Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์วิกิพีเดียฉบับภาษาอิตาลีปิดหน้าเว็บชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2561 เพื่อประท้วงร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหภาพยุโรป โดยกฎหมายดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจจะสร้างผลกระทบต่อวัฒนธรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นมีม การตัดต่อล้อเลียน หรือการตัดต่อดัดแปลงอื่นๆ ทั้งนี้ยังอาจจะส่งผลกระทบต่องานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตจากการที่ร่าง กม. ดังกล่าวสั่งให้ต้องจ่ายค่าการเชื่อมโยงลิงค์ข่าวต่างๆ ด้วย

5 ก.ค. 2561 ในขณะที่ร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในขั้นตอนการลงมติ เว็บไซต์วิกิพีเดียฉบับภาษาอิตาลีก็ประท้วงด้วยการปิดตัวเองชั่วคราวเปลี่ยนให้การเชื่อมโยงเข้าสู่บทความทุกหน้ากลายเป็นการเชื่อมโยงไปสู่หน้าแถลงการณ์ของพวกเขาที่ระบุว่าถ้าหากกฎหมายดังกล่าวมีการบังคับใช้ "วิกิพีเดียเองก็เสี่ยงจะปิดตัวลง"

วิกิพีเดียอิตาลีระบุต่อไปว่ากฎหมายลิขสิทธิฉบับใหม่ของอียู "อาจจะทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะแชร์บทความหนังสือพิมพ์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์กหรือค้นข้อมูลได้ตามหน้าเว็บเครื่องมือค้นหา"

สำหรับเว็บไซต์วิกิพีเดียที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นแม้ว่าจะไม่มีการปิดตัวชั่วคราวหรือถูกตัดออกจากหน้าบทความ แต่ก็มีการเผยแพร่แบนเนอร์โฆษณาขนาดใหญ่ที่ขอร้องให้ผู้อ่านติดต่อกับผู้แทนยุโรปหรือ ส.ส. ช่วงก่อนการโหวต

วิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์ที่มีคนทั่วโลกเข้าชมจำนวนมากติดอันดับที่ 5 จากการสำรวจของอเล็กซา พวกเขาเป็นองค์กรที่ทำการต่อต้านอย่างหนักมาโดยตลอดต่อมาตรการเรื่องลิขสิทธิจากอียูที่เป็นตลาดดิจิทัลรวมตลาดเดียว มีสองมาตราจากร่างกม.ฉบับดังกล่าวที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์คือมาตรา 11 และมาตรา 13

มาตรา 13 ของร่างกม. ลิขสิทธิ์ออนไลน์อียูระบุว่าเว็บไซต์จะต้องบังคับใช้มาตรการทางลิขสิทธิแม้แต่กับเนื้อหาที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง นั่นหมายความว่าเว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่างๆ จะต้องคอยตรวจเช็คเนื้อหาทุกเนื้อหาที่ถูกอัพโหลดขึ้นเว็บซึ่งถ้าใช้คนทำจะยุ่งยากมากในระดับเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นเว็บต่างๆ ก็จะถูกบีบให้ใช้วิธีการตรวจเช็คอัตโนมัติแทน แต่นั่นก็มีปัญหาตามมาอีกเพราะระบบตรวจเช็คนี้จะแพงมากและมีโอกาสผิดพลาดสูง เรื่องระบบตรวจลิขสิทธิอัตโนมัติที่ผิดพลาดนี้เคยเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาแล้วในกรณีของเว็บไซต์ยูทูบ

ชาวเน็ตที่ต่อต้านมาตรา 13 นี้ต่างก็พากันเรียกว่าเป็น "เครื่องมือเซนเซอร์" หรือ "เครื่องกรองการอัพโหลด" ชวนให้กังวลว่าอาจจะทำให้วัฒนธรรมหรือสื่อบันเทิงที่ผลิตเผยแพร่กันเองบนอินเทอร์เน็ต อย่างมีม การตัดต่อรีมิกซ์ การยั่วล้อ และผลิตผลอื่นๆ อาจจะไม่สามารถเผยแพร่ได้อีกต่อไป

ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะระบุว่ามีการงดเว้นการบังคับใช้กับ "สารานุกรมออนไลน์ที่ไม่แสวงผลกำไร" แต่ก็ทำให้วิกิพีเดียกังวลในเรื่องนี้อยู่ดี นอกจากจิมมี เวลส์ ผู้ก่อตั้งวิกิพีเดียจะต่อต้าน กม. นี้แล้ว ทิม เบิร์นเนอร์-ลี ผู้คิดค้นเวิร์ลไวด์เว็บก็ต่อต้านในเรื่องนี้ด้วย

อีกมาตราหนึ่งคือมาตราที่ 11 ว่าด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมการทำลิงค์สู่เนื้อหาต่างๆ ทำให้ผู้คนเรียกว่าเป็นมาตรา "ภาษีลิงค์" และสร้างภาระให้กับบรรษัทไอทีใหญ่ๆ ที่มีลิงค์ในเว็บมากมายอย่างกูเกิล และเฟสบุ๊คมาก และขณะเดียวกันก็จะสร้างภาระให้กับสื่อหรือผู้นำเสนอเนื้อหาขนาดเล็ก นอกจากนี้ตัวกฎหมายเองก็มีปัญหาไม่มีการกำหนดนิยามชัดเจนว่า "ลิงค์" คืออะไร ซึ่งผู้วิจารณ์กฎหมายนี้กังวลว่าจะถูกรัฐบาลนำมาอ้างใช้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้

นอกจากชาวไอทีแล้วนักวิชาการยุโรป 169 ราย ลงนามในจดหมายต่อต้านกฎหมายนี้โดยระบุว่ามันเป็น "กฎหมายชุดที่แย่" ที่อาจจะถูกใช้จำกัดการรับส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยได้

ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการออกกฎหมายนี้คือ แอ็กเซิล ฟอสส์ สมาชิกสภายุโรปชาวเยอรมนี เขาปกป้องกฎหมายฉบับนี้และอ้างว่ามี "กลุ่มที่มีฐานใหญ่โต" อยู่เบื้องหลัง "การใส่ร้าย" กฎหมายฉบับนี้ ฟอสส์บอกว่าในปัจจุบันระบบลิขสิทธิ์มีลักษณะ "ไม่สมดุลอย่างมาก" จึงต้องมีกฎหมายนี้ ฟอสส์อบกอีกว่าการสร้างลิงค์ "เพื่อจุดประสงค์ส่วนบุคคล" จะถูกยกเว้นไม่ถูกนับรวมในการบังคับกฎหมายนี้ ซึ่งจะนำมาบังคับใช้กับส่วนที่ใช้ด้วยจุดประสงค์ทางการค้าเท่านั้น

ฟอสส์บอกอีกว่ามันจะไม่กลายเป็นเครื่องกรองการอัพโหลดแบบที่ผู้ตีความ มันจะส่งผลต่ออินเทอร์เน็ตในระดับ ร้อยละ 1 ถึง ร้อยละ 5 เท่านั้น ฟอสส์ระบุว่ากฎหมายนี้จะส่งผลต่อ "กลุ่มคนที่เผยแพร่เนื้อหาที่ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์จริงๆ" และได้รับเงินจากการเผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวเท่านั้น

สื่อบีบีซีระบุว่าถ้าหากมีการผ่านร่างกม. นี้แต่ละประเทศจะต้องนำไปใช้ร่างกม.ในแบบของประเทศตัวเอง ซึ่งในกรณีสหราชอาณาจักรนั้นจะต้องทำตามถ้าหากกม.นี้ประกาศมีผลบังคับใช้ในระดับอียูก่อนวันที่ 29 มี.ค. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูอย่างเป็นทางการ

 

เรียบเรียงจาก

Italy Wikipedia shuts down in protest at EU copyright law, BBC, 03-07-2018

 

วิกิพีเดียอิตาลี

https://it.wikipedia.org/wiki/Wikipedia:Comunicato_3_luglio_2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net