Skip to main content
sharethis

หลังจากความร้อนแรงของกระแส Automation จนไปถึง AI ปัญญาประดิษฐ์ ทำเอาคนทำงานหัวใจเต้นแรงเพราะการคาดการณ์สำนักต่างๆ ต่างพูดตรงกันว่าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหลายจะมาทำงานแทนเราในอีก 20 ปีข้างหน้า รายงานนี้จึงลองสำรวจสถานการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีคนงานจำนวนมาก ใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จำนวนมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้จากการส่งออกเป็นลำดับต้นของประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แรงงานของไทย ร้อยละ 44 ของกำลังแรงงานรวม มีความเสี่ยงสูงที่จะตกงานโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

โชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะค่ายผู้ผลิตรถยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปสู่การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทั้งหมดแล้ว รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นซัพพลายเชน (supply chain) ให้กับทั้ง 2 อุตสาหกรรมได้เริ่มปรับเปลี่ยนเช่นกัน

เสียงจากสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย

เราพบกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เช่น บริษัทโตโยต้าเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตโดยใช้ ‘โครงการสมัครใจลาออก’ ทำให้คนงานไม่ต้องรับเงินพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กรณีกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทกำหนดแผนธุรกิจ Catch Up 195 เริ่มตั้งแต่ปี 2017 - 2021 ตั้งเป้านำหุ่นยนต์มาเพิ่มผลิตภาพการผลิตเกือบ 2 พันตัว รวมทั้งบทเรียนจากโรงงานซูซูกิที่นำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้กว่า 20 ปีแล้ว


วิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์ฯ-ศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง รองประธานฝ่ายสตรีของสหพันธ์ฯ

ประเทศไทยเป็นฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์อันดับต้นๆ ของโลก และมีการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิตจำนวนมาก ส่วนสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยก็มีสมาชิกเป็นสหภาพแรงงานถึง 54 แห่ง จำนวนคนงานรวมประมาณ 30,000 คน

จากการสัมภาษณ์ วิสุทธิ์ เรืองฤทธิ์ รองประธานสหพันธ์ฯ และศิริจรรยาพร แจ้งทองหลาง รองประธานฝ่ายสตรี ของสหพันธ์ฯ พบว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ยังไม่มีการเลิกจ้างอันเนื่องมากจากการปรับเปลี่ยนเป็นระบบหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมันติมากเท่าไรนัก แต่ในส่วนที่นำมาใช้ด้วยความจำเป็นนั้นมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1. ลูกค้าเพิ่มปริมาณการผลิต แต่กำลังแรงงานไม่สามารถผลิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือลูกค้ามีความต้องการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือว่าหุ่นยนต์ในการผลิต 2. เป็นงานที่เกี่ยวกับอันตรายโดยที่คนงานไม่สามารถไปสัมผัสได้โดยตรง

ตัวอย่างบริษัทที่เป็นสมาชิกสหพันธ์ฯ แห่งหนึ่งในอมตะนคร เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่มาผลิตในประเทศไทยทำด้านการชุบโลหะชิ้นส่วนรถยนต์ เริ่มนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตจุดทำความสะอาด เพราะว่าชิ้นงานมีขนาดรูเล็กมาก หากใช้พนักงานมาทำก็จะทำไม่ทันคำสั่งซื้อ แต่ก็ไม่ได้ลดจำนวนพนักงานลง กลับมีการรับพนักงานเพิ่มด้วยซ้ำในแผนกที่ทำควบคู่กับหุ่นยนต์

วิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่าหากเป็นไลน์การทำงานต่อเนื่อง เช่น การประกอบรถ หากนำหุ่นยนต์มาใช้มาก คนงานที่ทำอยู่ก็ต้องไล่ทำงานให้ทันกับหุ่นยนต์ จึงมีความกดดันที่จะต้องจัดการหน้างานของตัวเองเพื่อให้กระบวนการต่อไปสามารถทำงานได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานเป็นจุดๆ แยกส่วนกัน หุ่นยนต์จะไม่สร้างความกดดันต่อคนงานมาก

ภาพสะท้อนการทำงานของหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานต่อเนื่องและนายจ้างสามารถควบคุมเวลาการทำงานได้ ส่งผลต่อแรงกดดันในการทำงานของคนงานที่ทำงานร่วม

