Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะ หรือการใส่ซอคคือการที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีคำว่านายทุกคนต้องใส่ชุดนักศึกษาไม่เข้ารูป กางเกงสแล็คสีดำ ถุงเท้ายาวปิดตาตุ่ม รองเท้าหนังสีดำ ห้ามทำสีผมและอาจมีกฎบังคับให้ต้องห้อยป้ายชื่อหรือถือแฟ้ม พกสมุดเชียร์ไว้ที่กระเป๋าเสื้อตลอดเวลา ส่วนนักศึกษาที่มีคำนำหน้าว่านางสาวก็จะถูกบังคับไม่ให้แต่งหน้า ใส่ชุดนักศึกษาไม่เข้ารูป (หรือใส่ชุดที่ใหญ่กว่าตัวไป 1 ไซส์) กระโปรงทรงกระสอบหรือทรงเอยาวถึงเข่า ถุงเท้าขาวปิดตาตุ่ม รองเท้าผ้าใบสีขาวและต้องห้อยป้ายชื่อเช่นเดียวกับนักศึกษาชาย ซึ่งผู้ที่ตรวจตราและมอบบทลงโทษก็เป็นนักศึกษาด้วยกันเอง หากอิงตามระเบียบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลับชั้นนำ "ไม่บังคับ" ให้ใส่ชุดนักศึกษา แต่การที่คณะใดคณะหนึ่งบังคับให้ใส่นั้นเหมาะสมแล้วหรือ? ผู้เขียนขอเสนอ 13 เหตุผลว่าทำไมถึงไม่ควรมีการกำหนดให้นักศึกษาชั้นปี 1 ต้องแต่งชุดนักศึกษาตามระเบียบ "คณะ"

1.การแต่งกายแยกตามคณะที่จำกัดไว้เฉพาะชั้นปีเดียวในมหาวิทยาลัยไม่ต่างอะไรกับการแบ่งแยกคนในมหาลัยเดียวกัน

ถ้าเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยเป็นประเทศ การที่คนกลุ่มน้อยในประเทศแต่งกายด้วยชุดที่แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด กระบวนการที่จะทำให้คนในชาติรู้สึกร่วมกันว่าเป็นชาติเดียวกันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และที่ร้ายแรงกว่านั้นวัฒนธรรมการแต่งกายอาจจุดประเด็นทางเผ่าพันธุ์อันนำมาซึ่งความต้องการที่จะแบ่งแยกดินแดน หรือในระดับมหาวิทยาลัย การแต่งกายด้วยระเบียบคณะ ที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน จะทำให้นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นพลเมืองหรือราษฎร* ของคณะใดคณะหนึ่ง จนหลงลืมไปว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเดียวกัน

2.เป็นการปิดกั้นการแสดงออกซึ่งนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของปัจเจกทางอ้อม โดยใช้วัฒนธรรมแบบเล่นพรรคเล่นพวก กดดันให้นักศึกษารุ่นหลังต้องลดความเป็นตัวเอง ถูกบีบให้เข้าร่วมกับสิ่งซึ่งไม่ควรจะสำคัญ อีกทั้งความเสมอภาคทางเพศภาวะ(Gender) ก็ถูกเพิกเฉยไป เพราะระเบียบระบุไว้แค่ ชายและหญิงเท่านั้น

3.ข้อบังคับนี้เป็นการกดขี่ทางความคิดที่เหล่ารุ่นพี่สร้างขึ้นมาสำเร็จความใคร่ทางอำนาจกันแบบรุ่นสู่รุ่น อันเป็นผลมาจากการยึดมั่นถือมั่นในระบบลูกของฟาสซิสต์ที่ถูกตั้งชื่อว่า SOTUS แม้คำว่า SOTUS จะเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน และนักศึกษาอนุรักษ์ฟาสซิสต์พยายามหาคำมานิยามความหมายสวยหรู แต่ทั้งหมดย่อมหมายถึงการปฎิบัติตามรุ่นพี่ สยบยอมต่อรุ่นพี่ ยึดถือประเพณีปฎิบัติที่รุ่นพี่คิด อันนำมาซึ่งการถูกกลืนและน้ำจิตน้ำใจที่กลายเป็นหน้าที่เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผลิตคุณค่าใดๆ คืนสู่สังคม เว้นเสียแต่การฝึกความอดทนให้อนาคตของชาติเคยชินและพร้อมสยบยอมต่ออำนาจนิยม

