Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/30671979

สังคมของเราเป็นสังคมที่แปลกใหม่มาก ไม่ว่าข่าวสารหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นที่ส่วนไหนๆ ของโลก เราสามารถที่จะรับรู้ได้หมด ซึ่งถือว่าเป็นส่วนช่วยในการทำให้เราสามารถที่จะรับรู้ข่าวของสิ่งที่เกิดขึ้นเกือบครึ่งค่อนโลก ที่ในสมัยก่อนนั้นใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือนในการเดินทางมาถึงเราได้ แต่ความสะดวกสบายก็เหมือนกับทุกๆ อย่างที่มีทั้งด้านดีและด้านเสียในของมันเองทั้งหมด ซึ่งด้านเสียที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลโดยตรงกับผู้รับข่าวอย่างพวกเรา นั่นคือการก่อให้เกิดความเชื่อทีว่า“ธุระของเอ็ง ก็คือธุระของข้า”รวมไปถึงการตัดสินคนอื่นๆ อย่างว่องไว และเมื่อประกอบกับระบบการเขียน “ความเห็น”ด้วยอีกแล้ว ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นก็สามารถเกิดขึ้นได้ไว ตอบสนองได้ไว และจบได้ไวโดยที่ไม่มีการทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ก่อน หรือถ้าจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ กระบวนการในการหาคำตอบไม่เกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับเกิดขึ้นอย่างลวกๆ และง่ายดาย ซึ่งนั่นส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนที่มีต่อโลกรอบตัวเอง ซึ่งมักจะตอบสนองอย่างฉับไว ไร้ซึ่งการไตร่ตรองและยั้งคิด โดยอาศัยเชื้อเพลิงที่ดีที่สุดในการตอบสนอง นั่นคือความกลัวของตัวเอง และในเมื่อคนส่วนใหญ่มักจะตอบสนองกับสิ่งที่ผิดแผกจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง ฐานะทางสังคมที่แตกต่าง หรือแม้กระทั่งเพศที่แตกต่าง ก็สามารถเป็นตัวจุดประกายความรู้สึก หรือความเห็นที่ไม่ได้ผ่านความเข้าใจหรือการคิดมาก่อนได้เช่นกัน

ความเกลียดกลัวในเพศที่สามนั้น สามารถเห็นได้ชัดเจนจากวัฒนธรรมต่างๆ โดยเฉพาะในโลกของชาวมุสลิม ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องเล่าของกะเทยมากมายในวรรณคดีของพวกเขาก็ตาม แต่ส่วนมากแล้วคนที่เป็นกะเทยมักจะพบกับจุดจบที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดหยามจากสังคม หรือแม้กระทั่งการประหารชีวิตกลางสาธารณะชนก็ตาม และการปฏิบัติอย่างป่าเถื่อนต่อเพศที่สาม สามารถเห็นได้อย่างแพร่หลายเหมือนกัน บางสังคมก็เชื่อว่าสาเหตุมาจากโรคบ้าง บางกลุ่มก็เชื่อว่ามาจากความชั่วร้ายที่ซาตานบันดาลใจบ้าง ต่างหาเหตุผลมาตอบสนองความไม่รู้ของตัวเอง โดยไม่สนใจที่จะเข้าใจในตัวของผู้ที่เป็นเพศที่สามสักนิดเดียวเลยว่า ความต้องการในการเปลี่ยนเพศของตนเองนั้นเกิดจากอะไร หากแต่กลับโยนความรับผิดชอบไปสู่สิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด และเป็นตัวการที่ทำให้ความไม่ยอมรับในเพศที่สามยังคงแพร่กระจายอยู่ได้นั้น หลักๆ แล้วคือ จากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ทุกๆ คนต่างผ่านมากันหมด อย่างที่เรารู้กันว่าวัยเด็ก คือ ช่วงเวลาที่สำคัญในการเรียนรู้ และในการสร้างประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมตัวของเด็กขึ้นมาในอนาคต ผู้เขียนขอยกตัวอย่างชีวิตในวัยเด็กของคนๆ หนึ่งที่ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพศที่สาม และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับเพศที่สาม หากแต่กระนั้น ก็ไม่ได้มีความเกลียดชังหรือแนวคิดด้านลบใดๆ เกี่ยวกับเพศที่สามโดยทั้งสิ้นมาเล่าให้ฟัง

