Skip to main content
sharethis

 

เปิดพื้นที่ให้นักศึกษา ม.เชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับ 'ระบบรับน้อง' ในนาม ชมรมวรรรณศิลป์และเพจงานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ จัดป้ายคาดหัว ‘หนีว้าก’ เป็นสัญลักษณ์และรวมกลุ่มกันเดินขึ้นดอยสุเทพ สร้างทางเลือก ‘ไม่รับน้อง-ไม่เอารุ่นก็สามารถใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย (กับเพื่อน) ได้อย่างเป็นสุข’ ให้นักศึกษาใหม่รู้สึกอบอุ่นใจ

8 ก.ย.2561 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดกิจกรรมรับน้องขึ้นดอยเพื่อสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และนักศึกษาปีใหม่ เข้าร่วม อย่างคึกคักและบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นและความทรงจำที่ดี

กิจกรรมดังกล่าวแต่ละคณะได้แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันช่วยกันเดิน-วิ่งขึ้นมาถึงดอยสุเทพระยะทาง รวมประมาณ 11 กิโลเมตร มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ขึ้นดอยเป็นคณะแรก ตามด้วยเกษตรศาสตร์และรัฐศาสตร์ ภาพที่ออกมาสู่สื่อมวลชนมีบรรยากาศน่าประทับใจ เต็มไปด้วยความสุข ความอบอุ่น และรอยยิ้ม ในหลายๆ คณะ เช่น เทคนิคการแพทย์ วิจิตรศิลป์ สื่อสารมวลชน ล้วนภูมิใจที่ได้แสดงเอกลักษณ์ของตนเองด้วยวิธีต่างๆ ตลอดระยะกว่าจะไปถึงยอดดอย เช่น จากชุดที่แปลกไม่ซ้ำใคร จากการจัดรูปขบวนที่ให้น้องนักศึกษาปีหนึ่งถือวัตถุต่างๆ ขึ้นไปบนดอยด้วย

กลุ่มหนีว้าก​ ระบุว่า เบื้องหลังของกิจกรรมขึ้นดอยนี้ที่ถูกเปลี่ยนจาก ‘กิจกรรม’ ทั่วไป มาเป็น ‘วัฒนธรรม’ ที่ทุกคณะต้องทำออกมาให้ดีที่สุดไม่น้อยหน้าใคร นักศึกษาใหม่ต้องผ่านกระบวนการที่หนักพอควร ทั้งด้วยวิธีการบังคับ ใช้ท่าที-น้ำเสียงรุนแรง แสดงพฤติกรรมกึ่งอำนาจ กับนักศึกษาใหม่เพื่อกล่อมเกลาให้ผู้มาอยู่ใหม่เหล่านั้นรู้สึกร่วมไปด้วยกับกิจกรรมรับน้อง ไม่แปลกที่คนส่วนใหญ่ยอมจำนนต่อสังคมลักษณะนี้ แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่รับรู้ได้ว่าตนเองถูกละเมิดเกินขอบเขต และกล้าที่จะตั้งคำถาม กล้าที่จะออกสังคมนั้น แต่เมื่อออกมาแล้ว การกลับเข้าไปช่วยทำกิจกรรมบางกิจกรรม มักจะทำให้เพื่อนที่ยังอยู่ในสังคมเดิมภายใต้ความกดดันกดขี่ของรุ่นพี่เกิดความรู้สึกติดค้างภายในใจ จนแบ่งแยก ‘ผู้เห็นต่าง’ กลายเป็นคนชายขอบ

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมปีนี้ นักศึกษา มช. หลายคณะที่ไม่เห็นด้วยกับระบบรับน้องในมหาวิทยาลัย ในนาม ชมรมวรรรณศิลป์และเพจงานเสวนาที่ไม่เป็นทางการ ได้จัดทำป้ายคาดหัว ‘หนีว้าก’ ขึ้นมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และรวมกลุ่มกันเดินขึ้นดอยสุเทพ ถือว่าเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของกลุ่มคนไม่รับระบบห้องเชียร์

สุชีพ กรรณสูตร (2552) กล่าวว่า อัตลักษณ์ หมายถึง การรับรู้ถึงตัวตนของตนเองซึ่งเกิดจากการ ปฏิสัมพันธ์กับตนเองและบุคคลอื่น ผ่านการมองตัวเองและบุคคลอื่นมองเรา โดยบางครั้งอัตลักษณ์อาจแสดง ออกมาแตกต่างกัน เมื่ออยู่ในสถานการณ์ อยู่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกัน

ปิยลักษณ์ โพธิวรรณ์ (2554) กล่าวว่า อัตลักษณ์ร่วม คือ สิ่งที่เป็นตัวแทนแสดงตัวตน อ้างอิงถึง ลักษณะความเป็นบุคคลร่วมกันของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพื้นที่ของตนเอง

ชมรมวรรณศิลป์มีการสร้างอัตลักษณ์ร่วมและแสดงจุดยืนของกลุ่มที่สำคัญ เพราะเป็นการสร้างพื้นที่ให้กับคนที่ถูกจำกัดความว่า คนชายขอบ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างทางเลือก ‘ไม่รับน้อง-ไม่เอารุ่นก็สามารถใช้ชีวิตมหาวิทยาลัย (กับเพื่อน) ได้อย่างเป็นสุข’ ให้นักศึกษาใหม่รู้สึกอบอุ่นใจว่าถ้าตนเองคิดต่าง ไม่ชอบระบบรับน้อง โซตัส หรือไม่ชอบว้าก ก็สามารถมีพื้นที่อื่นรองรับและทำกิจกรรมที่อยากเข้าร่วมได้เหมือนเพื่อนคนอื่น การไม่เอารุ่นควรเป็นคนละเรื่องกับมิตรภาพ หรือการได้รับความยอมรับจากสังคมรอบข้าง

กลุ่มหนีว้าก​ ระบุอีกว่า การแสดงอัตลักษณ์ร่วมที่ชัดเจนนี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อหวังว่าจะช่วยลดจำนวนนักศึกษาที่จำต้องลาออกจากมหาวิทยาลัยเนื่องจากการถูกบังคับให้เข้ารับน้องโซตัส และเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาสามารถแสดงศักยภาพทางวิชาการและด้านอื่นๆ อย่างเต็มศักยภาพ ตอบโจทย์ที่แท้จริงของการศึกษาที่หวังสร้างปัญญาชนพัฒนาสังคม เพราะอำนาจการเลือกและตัดสินใจอย่างอิสรเสรีควรเป็นของปัจเจกชนชาวมหาวิทยาลัย มิใช่มีเพียงคำตอบเดียวในชีวิต คือ การทุกข์ทนในระบบรับน้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net