Skip to main content
sharethis

กสทช. มีมติให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง PEACE TV เป็นเวลา 30 วัน ระบุมีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร และยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง

9 พ.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติให้พักใช้ใบอนุญาตช่อง PEACE TV โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 19 ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 เป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่ง และหากยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอยู่อีก จะใช้มาตรการทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป  ทั้งนี้เนื่องจาก การออกอากาศรายการ เดินหน้าต่อไป เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 5 เม.ย. 2561 เวลา 14.30-15.30 น. โดยประมาณ รายการ หยิบข่าวมาคุย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 10.30-12.00 โดยประมาณ รายการ เหลียวหลังแลไปข้างหน้า เมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และวันที่ 9 เม.ย. 2561 เวลา 17.00-18.00 น. โดยประมาณ รายการ เข้าใจตรงกันนะ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. เวลา 18.20-19.20 น. โดยประมาณ ทางช่องรายการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ช่อง PEACE TV มีเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร และยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง ที่มีคำสั่งให้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก

การออกอากาศรายการดังกล่าวทั้งหมด เป็นการขัดต่อประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 ก.ค. 2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 อันเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลง ลงวันที่ 26 ส.ค. 2557 ระหว่างสำนักงาน กสทช. และบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่อง PEACE TV ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษความสงบแห่งชาติ ที่ 41/2559 ลงวันที่ 13 ก.ค. 2559 ถือว่าเนื้อหาดังกล่าวเป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 37 ประกอบมาตรา 63 และมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาในเวทีเสวนา “ปลดคำสั่ง 0.4 เดินหน้าเสรีภาพประชาชน” ซึ่งจัดขึ้น เนื่องใน “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความและหัวหน้าฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวไว้ด้วยว่า มีประกาศคำสั่งหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการที่ คสช. ออกมาควบคุมสื่อ สื่อเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ หลังรัฐประหารก็มีการห้ามสื่อออกอากาศ จากสถิติของ ILaw  ในช่วง 4 ปี คสช. โดย กสทช. ควบคุมสื่อโดยการลงโทษ 52 ครั้ง สื่อที่ถูกลงโทษมากที่สุดคือ วอยซ์ทีวี รองลงมาคือ พีซทีวี โดยทั้งหมดมี 34 ครั้ง ที่ลงโทษเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศของ คสช. ซึ่งมีฉบับหลักๆ คือ 97/2557, 103/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 แม้ว่าประกาศที่ 97/2557 จะควบคุมสื่อไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาที่กระทบหรือวิพากษ์วิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริต และเป็นประกาศฉบับหลักที่ใช้ควบคุมสื่อ  แต่คำสั่งที่ 41/2559 เป็นการยื่นดาบให้ กสทช. อีกชั้นหนึ่ง ถ้า กสทช.เห็นว่าเนื้อหารายการไหนเข้าข่ายฝ่าฝืน ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ถือว่าผิดมาตรา 37 ของ กสทช. ทันที ซึ่งหาก ให้อำนาจของ กสทช. อย่างเดียวจะมีศาลปกครองช่วยดูว่าชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ถ้าเราจำได้ คำสั่งที่ 41/2559  ออกมาตอนที่พีซทีวีมีการฟ้อง และศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การออกคำสั่งฉบับนี้มาทำให้ตัดอำนาจศาลปกครองออกไปในการตรวจสอบสื่อขึ้นมาทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net