Skip to main content
sharethis

ทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. บ้านเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ พบเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ช่องว่างระหว่างเด็กและผู้สูงอายุในชุมชนถ่างกว้างไปเรื่อยๆ คือเรื่อง 'ปากท้องและการศึกษา'

9 ก.พ. 2562 เว็บไซต์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ได้เผยแพร่เนื้อหาบางส่วนของโครงการวิจัย 'รูปแบบการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขของเยาชนและผู้สูงอายุบ้านเมืองแก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์' สุรศักดิ์ สิงหาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแกเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยรวมกับทีมวิจัยบ้านเมืองแก ได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนเพื่อหาแนวทาง และรูปแบบการอยู่ร่วมกันของเยาวชนและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เนื่องจากบ้านเมืองแกประสบปัญหาความเข้าใจกันระหว่างเยาวชนและผู้สูงอายุ เป็นเหตุทำให้เด็กวัยรุ่นออกไปก่อความเดือดร้อนรำคาญ ขณะที่ผู้สูงอายุก็ไม่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทำให้ชุมชนขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาในหลายๆ ด้าน

ซึ่งทีมวิจัยได้เครื่องมือ TiMeLine ศึกษาเรื่องราวของชุมชนจนกระทั้งพบว่านับตั้งแต่ 2500 เป็นต้น จากชุมชนชนบทที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย กลายเป็นชุมชนที่ประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ปัญหาสังคม และปัญหาวัยรุ่น

“ตัวไทม์ไลน์บอกเราเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะในช่วง ปี 2524 - 2529 เป็นยุคที่ ธกส.เข้ามา และคนออกไปทำงานนอกชุมชน ออกไปทั้งในประเทศ และไปต่างจังหวัด พอกลับมาก็พูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรื่องของเงินเดือนที่ได้ และการใช้ชีวิตของเขาที่แตกต่างจากคนในหมู่บ้าน คนหมู่บ้านเราเห็นปุ๊ปก็อยากจะเป็นเหมือนเขา หลายครอบครับต้องเอาที่นาไปจำนองจำนำ ทำให้สูญเสียพื้นที่ทำกิน”  ซึ่งการออกไปทำงานข้างนอกของพ่อและแม่ก็ส่งผลมาที่ตัวเด็กๆ คือถูกปล่อยไว้กับญาติๆ หรือ ผู้สูงอายุ

สำหรับเด็กที่ยังอยู่ในชุมชน เบิ้ม สงนวน ผู้ใหญ่บ้านเมืองแกบอกว่าหลายคนก็ถูกเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย และมีไม่น้อยที่ถูกห้ามออกมาเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เมื่อบวกรวมกับการลงไปศึกษาความสัมพันธ์ภายในครอบครัว  และพบว่าจากยุคแรกๆ ที่ชนบทมีเฉพาะครอบครัวใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่าตา ยาย หรือ พี่ ป้า น้า อา อยู่กันครบ เป็นระบบ และมีกลไกความสัมพันธ์ที่ช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมเด็กๆ ในชุมชน ทำให้ชุมชนอยู่อย่างสงบสุข แต่ครอบครัวแบบใหม่ ที่ทีมวิจัยศึกษาพบ คือ มีความสัมพันธ์ 7 ลักษณะที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไป 

“เราก็เห็นปลายทางคือ เห็นพฤติกรรมเด็ก แต่เราไม่เคยรู้เลยว่าเด็กมาจากครอบครัวแบบไหน พอลงไปศึกษาจริงๆ เราพบว่าบ้านเมืองแกที่มีกว่า 170 ครอบครัว กลับมีความสัมพันธ์ถายในถึง 7 แบบ” 

“อย่างครอบครัวใหญ่ อันนี้ไม่ต้องพูดถึงคือ อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา มีความสุข ผู้สูงอายุและเด็กๆ มีความสุข แต่จะมีปัญหาตรงที่ผู้สูงอายุประคบประหงมเด็กมากเกินไป พูดง่ายๆ คือรักมากเกินไปจนไม่อยากให้เด็กออกมาทำกิจกรรมทางสังคม”

