Skip to main content
sharethis

‘ประชาธิปัตย์’ ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์แห่งเอเชีย ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ยกเลิกกฎล้าหลัง ‘สามัญชน’ ชี้รัฐต้องส่งเสริมนศ.ภาพยนตร์ ระบบเรตติ้งมีเหตุผล เลิกแบนหนัง ‘รวมพลังประชาชาติไทย’ ชูตั้งสภาภาพยนตร์โดยคนในวงการบริหารเองร่วมมือกับภาครัฐ ‘ชาติไทยพัฒนา’ หนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ รัฐอัดงบ ‘อนาคตใหม่’ แก้ที่รากฐาน การศึกษาไม่ปิดจินตนาการ รัฐส่งเสริมหนังและคนทำหนัง ตั้งโรงหนังชุมชน ‘คนธรรมดาฯ’ แก้กฎระเบียบ-ลดผูกขาด-รบ.อุดหนุนเงินค่าตั๋วหนังไทย-สมาคมหนังมีอำนาจต่อรอง ‘พลังท้องถิ่นไทย’ ระบุรัฐต้องให้งบ ช่วยโปรโมทคนทำหนัง-เปิดเสรีภาพ-โรงหนังท้องถิ่นกระจายโอกาส ‘เศรษฐกิจใหม่’ ชูหนังไทยฉายโรงลดส่วนแบ่งจาก 50-60% เป็น 25%

 

 

7 มี.ค. 2562 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้จัดเสวนาหัวข้อ "อนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมืองได้แก่ อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์ อนุสรณ์ สร้อยสงิม พรรคสามัญชน เถกิง สมทรัพย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย รัฐชทรัพย์ นิชิด้า พรรคชาติไทยพัฒนา ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พรรคอนาคตใหม่ ธนพร ศรียากูล พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ พรรคพลังท้องถิ่นไทย และมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พรรคเศรษฐกิจใหม่ เข้าร่วมเสวนาเรื่องแนวนโยบาย

ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล ตัวแทนจากสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ตั้งคำถามถึงปัญหาของวงการภาพยนตร์ไทยว่า ทำอย่างไรให้ผู้กำกับมีอิสรภาพในการเล่าเรื่องโดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งกฎหมายสื่อลามกอนาจาร กฎหมายหมิ่นประมาท และกฎหมายอื่นๆ ภาพยนตร์ไทยผลิตปีละประมาณ 60 เรื่อง มีภาพยนตร์บางส่วนที่มีปัญหาไม่ผ่านเรตติ้ง แม้จะมีการจัดเรตติ้งแต่เป็นระบบเรตติ้งที่สอดไส้การแบน ถ้าไม่ตัดฉากนี้ออกก็จะไม่ได้ฉาย จึงเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบในบางกรณี

ต่อมาคืองบประมาณภาพยนตร์ไทยมีจำกัด การสนับสนุนของภาครัฐจะเป็นอย่างไร ภาพยนตร์มีสองแบบ คือเชิงศิลปะ เหมือนงานที่แสดงในหอศิลป์ เป็นตัวแทนวัฒนธรรม พูดถึงความเป็นคนไทย มีคนดูเฉพาะกลุ่ม ทำอย่างไรให้เปิดภาพยนตร์เหล่านี้ไปสู่ประชากรไทยและประชากรโลก กระทรวงวัฒนธรรมยังสามารถผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยทัดเทียมนานาประเทศ สนับสนุนทุน งบประมาณ การฉาย การเดินสายทั่วโลก การเข้าไปสู่จุดใหม่ๆ

สองคือหนังตลาดหรือภาพยนตร์เชิงอุตสาหกรรม มีนายทุน มีระบบ มีกลไกตลาดเสรี ตลาดฮอลลีวูดมาตีตลาดบ้านเรา ควรมีโควตาการฉายหรือไม่ รัฐบาลสามารถช่วย subsidize ได้มั้ย ภาษีหนังไทยควรลดลงรึเปล่า หรือช่วยประชาสัมพันธ์ หรือรัฐบาลเปิดโรงภาพยนตร์เอง

นอกจากนี้การใช้ BOI มาช่วยในเชิงระยะยาว กระทรวงแรงงานสามารถเข้ามาช่วยเรื่องสวัสดิการคนทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เป็นจำนวนกว่า 200,000 คนได้หรือไม่ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันค่าแรงขั้นต่ำ ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งส่วนนี้ยังติดข้อกฎหมายฟรีแลนซ์ จะสามารถแก้ไขได้รึเปล่า หรือการต่อยอดลงทุนให้กลายเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม หรือการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทำได้มากแค่ไหน ไม่ให้เกิดหนังเถื่อน ร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศจำกัดสิ่งเหล่านี้ไหม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สมาคมผู้กำกับร้องขอให้มีใครสักคนมาช่วย

