Skip to main content
sharethis

แอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลและกลุ่มอื่นๆ ส่งเสียงวิจารณ์ต่อกรณีคณะทำงานสหประชาชาติ ที่เป็นชาวรัสเซีย ไปลงพื้นที่เขตปกครองตนเองซินเจียงทำให้เกิดความกังวลว่าจะกลายเป็นการถูกใช้ในฐานะโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลจีนมากกว่าจะได้แสวงหาความจริงกรณี "ค่ายกักกัน" และการปฏิบัติล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์ โดยที่สื่อระบุว่าการเดินทางในครั้งนี้เตรียมกำหนดการโดยทางการจีนและผู้แทนสหประชาชาติผู้นี้เดินทางไปโดยไม่ได้แถลงเรื่องนี้ผ่านองค์การสหประชาชาติ

แฟ้มภาพ วลาดิเมียร์ โวโรนคอฟ (Vladimir Voronkov) หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาชาติ ภาพถ่ายที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ในเดือนพฤษภาคม 2016 (ที่มา: IAEA Image Bank/Flickr)

18 มิ.ย. 2562 หลังจากที่ วลาดิเมียร์ โวโรนคอฟ (Vladimir Voronkov) หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายของสหประชาชาติไปเยือนกรุงปักกิ่งและเขตปกครองตนเองซินเจียงเมื่อวันที่ 13-15 มิ.ย. ที่ผ่านมา รองรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน เล่อยูเฉิง ก็ออกแถลงการณ์ในวันอาทิตย์ที่ 16 มิ.ย. ระบุว่าทั้งสองฝ่ายสามารถ "บรรลุฉันทามติร่วมกันกว้างๆ" สำเร็จ 

แต่ทว่าการเดินทางเยือนครั้งนี้ก็ถูกวิพากษ์วืจารณ์อย่างหนักมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ทั้งจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลตะวันตกที่กังวลว่าจะกลายเป็นแค่เครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อของทางการจีน หนึ่งในองค์กรที่ร่วมวิจารณ์ในเรื่องนี้คือแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ที่เรียกร้องให้มีการสืบสวนอย่างเป็นอิสระเกี่ยวกับกรณีการคุมขังชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันปรับทัศนคติ จากที่เคยมีรายงานว่าจีนคุมขังชาวอูยกูร์ที่ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมถูกคุมขังอยู่ 1 ล้านคนในค่ายกักกัน แต่ทางการจีนก็ปฏิเสธและกล่าวว่าค่ายดังกล่าวเป็น "สถานฝึกวิชาชีพ" และเป็นความพยายาม "ล้างแนวคิดหัวรุนแรง "และ "ต่อต้านการก่อการร้าย" 

การไปเยือนของโวโรนคอฟในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมามีการกดดันให้สหประชาชาติส่งตัวแทนเข้าไปสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงจากที่ทางการจีนเคยอนุญาตให้นักข่าวต่างประเทศและตัวแทนทางการทูตเข้าไปในพื้นที่โดยติดตามไกด์ทัวร์ของจีนเข้าไปเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็เตือนว่าการไปเยือนของสื่อและนักการทูตต่างๆ ไม่ได้อนุญาตให้พวกเขาเข้าไปดูพื้นที่ได้ในระดับที่จะสามารถระบุประเมินเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศรายงานกรณีการไปเยือนของโวโรนคอฟว่าเป็นการวางแผนของจีนที่เป็นผู้เตรียมกำหนดการเอาไว้ด้วย อีกทั้งสำนักงานของโวโรนคอฟก็ให้ข่าวว่าทางการเดินทางไปเยือนครั้งนี้จะไม่มีการแถลงข่าวต่อสาธารณะจากสำนักงานของสหประชาชาติ

