Skip to main content
sharethis

นักศึกษาในสถาบันพระปกเกล้านำเสนอโครงการการมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อสังคมสันติสุขยั่งยืน เน้นลงชุมชน สร้างความเชื่อมั่น สะท้อนเสียงจากประชาชนให้ถึงรัฐ ใช้กฎหมายและความเห็นประชาชนกำหนดการเคาะสร้างหรือไม่สร้างเมกะโปรเจคต์

21 พ.ค. มีเอกสารแถลงข่าวจากฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 8 (4 ส 8) สถาบันพระปกเกล้า ที่ได้นำเสนอโครงการศึกษา“การมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อสังคมสันติสุขยั่งยืน” ที่ห้องประชุมชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข  เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดเวทีสาธารณะของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 8 (4 ส 8) ที่จะนำเสนอเรื่อง “การมีส่วนร่วมของภาคพลเมืองในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเพื่อสังคมสันติสุขยั่งยืน”ว่า  เริ่มจากแนวคิดสังคมสันติสุขถูกถ่ายทอดสู่การเรียนการสอนที่ปลูกฝังในหลักสูตรพิเศษของสถาบันพระปกเกล้าที่เรียกว่าหลักสูตร 4 ส  ที่ได้รวบรวมเอาบุคคลผู้เห็นต่างทางความคิด ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ด้านสังคม หรือด้านอื่นๆมาหล่อหลอมรวมแนวคิดใช้ชีวิตบนความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ดั่งคำพูดที่ว่า สันติสุขเกิดได้ภายใต้ความแตกต่างตลอดระยะเวลา 9 เดือนเต็มของหลักสูตร

นักศึกษา 4 ส 8 ได้ร่วมทำกิจกรรมและศึกษาตามหลักสูตร ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึง การศึกษาด้วยการลงดูงานพื้นที่ความขัดแย้งทั่วประเทศรวมถึงในต่างประเทศ ทั้งหมดล้วนเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมที่นักศึกษาได้รวบรวมและพร้อมส่งต่อแนวคิด สังคมสันติสุขออกเผยแพร่สู่สาธารณชนทั้งงานเอกสารทางวิชาการที่จะระดมสมองจัดเวทีสาธารณะในวันจันทร์ที่ 28 พ.ค. นี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน

ศ.นพ.วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการนักศึกษา 4 ส 8 สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในกระบวนการจัดการศึกษาของหลักสูตร4 ส รุ่นที่ 8  ภายใต้ความเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน เป็นพลังในการก้าวข้ามความไม่เข้าใจ ไปสู่การแสวงหาทางออกจากประเด็นปัญหาต่างๆ ของสังคมร่วมกันได้

คณะนักศึกษา 4 ส 8 มองเห็นโอกาสที่จะหยิบยกประเด็นปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของรัฐผ่านโครงการขนาดใหญ่มาเป็นกรณีศึกษา โดยเริ่มต้นความสนใจจากโครงการพัฒนาสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาขยายไปสู่การศึกษาอีก 4 โครงการขนาดใหญ่ อาศัย “กระบวนการ” ร่วมคิดร่วมออกแบบกระบวนการเก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยเทคนิคต่างๆ อาทิ การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสานเสวนา เพื่อนำมาสังเคราะห์เปรียบเทียบกับงานวิจัยและหลักฐานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องหลายด้านการเทียบเคียงกับมาตรการต่างๆ ทางกฎหมาย ตลอดจนการรับฟังความคิดเห็นเชิงวิพากษ์จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจนได้ผลลัพธ์เป็น “โมเดล 4ส8” และพัฒนาสู่ข้อเสนอในเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลและสังคมไทย ได้นำไปเป็นแนวทางในการร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์  ทีมงานวิชาการซึ่งได้ลงพื้นที่ทำงานภาคสนามของโครงการ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่คณะนักศึกษา 4 ส 8 ตระหนักจากการทำงานค้นคว้าชิ้นนี้คือ กระบวนการเข้าไปหาชุมชนถึงบ้านของพวกเขาซึ่งวิธีการนี้ทำให้ได้พบกุญแจสำคัญที่เปิดประตูไปสู่ขุมทรัพย์สำคัญคือความไว้เนื้อเชื่อใจที่ชุมชนมอบให้ ยิ่งกว่านั้นการเข้าไปรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้เสียในโครงการขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ ทำให้ได้พบความตื่นตัวและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศร่วมกับรัฐของภาคประชาชนซึ่งพวกเขาบอกว่าที่ผ่านมารัฐไม่ได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้พวกเขามากพอ

ดังนั้นด้วยรูปแบบวิธีการทำงานและกระบวนการใน “โมเดล 4ส8” อาจพอสะท้อนสุ้มเสียงของภาคประชาชนที่ปรารถนาจะขอให้รัฐเปิดใจรับฟังความต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของรัฐแล้ว “ความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐที่หายไปก็คงจะกลับคืนมาได้ไม่ยากนัก ด้วยพวกเขาต่างปรารถนาจะเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาที่มุ่งไปสู่ความสันติและยั่งยืนร่วมกับรัฐด้วยเช่นกัน

รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ประธานฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนักศึกษา 4 ส 8 กล่าวถึงจุดเด่นของข้อเสนอในวันนี้ว่า ประการแรกที่โมเดล 4 ส 8 แตกต่างจากกระบวนการเดิมคือ ก่อนการตัดสินใจว่าจะทำโครงการขนาดใหญ่ใดๆ จะต้องจัดให้มีการทำ SEA โดยมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทั้งผู้มีส่วนได้เสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ร่วมกันกำหนดทิศทางว่า อยากเห็นชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค หรือประเทศของเราเป็นแบบไหน อย่างไร เมื่อต้องการจะทำโครงการใดๆ ต้องทำให้สอดคล้องกับทิศทางนี้ก่อนเสมอ ถ้าไม่สอดคล้องก็ไม่ควรทำตั้งแต่เริ่มต้น ถ้าสอดคล้องจึงเริ่มนับหนึ่งคือเริ่มทำ EIA/EHIA

สิ่งที่แตกต่างประการต่อมา คือนำ พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ มาผนวกในทางปฏิบัติร่วมกับ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่กำหนดขั้นตอนการประเมินผลกระทบ ไว้อย่างเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว ในลักษณะทวนสอบว่า ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจริง มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย หากกระบวนการมีส่วนร่วมยังไม่ดีพอ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชนฯ นี้ สามารถทำเรื่องย้อนกลับไปยังทีมงานจัดทำ EIA/EHIA ให้ปรับปรุงแก้ไข แต่หากยังไม่เป็นที่ยอมรับอีกสามารถจัดทำข้อเสนอไปยัง ครม. ให้พิจารณาชี้ขาดต่อไป

แนวทางใหม่ตามโมเดล 4 ส 8 นี้ เสมือนมีคณะทำงานอีกชุดมาตรวจสอบถ่วงดุลว่ากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจการดำเนินการโครงการทุกขั้นตอน มีคุณภาพจริง ท้วงติงได้ และหากไม่ดำเนินการตามข้อคิดเห็นนั้นๆ สามารถให้ความเห็นแก่รัฐบาลเพื่อระงับโครงการได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net