Skip to main content
sharethis

กสม. ชี้แจงกรณีสอบสวนอังคณา นีละไพจิตร กรณีไปสังเกตการณ์ 'ปิยบุตร' รับทราบข้อกล่าวหาที่ บก.ปอท. ยัน ไม่ใช่การสอบวินัย มีมติไม่ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. พิจารณา หลังตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ที่ตอนนี้เป็น ส.ว. จวกอังคณาว่าเลือกข้างทางการเมือง และมีผู้เสนอให้ปลดเธอออกจาก กสม. ชวนย้อนดูเหตุการณ์ ทำไมอดีต สนช. จึง 'หัวร้อน' ถึงขั้นอภิปรายเดือดในสภาเมื่อ เม.ย. 2562

อังคณา นีละไพจิตร (แฟ้มภาพ)

14 มิ.ย. 2562 เฟสบุ๊คเพจสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีข่าวประชาสัมพันธ์กรณีการสอบสวนหาความจริงกรณีอังคณา นีละไพจิตร กรรมการ กสม. กรณีไปปรากฏตัวระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหาและรับการสอบสวนที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อ 17 เม.ย. 2562

จดหมายข่าวดังกล่าวออกมาสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่ตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พาดพิงอังคณาในที่ประชุม สนช. และคำร้องเรียนของสุรวัชร สังขฤกษ์ แห่งกลุ่มการเมืองภาคประชาชนให้สอบสวนหาความจริงกรณีดังกล่าว หากมีความผิดก็เสนอให้ปลดอังคณาจากการเป็น กสม.

สนช. หัวร้อน อัด กสม. โผล่พื้นที่การเมือง 'อังคณา’ แจงไปสังเกตการณ์ตามหน้าที่

จดหมายข่าวมีใจความโดยสังเขปว่าที่ประชุม กสม. มีมติเสียงข้างมากไม่ส่งเรื่องของอังคณาไปให้ ป.ป.ช. พิจารณา และยืนยันว่าการดำเนินการของ กสม. เกี่ยวกับข้อร้องเรียนอังคณาดังกล่าวไม่ใช่การสอบสวนทางวินัย

ตามที่มีผู้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยุติการสอบสวนทางวินัยต่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อันเนื่องมาจากการอภิปรายของนายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคำร้องเรียนของนายสุรวัชร สังขฤกษ์ แห่งกลุ่มการเมืองภาคประชาชนนั้น ขอเรียนว่า

(1) เรื่องนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันพุธที่ 17 เมษายน 2562 ในขณะที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศสและเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น นางอังคณาไปร่วมปรากฏตัวในระหว่างการสอบสวน

(2) ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 นายสุรวัชร สังขฤกษ์ แห่งกลุ่มการเมืองภาคประชาชน มีหนังสือถึงประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สอบสวนหาความจริงให้เกิดแก่สังคม หากพบว่านางอังคณามีความผิด ก็ขอเสนอให้นางอังคณาพ้นจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

(3) กสม. ด้านบริหารได้ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน 2562 เพื่อพิจารณาว่า จะส่งเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการต่อไปหรือไม่ โดยขอให้นางอังคณาชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน นางอังคณาได้ชี้แจงด้วยวาจาในวันเดียวกัน และมีหนังสือลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง

(4) ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทย การปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ ต้องเป็นกลางทางการเมือง ทั้งต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักโดยต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ

ส่วนการพิจารณาดำเนินการให้มีการตรวจสอบเพื่อให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติผู้หนึ่งผู้ใดพ้นจากตำแหน่งนั้น ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยมิได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ กสม. แต่บัญญัติให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจฟ้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

(5) จากนั้นที่ประชุม กสม. ด้านบริหารเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2562 ได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า กสม. จะส่งเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาต่อไปหรือไม่ ที่ประชุมพิจารณาแล้ว มีมติเสียงข้างมากไม่ส่งเรื่องตามคำร้องเรียนของนายสุรวัชร สังขฤกษ์ ไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการ

การดำเนินการของ กสม. เกี่ยวกับข้อร้องเรียนนางอังคณาดังกล่าว มิใช่การดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อนางอังคณาตามที่มีการกล่าวอ้างแต่ประการใด

ความเดิมตอนที่แล้ว: ทำไม 'ตวง' แสดงความไม่พอใจอังคณา

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 23 เม.ย. 2562 มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 28/2562 ในการพิจารณาระเบียบวาระที่ 6.4 รายงานการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยประจำปี 2561 และรายงานผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประจำปีงบประมาณ 2561