 

ประชาธิปัตย์: ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์แห่งเอเชีย ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ยกเลิกกฎล้าหลัง

 

อลงกรณ์ พลบุตร พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลังน้อยมาก เพียง 3-4% พรรคสร้างโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยตั้งเป้าจากประเทศเศรษฐกิจดั้งเดิมมาสู่เศรษฐกิจใหม่ มี 3 ประเด็นคือ Digital Economy, Creative Economy, Bio Economy โดยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นหนึ่งใน Creative Economy ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายใหม่ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ภาพยนตร์ในที่นี่จะเป็นทั้งวัฒนธรรม ปัญญา สินค้าบริการ และเครื่องมือการพัฒนาประเทศ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยกระดับเป็น Growth Engine โดยตั้งเป้าหมายว่า 1. ต้องเพิ่มมูลค่าเบื้องต้นให้ได้เป็น 5 หมื่นล้านต่อปี 2. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 3. ไทยต้องเป็นศูนย์กลางภาพยนตร์แห่งเอเชีย 4. เพิ่มการส่งออกภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดภาพยนตร์โลก ตลาดโลกมูลค่าไม่น้อยกว่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญ 5. เพิ่มส่วนแบ่งตลาดของหนังไทยให้ได้ 50% กับหนังต่างประเทศที่เข้ามา

พรรคประชาธิปัตย์จึงมีนโยบายด้านภาพยนตร์ดังนี้ 1.ส่งเสริมภาพยนตร์ด้วยการสร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ 2. ส่งเสริมไทยให้เป็น Hub ของการถ่ายทำภาพยนตร์ 3. ส่งเสริมไทยให้เป็น Hub ของการดูหนัง 4. ผลิตหนังเพื่อการส่งออกไม่ว่าเป็นแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ 5. ส่งเสริมการร่วมลงทุนสร้างหนัง 6. ต้องมี Co-Production Agreement มีสัญญามาตรฐาน 7. ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ เช่น อาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) 8. ส่งเสริม Demand Side เปิดตลาดกว้างขึ้น 9. ปฏิรูประบบกฎเกณฑ์หน่วยงานต่างๆ ที่ซับซ้อน และปัญหาสอดแทรกที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ต้องรื้อหมด 10. ขจัดการเรียกรับผลประโยชน์ใต้โต๊ะ และปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์

สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการ ได้แก่ 1. มาตราการภาษี tax credit tax refund 2. ภาษี BOI  3. เพิ่มงบสนับสนุน 4. จัดระบบ Film Financing 5. สร้าง Film Academy 6. ยกเลิกแก้ไขกฎที่ล้าหลัง 7. ปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐ การส่งเสริม ส่งออก เซ็นเซอร์ รวมหน่วยงานเดียวเป็นเอกภาพ 8. ใช้มาตรการเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เช่น 5G, ไฟเบอร์ออบติก, บิ๊กดาต้า, เอไอ 9. ต้องมีการวิเคราะห์ความต้องการ รสนิยมของตลาด เพราะปัญหาคือเราสร้างสิ่งที่เราอยากทำโดยที่ไม่สนใจความต้องการของตลาด

 

สามัญชน: รัฐต้องส่งเสริมนศ.ภาพยนตร์ ระบบเรตติ้งต้องสมเหตุสมผล ยกเลิกการแบนหนัง

 

