Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


แผนภูมินี้ จัดทำขึ้นเพื่อให้เข้าใจการทำงานของเขื่อนหลักทั้งสองตัว เขื่อนปิดกั้นช่องเขาแตก
ไม่ได้ใส่รายละเอียดอื่นที่มากเกินไป และสัดส่วนภาพอาจจะไม่ได้ตามสภาพจริง

เหตุการณ์เขื่อนปิดกั้นช่องเขา ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนเซน้ำน้อย ที่ตั้งในแขวงอัตตะปือ ทางภาคใต้ของสปป.ลาว ได้แตกลงและทำให้ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลกว่า 500 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ ได้ไหลทะลักลงสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเซเปียน และต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำเซกองตอนล่าง ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพี่น้องประชาชนลาวหลายพันคนอยู่ในขณะนี้นั้น หลายฝ่ายเริ่มจับตามองไปยังบริษัทที่ร่วมลงทุนก่อสร้าง ธนาคารของไทยที่ให้เงินกู้ บริษัทที่ปรึกษา รวมทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.) ในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า และมีส่วนเป็นเจ้าของเขื่อนด้วยผ่าน บมจ. ราชบุรีโฮลดิ้ง ซึ่งกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนต้องอยู่ในห่วงโซ่ความรับผิดชอบตามแต่ละบทบาทหน้าที่ของตัวเองทั้งสิ้น
.
เริ่มด้วยความรับผิดชอบของการศึกษาและออกแบบสร้างเขื่อนของบริษัทที่ปรึกษา เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดของการพยากรณ์ปริมาณฝน ไม่ว่าจะใช้คาบ 100 ปี 1000 ปี หรือ 10,000 ปี หรือขอบเขตจะกว้างขึ้นอีกเท่าใดก็ตาม เพียงปีแรกที่กำลังจะเริ่มใช้งานก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ดังนั้นไม่ว่าขอบเขตจะกว้างขึ้นอีกเท่าใดก็ตามปริมาณน้ำฝนขณะนี้ก็อาจกลายเป็นสถานการณ์ที่ "เกินความคาดหมายการพยากรณ์"
.
โช่ข้อต่อไป อยู่ที่สถาบันการเงินของไทย 4 แห่ง ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินกู้ประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ และโดยปกติธนาคารก็จะต้องตรวจสอบโครงการทั้งหมดในทุก ๆ ด้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องที่ธนาคารให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยจากโครงการ และการพิจารณาความเสี่ยงต่าง ๆ ที่โครงการจะไม่สามารถดำเนินการและชำระหนี้ได้ และเพื่อที่จะให้ตนเองหลุดพ้นจากโซ่ความรับผิดชอบนี้ ธนาคารสามารถหยิบยกเหตุผลว่า ธนาคารไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมหรือสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักภาระความเสี่ยงและความรับผิดชอบในอนาคตทั้งหมดออกไป
.
โซ่ความรับผิดชอบข้อต่อไปคือ การควบคุมงานก่อสร้างทางวิศวกรรม (จากแผนผังโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด) คือ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง และ บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง ยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเดียวกันให้ดำเนินการ การที่เขื่อนปิดกั้นช่องเขาแตกนี้ เราจึงคิดข้ออ้างแทนได้เลยว่า บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง จะปฎิเสธความรับผิดชอบนี้ได้อย่างไรในฐานะผู้ควบคุมงานทางวิศวกรรม
.
โซ่ความรับผิดชอบต่อไป คือ บริษัท SKEC ของเกาหลี ที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อก่อสร้างไปตามแบบแปลนที่กำหนดไว้แล้ว
.
โซ่ความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของโครงการคือ บริษัทไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย 4 บริษัทนั้น จะรับผิดชอบทั้งการตรวจ โครงการสร้างเขื่อนตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การควบคุมงาน ระบบการเตือนภัย ทั้งหมดนี้อย่างไร และรวมถึง ความรับผิดชอบต่อผู้ประสบภัยนับพัน ๆ คน


แผนภูมินี้ ปรากฎในเวปของบริษัทไฟฟ้า เซเปียนเซน้ำน้อยจำกัด
http://www.pnpclaos.com/index.php/en/about-pnpc/business-structure

สิ่งที่หวังว่าจะเกิดขึ้น
.
ธนาคารต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น การขยายระยะการชำระหนี้ออกไป และใช้ดอกเบี้ยจากเงินกู้ มาเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย
.
เห็นบริษัทต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ในการขยับย้ายบุคลากรและเครื่องจักรกล ลงมาทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอันดับแรก มากกว่าการไปเร่งซ่อมและสร้างเขื่อนใหม่ให้ทันกำหนดเวลาการจ่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.
.
กฟผ. ต้องประกาศขยายระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า เพื่อให้เวลากับการบรรเทาทุกข์ในประเทศลาวก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถทำได้ เพราะทุกวันนี้ไฟฟ้าก็เหลือในระบบมากมายมหาศาล
.
กลไกของตลาดหลักทรัพย์ ต้องชี้นำนักลงทุนให้เห็นถึงคุณธรรม ความเอื้ออาทรต่อพี่น้องประชาชนลาว ที่ต้องทนทุกข์อย่างแสนสาหัส มากกว่าเพียงเรื่องมูลค่าหุ้นเท่านั้น
.
รัฐบาลลาวต้องเปิดให้มีกลไกอิสระของนานาชาติ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด และตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และชุมชนท้ายน้ำที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ยังไม่มีความเชื่อมั่น #โครงการควรต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเซียโดยกลั่นน้ำตาของประชาชนลาวมาเติมแบตเตอรี่นี้

ห่วงโซ่ความรับผิดชอบนี้ ผูกพันธ์องค์กร หน่วยงาน สถาบันการเงินกันหลายชั้น เราอยากเห็นวันที่ห่วงโซ่นี้ถูกทลายลงไป

หากตอนนี้คงทำได้เพียงส่งกำลังใจและกำลังทรัพย์เพื่อให้พี่น้องชาวลาวผู้ต้องแบกรับผลกระทบอันหนักหน่วงได้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปโดยเร็วที่สุด

 

ที่มา: Facebook Fanpage The Mekong Butterfly

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net