Skip to main content
sharethis
ณัฐพล เมฆโสภณ ชวนคุยกับ “ไผ่” อภิคม คงศิลป์ หนุ่มพังก์ผู้หลงใหลในเพลงเสียดสีสังคม สมาชิกและผู้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม Food Not Bombs Thailand ที่ไผ่บอกว่า จุดมุ่งหมายของกลุ่ม คือ ช่วยเหลือคนที่ยากจน คนที่หิวโหย และต่อต้านความรุนแรง


วัฒนธรรม “พังก์” เป็นหนึ่งในแนวคิดที่ว่าด้วยการต่อต้านระบบสังคมที่อยุติธรรม ผ่านเครื่องแต่งกายที่สุดแหวกขนบธรรมเนียม การบรรเลงบทเพลงเชิงเสียดสีแสบสัน วิพากษ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ประนีประนอม เพื่อนำไปสู่การถกเถียงทางปัญญา และขับเคลื่อนสังคม

ภาพลักษณ์ภายนอกเหล่านี้อาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจ มองคนกลุ่มนี้เป็นนักเลง ไม่น่าคบค้าสมาคม หัวรุนแรง หลายคนอาจตั้งคำถามว่า สิ่งที่พวกเขาทำมีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร หลายคนมองพวกเขาในแง่ลบ เป็นพวกสำมะเลเทเมา แต่เรากลับมองว่า เขาก็เหมือนทุกๆ คน เป็นคนธรรมดาที่อยากยื่นมือช่วยสังคม

เราเลยมาชวนคุยกับ “ไผ่” อภิคม คงศิลป์ พนักงานบริษัท และหนุ่มพังก์รุ่นใหญ่ ผู้หลงใหลในเพลงเสียดสีสังคม และวงพังก์ The Remones นอกจากนี้ ไผ่ยังเป็นหนึ่งในสมาชิกและผู้ก่อตั้งกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสังคม Food Not Bombs Thailand ที่ไผ่บอกว่า จุดมุ่งหมายของกลุ่ม คือ ช่วยเหลือคนที่ยากจน คนที่หิวโหย และต่อต้านความรุนแรง ทำไมเขาถึงอยากทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสังคมภายนอกมองพวกเขาอย่างไรบ้าง

จากพังก์สู่นักทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ไผ่แต่งกายด้วยเสื้อนอกลายสก๊อต ก่อนที่จะเอาเสื้อกั๊กสีครีมที่ประดับประดาไปด้วยเข็มกลัด และหนามสีเงินมาเปลี่ยน โลโก้วงดนตรีที่ตนเองชื่นชอบถูกปักเย็บตามเครื่องแต่งกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่ขาซ้ายของกางเกง และด้านหลังของเสื้อกั๊ก เผยให้เห็นโลโก้ของ Food Not Bombs อย่างแจ่มชัด โดยไม่รีรอ เราเริ่มซักไซ้ไล่เลียงถึงแรงบันดาลใจของพังก์ชาวไทย ถึงการสถาปนากลุ่ม Food Not Bombs แห่งแดนสยาม ซึ่งจะมีอายุจะครบ 4 ปีแล้วในปีนี้

“เห็นทางยูทูบครับ เปิดดูแล้วชอบวงนี้มาก ‘The Rebel Riot’ เพลงเขาเสียดสีสังคมมาก พอดูไปดูมาก็เห็นเขาทำ Food Not Bombs ตอนแรกไม่รู้ว่า Food Not Bombs คืออะไร ผมก็เปิดดูเรื่อยๆ เห็นพม่าเขาแชร์ว่า Food Not Bombs …ผมก็เลยศึกษาทางเว็บไซต์ พอศึกษาไปเรื่อยๆ อ๋อ อย่างนี้นี่เอง ก็เลยรู้ว่าเป็นการแบ่งปันอาหารให้กับคนยากไร้ คนไร้บ้านตามสาธารณะ เน้นแจกอาหารมังสวิรัติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ แจกอาหารทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกอายุ …คือผมคิดว่าอย่างทำเป็นแบบกลุ่มเราเองบ้าง แชร์แบบขำๆ เล่นๆ อ้าว มีคนช่วยเฉย” ไผ่ เริ่มเล่าถึงจุดเริ่มต้นจากพนักงานเงินเดือน และผู้ชื่นชอบความพังก์ เยื้องย่างสู่การเริ่มทำกิจกรรมเพื่อสังคม

หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อวงดนตรีสายพังก์ “The Rebel Riot” แต่ถ้าบอกว่า “จ่อ จ่อ” (Kyaw Kyaw) หนุ่มพังก์ชาวพม่า คือ นักร้องนำวง The Rebel Riot และตัวเอกจากสารคดี “My Buddha is Punk” (2015) หลายคนอาจรู้สึกคุ้นขึ้นมา (บ้าง) ซึ่งนอกจากบทบาทในฐานะนักดนตรีแล้ว จ่อ จ่อ ยังเป็นหนึ่งในสมาชิก Food Not Bombs Myanmar อีกด้วย และตรงนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจ และเพิ่มความมั่นใจให้พังก์ชาวไทยอย่างไผ่รู้สึกว่า เขาที่เป็นพังก์เองก็สามารถทำอะไรเพื่อสังคมได้

Food Not Bombs 101

Food Not Bombs มาจากไหน กลุ่มนี้มีต้นตำรับมาจาก “แดนลุงแซม” สหรัฐอเมริกา ที่มาที่ไปของกลุ่มนี้คงต้องย้อนไปในทศวรรษที่ 1980 กลุ่มนี้เริ่มจากเป็นนักกิจกรรมต่อต้านพลังงานและอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งคำว่า “…Bombs” ในชื่อกลุ่ม ก็หมายถึงอาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง พวกเขาทวงถามถึงความยุติธรรมในสังคมมะกันว่า ขณะที่เราได้เห็นคนที่ออกแบบและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ทำสงคราม ร่ำรวยเอาๆ พอหันมองไปอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องทนทุกข์จากความยากจน แล้วทำไมเราต้องเอาเงินไปทำสงครามกันละ?

วิธีขับเคลื่อนสังคมจะใช้วิธีการประท้วงโดยการแจกอาหาร โดยเน้นว่าอาหารมังสวิรัติเท่านั้น เพราะกลุ่มมีแนวคิดว่าไม่อยากเบียดเบียนสัตว์น้อยใหญ่ ของใช้จำเป็น หรือปัจจัยสี่ให้กับทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกรวย-จน, ดี-เลว, คุณจะนับถือศาสนา หรือสัญชาติไหนก็ตาม เขาทำอย่างนี้เพื่อบอกเป็นนัยว่า ถ้าทุกคนมีอาหารให้รับประทานอย่างพอมีพอกิน ก็คงจะไม่มีใครต้องต่อแถวรับอาหารแบบนี้อีก

Food Not Bombs เริ่มทำกิจกรรมกันครั้งแรก เมื่อปี 1981 เมื่อกลุ่มดำเนินการประท้วงกลุ่มผู้บริหารธนาคาร Bank of Boston (เพราะสืบทราบมาว่า กลุ่มผู้บริหารธนาคารขณะนั้นรั้งตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งสนับสนุนการก่อสร้างและซื้อพลังงานนิวเคลียร์) ด้านหน้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นธนาคาร อาคารเซาท์สเตชัน (South Station) โดยแต่งกายเป็นคนไร้บ้านยืนทำและแจกซุปหน้าอาคารนั้นให้ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมา ทั้งนักธุรกิจ คนไร้บ้าน ชาวบ้าน ฯลฯ 