อนุสรณ์ สร้อยสงิม พรรคสามัญชนกล่าวว่า พรรคเราต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ สนับสนุนประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ สำหรับปัญหาของวงการภาพยนตร์โดยส่วนตัวมีประสบการณ์ว่าการเป็นนักศึกษาด้านภาพยนตร์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเลย สถานที่ราชการทุกที่ต้องให้นักศึกษาถ่ายทำฟรี แต่ที่ผ่านมาแม้จะให้ฟรีแต่จะมีใต้โต๊ะค่อนข้างเยอะ รัฐบาลต้องสนับสนุนนักทำหนังรุ่นใหม่มากกว่านี้ ตนเคยทำหนังสั้นได้ไปฉายต่างประเทศ แต่พอเป็นหนังเกย์ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย นอกจากนี้นักทำหนังฟรีแลนซ์ต้องได้รับความเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาลและควรมีระบบบ็อกซ์ออฟฟิศอย่างจริงจัง ทำสถิติ เก็บข้อมูล ระบบเรตติ้งต้องสมเหตุสมผล ได้เรตติ้งอะไรก็ควรบอกเหตุผลเลย ยกเลิกการแบนหนัง หนังโป๊ไทยควรมีได้ ภาพยนตร์ไทยควรได้เป็นสินค้าส่งออก ควรมีเทศกาลหนังเป็นของตัวเอง ลดภาษีหนังต่างประเทศ ทำแพลตฟอร์มเหมือนเน็ตฟลิกซ์ แต่มีเฉพาะหนังไทย เด็กเรียนภาพยนตร์แต่ละมหาวิทยาลัยควรได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันมากขึ้น

 

รวมพลังประชาชาติไทย: ตั้งสภาภาพยนตร์โดยให้คนในวงการบริหารจัดการเองร่วมมือกับภาครัฐ

 

เถกิง สมทรัพย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทยกล่าวว่า ถ้าคนในวงการไม่มีอำนาจทางการเมือง ก็ทำอะไรลำบาก เสนอตั้งองค์การมหาชนให้วงการหนัง ในสภามีคณะกรรมการภาพยนตร์ที่คัดเลือกโดยคนในวงการกันเอง จัดการกันเองให้ใครเข้ามาบริหาร คัดเลือกตัวแทนขึ้นมาแก้ปัญหา ทำเป็นระบบ โปร่งใส

เถกิงระบุว่าอนาคตภาพยนตร์ไทยจะสดใส เพราะปีหน้าเมเจอร์จะสร้างโรงภาพยนตร์ 100,000 กว่าที่นั่ง เอสเอฟ 50,000-80,000 ที่นั่ง หมายความว่าโอกาสทำหนังไทยเพื่อตีตลาดยังมีอีกมาก ภาพยนตร์เรื่องนาคีได้ 400 กว่าล้านก็ได้จากต่างจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นตลาดภาพยนตร์ยังเปิดกว้างกว่านี้ได้อีก นอกจากนี้การเข้ามาของเน็ตฟลิกซ์ ยังให้ทุนสร้างซีรีส์ไทยเป็นซีรีส์ออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ด้วย

“ทั้งหมดนี้มีเม็ดเงินเข้ามาเต็มที่ แต่คุณภาพคนทำหนังของเมืองไทยรับโอกาสนี้ได้แค่ไหน โอกาสมาแล้ว เราทำได้ไหม เราต้องตั้งคณะทำงาน ร่วมมือกับภาครัฐ และทุกอย่างต้องโปร่งใส รัฐบาลใหม่ต้องมอบอำนาจให้คนในอุตสาหกรรม จัดงบประมาณให้ คนในองค์การต้องมาจากคนในวงการภาพยนตร์ เหมือนประชุมสภา” เถกิงกล่าว

 

ชาติไทยพัฒนา: สนับสนุนคนทำหนังรุ่นใหม่ รัฐช่วยให้งบ

 

รัฐชทรัพย์ นิชิด้า พรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า จะเน้นเรื่อง New Creative, New Director, New Production เด็กๆ ที่จะเข้าสู่วงการภาพยนตร์คืออนาคตของภาพยนตร์ไทย จะไม่ยอมขโมยเวลาในอนาคตของเด็กๆ มากำหนด แต่การกำหนดเป็นเรื่องของเด็กรุ่นต่อไป สนับสนุนให้เกิดมิติการทำหนังใหม่ เป็นการโฆษณาประเทศไทยแบบ tie-in เนียนๆ ควรมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนในการดูว่าหนังของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร น่าสนับสนุนแค่ไหน

“การให้รัฐเข้าไปสนับสนุน รัฐต้องมีเหตุผล เช่น การให้งบประมาณช่วยเหลือ ใครกำกับดูแล ให้คนไม่ทำหนังไปกำกับคนทำหนังมันใช่หรือไม่ อาจจะตั้งเป็นองค์กรมหาชน ให้เป็นการกำกับตัวเองของคนในวงการ แต่หากคนทำหนังคิดแต่ทำหนังตามรสนิยมตนเองแต่ตลาดไม่รับรองแล้วบอกว่าหนังขายไม่ได้ ประเด็นนี้ไม่น่าหยิบยกขึ้นมาพูด” รัฐชทรัพย์กล่าว