ศิริจรรยาพร กล่าวถึงบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่ซึ่งทำเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ว่า การเพิ่มหุ่นยนต์เข้ามาเพราะเน้นเรื่องความปลอดภัย หลายงานให้หุ่นยนต์ทำ คนงานคอยควบคุมหรือดูคุณภาพงานเท่านั้น และไม่มีผลต่อการเลิกจ้างพนักงาน กระนั้นทางบริษัทก็ไม่มีนโยบายรับพนักงานเพิ่ม และไปลงทุนด้านเทคโนโลยีแทน

วิสุทธิ์ กล่าวเสริมว่า เรื่องการนำหุ่นยนต์มาใช้เหมือนว่ารัฐส่งเสริมการลงทุนในเขต EEC แต่แทบไม่มีการจ้างงานเลย และไม่มีการปลดพนักงานด้วย เพราะไม่ได้จ้างตั้งแต่แรก ตอนนี้ทุกบริษัทมีความพยายามปรับเปลี่ยนวิธีทุกรูปแบบเพื่อขอสิทธิพิเศษทางภาษีกับบีโอไอ

คลิปตัวอย่างกระบวนการผลิตของบริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) ที่จังหวัดระยอง สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โพสต์เฟสบุ๊คเมื่อ 5 ธ.ค.2560 ระบุว่า เป็นโรงงานผลิตยางรถยนต์ของจีนในไทย โดยบริษัทดังกล่าวเริ่มสายพานการผลิตไปแล้ว เป็นระบบหุ่นยนต์ทั้งระบบ ยกเว้นระบบขนส่งอย่างเดียวเท่านั้นที่ยังใช้คนขับรถบรรทุกอยู่

"นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีในระดับสูง ถึงแม้โรงงานนี้จะไม่ใช่ของคนไทย 100% แต่ก็มีการตั้งถิ่นฐานการผลิตในประเทศไทย ผมคิดว่าเราควรมีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้ ถ่ายทอดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ให้นำไปสู่กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทยเราเอง รัฐและเอกชนต้องจับมือผนึกกำลังกันให้แน่นครับ ถึงเวลาที่พวกเราต้องปรับตัวและรับมือกับวิถีโลกที่กำลังปรับเปลี่ยนแล้ว" สุวิทย์ กล่าว

กรณีโตโยต้ากับโครงการสมัครใจลาออก

กรณีเลิกจ้างของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2559 ใช้ชื่อโครงการว่า ‘จากกันด้วยใจ’ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงราว 800 – 1,000 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน สมัครใจลาออกโดยเปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4–13 ก.ค. 2559


ภาพจาก voicelabour.org

รองประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อมีข่าวปลดคนงานออกมา ข้อมูลกลับย้อนแย้งกัน ทางนายจ้างระบุกับสื่อว่าเป็นโครงการจำใจจาก จากกันด้วยใจ เนื่องจากบริษัทประสบภาวะคำสั่งซื้อน้อย ชั่วโมงการทำงานลดลง จำเป็นต้องลดคนเพื่อความอยู่รอด แต่เมื่อกระทรวงแรงงาน[1] ให้สัมภาษณ์กับสื่อกลับระบุถึงสาเหตุที่ปรับลดคนงานว่าเป็นเพราะมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาแทนคน จึงจำเป็นต้องเลิกจ้างเพื่อปรับกระบวนการผลิตใหม่ พนักงานที่ถูกเลิกจ้างบางส่วนมาหาสหพันธ์ฯ เพราะไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและแจ้งเราว่ามีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในสายพานการผลิตแทรกเป็นบางช่วง แต่การเข้ามาของหุ่นยนต์ไม่ได้เข้ามาทันทีทันใด เป็นการทยอยเข้ามาโดยเฉพาะบางแผนกที่เกี่ยวกับงานอันตราย

วิสุทธิ์ชี้ว่า นายจ้างใช้โครงการที่เลี่ยงไปเป็นการสมัครใจลาออก เพราะหากเลิกจ้างด้วยเหตุที่นำหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร เทคโนโลยีมาแทน คนงานก็จะต้องได้สิทธิค่าชดเชยตาม ม.121 ม.122 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน

หลังการเลิกจ้างของโตโยต้าดังกล่าว วิสุทธิ์เล่าว่า ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง บางส่วนได้เงินที่ได้ไปซื้อมอเตอร์ไซค์ซื้อเสื้อวิน หรือไปทำงานอย่างอื่น เนื่องจากอายุมากแล้ว หางานที่อื่นยาก แม้บริษัทจะมีบันทึกไว้ว่าหากมีงานจะเรียกกลับแต่ท้ายที่สุดคนงานก็ไม่อยากกลับ เพราะบางคนทำงานเหมาค่าแรงมา 5-8 ปีได้เงินเกิน 300 บาทต่อวันแล้ว เมื่อเรียกกลับมาก็เริ่มอัตราเงินเดือนใหม่

สำหรับท่าทีของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ที่แถลงต่อกรณีโตโยต้านั้น เรียกร้องถึงความสุจริตใจในการเลิกจ้าง อยากให้ตรงไปตรงมา[2] หากจะนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ตามที่รัฐบาลสนับสนุน อย่างน้อยสิทธิลูกจ้างตามกฎหมายก็ควรได้รับ เพราะสุดท้ายลูกจ้างยังเสียสิทธิประกันสังคมเรื่องการว่างงานด้วยอีกต่อหนึ่ง โดยได้เพียง 30% คือ 3 เดือน แทนที่จะได้ 6 เดือน เพราะประกันสังคมระบุว่าเป็นการลาออกเองไม่ใช่กรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง

ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวส่งผลให้คนงานเริ่มตื่นตัว กลุ่มคนงานในสหพันธ์ยานยนต์ฯ เริ่มมีข้อเรียกร้องในการเจรจาหากมีการเลิกจ้างพนักงานจากเหตุที่ไม่ปกติ ซึ่งรวมถึงการนำหุ่นยนต์ เครื่องจักร เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำแทนคน

ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ ยังยกกรณีสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย เรียกร้องและได้ข้อตกลงร่วมกับบริษัทเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2560 เป็นข้อเรียกร้องที่มากกว่า มาตรา 118 และ มาตรา 121 ที่ระบุถึงกรณีเงินช่วยเหลือหากมีการนำเครื่องจักรหรือระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทำแทนคน สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่มมี 13 บริษัท และยื่นข้อเรียกร้องทั้ง 13 บริษัทแต่ได้รับข้อตกลง (ตามภาพด้านล่าง) 4-5 บริษัท เงินชดเชยได้มากน้อยต่างกัน บางที่ได้เพิ่มอีก 30 วันก็มี แต่มันก็ยังไม่มากพอที่จะทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะส่วนอื่นๆ ยังไม่ตื่นตัวกับเรื่องนี้เลย

ตัวอย่างข้อตกลงสภาพการจ้างที่สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย
เรียกร้องและได้ข้อตกลงร่วมกับบริษัทเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2560

วิสุทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องเตรียมการและเพิ่มข้อเรียกร้องไปเรื่อยๆ ก่อนที่วันเลิกจ้างจะมาถึง เพราะคาดว่าในอนาคตแรงงานทั้งหลายต้องเผชิญกับปัญหานี้แน่ จึงคิดว่าเราน่าจะมีแนวทางร่วมกันยื่นข้อเรียกร้องนี้ไปพร้อมๆ กันในบรรดาสหภาพที่เป็นสมาชิกในสหพันธ์ยานยนต์ หากเป็นเช่นนั้นนายจ้างก็ต้องฟัง แต่วันนี้ท่าทีของแรงงานยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไกลตัว 

ไทยซัมมิทใช้หุ่นยนต์ 1,700 ตัว

กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำของประเทศ ก่อตั้งเมื่อปี 2520 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท กล่าวในการบรรยายวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ว่า ไทยซัมมิทมีฐานการผลิตอยู่ในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่นและอเมริกา ในปีนี้กำลังลงทุนในแอฟริกาใต้ ปัจจุบันเรามีพนักงานอยู่ 20,000 กว่าคน และในจำนวนนี้ประมาณ 4,000 คน เป็นพนักงานที่จ้างอยู่ต่างประเทศ

ธนาธร กล่าวถึง แผนธุรกิจ Catch Up 195  ว่าเป็นแผนที่ใช้ตั้งแต่ปี 2017 - 2021 ชูเรื่อง 5 ล้านบาทต่อหัวต่อปี ซึ่งพนักงาน 1 คนเราตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสร้างยอดขายให้ได้ 5 ล้านบาท จากเดิมที่ปี 2012 อยู่ที่ 3 ล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นทำได้ที่ 12 ล้านบาทต่อคนต่อปีในอุตสาหกรรมเดียวกัน


