Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ต้องโทษใครหรือไม่กับการหยุดนิ่งของการพัฒนาภาคใต้ ราว 3 ทศวรรษ หรือมากกว่า 30 ปี ที่ไม่เคยปรากฏเมกกะโปรเจคท์การพัฒนาเศรษฐกิจใดๆ เลย มีแต่ซ่อนปัญหาอันหมักหมมบรมชาติ นั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เนิ่นนานเสียเหลือเกิน และยังปรากฏให้เห็นจนวันนี้ 

ขณะที่อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ไปได้แค่ “วิสัยทัศน์โบกี้รถไฟ” จากตอนที่เขากล่าวถึงความปรารถนาของเขาเองในงานปาร์ตี้ของสมาคมชาวตรังกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้ เขาต้องการให้ประชาชนคนใต้นั่งรถไฟโบกี้ใหม่ สะอาดๆ ภาพมันก็เลยขัดแย้งกับภาพขี้เยี่ยวบนรางรถไฟที่ดำรงมานานนับศตวรรษอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง 

นักการเมืองประชาธิปัตย์เป็นแบบเดียวกับนายชวนทุกคนล่ะหรือ? ส่วนใหญ่ น่าจะเป็นอย่างนั้น การยึดครองภาคใต้ของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนานหลายปี แบบอย่างเสาไฟฟ้า ทำให้คนใต้ขาดพลวัตรในแทบจะทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ สังคม มีสภาพดุจเดียวกับน้ำนิ่ง ที่กลายเป็นน้ำเน่าในที่สุด เพราะต้องยอมรับจุดอ่อนของนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนักการเมืองใต้ คือ ขาดวิสัยทัศน์และขาดความคิดสร้างสรรค์โครงการการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจคท์เชิงนโยบาย ทำไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาทะเลไทยหรือในแง่สมุทรศาสตร์ ทั้งๆ ที่จุดเด่นของภาคใต้อยู่ตรงนี้ 

30 ปีย้อนหลังการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้มันจึงคือ “ลอกอ” คือความว่างเปล่า พร้อมๆ กับความปลิ้นปล้อนหลอกลวงของนักการเมืองท้องถิ่นแบบ ปชป. ที่หากินอยู่บนฐานวัฒนธรรมภาคนิยมเท่านั้นเอง ดังที่กลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เคยทำมาในอดีต จนบ้านเมืองพินาศจนทุกวันนี้ 

ในแง่ความเป็นมนุษย์แล้วคนภาคใต้จึงจัดว่าเป็นกลุ่มคนภาคที่น่าเวทนายิ่งนัก อันเนื่องมาแต่ความเป็นคนคุณธรรมน้ำมิตร มีน้ำใสใจจริงกับเพื่อนหรือคนภาคเดียวกัน

ยามที่เศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ขึ้นหรืออิงอยู่กับความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก สินค้าหลักของภาคใต้คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ก็ไปขึ้นหรืออิงกับราคาของยางพาราและปาล์มน้ำมันของโลกด้วย นั่นหมายความว่า ความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตรสองรายการดังกล่าวขึ้นกับดีมานด์ของโลกด้วย แต่ชะตากรรมเชิงบวกก็ไม่เคยเลยที่จะเข้าข้างพี่น้องคนใต้ นักการเมืองท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่ก็คือประชาธิปัตย์ แทบไม่เคยใส่ใจในความเป็นไปของราคาสินค้าเกษตร  2 รายการนี้เลย ไม่มีแม้กระทั่งการพูดถึงความทุกข์ร้อนจากพิษภัยเศรษฐกิจที่หยั่งลึกกระทบไปถึงรากฐานของครอบครัวชาวใต้ส่วนใหญ่

เป็นความอำมหิต เลือดเย็นของนักการเมืองประชาธิปัตย์โดยตรง เพื่อนที่พัทลุงเล่าให้ฟังว่า เธอไม่มีแม้แต่เงิน 20 บาทใส่กระเป๋าให้ลูกไปโรงเรียนตอนเช้า คำถามคือนักการเมืองท้องถิ่น ประเภทเสาไฟฟ้าเคยรู้เรื่องทำนองนี้บ้างหรือไม่ หรือเสวยสุขแต่เพียงถ่ายเดียวกับครอบครัวแบบชนชั้นนำในบ้านพักสวยหรูที่กรุงเทพ

กล่าวสำหรับนายหัวชวนนั้น คงจะถูกฝังให้เป็นประวัติศาสตร์หรือตำนานการเมืองภาคนิยมไปแล้วเพราะอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ท่านนี้ ไม่หือไม่อือกับความทุกข์ร้อนของพี่น้องคนใต้เลย เช่นเดียวกับ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พื้นเพคนสงขลา เนติบริกร นายวิษณุ เครืองาม ก็ไม่ต่างไปจากนายชวน ในฐานะคนของรัฐบาลผู้ยังมีอำนาจวาสนาในปัจจุบัน เขาเองไม่แยแสปัญหาของเกษตรกรภาคใต้เอาเลยเช่นกัน หากฝักใฝ่อยู่เชิงกระไดพิธีกรรมมากกว่า 

