Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้เร่งประมูลความถี่เร็วมากจนผิดปกติเพราะเป็นโค้งสุดท้ายของ คสช.หรือเปล่า? แนะ กสทช.ทำโร้ดแมป 5G ให้ชัดเจนก่อนประมูลคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ ย้ำต้องไม่เป็นนายทุนให้ผู้ประกอบการ 

ที่มาภาพประกอบ: Christoph Scholz (CC BY-SA 2.0)

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมาว่านายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง 'ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค' ว่ามีความเร่งรัดพยายามทำให้มีการประมูลคลื่นความถี่โดยเร็วมากจนผิดปกติ เป็นเพราะกำลังอยู่ในช่วงช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล โค้งสุดท้ายของ คสช.หรือเปล่า ความเร่งรัดนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่ามีอะไรผิดปกติ ความจริงควรมีระยะเวลาให้ปรับตัวอย่างน้อย 20 เดือน เมื่อฟังฝั่งผู้ประกอบการโทรคมนาคมก็มองว่าเร็วไป ส่วนหากจะมองว่าต้องให้ความช่วยเหลือกับทีวีดิจิทัลก็เห็นว่า กสทช. มีการให้ความช่วยเหลือไปบางส่วนแล้ว สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลปัจจุบันมีผู้ประกอบการมากเกินไปคงต้องให้มีการปรับตัวและเหลือผู้ประกอบการน้อยราย มองว่าเรื่อง 700 เมกกะเฮิรตซ์ เร็วเกินไป สิ่งที่ควรทำ กสทช.ควรทำแผนแม่บทพัฒนา 5G ออกมาให้ชัดเจน กำหนดเวลาในการประมูลคลื่นแต่ละย่าน มีแผนการย้ายผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปคลื่นใหม่โดยมีเวลาให้ดำเนินการที่เพียงพอและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่อยากจะออกจากธุรกิจได้ออกจากธุรกิจได้ ใครออกไปก็ไม่ต้องปรับ ให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เหมาะสม โดยทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งพอดีกับเทคโนโลยี 5G มีความชัดเจน กสทช.ควรแยกระหว่างการประมูลเพื่อ 5G กับการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลออกจากกัน กสทช.ไม่ควรทำหน้าที่เป็นนายทุน เช่น ไปขยายระยะเวลาชำระเงินคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ ให้ผู้ประกอบการ กสทช.ไม่ควรชงให้ คสช. ยืดระยะเวลาถ้านายกรัฐมนตรีไปทำเช่นนั้นจะเป็นตราบาปที่ติดตัวท่านไป กสทช.ไม่ใช่ธนาคารไม่ควรไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่าก่อนหน้านี้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ต้องการให้คลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ เป็นคลื่นในการให้บริการโทรคมนาคม เดิมตอนยังไม่รวมบอร์ด กสทช. ฝั่งกระจายเสียงยืนยันจะไม่ให้เอาคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ ไปให้บริการโทรคมนาคม กสทช.ควรมีผลการศึกษาผลกระทบจากการคืนคลื่นความถี่ 700 เมกกะเฮิรตซ์ที่ชัดเจน การแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลควรเพิ่มคนดูด้วยการพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ ดิจิทัลทีวีไม่ควรเร่งเอาคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ไปคืน แต่ควรให้มีความชัดเจนก่อน ผู้ประกอบการทีวีควรสร้างข้อต่อรองกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าของทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องแก้ การเอาคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ไปใช้กับ 5G คงต้องเกิดขึ้นแน่ การเอาคลื่นมาประมูลในขณะนี้เร็วเกินไป ถ้าทีวีสร้างเงื่อนไขต่อรองที่มากพอน่าจะดีกว่า เรื่องประมูลคลื่นเป็นเรื่องใหญ่ที่กรรมการกสทช.ชุดรักษาการไม่น่าจะมาทำ ควรให้เป็นอำนาจของบอร์ดใหม่จะดีกว่า

กสทช.แจงประเมินผลกระทบ เอาคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์คืน พร้อมให้การช่วยเหลือ

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า แผนของกสทช. ในการประมูลคลื่นความถี่ในการเอามาให้บริการ 5G คือคลื่นย่าน 2,600 เมกกะเฮิรตซ์  3,500 เมกกะเฮิรตซ์ 26 กิกะเฮิรตซ์ และ 28 กิกะเฮิรตซ์ โดยล่าสุดได้ทำหนังสือแจ้ง บมจ.อสมท เพื่อขอคลื่นย่าน 2600 เมกกะเฮิรตซ์ จำนวน 1900 เมกกะเฮิรตซ์ มาจัดสรรใหม่ โดยการประมูลจะประมูลแบบมัลติแบนด์หรือประมูลคลื่นความถี่ร่วมกันหลายย่าน 

ส่วนคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ (510-790 เมกกะเฮิรตซ์) ที่ให้บริการทีวีดิจิทัลอยู่ กสทช. มีแผนจะนำไปใช้กับเทคโนโลยีที่เหมาะสม การนำคลื่น 700 ไปใช้ จะใช้วิธีบีบคลื่นให้แคบลงแล้วย้ายช่องทีวีดิจิทัลไปใช้คลื่นในช่วง 510-694 เมกกะเฮิรตซ์ เมื่อบีบแล้วจะเหลือคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์จำนวน 96 เมกกะเฮิรตซ์ ที่จะนำไปประมูล การย้ายคลื่นและบีบคลื่นจะทำให้ผู้ประกอบการมีคลื่นน้อยลงย่อมมีผลกระทบทั้งกับผู้ประกอบการ ประชาชน แลผู้บริการโครงข่ายโดย กสทช. ซึ่ง กสทช. จะประเมินผลกระทบและให้การเนียวยาแก้ไข

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net