Skip to main content
sharethis

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ 'ขอให้ระงับการนำเสนอภาพคลิปข่าวนักการเมืองกับนักกิจกรรมสาว' เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักจริยธรรมวิชาชีพ ไม่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง และขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

23 ธ.ค. 2561 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ 'ขอให้ระงับการนำเสนอภาพคลิปข่าวนักการเมืองกับนักกิจกรรมสาว' ระบุว่าตามที่ได้มีสื่อมวลชนหลายสำนักได้นำเสนอข่าว กรณีการส่งต่อภาพและคลิปของบุคคลที่ระบุว่าฝ่ายชายเป็นนักการเมืองกับฝ่ายหญิงที่เป็นนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ไปมีความสัมพันธ์กันในที่ลับ และนำมานำเสนออย่างต่อเนื่องจนเป็นที่สนใจของคนในสังคม และมีการเปิดเผยใบหน้าพร้อมถ้อยคำของผู้ตกเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่องนั้น

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พิจารณาแล้วเห็นว่าการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารดังกล่าว เป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และมิได้เป็นการนำเสนอข่าวสารในเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 32 ว่าด้วย บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวการกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูล ส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะในทางละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวสารดังกล่าวยังเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ว่าด้วย จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. 2553 ข้อ 6 วิทยุและโทรทัศน์ต้องนำเสนอหรือเผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ และไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพผู้อื่น ข้อ 7 วิทยุและโทรทัศน์มีหน้าที่ปฏิบัติตนตามจริยธรรมวิชาชีพตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน ทั้งนี้การนำเสนอภาพคลิปดังกล่าวอาจเข้าข่ายกระทำขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลนั้นให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงขอความร่วมมือมายังองค์กรสมาชิก และสื่อมวลชน หยุดนำเสนอภาพคลิปข่าวในเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งหลักจริยธรรมวิชาชีพ ไม่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง และขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net