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บรรยายวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย

สำหรับวิธีการนั้น ธนาธร กล่าวว่า ไม่ใช่ทำงานให้หนักขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพมีอยู่ 2 ทางคือ 1.พัฒนาทักษะความรู้คน 2.นวัตกรรม

ในปี 2016 ไทยซัมมิทมีหุ่นยนต์ประมาณ 1,765 ตัว การเดินทางของหุ่นยนต์ในบริษัทนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2005 - 2006 ที่มีการซื้อหุ่นยนต์มือ 2 มาใช้ ตอนนั้นการเขียนคำสั่งหรือโปรแกรมหุ่นยนต์ คนไทยทำไม่เป็น ต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเขียนโปรแกรมสั่งการหุ่นยนต์ สูตรของบริษัทคิดง่ายๆ ว่า หุ่นยนต์ตัวหนึ่งประมาณ 600,000-700,000 บาท และราคาลดลงมาทุกปี หุ่นยนต์ 1 ตัวแทนคนได้ 2 คนก็ลงทุนได้เลย จะคืนทุนภายใน 2 ปี

“เมื่อก่อนซื้อฮาร์ทแวร์นั้นมีเงินซื้อได้ ซื้อหุ่นยนต์มีเงินก็ซื้อได้ ปัญหาคือสั่งให้หุ่นยนต์ทำงาน คนไทยสั่งไม่เป็น ซื้อฮาร์แวร์มาตั้งจ้างผู้เชียวชาญต่างประเทศมาสั่งมาเขียนซอฟแวร์ เขียนโค๊คสั่งให้หุ่นยนต์ทำงาน แต่วันนี้ เรานำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานประมาณ 1,700 ตัว ถ้านับในบริษัทคนไทยด้วยกันไม่มีบริษัทไหนมีหุ่นยนต์เยอะกว่าบริษัทไทยซัมมิท แล้วสิ่งที่สำคัญคือเดี๋ยวนี้เราสามารถโปรแกรมมันเองได้ไม่ต้องใช้ผู้เชียวชาญต่างชาติ นี่คือสิ่งที่เราภูมิใจ” ธนาธรกล่าว

เมื่อหุ่นยนต์ไม่ร่วมสหภาพ !

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ บริษัท ไทยซูซูกิมอเตอร์ จำกัด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้กว่า 20 ปีแล้ว โดยเราสัมภาษณ์ ธงชัย ร่มเย็นเป็นสุข อายุ 49 ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิซึ่งทำงานกับบริษัทมาถึง 28 ปี และพิสุจน์ สุดใจ อายุ 48 ปี พนักงานบริษัทไทยซูซูกิฯ เช่นกัน


ธงชัย ร่มเย็นเป็นสุข ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิ

ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิ เล่าถึงกระบวนการนำหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ในการผลิตที่โรงงานตัวเองอยู่ว่า ในราวปี 2539-2540 มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาในแผนกเชื่อม สามารถลดคนได้เป็นไลน์การผลิต เพราะเอาหุ่นยนต์ 2-3 เครื่องตั้งโปรแกรมให้ทำงานเชื่อมตลอดเวลา

ธงชัย ชี้ว่า นั่นอาจเป็นสาเหตุที่นายจ้างสามารถต่อรองกับสหภาพแรงงานได้มากขึ้นช่วงในนั้นด้วย เพราะหลังจากปี 2539 ที่มีข้อพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัท สหภาพแรงงานก็เหมือนยังมีพลังต่อรองอยู่ เมื่อมีการยื่นข้อเรียกร้องก็มักจะได้ตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อจาก 9 ข้อเป็นประจำ เป็นแบบนี้ประมาณ 5 ปี โดยช่วงนี้จะเป็นการต่อสู้ภายในโรงงาน เช่น การสโลดาวท์หรือการเฉื่อยงาน เป็นกระบวนการที่ไม่ได้คิดโดยแกนนำสหภาพ แต่คนงานดำเนินการเองเพื่อกดดันให้ข้อเรียกร้องในการพัฒนาสภาพการตจ้างงานได้รับการตอบรับ เมื่อนายจ้างนำหุ่นยนต์มาใช้มากขึ้นก็ส่งผลกับการสร้างอำนาจต่อรองภายในโรงงาน เพราะนายจ้างจะเอาคนที่เป็นหัวหน้างานมาดูหุ่นยนต์เป็นหลัก กระบวนการสโลดาวท์จึงทำได้ยากขึ้นเพราะหุ่นยนต์ก็ยังเดินเครื่องไปได้ตลอดเวลา