ผู้ให้ข้อมูล: ปิติ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 5 หลักสูตรอุตสาหกรรมศิลป์ และหลักสูตรอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีศึกษา                                      คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“ประสบการณ์ในครั้งแรกของผมที่มีต่อเพศที่สาม คือ ตอนที่ผมอยู่ชั้นประถม และได้ยินข่าวในโรงเรียนว่ามีเด็กที่เป็นกะเทยจากประถมห้า ประถมหกไปเข้าห้องน้ำและมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน แล้วถูกจับได้ และต่อด้วยการถูกไล่ออกทั้งคู่ ในตอนนั้น สำหรับพวกเด็ก ๆ แล้ว นี่ถือเป็นเรื่องเล่าที่มันปากมาก ๆ ใครก็ตามที่มีความรู้ หรือประสบการณ์ไม่ว่าจะตรง หรือไม่ตรงในเรื่องอย่างว่า แทบจะกลายเป็นจุดสนใจของเด็ก ๆ แทบทุกคนในชั้นเรียนเลยทีเดียว แต่สำหรับหัวข้อเรื่อง กะเทย แล้ว ใครก็ตามที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกะเทย แทบจะกลายเป็นพหุสูตรประจำห้องในทันที..สรุปก็คือ ผมไม่เคยรับรู้หรือเข้าใจอะไรในกะเทยมาก่อนเลย นอกเหนือจากแค่อย่างเดียว นั่นคือ การร่วมเพศทางทวารหนักเท่านั้น และเชื่อเถอะว่าสำหรับเด็ก ๆ ในอายุขนาดนั้นแล้ว นี่ถือเป็นอะไรที่น่าขยะแขยง และใครก็ตามที่ถูกเรียกว่ากะเทย แทบจะเปรียบได้เหมือนกับตัวตลก ผีร้าย หรือที่ระบายอารมณ์ของนักเรียนในชั้นเดียวกัน โรงเรียนเดียวกันได้ตลอดเวลา และนั่นคือสิ่งที่ผมได้ประสบมาในวัยเด็ก

เมื่อผมอายุมากพอที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายที่เป็นแบบสหศึกษา คือมีทั้งหญิงและชาย ที่นั่นผมได้พบกับกะเทย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนต่างห้องหรือร่วมห้องเดียวกันก็ตาม ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนขึ้นไปต่อห้อง จนเปรียบได้เหมือนกับเป็นเรื่องสามัญเลยทีเดียว แต่นั่นก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงการล้อเลียนและดูถูก ซึ่งไม่ได้มีหนักหนามากเท่าไร แต่ก็ยังเป็นการดูถูกที่อิงจากการเป็นตัวตนของกะเทยอยู่ดี และไม่ค่อยมีผู้ชายคนไหนที่อยากจะเข้าใกล้กับกะเทยพวกนี้สักเท่าไร แม้ว่ากะเทยพวกนี้จะเป็นมันสมองและแรงผลักดันในงานใหญ่ ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานกีฬาสี หรืองานตกแต่งไหน ๆ ก็ตาม

ในตอนมัธยมปลาย นอกเหนือไปจากชีวิตในการเรียนแบบปกติแล้ว ผมยังต้องไปเรียน รด. (นักศึกษาวิชาทหาร) เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีปัญหากับการเกณฑ์ทหารในอนาคต และที่นั่นเองก็มีกะเทยด้วยเหมือนกัน ซึ่งถ้าให้เทียบในเรื่องของระเบียบ และอนามัยที่พวกเราที่เป็นนักศึกษาวิชาทหารต้องพึงระลึกเสมอแล้ว กะเทยมีความสามารถที่ดีกว่าเป็นหลายเท่าตัวในการขัดเครื่องแบบ ดูแลความสะอาด หรือแม้กระทั่งระเบียบแถว พวกเขาสามารถที่จะทำได้เป๊ะยิ่งกว่าผู้ชายหลาย ๆ คนเสียอีก และแม้กระทั่งเมื่อผมตัดสินใจที่จะเข้ามาศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาแล้วก็ตาม กะเทยก็ยังอยู่ที่นั่นเช่นกัน และเหมือน ๆ กับทุก ๆ สังคมที่ผมอยู่ที่มีกะเทย คนกลุ่มนี้มีความสามารถที่เยี่ยมยอดในการแสดงออกอย่างแพรวพราวที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ และเป็นเลิศที่สุดในเรื่องของการทำงานที่ต้องอาศัยความเป็นจุดสนใจได้ดีเยี่ยม สำหรับผมในตอนนี้ ผมกลับมองว่ากะเทยไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่น่าอับอาย หรือต้องเป็นอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยงอีกแล้ว ผมกลับพบว่าพวกนี้มีศักยภาพที่ดีมาก ๆ ในการทำงาน และเผลอ ๆ ในหลาย ๆ ครั้ง สามารถที่จะทำงานได้ดีกว่าคนทั่ว ๆ ไปเสียอีก”