อีกแบบคือ “ครอบครัวที่รับภาระดูแลบุตรหลาน” เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ปลัดเทศบาลอธิบายว่าครอบครัวแบบนี้ความเป็นอยู่ค่อนข้างอลุ่มอล่วยซึ่งกันและกัน

“แบบที่ 3 คือครอบครัวที่ทะเลาะกับบุตรหลานประจำ ผู้ใหญ่คอยจับผิดเด็ก ไม่ค่อยมีความสุข แบบที่ 4 คือครอบครัวที่ดูแลบุตรหลานตามลำบาก ข้อดีคือผู้ปกครองสอนให้อยู่อย่างมัธยัส สอนให้เห็นคุณค่าของเงิน และเด็กๆ จะตั้งใจเรียน แบบที่ 5 คือ ครอบครัวที่อยู่กับลูกหลานตามลำพัง ซึ่งจะมีโลกส่วนตัวสูง และไม่เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน และครอบครัวแบบที่ 6 คือ ครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลกันเอง และต้องดูแลคนพิการ ส่วนมากมักไม่เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และสุดท้ายคือครอบครัวที่ทะเลาะกันเองเป็นประจำ แน่นอนคือไม่มีความสุขทั้งเด็กและผู้ใหญ่” 

ข้อค้นพบนี้บอกทีมวิจัยว่าบุตรหลานที่อยู่กับผู้สูงอายุที่เอาใจใส่ อบรมสั่งสอน จะส่งผลต่อพฤติกรรมเชิงบวกของเด็กๆ ได้เช่นกัน

“บางทีอาจจะเกิดจากความรักและความห่วงมากเกินไประหว่างผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงอายุ” สมพร เปรยขึ้นพร้อมกับอธิบายว่า

“อย่างช่วงเสาร์-อาทิตย์เด็กๆ น่าจะช่วยงานของครอบครัวได้ ผู้ปกครองก็มองว่า แดดมันร้อน ไม่อยากจะให้ไปทำหรอก ไม่อยากให้ลูกลำบาก อย่างเด็กไปที่ทุ่งนาไปช่วยแบกหญ้าไปช่วยหาเห็ดอยากเข้าไปป่าเล่นกับพ่อแม่ บางครั้งก็ไม่ได้ไป เพราะเป็นห่วง เราสอบถามเด็กๆ หลายคนก็อยากไปนะ แต่บางทีโดนห้าม บางทีเราชวนมาเข้าค่าย หรือทำกิจกรรม ผู้ปกครองบางคนก็ไม่อยากให้เด็กออกมาเพราะห่วง”

และไม่เฉพาะ “การเลี้ยงดู” เท่านั้นที่ตัดขาดเด็กออกจากกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ที่จะต้องเป็นไปตามวัย ซึ่งข้อค้นพบของทีมวิจัยระบุว่า “การศึกษา” ก็ดึงเด็กออกจากไปเช่นกัน

“บางทีลูกกำลังเข้ามาร่วม พ่อแม่ก็มาตาม ตามเพื่อที่ไปทำการบ้าน ไม่ต้องมาทำอันนี้หรอกลูกไปทำการบ้าน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า เด็กเรียนหนังสือเยอะ รายงานเยอะ ต้องอ่านหนังสือ ต้องทำการบ้าน ผู้ปกครงอจึงไม่ค่อยให้อยากมาร่วม บางที เสาร์ อาทิตย์ แทบจะหายไปเลย โรงเรียนก็จะเน้นในเรื่องของวิชาการของเขา แต่วิชาชีพ วิชาชีวิตน้อยมากเลย”  

อย่างไรก็ตามทีมวิจัยจะทำข้อค้นพบเหล่านี้ไปออกแบบกิจกรรมเพื่อให้ทั้งเยาวชนและผู้สูงอายุ มาทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net