สภาพอำนาจต่อรองของคนงานที่ลดลงเนื่องจากนายจ้างอาจสามารถดำเนินการผลิตได้โดยไม่ต้องพึงคนงานอย่างเดียวเหมือนก่อนหน้านี้

ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิ ขยายความสถานการณ์ในอดีตว่า ช่วงปี 2539 มีข้อพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานกับบริษัท มีการเคลื่อนไหวของคนงานอย่างเข้มข้นทั้งหน้าโรงงาน ศาลากลางจังหวัด หน้ากระทรวงแรงงาน จนถึงไปหน้าทำเนียบรัฐบาล ใช้เวลา 2 เดือนกว่า แม้ได้ข้อเรียกร้องบางส่วน แต่นายจ้างมีการปฏิเสธไม่ให้คนงานกลับเข้าทำงานบางส่วน มีแค่บางส่วนที่ได้กลับไปทำงาน ตอนกลับเข้าทำงานนายจ้างพูดคุยว่าจำนวนคนงานเกินผลผลิตที่ได้ จึงมีความต้องการลดคนอีกประมาณ 300 คน ในปีนั้นเหลือคนทำงานเชื่อมเพียงบางส่วนและคนที่คุมหุ่นยนต์ 

ธงชัย อธิบายว่า ในส่วนที่เอาหุ่นยนต์เข้ามา จากที่เคยใช้ 5 คนทำงานก็เหลือ 1-2 คนเพื่อคุมเครื่อง ทำให้ลดคนไปจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 จึงไม่มีเรื่องจ่ายเพิ่มพิเศษในกรณีเลิกจ้างเนื่องจากนำเครื่องจักรมาแทน กระบวนการเลิกจ้างเป็นการเลิกตามกฎหมายที่คะแนนการประเมินการปฏิบัติงานไม่ดี และหยุดงานบ่อย จำนวนคนงานที่ถูกเลิกจ้างครั้งนั้น 300 คนจากจำนวนคนงานทั้งหมดราว 1,000 คน คนที่ถูกเลิกจ้างเป็นสมาชิกสหภาพประมาณ 100 กว่าคน การเลิกจ้างครั้งนั้นบริษัทชดเชยตามกฎหมาย บวกกับขณะนั้นคนงานอายุยังน้อยจึงหางานทำใหม่ง่าย

ธงชัย ระบุว่า หลังจากช่วงเวลาดังล่าวที่นำหุ่นยนต์เข้ามาชุดใหญ่ก็ไม่มีการนำเข้ามาอีก เพิ่งมีการนำเข้าใช้มาอีก 3 เครื่องหลังจากรัฐบาลมีนโยบายนำเข้าหุ่นยนต์โดยไม่เก็บภาษี เพื่อมาเพิ่มกำลังการผลิต

พิสุจน์ สุดใจ ทำงานอยู่แผนกเชื่อมของบริษัทไทยซูซูกิฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า แผนกเชื่อมตัวถังมอเตอร์ไซค์ที่ตนทำงานนั้น แต่ก่อนมีคนงานประมาณ 50-60 คน ตอนนี้เหลือเพียง 14 คน เท่านั้น เริ่มแรกที่เข้ามาทำงานมีหุ่นยนต์ประมาณ 4 ตัว ตอนนี้มี 8 ตัว เพียงตั้งโปรแกรมไว้มันก็จะเชื่อมของมันเองตามกระบวนการ

สำหรับ 14 คนที่อยู่ในแผนกปัจจุบันนั้นเป็นการทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์ ในส่วนที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทำได้ เช่น จุดที่ซับซ้อนจะใช้คนเข้าไปทำแล้วป้อนให้หุ่นยนต์ทำต่ออีกที กระบวนการในแผนกเชื่อมจึงใช้หุ่นยนต์และคน สลับกันไปมา