ในช่วงการอภิปรายในวาระดังกล่าว ตวง ที่ปัจจุบันเป็น ส.ว. ได้ให้ความเห็นต่อการปรากฎตัวของอังคณาที่ บก.ปอท. ในกรณีปิยบุตร ที่ต่อมาอังคณาให้สัมภาษณ์ประชาไทว่าไปทำหน้าที่ กสม. ในฐานะผู้สังเกตการณ์ตามหน้าที่ของ กสม. ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการสังเกตการณ์เช่นนี้ในการชุมนุมทางการเมือง การดำเนินคดี การจำคุกรวมไปถึงการจัดการเลือกตั้งมาก่อนแล้ว

“ท่านประธานที่เคารพ ประเด็นสำคัญที่ผมจะฝาก ผมไม่กล้าเตือน ฝากไว้ให้ท่านพึงตระหนักว่า ถ้าท่านยังปล่อยไว้อย่างนี้มันจะเกิดความเสื่อมในองค์กรของท่าน มีตัวแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ไปปรากฏตัวในที่สาธารณะของทางการเมือง ไปปรากฏตัวต่อบุคคลที่กระทำความผิดตามคดีอาญาด้วยตัวเขาเอง คณะกรรมการสิทธิฯ ไม่ควรไปปรากฏตัวตรงนั้น ท่านจะอ้างว่าไปเพราะสนิทชิดเชื้อส่วนตัวก็ไม่เป็นไร เป็นความชอบของท่าน แต่มันทำไม่ได้ ท่านแยกไม่ได้เพราะท่านคือ กสม.”

“ท่านประธานทราบไหมครับว่าจะเกิดคำถามอะไร ประชาชนทั่วไป ยายมี ตาสี ตาสาเขาจะเกิดคำถามว่า เอ้า เวลาฉันทำผิดคดีอาญาผมไม่เห็นกรรมการสิทธิฯ มานั่งกับผม ไปโรงพักกับผม ไม่ไปอยู่กับผม ทำไมกรรมการสิทธิฯ ต้องเลือกไปอยู่กับคดีอาญาบางคดีที่เป็นพรรคการเมืองบางพรรค ท่านคงทราบนะ ผมไม่เอ่ยชื่อท่าน ดีนะที่ไม่มา ถ้ามาโดนถล่มมากกว่านี้”

“มือข้างขวาของท่านกำลังจะสร้างศรัทธาในตัวผู้คน มือข้างซ้ายของท่านทำลายองค์กรของท่านโดยตัวท่านเอง ถ้าจะให้กำลังใจท่านโทรศัพท์ไปก็ได้ ไม่ต้องไปปรากฏตัว เพราะมันเป็นคำถามต่อสาธารณะ มันทำให้องค์กรของท่านเสื่อมโดยอัตโนมัติ มันคือการเมือง”

“ช่วงเวลาสี่ซ้าห้าปีที่ผ่านมา เพียงอ้างว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย ก็สามารถละเมิดสิทธิคนอื่น ไปทำร้าย ทำลายคนอื่น เอา M79 ไปยิงคนอื่นได้ ท่านเห็นไหม ผมถามว่าทำไมกรรมการสิทธิฯ ต้องไปเลือกข้าง จะต้องไปยืนชูตัวเอง ชื่นชมท่าน (ที่) ไม่ไป ท่านไปก็โดนเหมือนกัน จึงกราบเรียนท่านเพื่อได้โปรดกอบกู้และฟื้นฟูศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ขึ้นมาให้ได้ ถ้าเป็นการเมือง ถ้าเป็นคดีอาญาที่เขากระทำเอง เขาจะต้องไปรับผิดชอบเอง ไม่ใช่กรรมการสิทธิฯ ไปเป็นตัวการันตี”

“กรรมการสิทธิฯ มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองที่รัฐไปละเมิดสิทธิของประชาชน ถูกไหมครับ ที่ประชาชน คนยากจน คนยากไร้ที่อยู่ในซอกหลืบที่ไม่มีอำนาจถูกละเมิด ที่ท่านกำลังทำถูกแล้ว แต่ที่ท่านไปโชว์ตัวเพื่อการันตี เขาเป็นพรรคการเมือง เขาเป็นนักการเมือง เขากระทำผิดอาญาโดยตัวเขาเอง ผมพูดเอาไว้เพราะท่านเป็นกรรมการแห่งชาติ เพราะท่านคือกรรมการสาธารณะ เพราะท่านคือความหวังของผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้ยากจน คนยากไร้ นักธุรกิจก็ตามต้องพึ่งท่าน” ตวงกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net