Skip to main content
sharethis

รัฐบาลลาวกำลังจะดำเนินการตามแผนเดินสายตรวจตราเขื่อน 55 แห่ง หลังจากเหตุการณ์สันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกเมื่อปี 2561 จนเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่นับเป็นอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในลาวในรอบหลายสิบปีนี้

ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว

3 ก.ค. 2562 ในลาวเคยเกิดภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 หลังจากที่เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อยพังทลายจากฝนตกหนัก อุทกภัยในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน 12 หมู่บ้านและคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 40 ราย ในแขวงจำปาสัก อัตตะปือ มวลน้ำยังไหลไปกระทบพื้นที่ในประเทศกัมพูชาที่อยู่ติดกัน อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลลาวให้จัดให้มีการเข้าไปตรวจสอบเขื่อนหลายแห่งหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี

ห่วงโซ่ความรับความรับผิดชอบ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

ไปให้ไกลกว่าเขื่อนแตก: เสวนาสะท้อนทุน การเมือง ความจำเป็นกรณีเซเปียน-เซน้ำน้อย

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากรัฐบาลลาวจะเน้นเข้าไปตรวจสอบโครงสร้าง การออกแบบและคุณลักษณะทางเทคนิคของเขื่อน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิจารณาว่าการพัฒนาเขื่อนของพวกเขาเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีผู้ให้คำปรึกษาที่มีความรู้คอยชี้แนะ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าทางกระทรวงกำลังตรวจสอบเขื่อนทั้งหมดในประเทศเพื่อความปลอดภัย และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอย เจ้าหน้าที่เปิดเผยอีกว่าหลังจากเหตุสันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกพวกเขาก็ทำการตรวจเขื่อนใหม่อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามแผนการก่อสร้างและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทั้งเรื่องการต้านแรง และการป้องกันแรงกระทบจากน้ำ

ถึงแม้ว่าแผนการตรวจสอบเหล่านี้เพิ่งจะดำเนินการไปในขั้นต้น แต่ทางรัฐบาลก็ค้นพบว่ามีหลายเขื่อนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่กล่าวว่าพวกเขาค้นพบในเรื่องที่เขื่อนบางแห่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่มีกระบวนการรับคำปรึกษาที่จำเป็นและไม่มีการรับประกัน

กัมมานี อินทิราธ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อท้องถิ่นเมื่อ 26 มิ.ย. ว่ามีเจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องกำลังจะดำเนินการตรวจสอบเขื่อนที่มีอยู่รวมถึงเขื่อนที่กำลังสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในปีที่แล้วและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อินทิราธบอกอีกว่าถ้าหากเขาพบตำหนิใดๆ ก็ตามจะให้มีการหยุดสร้างเขื่อนโดยทันที จนถึงตอนนี้มีหลายเขื่อนแล้วที่ถูกยกเลิกเนื่องจากสภาพการก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์เปิดเผยว่าในปัจจุบัน แผนการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำของลาวประกอบด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ 72 แห่ง มี 12 แห่งที่กำลังก่อสร้าง และอีกราว 25 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนในระยะคืบหน้า

รัฐบาลลาวอ้างว่าเขื่อนจะกลายเป็นงบประมาณช่วยเหลือโครงการต่อต้านความยากจนและโครงการสวัสดิการสังคม แต่ทางอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์ก็กล่าวว่าลาวสร้างโครงการไฟฟ้าไปก็เพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียงแล้วไฟฟ้าเหล่านี้จะถูกขายกลับมาที่ลาวด้วยราคาแพง

เรียบเรียงจาก

Lao Government Begins Plan to Inspect 55 Dams One Year After PNPC Disaster, Radio Free Asia, Jul. 2, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net