หากเทียบปริมาณงานระหว่างคนกับหุ่นยนต์ พิสุจน์กล่าวว่า หุ่นยนต์ทำงานได้มากกว่า แต่ก่อนเปิด 3-4 ไลน์การผลิต ใช้คนเชื่อม 100% พอมีหุ่นยนต์มาแทนบางส่วน หุ่นยนต์สามารถทำได้มากกว่า แต่มันก็กระทบกับคนงานเพราะคนงานต้องเร่งตามหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ตั้งเวลาได้ว่าจะทำเร็วหรือช้าได้ ดังนั้นนายจ้างก็สามารถเร่งให้เราทำงานได้ผ่านการตั้งโปรแกรมหุ่นยนต์ แทบจะไม่มีเวลาว่างเลยในช่วงเวลาทำงาน เพราะหุ่นยนต์สามารถทำต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงโดยไม่หยุด

พิสุจน์ เล่าถึงช่วงที่นำหุ่นยนต์เข้ามาเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วสอดคล้องกับที่ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิฯ ว่า ช่วงนั้นมีการทยอยเลิกจ้างคนงานจำนวนไม่น้อย เพราะคนงานไปประท้วง คนที่ออกไปประท้วงแล้วติดแบล็คลิสต์จึงเหมือนมีการไล่เช็คบิลทีละคน คนงานจึงค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ส่วนบางคนก็ใช้วิธีย้ายออกจากแผนกที่เคยทำไปแผนกอื่นแทน เมื่อทำแบบนี้จำนวนคนก็ลดลง และขั้นตอนต่อมาก็ทยอยนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนทีละเครื่อง 2 เครื่อง

0000

แล ดิลกวิทยรัตน์ ศาสตราภิชานคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในงานเสวนาเรื่อง ‘ทศนิยมแห่งยุคสมัย : ไทยแลนด์ 4.0 vs แรงงาน 4.0′ ในงาน ‘แรงงานไม่มีประวัติศาสตร์’ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2559 ตอนหนึ่งว่า เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจเราพูดถึงคนทั้งแผ่นดิน เวลาเราพูดถึงการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมให้เกิดความเจริญ เราหมายถึงความเจริญของคนข้างมากของแผ่นดิน ดังนั้นเวลาพูดถึงเรื่องอุตสาหกรรมหรือเรื่องการเกษตรต้องไม่พูดแยกส่วน หมายความว่าต้องพูดถึงการเติบโตของธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือบริการใดๆ โดยตั้งคำถามด้วยว่า โตไปให้ใคร ใครรับอานิสงส์ของการเติบโตนั้น 

“การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม มันหมายถึงความไม่มั่นคงของคนที่เคยทำมาหากินมา 7-8 ชั่วคน คุณไปทำเขื่อนกั้นน้ำคนที่หาปลามา 7-8 ชั่วคนเขาหาปลาไม่ได้ ก็เอาเงินไปยัดใส่มือเขา ให้เขาไปประกอบอาชีพใหม่ มันสูญเสียทักษะที่สั่งสมมาเป็น 100 ปีทันที ทักษะที่เขาเคยมีในการจับปลาด้วยมือเปล่ามันเหลือศูนย์”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือการนำหุ่นยนต์มาใช้มีทั้งส่วนดี และเกิดผลกระทบโดยเฉพาะกับคนงานภายใต้เงื่อนไข นโยบายของรัฐ และภาคธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเป็นคือการหามาตรการแก้ผลกระทบหรือลดผลกระทบ

ต่อจากนี้ไปจะเป็นการนำเสนอข้อเสนอ ต่อรัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่องค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิแรงงาน อย่าง สหภาพแรงงานหรือขบวนการแรงงานเอง

ธปท. เสนอเน้นรองรับแรงงาน 3 กลุ่ม

จากรายงานวิจัย “หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม: กระแสใหม่ที่แรงงานต้องกังวลจริงหรือ?” ของ พัชรพร ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ และ นันทนิตย์ ทองศรี เศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ เสนอให้รัฐใส่ใจไปที่แรงงานทำงานซ้ำๆ 3 กลุ่ม เป็นพิเศษ ได้แก่ (1) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จนถูกเลิกจ้าง (2) แรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ แม้ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่จำเป็นต้องยกระดับทักษะให้สูงขึ้น (3) เด็กจบใหม่ที่จะหางานได้ยากขึ้น


ตารางข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยของ ธปท.