จะเห็นได้ว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาในวัยเด็กของคน ๆ หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเพศที่สามนั้น แม้ว่าเขาจะไม่ได้ประสบถึงขั้นแตะเนื้อต้องตัวกันขนาดนั้นมาก่อนก็ตาม หากแต่ว่าตั้งแต่ในวัยเด็กแล้วที่เขามักจะได้ยินเรื่องเล่าถึงเพศที่สามในด้านลบตลอดเวลา แน่ล่ะว่าในตอนแรกมันเป็นเพียงแค่เรื่องตลกที่เด็ก ๆ เล่ากันเพื่อคุยเล่น แต่นาน ๆ เข้าเมื่อปล่อยไป เรื่องตลกที่ว่านั่นกลับกลายเป็นความรู้สึกในด้านลบที่มีต่อกะเทย ที่ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขหรือทำความเข้าใจแล้ว เด็กที่โตมาเป็นผู้ใหญ่คนนั้น ก็จะสืบทอดความรู้สึกที่ว่านี้ไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบอยู่ดี นั่นคือคำตอบสำหรับคำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยถามว่า “ทำไมเราถึงเกลียดกะเทย?ทั้ง ๆ ที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรให้กับเรา”คำว่า เกลียด อาจจะฟังดูรุนแรงไป แต่มันครอบคลุมทุก ๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่มักจะปฏิบัติกับคนที่ถูกเรียกว่า กะเทย ไม่ว่าจะผ่านทางหน้าตาหรือคำพูดก็ตาม และแม้ว่าเราจะพูดประโยคอย่าง “อย่าตัดสินคนจากภายนอก”กันบ่อยเสียเหลือเกิน แต่เรา ๆ ก็ยังคงเลือกที่จะปฏิบัติเหมือนเดิม และดูว่าจะเปลี่ยนแปลงยากเสียด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเปลี่ยนอยู่ดี เพราะโลกไม่ได้หยุดอยู่กับที่เหมือนกับความเชื่อของเรา

 “แม้ว่าพฤติกรรมของเพศที่สาม จะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือไม่ถูกต้องตามความคาดหวังทางสังคม จนกลายเป็นการตีตราจากสังคมว่าเป็นการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่ที่ซึ่งให้ความรู้สึกปลอดภัยอย่างโรงเรียนสำหรับนักเรียนเพศที่สาม นั่นคือที่พึ่งสำคัญที่สุด เพราะอย่างน้อยก็สามารถสร้างกำลังใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นไปในทิศทางที่ดีได้ แม้ว่าสังคมบางส่วนจะไม่ให้การยอมรับ แต่ก็ใช่ว่าเพศที่สามนั้นจะเป็นคนที่ไม่ดีเสมอไป เพราะแค่ความแตกต่างทางด้านร่างกาย จิตใจ ที่มีพฤติกรรมตรงกันข้ามกับเพศตนเองนั้นก็ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสังคมแต่อย่างใด”

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กิตติวินท์ เดชชวนากร เป็นอาจารย์พิเศษ และเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการศึกษา วิชาเอกพหุวัฒนธรรมศึกษา ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสนใจในประเด็นการตีตราทางเพศที่เกิดกับคนข้ามเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนข้ามเพศ และได้ทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับการตีตราทางเพศที่เกิดขึ้นกับนักเรียนข้ามเพศในจังหวัดเชียงใหม่


เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net