Skip to main content
sharethis

สปสช.เปิดเวทีประชาพิจารณ์ “ร่างเกณฑ์ตรวจประเมินหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจ” ดึงผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน และหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจ 56 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสะท้อนความเห็น ยกคุณภาพรักษาผู้ป่วยและพัฒนาหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจในระบบบัตรทอง

30 เม.ย.2562 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ นพ.สมภพ พระธานี นายกสมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมประชาพิจารณ์ (ร่าง) เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2562 จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน ผู้แทนหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 56 แห่ง และผู้แทนจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.สมภพ กล่าวว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นของคนไทยนอกจากอุบัติหตุและมะเร็ง การผ่าตัดหัวใจเป็นหนึ่งในการรักษาเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและได้บรรจุในสิทธิประโยขน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย และสร้างเครือข่ายหน่วยบริการผ่าตัดหัวใจเพื่อเชื่อมโยงให้เป็นระบบเดียวกัน โดยในปี 2549-2551 มีการจัดทำหลักเกณฑ์การรักษาและกำหนดราคาชดเชยบริการ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาผ่าตัดหัวใจทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ด้วยหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว พร้อมกับข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจเยี่ยมประเมินหน่วยบริการ และข้อมูลการศึกษาโดยสมาคมวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่การปรับปรุงและจัดทำร่างเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัด  

ในการจัดทำร่างเกณฑ์การตรวจประเมินฯ ดังกล่าว ให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและรอบด้าน คณะทำงานพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดฯ และ สปสช.จึงจัดการประชุมประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์การตรวจประเมินฯ นี้ ความเห็นและข้อมูลต่างๆ ที่รับฟังและรวบรวมวันนี้จะนำไปปรับปรุงและเพิ่มเติมในร่างเกณฑ์การตรวจประเมินฯ เพื่อให้เกิดความรอบคอบยิ่งขึ้น โดยคณะทำงานฯ จะมีการประชุมพิจารณาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 นี้ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อพิจารณาและประกาศต่อไป

ด้าน นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า ร่างเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้ปรับปรุงนี้ ประกอบด้วยมาตรฐาน 5 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรฐานด้านสถานที่และอุปกรณ์ อาทิ ห้องผ่าตัด หอผู้ป่วยวิกฤต และหอผู้ป่วยทั่วไป เป็นต้น  2.มาตรฐานด้านบุคลากร 7 กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก อายุแพทย์โรคหัวใจ วิสัญญีแพทย์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก วิสัญญีพยาบาลและพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต 3.มาตรฐานด้านการจัดการ 4.มาตรฐานด้านการให้บริการ และ 5.มาตรฐานด้านการจัดการข้อมูล ไม่เพียงแต่เป็นการดูแลให้ผู้ป่วยโรคหัวใจได้รับการดูแลที่ดียิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนามาตรฐานการผ่าตัดผู้ป่วยหัวใจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผู้แทนสหสาขาวิชาชีพ 12 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมเวทีประชาพิจารณ์ฯ ได้แก่ ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมศัลยแพทย์ทรวงอกแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ชมรมกุมารแพทย์โรคหัวใจ สมาคมนักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก (Perfusionist) คณะกรรมการวิชาชีพสาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก ชมรมพยาบาลวิสัญญีแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคหัวใจและทรวงอก (แห่งประเทศไทย) และสภาการพยาบาล

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net