(1) การอบรมทักษะและการเรียนรู้ ไทยสามารถพัฒนาการวางระบบการอบรมทักษะและการเรียนรู้ให้ตรงจุดยิ่งขึ้นได้ เพื่อให้แรงงานมีทักษะในการจัดการความรู้และปรับตัวเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยควรให้เอกชนมีแรงจูงใจในการพัฒนาทักษะและสร้างการเรียนรู้ให้แก่แรงงาน รวมทั้งจัดการหลักสูตรให้หลากหลายรองรับกับแรงงานทุกกลุ่มเป้าหมาย

(2) การจัดทำข้อมูลแรงงาน โดยเพิ่มการสำรวจจากฝั่งผู้ประกอบการ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการเก็บรวบรวมและนำข้อมูลไปใช้ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ลดความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการและทักษะของแรงงาน (Mismatch) ผ่านการเปิดเผยข้อมูล เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนกำลังคน การจัดการข้อมูลแรงงานแบ่งออกได้ 3 แบบคือ (1) การสำรวจเพื่อทำฐานข้อมูลอาชีพ เช่น ตำแหน่งเปิดใหม่ รายได้ ลักษณะงาน และทักษะ (2) การหารือร่วมกับเอกชนเพื่อวางแผนกำลังคน การวางแผนร่วมกับเอกชนโดยเฉพาะเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (3) การจัดทำแบบสำรวจเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ดังที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ทำแบบสำรวจเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในกลุ่มเยาวชน และการจ้างงานในกลุ่มผู้สูงอายุ

(3) การให้ความคุ้มครองทางสังคม ใช้บรรเทาผลกระทบกับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเท่านั้น การให้ความคุ้มครองทางสังคมเป็นเครื่องมือขั้นสุดท้าย (Passive Policy) เพื่อช่วยเหลือระยะสั้นให้กับแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เช่น Government Jobs Guarantee โดยให้รัฐเป็นนายจ้างลำดับสุดท้าย ทำหน้าที่จ้างงานผู้ตกงาน โดยเฉพาะการสร้างงานในอาชีพที่มีแรงงานไม่เพียงพอ เช่น การดูแลผู้สูงอายุ หรือศิลปะ โดยจ่ายค่าจ้างให้สูงพอที่จะมีชีวิตอยู่ได้ แต่ไม่สูงเกินไปที่จะเกิดการแย่งคนจากภาคเอกชน ซึ่งไทยยังไม่เคยมีมาตรการลักษณะนี้ จะมีเพียงมาตรการจ้างแรงงานทั่วไปที่ไม่ได้ระบุว่า จะต้องเป็นแรงงานที่ตกงาน หรือ Job-sharing schemes

ในเยอรมนีแรงงานสามารถต่อรองกับผู้ประกอบการเพื่อให้ยังมีงานทำต่อ แต่ยอมลดชั่วโมงการทำงานลงชั่วคราวในช่วงเศรษฐกิจขาลง ทั้งนี้เนื่องจากมีสหภาพแรงงานที่แข็งแกร่งจึงสามารถต่อรองได้ นอกจากนี้ยังสามารถมีมาตรการพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่ตกงานเพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วขึ้น ดังเช่นประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การให้ Negative Income Tax อย่างไรก็ดี การให้ความคุ้มครองดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือระยะสั้น การที่ทุกคนมีงานทำไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของนโยบายเพราะรัฐบาลสามารถสร้างงานได้มากเท่าที่ต้องการ แต่ประสิทธิภาพของงานต่างหากที่สำคัญ การยกระดับความสามารถของคนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในระยะยาว

ข้อเสนอของผู้นำแรงงาน

"การเอาโรบ็อทมามันไม่ผิด แต่คนที่คุณมีอยู่ ทำอย่างไรให้รักษาคนตรงนั้นไว้ด้วย เพราะคนที่ทำให้คุณร่ำรวยมา ณ วันนี้ ไม่ใช่คนเหล่านี้หรือที่ทำให้บริษัทมาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่ว่าคุณเอาโรบ็อทมาปุ๊บ แล้วคุณก็เอาคนเหล่านี้ออกจากการผลิตไปเลย มันมีอีกหลายเรื่องที่สามารถเอาคนเหล่านี้ไปทำได้.. คุณอย่าลืมว่าคนเหล่านี้เขาร่วมสร้างกับคุณมา คุณก็ควรให้ความสำคัญกับเขาด้วย" ธงชัย ร่มเย็นเป็นสุข ประธานสหภาพแรงงานไทยซูซูกิ กล่าว โดยมองว่า เงินชดเชยจากเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนดนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากคนงานไทยส่วนมาเริ่มอายุมากขึ้น โอกาสที่จะหางานใหม่ก็ยากขึ้น ดังนั้นบริษัทควรหางานให้คนเหล่านี้ทำต่อไป