แพทริก พูน นักวิจัยจากฮ่องกงขององค์กรแอมเนสตีกล่าวว่าเขารู้สึกกังวลอย่างมากที่การไปเยือนของผู้แทนจากยูเอ็นเป็นการไปเยือนแบบที่มีการจัดฉากไว้แล้วโดยทางการจีน ทำให้เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะเชื่อได้ว่าการไปเยือนในครั้งนี้แสดงให้เห็นสภาพความเป็นจริงระดับภาคพื้นดิน พูนกล่าวอีกว่าถ้าหากรัฐบาลจีนมีความจริงใจในเรื่องนี้จริง พวกเขาก็ควรจะอนุญาตให้คณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอิสระอย่างคณะผู้รายงานพิเศษเข้าไปทำการสืบสวนได้อย่างเสรีในเรื่องเกี่ยวกับซินเจียง

องค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ก็เคยวิจารณ์ในเรื่องนี้ไว้เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว หลุยส์ ชาบอนเนา ผู้อำนวยการฝ่ายสหประชาชาติของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่าการที่ยูเอ็นอนุญาตให้หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายไปเยือนซินเจียงเสี่ยงต่อการตอกย้ำ "เรื่องเล่าเท็จ" ของทางการจีนที่พยายามอธิบายสร้างภาพให้ประเด็นในซินเจียงเป็นประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายและกลบเกลื่อนว่าไม่ใช่ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนจำนวนมาก

การไปเยือนของโวโรนคอฟถือเป็นการไปเยือนซินเจียงเป็นครั้งแรกของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากยูเอ็น อย่างไรก็ตามนักวิจารณ์มองว่าการไปเยือนของโรโรนคอฟจะกลายเป็นการไปกลบแผนการไปเยือนของ มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ต้องการดึงความสนใจมาที่สภาพค่ายกักกันชาวซินเจียง

ในวันที่ 14 มิ.ย. จอห์น ซัลลิแวน รัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังเคยติดต่อ อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อแสดงความเป็นห่วงอย่างมากในเรื่องการให้โวโรนคอฟไปเยือนจีน โดยระบุเรียกร้องให้มีการเข้าถึงค่ายกักกันได้โดยไม่มีการติดตามสอดแนมหรือการห้ามปรามใดๆ

ถึงแม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยจีนหนักขึ้น แต่สื่อบลูมเบิร์กก็เคยตั้งข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยสั่งให้มีการเลื่อนแถลงวิพากษ์วิจารณ์ "การกดขี่และควบคุมของทางการจีน" ที่ในกำหนดการเดิมจะต้องพูดในวันที่ 4 มิ.ย. ไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. เนื่องจากอาจจะต้องมีการพบปะผู้นำจีนในที่ประชุม G20 ช่วงปลายเดือนนี้

กูแตร์เรสเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เขาไม่พูดประณามจีนต่อหน้าสื่อในประเด็นเกี่ยวกับอุยกูร์ อีกทั้งยังมีข้อสังเกตว่ากูแตร์เรสเคยกล่าวสุนทรพจน์โดยพูดถึงจีนว่าเป็น "เสาหลักของความร่วมมือนานาชาติและการตกลงร่วมกันแบบพหุภาคี" โดยที่ไม่ได้พูดถึงความเจ็บปวดของชาวอุยกูร์เลย อย่างไรก็ตามโฆษกของเลขาธิการยูเอ็นก็เปิดเผยว่ากูแตร์เรสได้พูดถึงเรื่องนี้โดยตรงต่อหน้าเหล่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนรวมถึงต่อหน้ารัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีนโดยเน้นย้ำว่า "ควรมีการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ไปพร้อมๆ กับการต่อสู้กับการก่อการร้ายและการป้องกันไม่ให้้เกิดความรุนแรงจากแนวคิดสุดโต่ง"

เรียบเรียงจาก

Beijing sees ‘broad consensus’ with UN on Xinjiang as human rights groups blast envoy’s visit, South China Morning Post, 16-06-2019

Xinjiang Visit by U.N. Counterterrorism Official Provokes Outcry, Foreign Policy, 13-06-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net