อย่างไรก็ตาม หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา จุดมุ่งหมายก็ขยายและครอบคลุมปัญหาร่วมสมัยมากขึ้น เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้ความรุนแรง สงคราม ฯลฯ ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ได้รับความนิยม และมีสาขาผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น ยุโรป อเมริกา รวมถึงในเอเชียอุษาคเนย์ ทั้งนี้ ก็ต้องอธิบายว่า จุดมุ่งหมายหรือการทำงานก็สามารถปรับได้ตามบริบทแต่ละประเทศ เช่น ในพม่าก็จะเน้นการส่งสารเรื่องต่อต้านสงคราม แบ่งปันเรื่องความเป็นมนุษย์ (humanity) และความเท่าเทียม ขณะที่ในไทยที่ไผ่เป็นแกนนำ ก็จะเน้นเรื่องการช่วยเหลือผู้ยากไร้ ต่อสู้กับความยากจน ความหิวโหย และความรุนแรง

“ผมยังมองเรื่องความยากจน ความอดอยาก และความหิวโหย แล้วมันถือเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดการลักทรัพย์ ทำลายซึ่งกันและกัน และทำลายครอบครัว เกิดความแตกแยกในครอบครัว …แล้วก็เกิดปัญหาต่อเด็ก เกิดการติดยา ขายยา จี้ปล้นกันได้ครับ …ปัญหาความยากจนนี่สำคัญที่สุดเลยครับ”


สิ่งที่สะท้อนอุดมการณ์และความมุ่งหวังของคนกลุ่ม Food Not Bombs Thailand ได้ดีอีกอย่างหนึ่ง คงอยู่ในโลโก้ของกลุ่ม เป็นรูปเครื่องบินทิ้งระเบิด แต่แทนที่จะทิ้งระเบิด เครื่องบินลำนี้กลับทิ้งสัญลักษณ์เพื่อเสรีภาพ อย่าง “กิ่งใบมะกอก” และแครอต ซึ่งเปรียบเสมือนอาหารมังสวิรัติมาให้แทน

แจกอาหารขับเคลื่อนสังคม 

กิจกรรมของ Food Not Bombs Thailand ก็มีตั้งแต่การระดมทุนผ่านการจัดแสดงดนตรี แล้วนำเงินที่ได้ไปทำอาหาร และแจกจ่ายให้ผู้ยากไร้ หรือกลุ่มคนไร้บ้าน โดยไผ่หวังว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวจะนำไปสู่การเข้าใจและแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ควบคู่กับการศึกษาปัญหาสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง ไผ่เริ่มอธิบายกิจกรรมของกลุ่ม

“ก็คือเปิดทางเฟสบุ๊คให้เพื่อนช่วยแชร์กันครับ เช่นว่าวันนี้จะมีการแจกอาหารมังสวิรัติ ก็เป็นการบอกต่อๆ กัน แล้วก็มีเพื่อนๆ ก็มาช่วยระดมอาหารด้วยครับ (คอนเสิร์ตระดมทุน) จัดมาสองครั้งแล้วครับ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมาครับ โดยเหมือนกับว่าจัดงานดนตรี เอาทุกสาย ไม่จำกัดแค่พังก์ครับ มีแนวเมทัล, กรันจ์ (Grunge), พังก์, สกา เพราะถ้าเราแบ่งแค่พังก์อย่างเดียว มันก็ไม่มีสันติภาพ เหมือนกับเราแบ่งพรรคแบ่งพวก ต้องการให้สังคมเห็นว่าดนตรีทุกสายก็มาร่วมแจก (อาหาร) กันได้ ผมไม่อยากให้กระจุกแค่ว่างานดนตรีนี้เป็นงานพังก์ คือถ้าเป็นแค่งานดนตรีพังก์มันก็จะกระจุกแค่พังก์อย่างเดียว เพราะยังมีแนวดนตรีอีกหลายแนว แนวดนตรีอันเดอร์กราวนด์ก็มีเยอะครับ”

“ที่แรกของ Food Not Bombs (ที่ไปทำกิจกรรม) คือ บ้านเด็กกำพร้า แล้วก็มาเรื่อยๆ ที่เสาชิงช้า คลองหลอด แล้วก็หัวลำโพงครับ แล้วก็ที่บ้านครูเชาว์ แถวสะพานพระราม 8”