ส่วนข้อเสนอจากสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย นอกจากเรียกร้องให้ขบวนการแรงงานตระหนัก พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเรื่องมาตราการชดเชยหากมีการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้แล้วนั้น ยังมีข้อเสนอให้รัฐกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วนที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน รวมถึงความมั่นคงในการจ้างงาน และปรับค่าจ้างตามความสามารถ วันนี้คนงาน 1 คนคุม 3 เครื่อง จากเดิม 1 คน คุม 1 เครื่อง ความสามารถได้ ทักษะได้ แต่ค่าจ้างยังเท่าเดิม ดังนั้นเมื่อคนงานพัฒนาได้แล้วค่าแรงก็ควรจะขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่ากฎหมายแรงงานยังตามไม่ทันในหลายๆ เรื่อง คนงานเมื่อต้องการงานก็ไปดูตามป้ายประกาศในนิคมอุตสาหกรรมแล้วก็เดินไปสมัคร มีสัญญาจ้างชัดเจน แต่เมื่อมีระบบออนไลน์มากขึ้น สั่งงานตามสมาร์ทโฟน หากมีการเลิกจ้างแล้วสัญญาจ้างจะดูจากอะไร ดังนั้นรัฐจะออกกฎหมายมารองรับเศรษฐกิจ 4.0 ด้วย นี่ยังไม่รวมเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อก่อนหากบาดเจ็บในโรงงานก็สามารถชี้ว่าเป็นการบาดเจ็บจากการทำงานได้เงินชดเชย แต่หากสั่งงานออนไลน์เป็นเศรษฐกิจ 4.0 หากบาดเจ็บขณะทำงานที่บ้านจะตีความว่าเป็นอุบัติเหตุจากการทำงานได้หรือไม่

ข้อเสนอของภาคประชาสังคม

โครงการสานพลังนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนเสริมศักยภาพและสร้างความแข็งแข็งภาคประชาสังคม สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีพัฒนาข้อเสนอนโยบายสาธารณะแต่ละกลุ่มเป้าหมายขึ้นมาจากองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 133 องค์กร ในระหว่างเดือน ก.ย.2560 – ม.ค.2561 จนได้ (ร่าง) ข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะภายใต้สถานการณ์สังคมสูงวัย หนึ่งในข้อเสนอหลายๆ ข้อ มีข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะกรณีสถานประกอบการนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการจ้างงานด้วย โดยระบุว่า

รัฐต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่แล้ว กรณีเลิกจ้างลูกจ้างเพราะนำเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์มา โดยให้มีกองทุนชดเชยการเลิกจ้างแรงงานเป็นการเฉพาะ ปรับค่าชดเชยใหม่อย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับค่าครองชีพ และเหมาะสมต่อระยะเวลาในการหาอาชีพใหม่มาทดแทน โดยสถานประกอบการต้องมีการปรับตำแหน่งที่เหมาะสมหรือจัดหางานใหม่ให้ก่อนที่จะมีการเลิกจ้างต่อไป

การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน โดยให้รัฐและนายจ้างร่วมมือกันส่งเสริมให้เปิดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งหน่วยเรียนรู้ต่างๆ เพื่อกระจายความรู้ที่จำเป็นแก่แรงงาน แก้ปัญหาการที่ลูกจ้างแรงงานไทยมีพื้นฐานการศึกษาต่ำ และด้านการเพิ่มความรู้และทักษะในอาชีพ นายจ้างจะได้ผลตอบแทนจากการพัฒนาฝีมือแรงงานในขณะเดียวกันลูกจ้างแรงงานก็สามารถเลือกงานได้มากขึ้น

การบังคับให้สถานประกอบการต้องจัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงาน โดยให้นายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลิกกิจการลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องให้ลูกจ้างไปฟ้องร้อง


[1] ในครั้งนั้น (ก.ค.59) รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ ช่วงเวลานี้เป็นเรื่องของการประกอบอุตสาหกรรม 4.0 บริษัทแต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการจะทำให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ (อ่านเพิ่มเติม)

[2]“เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต” กรณีบริษัท โตโยต้าฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net