Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพถ่าย ป่าต้นน้ำเพรชบุรีบริเวณใจแผ่นดิน โดยสำนักข่าวชายขอบ : http://transbordernews.in.th/home/?p=6536 

ช่วงนี้มีข่าวเฝ้าระวังน้ำท่วมหลายอำเภอในจังหวัดเพรชบุรี อันเนื่องมาจากการที่มีฝนตกจำนวนมากในบริเวณผืนป่าต้นน้ำเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ซึงเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 

แต่เมื่อมีการเผยแพร่คลิปภาพถ่ายทางอากาศ ที่สำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขึ้นบินสำรวจพบมีร่องรอยป่าถูกแผ้วถาง บริเวณป่าต้นน้ำแก่งกระจาน ทำให้ผืนป่าไม่ซับน้ำ พร้อมกับบทสัมภาษณ์ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ที่กล่าวว่า "ตอนนี้จะพบการแผ้วถางป่าลดลง แต่จากการบุกรุกก่อนหน้านี้ทำให้ป่าไม่เก็บน้ำและปีนี้ฝนมาก จึงทำให้น้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณมาก การแผ้วถางเปิดป่าทำไร่เลื่อนลอยนั้น คาดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยจากเพื่อนบ้านหรือกลุ่มอิสระ"

ซึ่งภาพดังกล่าวได้มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดียร์เป็นจำนวนมากจนทำให้วาทกรรม"คนกระเหรี่ยงเป็นผู้ทำลายป่า" กลับมากลายเป็นประเด็นในสังคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งยังมีการเชื่อมโยงให้ดูเหมือนว่าพวกเขาเป็นสาเหตุของสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในจังหวัดเพรชบุรี

ทั้งที่นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึง ภาพป่าแหว่งต้นน้ำแก่งกระจานว่าจากการตรวจสอบ คาดว่าเป็นพื้นที่บุกรุกทำไร่เลื่อนลอยเก่า ยอมรับว่ามีส่วนทำให้การดูดซับน้ำของป่าลดลง จึงทำให้น้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานได้เร็วขึ้น แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก เพราะปีนี้มีฝนมากกว่าปีก่อน ๆ

ถ้าตามข่าวดีๆจะพบว่าทั้งหัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือและ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯกล่าวตรงกันในเรื่อง"ปีนี้มีฝนมากกว่าปีก่อน ๆ" ซึ่งก็ตรงกับการรายงานข่าวของหลายสำนักข่าวว่าสาเหตุของปริมาณน้ำจำนวนมากที่กำลังปริ่มสปริงเวย์ เขื่อนแก่งกระจานจนจวนเจียนใกล้จะไหลเข้าท่วมหลายอำเภอในจังหวัดเพรชบรีอยู่ในขณะนี้ มีสาเหตุหลักมาจากน้ำฝนซึ่งตกในเขตพื้นที่ต้นน้ำนั้นมีปริมาณมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา

อันที่จริง กลุ่มชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เคยอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า"ใจแผ่นดิน"นั้น ถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่โดยการเผาทำลายหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2554 ซึ่งเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่พวกเขาถูกพาลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่รัฐจัดสรรให้ 

การออกมาให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่พยายามเชื่อมโยงว่าคนกะเหรี่ยงทำลายป่า และเป็นสาเหตุของน้ำท่วมจึงเหมือนเป็นการดิสเครดิตของชาวกะเหรี่ยงซึ่งมีความขัดแย้งในประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินกับรัฐในช่วงที่ผ่านมา 

“ป่าแห่งความหลัง”ของปู่คออี้ อดีตพรานใหญ่แห่งต้นน้ำเพชร" บทความของภาสกร จำลองราช ได้บรรยาสภาพป่าแก่งกระจางในอดีตไว้ว่า "เมื่อ 70-80 ปีก่อนยังไม่มีเขื่อนแก่งกระจาน พื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรยังกว้างขวางเกือบจรดตัวอำเภอท่ายาง การเดินทางเข้าป่าต้องอาศัยเกวียน(ไปถึงแค่บางช่วง)และการเดินเท้าเป็นหลัก"

"ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ต้นน้ำเพชรอยู่เยื้องมาทางเหนือในเขตสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มานานนม บ้านบางกลอยบนที่ปู่คออี้และชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับให้ย้ายลงมาก็เป็นส่วนหนึ่งของใจแผ่นดิน"

“สมัยก่อนที่ใจแผ่นดินเคยมีคนอาศัยอยู่เยอะ ตอนหลังมีคนจากข้างนอกเข้ามา พวกเราบางส่วนเลยย้ายหนีไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เราก็ข้ามกันไปๆมาๆเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน” คนที่อยู่ในป่าและสัตว์ป่าต่างไม่เคยรู้จักเส้นแบ่งแดน เพราะทั้งป่า เขา แม่น้ำและธรรมชาติต่างเชื่อมร้อยเป็นผืนเดียวกัน และชาวกะเหรี่ยงก็ยังคงดำเนินชีวิตไปตามวิถี"

