แนวโน้ม การให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่มีเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปอย่างแท้จริง ที่ต้องอาศัยเวลาในการปฏิรูป ระยะสั้น  กลาง ยาว ต่อไปเรื่อย ๆ ตามแผนแม่บท  แผนปฏิบัติการ ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณ และรายได้แผ่นดินด้วย ปัจจุบันนั้นเราก็ยังมีปัญหาอยู่พอสมควรในเรื่องการจัดหารายได้เพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สังคมผู้สูงวัย  แรงงาน ซึ่งคงจะต้องทำเพิ่มเติม

เราอย่าไปหลงเชื่อว่าการเลือกตั้ง “อย่างเดียว” นั้นไม่ต้องคำนึงถึงบริบทต่าง ๆ  ทำเหมือนเดิม เลือกเหมือนเดิม ไม่เลือกก็ได้ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาในอดีตได้เลย เราไม่สามารถจะวางรากฐานการพัฒนาในอนาคตได้ ถ้าเราคิดแบบเดิม เราควรให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละพรรคด้วย เพื่อจะให้เกิดการสร้างความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ จะต้องส่งเสริมการเคารพกฎหมาย  แก้ไขประเด็นความขัดแย้ง ไม่สร้างความวุ่นวายแตกแยกไม่อำนวยประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม บางพวก เป็นการเฉพาะ หรือบางพื้นที่ เพราะว่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในวันข้างหน้าอีกด้วย

ลองพิจารณาคำกล่าวของผู้นำประเทศหนึ่ง ที่กล่าวว่า “ไม่ว่าแมวขาว หรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ คือแมวที่ดี” เนื่องจากในการแก้ปัญหาเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ต่างสภาพแวดล้อม วิธีการย่อมแต่ต่างกัน ในรายละเอียด “ไม่มีสูตรตายตัว”  เพียงแต่ว่า สำหรับเราเองนั้นเราจะต้องทำให้ทั้งแมวขาว แมวดำ ของเรา ไม่ทะเลาะกันเอง ไม่กัดกันเอง แล้วเป็น “แมวสะอาด” ไม่มีเชื้อโรค ไม่อย่างนั้นก็ไปปราบหนูไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้บ้านเมืองเราสะอาด ต้องใช้แมวที่สะอาด  ฝากช่วยกันคิดดู ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์  สวัสดีครับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net