 

อนาคตใหม่: แก้ที่รากฐาน การศึกษาไม่ปิดกั้นจินตนาการ รัฐต้องส่งเสริมหนังและคนทำหนัง ตั้งโรงหนังชุมชน

 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ พรรคอนาคตใหม่กล่าวว่า ปัญหาของภาพยนตร์ไทยนั้นเราต้องแก้จากเรื่องรากฐาน เราต้องมีรากที่แข็งแรง คนดูต้องมีวัฒนธรรมการดูภาพยนตร์ที่แข็งแรงและหลากหลาย ถ้าไม่เช่นนั้นธุรกิจภาพยนตร์ไม่มีวันฟื้นตัว เพราะตอนนี้เราดูหนังกันไม่กี่แบบ จึงทำให้ผลิตซ้ำหนังที่เคยประสบความสำเร็จ เมื่อเรามีหนังหลากหลายก็ไม่มีใครดู ไม่ได้โทษคนดู แต่โทษการศึกษาไทย ไม่เคยสอนให้เราใช้จินตการอย่างเต็มที่ จำได้ไหมว่าเราเรียนศิลปะกันแบบไหน เราเรียนวาดรูปเหมือนเพื่อให้ได้คะแนนเต็ม ใครวาดไม่เหมือนไม่ได้เต็ม เราถูกฆ่าตัดตอนทางจินตนาการ เราไม่เคยแลกเปลี่ยนความเห็นต่องานศิลปะระหว่างครูกับนักเรียน ดังนั้นควรให้มีการเรียนการสอนสุนทรียะหนังตั้งแต่ประถมศึกษา

นอกจากนี้ต้องพัฒนาคนทำหนังให้มีศักยภาพสูงสุด หน่วยงานรัฐ กระทรวงวัฒนธรรม สนับสนุนส่งเสริมมาตลอด แต่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนแบบไม่เข้าใจ หนังเรื่องดาวคะนองได้รางวัลสุพรรณหงส์ แต่พอประกาศชื่อไม่มีใครรู้จัก เพราะกระทรวงวัฒนธรรมไม่เคยส่งเสริมด้วยการนำมาโรดโชว์ทั่วประเทศ หรือสนับสนุนตั้งแต่เป็นตัวบท การเข้าโรงฉาย ต้องส่งเสริมเข้าถึงคนดูให้มากที่สุด และต้องส่งเสริมสวัสดิการของคนทำหนังทำศิลปะด้วยควบคู่กันไป

ทั้งนี้ต้องสร้างพื้นที่และเวลาให้กับภาพยนตร์ไทย เราถูกโรงหนังผูกขาด พื้นที่เหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับหนังไทยอย่างเดียว ส่วนมากเป็นหนังฮอลลีวูด เราจะสร้างมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นโรงหนังชุมชน ให้มีราคาถูกกว่าเมเจอร์ เอสเอฟครึ่งหนึ่ง ต้องแข่งขันกับโรงใหญ่ไม่ให้เกิดการผูกขาดทางธุรกิจ ราคาหนังของเมเจอร์และเอสเอฟจะถูกลง ให้นักศึกษาได้เอาหนังตัวเองเข้าโรง เราจะพัฒนาคนทำหนังให้เข้าสู่ธุรกิจภาพยนตร์ตั้งแต่มีโรงหนังชุมชน และคุยส่วนแบ่งแก่มหาวิทยาลัยได้ด้วย

 

คนธรรมดาแห่งประเทศไทย: แก้ไขกฎระเบียบ-ลดการผูกขาด-รัฐบาลอุดหนุนเงินค่าตั๋วหนังไทย-ให้สมาคมหนังมีอำนาจต่อรอง

 

ธนพร ศรียากูล พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ถ้าเรายังมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ร.บ.ไซเบอร์ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ สิ่งที่เราตั้งใจจะทำชาตินี้ก็ไม่ได้เกิด เพราะวงการภาพยนตร์ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่ต้องมีกลไกขับเคลื่อน วันนี้ต้องต้องคำถาม ต้องส่งเสียงให้เกิดการขยับตัว ปัจจุบันกฎระเบียบไม่ได้ดีไซน์ให้เรามีส่วนร่วมเลย เช่น การเซ็นเซอร์ กฎกระทรวง ระเบียบกรม เราอยู่ด้วยกฎพวกนี้ และเปลี่ยนยาก ถ้าเราไม่ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากสส. ก็คงไม่สามารถแก้เรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีการผูกขาดธุรกิจภาพยนตร์ที่ต้องแก้ไข และรัฐควรสนับสนุน เช่น ใครดูหนังไทย รัฐบาลจ่ายค่าตั๋วให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนแบ่งรายได้เหมือนเดิมทุกอย่าง