“ดีครับ ผลตอบรับดีครับ เหมือนว่าเป็นการช่วยสังคม เหมือนกับว่าพวกเขากำลังรออาหารจากพวกเราอยู่ครับ เราให้อาหารไป รอยยิ้มเขาออกมาเลยครับ เหมือนกับเป็นมิตรกันได้เลย แม้ว่าเราจะไม่รู้จักกันก็เหมือนเป็นพี่น้องกันมาสิบปี”

‘ประทับใจที่ไหนที่สุดครับ’ เราถามเพิ่มเติมทันทีตามธรรมเนียมปฏิบัติ

“ที่ประทับใจที่สุดคืองานดนตรีครั้งแรก กับบ้านครูเชาว์ครับ เขาเป็นคนตาบอด เขามองไม่เห็น เขาบอกว่าอย่าไปแคร์ว่าเราเป็นคนตาบอด ร่างกายเราไม่พร้อม แต่เราก็ทำได้เหมือนทุกคนทั่วไป ขนาดคนที่ร่างกายไม่ครบ เขายังทำได้มากกว่าผม เหมือนเป็นแรงกระตุ้นให้ผมทำต่อ เราอย่าไปสนใจคนอื่น เราแค่ทำให้ดีที่สุดก็พอแล้วครับ”

ทัศนคติจากคนภายนอก 

“สมมติว่าเราเปิดระดมทุน แล้วเห็นคนแต่งตัวอย่างนี้ในเฟสบุ๊คทุกคนก็ไม่ค่อยอยากช่วยแล้ว เพราะสังคมไทยชอบมองคนที่ภายนอก สมมติเราระดมทุนในเฟสบุ๊คเห็นหน้าเฟซบุ๊กชื่อพังก์ ทุกคนก็จะมองข้ามไปเลยครับ”


ไผ่ เล่าถึงประสบการณ์ และปัญหาที่เจอระหว่างระดมทุน แม้ว่าปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือจะเป็นปัญหาทั่วไปของกลุ่มที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง แต่ด้วยภาพลักษณ์สไตล์พังก์ ก็ทำให้เรื่องนี้ยุ่งยากขึ้น

ไผ่ อธิบายเพิ่มว่า บางคราก็มีอินบอกซ์ข้อความเข้ามาในเพจเฟซบุ๊กของ Food Not Bombs Thailand โดยบางคนก็ถามเชิงตำหนิว่า “สร้างภาพรึเปล่า แต่ในความคิดผม คือเป็นการสร้างภาพแต่เป็นภาพที่ดี” 

เรารีบถามต่อ แล้วพังก์รุ่นใหญ่ผู้นี้ทำยังไงถึงจะหว่านล้อมให้คนเหล่านี้เชื่อว่า เราจริงจังในสิ่งที่ทำ

“การแก้ปัญหาของผมก็คือ ผมโชว์ผลงานในเพจให้เขาดูครับ ให้เขาดูว่า เราทำไปกี่ครั้งแล้ว มีการจัดงานดนตรีกี่ครั้งแล้ว ก็คือเป็นเครดิตของกลุ่มเรา ให้เขาดูว่า เราไม่ได้เอาเงินมาเข้าส่วนตัว แต่ส่วนมากคนที่เขาช่วยเหลือ เขาก็รู้จักผลงานเราอยู่แล้ว เหมือนว่าเป็นสังคมเล็กๆ ที่เขารู้ผลงานของผมกันอยู่แล้วครับ ไม่มีสังคมใหญ่ในชั้นดนตรีอันเดอร์กราวนด์อะไรแบบนี้ครับ”

จะ 4 ปีแล้วนะ Food Not Bombs แห่งสยามประเทศ

กว่าที่ไผ่จะทำกลุ่ม Food Not Bombs มาถึง 4 ปีนี้ ก็ไม่ง่ายทีเดียว “ปีแรกเงียบมากเลย เพื่อนผมก็ปลุกแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า Food Not Bombs ต้องมีต่อนะ ตอนแรกคือถอดใจแล้ว ไม่เอาแล้ว คือได้กำลังใจจากเพื่อนๆ ว่าให้ทำต่อ ผมก็เลยทำต่อครับ”