แม้ว่านายวิษณุจะไม่ดูแลปัญหาเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงเหมือน “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ตาม แต่ในฐานะคนในรัฐบาลเดียว นายวิษณุก็น่าจะมีส่วนในการผลักดันแนวคิดช่วยเกษตรกรชาวใต้ได้บ้าง นี่เขากลับไม่แยแสใดๆ ต่อปัญหานี้เอาเลย  5 ปีที่ผ่านมา ทั้งวิษณุทั้งเฮียกวงต่างปล่อยให้พี่น้องชาวปักษ์ใต้ตายทั้งเป็นดังเห็นๆ กันทุกวันนี้

ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะพวกเขารู้ว่า ความเป็นภาคนิยม จารีตนิยมของคนปักษ์ใต้คือเครื่องตราสังข์มัดมือคนใต้ไม่ให้กระดุกกระดิก ดังนั้น ถ้าใครคนใดคนหนึ่งมีปฏิกิริยาต่อต้านฝ่ายอำนาจก็จะสังเกตได้ง่าย และพวกเขาก็จะแซะคนที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้นออกจากกลุ่มโดยไวอย่างไม่เนิ่นช้า ซึ่งก็คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่า พวกเขาหรือผู้มีอำนาจทั้งนักการเมืองใต้และคนของรัฐบาล คสช. มีลักษณะของความเป็นองค์กรหรือสถาบันอำนาจนิยมมากเพียงใด เพียงถ้าหากคุณมีความเห็นต่างจากกลุ่มอำนาจนิยมในท้องถิ่น คุณจะใช้ชีวิตอย่างลำบากยากเย็นและอันตรายเพียงใด

ที่กล่าวมา น่าจะเป็นอุปสรรคส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้ กล่าวคือ ค่านิยมท้องถิ่น ความเป็นน้ำนิ่งที่กลายเป็นน้ำเน่า ความไร้วิสัยทัศน์ของประชาชนและนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งหมดสรุปลงในกระบวนแห่งอำนาจนิยมอย่างชัดเจน และชัดเจนอย่างยิ่งว่า ระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือข่ายญาติ นาย-ลูกน้อง รวมถึงชาตินิยม/ภาคนิยมไม่เคยช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน อันนี้พิสูจน์กันมาทั่วโลกโดยไม่ต้องมีหลักฐานอ้างอิงให้ยืดยาว เพราะในที่สุด จะนำพาทั้งหมดไปตกอยู่ใต้ฝ่ายอำนาจ คือ โดนฝ่ายอำนาจใช้เป็นเครื่องมือ ชักใยอยู่เบื้องหลัง

บทเรียนราคายางพารา ปาล์ม ความหายนะเศรษฐกิจของภาคใต้ ความไร้การพัฒนานับได้สามทศวรรษ เป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การเรียนรู้เกี่ยวกับอำนาจนิยมเปรียบเทียบกับระบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งระบบหลังนี้ ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเองสูง แสดงออกได้ตามอัตภาพและความต้องการ มิใช่โดนกดทับด้วยอำนาจนิยมสุดโต่ง จนแม้แต่จะพูดจะเขียนจะยังลำบาก ต้องรอให้อยู่อาการใกล้ตายหรือถึงที่สุดเสียก่อน ดังเหตุการณ์ “จนเจ็บโง่” ที่พี่น้องชาวใต้ประสบอยู่ทุกวันนี้

บทเรียนดังกล่าวบอกเราว่า ท้ายที่สุดแล้ว ไม่มีใครในฝ่ายอำนาจ ฝ่ายการเมือง จะมาช่วยอะไรพวกเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการส่งเสียงดังๆ ออกมาอย่างตรงไปตรงมาและกล้าหาญ

ต้องไม่ลืมว่า การให้เงินเยียวยาสินค้าเกษตร เป็นแค่ของหลอกเด็ก (คือเกษตรกร) ไปวันๆ ทำได้เฉพาะหน้าเท่านั้น หากมาตรการแก้ไขที่ดีควรเป็นมาตรการหรือนโยบายในระยะยาว และควรเกิดจากความเข้าใจปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นกะบวนการลึกซึ้ง หรือเรียกกันว่าวิสัยทัศน์นั่นเอง เกรงว่า รัฐบาลเผด็จการทหารจะไม่มี จะมีก็แต่การโอ้อวด อวดดีของเฮียกวง นายสมคิดที่โป้ปดเสมอว่า คนจนจะหมดประเทศอยู่ทุกปี ซึ่งก็ได้แต่พ่นน้ำลาย จนชาวบ้านรู้ไต๋หมดแล้ว เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจใต้ก็วังเวงเอวังมาจนถึงวันนี้

บทเรียนในต่างประเทศ ที่ประวัติศาสตร์ของเขาล้ำหน้าเราไป บอกเราว่า อำนาจนิยม ภูมิภาคนิยม ชาตินิยมไม่เคยให้คุณกับใคร แหละคนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจดังกล่าว มีแต่โดนเขาจูงจมูกเอาง่ายๆ เท่านั้นเอง ดังคำโบราณจีนว่าไว้ “คนที่อันตรายที่สุดคือ คนที่เข้าถึงเรา อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด หาใช่ศัตรูผู้อยู่ไกลตัวเราแต่อย่างใดไม่”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net