ธนพรกล่าวต่อว่า เรื่องการเรียกร้องต่อรองของคนในวงการภาพยนตร์ ต้องมีกลไกรองรับ เพราะการรวมตัวเป็นสมาคมยังไม่เพียงพอ ต้องให้สิทธิการรวมตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เอ็มพาวเวอร์ให้เขาเติบโต ให้เขามีอำนาจ มีสิทธิมีเสียง เรื่องภาษี ต้องทบทวนใหม่ ปัจจุบันมีการทำฟรีแลนซ์มากขึ้น การจัดเก็บภาษีอาชีพอิสระต้องทบทวนว่าสัดส่วน ความพอดีอยู่ตรงไหน เสียภาษีเยอะก็บั่นทอนความสามารถในการทำงาน ส่วนด้านภาคการศึกษา ตราบใดที่ยังต้องแต่งชุดนักศึกษาไปเรียน ผมไม่คิดว่าจะครีเอทอะไรได้

 

พลังท้องถิ่นไทย: รัฐต้องให้งบ ช่วยโปรโมทคนทำหนัง-เปิดเสรีภาพ-โรงหนังท้องถิ่นกระจายโอกาส

 

รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ พรรคพลังท้องถิ่นไทยกล่าวว่า ต้องพัฒนาคนทำหนัง รัฐบาล และคนดู คนทำหนังต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นให้เท่ากับคู่แข่งเพื่อนบ้าน ประเทศอื่นพัฒนาหนังเป็นอุตสาหกรรมการส่งออกวัฒนธรรม ไทยเรามีทรัพยากรธรรมชาติครบถ้วน สนามบิน อาหาร คนไทยอัธยาศัยดี หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยว ช่วยดูตั้งแต่เรื่องบทภาพยนตร์ ให้งบประมาณ ที่ผ่านมาให้น้อยมาก ยากด้วย และต้องอาศัยเส้นสาย ไม่ได้วัดที่บทว่าโปรโมทอะไร ภาครัฐต้องมีหน่วยงานตรวจสอบ สนับสนุน ดูตั้งแต่ตัวบท มีนักจิตวิทยามาช่วยดูว่าทำอย่างไรให้คนดูรักพระเอกนางเอก ให้อาหารน่ากิน

ด้านรัฐบาล ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตลาดน้ำอยุธยาที่ใกล้ปิดตัว แต่พอละครเรื่องบุพเพสันนิวาสดัง ตลาดน้ำก็กลับมาคึกคัก รัฐบาลควรยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เปิดตลาดหนังไปต่างประเทศ เปิดให้มีการร่วมทุนของนายทุนต่างๆ

เราควรจะมีโรงหนังมากกว่านายทุนผูกขาด ไม่งั้นราคาสูง โรงหนังท้องถิ่นกระจายโอกาส คืนอำนาจสู่ประชาชน เราต้องแก้โจทย์ให้คนรากหญ้ามาดูด้วยได้ ส่วนคนดูก็ต้องพัฒนาตัวเอง กลุ่มเซ็นเซอร์เองก็ต้องเปิดเสรีภาพ เข้าใจหัวอกคนทำหนัง

 

เศรษฐกิจใหม่: หนังไทยฉายโรงลดส่วนแบ่งจาก 50-60% เป็น 25%

มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ พรรคเศรษฐกิจใหม่กล่าวว่า “หนังไทยเราแข่งได้ทั่วโลก เรามีคนหน้าตาดี เพื่อนผมดูหนังไทยไม่รู้เรื่องแต่บอกทำไมคนไทยหน้าตาดี ตอนนี้เราติดกฎระเบียบ เราต้องสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่และวัยรุ่นเปิดบันเทิงไทยสู่บันเทิงโลก คนไทยมีศักยภาพ การเปิดตลาดไทยสู่ตลาดโลกสำคัญ หนังไทยแบ่งกับโรง 50-60% ฝากไปยังผู้ผูกขาดโรงหนัง ลดเหลือ 25% สำหรับหนังไทย หนังฝรั่งจะเก็บ 50% ก็แล้วแต่คุณ หนังไทยจะเกิดไม่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net