“คือ จุดที่ดีที่สุดคืองานดนตรีครั้งแรกของ Punk Not Bombs เป็นการจุดประกายให้มันดังขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีงานดนตรีชิ้นหนึ่งก็ทำให้คนรู้จักมากขึ้นครับ ตอนนั้นก็ทำกับเพื่อนแค่สามคน ก็ช่วยกัน ซึ่งจุดนั้นเป็นจุดที่ดีที่สุดของ Food Not Bombs เลยครับ”

เนื่องในโอกาสจะครบรอบ 4 ปีของ Food Not Bombs ผมลองถามไผ่ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือคนส่วนใหญ่มองกลุ่มผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมพังก์อย่างไรบ้าง?

“ก็เหมือนเดิมครับ สังคมก็ยังมองว่าพังก์เป็นกุ๊ย เป็นสถุล เป็นขี้ยา อย่างสังคมพังก์มันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แต่เราต้องมองตรงข้าม เรามองที่จิตใจมากกว่า รู้สึกว่าท้อแท้ แต่คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ยังไงเราก็จะขับเคลื่อนไปให้ดีที่สุด”

แม้ว่าหลายๆ คนมองพังก์นั้นเหมือนเป็นตัวปัญหา ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลายคนที่มองว่า พังก์กลุ่มนี้ก็สร้างแรงบันดาลใจได้เช่นกัน

“เขาพูดเหมือนเราเป็นเซเลบ ไอดอลเลยอะไรแบบนี้ครับ เขาบอกว่าอย่างกลุ่มเรานี่ทำได้ด้วยเหรอ เหมือนปกติคนจะมองว่า เฮ้ย พวกพังก์แม่งเมาทุกวัน …อย่างเช่น ไปแจกที่บ้านเด็กกำพร้า ทางคุณครูที่มูลนิธิเขาก็งงว่า กลุ่มนี้มาทำแบบนี้กันด้วยเหรอ เขาบอกว่าเพิ่งเห็นครั้งแรก เหมือนกับว่าคนไปติดกับเรื่องการแต่งตัว ถ้าสมมติว่าเป็นสายฮิปฮอป สายอื่นๆ เขาก็มองเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่างพังก์นี่มันติดตา โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตัว ทรงผม สีผม มันไม่เหมือนคนอื่น แต่เขาก็ยินดีครับ เขาบอกว่าขอบคุณเลยครับ”

เริ่มแรกเนื่องจากกลุ่มยังเล็กอยู่ Food Not Bombs Thailand จึงเริ่มจากกิจกรรมที่ตัวเองพอทำได้อย่างการแจกอาการ แต่ในอนาคต ไผ่และเพื่อนพังก์ก็อยากทำกิจกรรมอย่างอื่นๆ เพื่อช่วยลดปัญหาสังคม อย่างเช่น การแบ่งปันหนังสือเรียน ความรู้ และอื่นๆ ในพื้นที่ชายแดนภายใต้ สุดท้ายพังก์ชาวไทยก็หวังว่า วันหนึ่งจะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ในอาเซียนเช่นกัน โดยมีทางฟิลิปปินส์ และพม่า ก็เคยชวนไปทำกิจกรรมด้วย

ไผ่เล่าด้วยความแปลกใจ เมื่อมือกลองวง The Rebel Riot ประเทศพม่า ติดต่อมาทางหลังไมค์ อยากมาร่วมแสดงดนตรีระดมทุนด้วย ซึ่งไผ่ให้ความเห็นว่า ในอดีต เราอาจเป็นศัตรู แต่ว่าเขามองข้าม และมองว่านี่เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะได้ทำงานร่วมกัน และช่วยเหลือระหว่างไทย กับเพื่อนบ้านอย่างพม่า 

“การช่วยเหลือกัน มันก็คือความเป็นมนุษย์น่ะครับ ความเท่าเทียมกัน คุณจะศาสนาไหน คุณจะเชื้อชาติไหนก็เป็นเพื่อนกันได้ สามัคคีกันได้ครับ ใครจะจนใครจะรวยก็เท่าเทียมกันหมดครับ”

 


 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net