4.คุณค่าของนักศึกษาในสถานศึกษาไม่ได้อยู่ที่ชุดที่ถูกบังคับให้ใส่ แต่อยู่ที่สติปัญญาและความสามารถ ผู้ปกครองและคนรอบตัวไม่ได้ภูมิใจที่ได้เห็นการใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบของคณะ แต่ภูมิใจที่ได้เห็นเด็กๆ ของพวกเขาเป็นนักศึกษาในคณะที่เขาได้เลือก ได้เห็นเขาเติบโตและมีความสุขในสิ่งที่เขาเลือก

5.ชุดนักศึกษาถูกระเบียบเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ ในอีกหลายสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกองค์กร

6.การแต่งกายตามระเบียบคณะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นสากล เพราะอย่างที่ทราบกันว่ากฎชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะถูกกำหนดขึ้นมาโดยรุ่นพี่และถูกปรับใช้โดยรุ่นพี่ เพื่อบังคับใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพียงช่วงชั้นเดียว ซึ่งรุ่นพี่จะแต่งกายอย่างไรก็ได้ ซึ่งกฎระเบียบที่ดีควรจะมีความเป็นสากล

7.ความไม่สะดวกสบายเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับการแต่งกายตามระเบียบคณะ เพราะการแต่งกายตามระเบียบคณะไม่ได้คิดมาเพื่อให้สวมใส่ได้ง่ายและสบายตัว โดยเฉพาะถ้านักศึกษาหญิงที่ต้องส่วมกระโปรงทรงเอยาวคลุมเข่า ทำให้เดินไม่สะดวกเพราะก้าวยาวกว่ากระโปรง หรือเสื้อตัวใหญ่โคล่งที่จะก้มตัวหรือจะยกแขนก็ต้องระวังอย่างมากไม่ให้เห็นด้านใน

8.เพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่ที่มีไว้เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ใหญ่ และทักษะที่สำคัญในการเป็นผู้ใหญ่คือ "การเลือกเป็น" นักศึกษาควรได้เป็นผู้เลือกและมีสิทธิ์ที่จะได้ลองสิ่งใหม่ๆ โดยการเลือกใส่ชุดที่อยากใส่ และใช้วิจารณาญาณของตนเองในการ แยกแยะว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม

9.หากนักศึกษายอมที่จะละเลยสิทธิ์ในการเลือกแต่งชุดนักศึกษาของตนแล้วคล้อยไปตามกฎหมู่ การยอมทำตามและละเลยสิทธิ์ในเรื่องอื่นๆ ก็คงเป็นไปได้ไม่ยาก

10.การยอมรับกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมเพราะคุณเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยช้ากว่าเพียงปีสองปีเป็นการยอมรับไปโดยนัยๆ ว่าคุณต่างชนชั้นกับรุ่นพี่

11.ความเสมอภาคควรจะเป็นจุดยืนของทุกคนในมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

12.ถ้าหากว่าการแต่งตัวตามระเบียบคณะมันดีจริง ทั้ง 4 ชั้นปีของคณะนั้นๆ ควรแต่งกายเหมือนปีหนึ่ง

13.หากจะมีนักศึกษาเพียงช่วงชั้นเดียวที่ต้องใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะ ก็ไม่ควรใส่ชุดนักศึกษาตามระเบียบคณะเพราะไม่มีใครที่ชอบชุดระเบียบคณะ

พลเมือง หมายถึง คนที่รู้ถึงสิทธิหน้าที่กล้าวิจารณ์รัฐและสามารถอยู่ภายใต้นิติรัฐได้

ราษฎร หมายถึง ไม่รู้อะไรไม่ค่อยสนอะไรให้ทำตามก็ทำ


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net