นอกจากนี้เรื่องสำคัญที่คนเมืองอาจต้องทำความใจใหม่นั่นคือระบบไร่หมุนเวียน เป็นระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งต่างจากไร่เลื่อนลอยที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบพูดถึง 

แต่ข้อมูลอีกด้านหนึ่งบอกว่าการทำไร่หมุนเวียนนับเป็นภูมิปัญญาทางการเกษตรกรรมที่สอดคล้องกับวิถี ธรรมชาติ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และข้อจำกัดด้านต่างๆ ของชุมชน และไม่น่าแปลกใจที่คนภายนอกจะมองไร่หมุนเวียนเป็นจำเลยของสังคมว่าทำลาย ป่าไม้ เพราะลักษณะที่เห็นโดยทั่วไปคือสภาพป่าที่ถูกถากถางมาเป็นไร่ สำหรับคนที่ขาดความเข้าใจก็พร้อมที่จะเชื่อว่านี้คือการตัดไม้ทำลายป่า แต่ในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ สภาพที่เราเห็นว่าเป็นป่าโล่งเตียนเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งอันน้อยนิดเมื่อ เทียบกับสภาพป่าที่ถูกดำรงรักษาไว้ ไม่พักต้องพูดถึงว่าการโล่งเตียนของป่าที่เห็นจะทำให้เกิดต้นไม้เติบโตใน อนาคตอย่างมากมาย 

มันเป็นระบบการเพาะปลูกในพื้นที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง จากนั้นจะย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปยังพื้นที่ใหม่ เพื่อให้พื้นที่เดิมเริ่มฟื้นความอุดมสมบูรณ์ แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมอีกครั้งหนึ่ง อาจจะทุก ๆ 5-9 ปี แล้วแต่สภาพพื้นที่ และวัฒนธรรมของชนเผ่า การปลูกพืชในระบบไร่หมุนเวียนเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยมีข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่าง ๆ ปลูกรวมกันอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก และอาจถือได้ว่าเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง ในขณะที่เกษตรกรที่รักษาระบบเกษตรกรรมเช่นนี้มีกฎเกณฑ์ ที่จะต้องเคารพคุณค่า และนอบน้อมต่อธรรมชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “ใช้ประโยชน์จากน้ำ ต้องรักษาน้ำ ใช้ประโยชน์จากป่า จักต้องรักษาป่า” เป็นต้น 

มีหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่า "ปู่คออี้" นั้นเกิดในแผ่นดินไทย และมีอายุแก่กว่าพรบ.กรมอุทยานฯ มีภาพถ่ายทางอากาศที่แสดงว่า หมูบ้านใจแผ่นดินหรือบางกลอยบนนั้น มีมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาง มีบุคคลอีก 2 คน คือนายทัศน์กมล โอบอ้อม ซึ่งเป็นผู้ออกมาเปิดเผยเรื่องการเผาบ้านกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานถูกยิงเสียชีวิตในรถเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554

อีกหนึ่งคน คือ “บิลลี่” หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ซึ่งเป็นหลานของ “ปู่คออี้” บิลลี่ เป็นชาวกะเหรี่ยง ที่เขียนและอ่านภาษาไทยได้ และเป็นผู้เขียนคำร้องต่างๆ ไปยังหลายหน่วยงาน ซึ่งต่อมา เขาหายตัวไป เมื่อ 17 เมษายน 2557 และยังไม่มีใครพบมาถึงปัจจุบัน

แต่ทุกวันนี้คนกะเหรี่ยงยังกลายเป็นผู้ที่ถูกมองว่าทำลายป่า ทั้งที่พวกเขาเป็น"คนอยู่กับป่าอย่างเคารพนอบน้อม"

บางทีคนเมืองอย่างเราอาจต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้


อ้างอิง

เผยพื้นที่ป่าแหว่ง ต้นน้ำแก่งกระจาน แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักน้ำล้นสปิลเวย์ 

ป่าแห่งความหลัง”ของปู่คออี้ อดีตพรานใหญ่แห่งต้นน้ำเพชร สำนักข่าวชายขอบ 

เอกสาร “ใจแผ่นดิน แผ่นดินใจ” (The Heart of The Earth)
สำนักข่าวชายขอบ

เปิดแผนที่ “ใจแผ่นดิน” พื้นที่เผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน
ระบบไร่หมุนเวียน 

ไร่หมุนเวียน...เกษตรกรรมยั่งยืนที่รอคนเข้าใจ

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net