Skip to main content
sharethis

องค์กรสหภาพแรงงานสากล ขบวนการแรงงาน และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ไทยแก้กฎหมายแรงงานและการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานหลักของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่  24 กรกฎาคม 2562 ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) มีการจัดงานเสวนา “ดรรชนีชี้วัดการละเมิดสิทธิแรงงานประจำปี 2019 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก – การละเมิดสิทธิแรงงานในตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยรวมถึงกรณี สหภาพ ฯ รถไฟ ฯ และการบินไทย” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา จาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), สมาพันธ์แรงงานสากล (ITUC) ซึ่งมีสมาชิกทั่วโลก 207 ล้านคน, สหพันธ์แรงงานขนส่งสากล (ITF) ซึ่งมีสมาชิก 19.7 ล้านคน, สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.), สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.), และ ฮิวแมนไรตส์วอตช์

โดยผู้ร่วมเสวนาได้มีการอภิปรายและวิพากษ์ถึงการที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของไทย ยังไม่รับรองหรือจำกัดสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ ฯ และเจาจาต่อรองร่วมให้กับคนทำงานหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ ครูและอาจารย์ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาจากการที่รัฐบาลไทยไม่ได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (เสรีภาพการสมาคมจัดตั้งสหภาพ ฯ และ สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม) ทั้งที่มีการเรียกร้องจากขบวนการแรงงานไทยและสากล และมีข้อเสนอแนะจาก ILO มาหลายครั้ง ทำให้ประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิและมีการทำลายสหภาพแรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตามที่มีการร้องเรียนไปที่ คณะกรรมการว่าด้วยเสรีภาพการสมาคมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-CFA)หลายกรณี รวมทั้งส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านการกระจายรายได้และมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง เนื่องจากคนทำงานในประเทศขาดการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับนายจ้างและภาครัฐ เพื่อให้เกิดการแบ่งปันผลกำไรจากการลงทุนและการคุ้มครองสวัสดิการด้านพื้นฐานให้กับประชาชน

ผู้ร่วมเสวนายังได้แสดงความเห็นถึงกรณีที่ผู้นำ สหภาพรัฐวิสากิจการรถไฟ ฯ และ การบินไทย ถูกฟ้องดำเนินคดี จากการทำกิจกรรมรณรงค์ด้านความปลอดภัย (สร.รฟท.) และการพูดคุยให้มีการขึ้นค่าจ้างให้สมเหตุสมผลกับผลประกอบการและค่าครองชีพที่สูงขึ้น (สร.กบท.) โดยเห็นตรงกับข้อเสนอแนะของ ILO-CFA เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับผู้นำสหภาพ ฯ ที่ทำกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสาธารณะและสมาชิกโดยสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขตัวบทและการบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการ ILO สำนักงานใหญ่ประจำกรุงเจนีวา ซึ่งได้เดินทางมาประเทศไทยช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อพบกับ นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล และได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เมื่อ 29 ก.ค.[1]ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานที่น้อยมาก และ ILO ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงสัตยาบันในอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 มาเป็นเวลานานแล้ว

ผอ.ILO ไทย กัมพูชา และลาว

แกรม บัคเลย์ , ผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สำนักงานประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 “ปี ค.ศ.2019 เป็นปีที่สำคัญสำหรับ ILO เพราะเป็นปีฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปี และเป็นการครบรอบหนึ่งร้อยปีที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก ILO เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง และผมคิดว่านั่นน่าจะทำให้ประเทศไทยมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นด้วย”

 “ย้อนหลังกลับไปเมื่อมีการก่อตั้ง ILO และธรรมนูญของ ILO กล่าวไว้ชัดเจนถึงสิ่งหนึ่งที่สำคัญซึ่งเราอาจจะหลงลืมเมื่อเวลาผ่านไป นั่นก็คือ ‘สันติภาพที่เป็นสากลและยั่งยืน’จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีหลักการ’ความเป็นธรรมทางสังคม’และผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องพูดย้ำเสมอ ๆ”

 “อีกข้อความหนึ่งซึ่งมีการพูดซ้ำบ่อย ๆ และผมมั่นใจว่าคุณน่าจะเคยได้ยินมาหลายครั้งก็คือ ‘แรงงานไม่ใช่สินค้า’”

 “เรามีความรับผิดชอบผูกมัดร่วมกันในโครงการงานที่มีคุณค่าของ ILO นั่นก็คือความพยายามในการลงสัตยาบันใน อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 144 (การปรึกษาหารือไตรภาคี) คุณอาจจะโต้แย้งได้ว่าอนุสัญญา 144 นั้นอาจจะเป็นความท้าทายที่น้อยกว่าอนุสัญญาฉบับ 87 และ 98 (สิทธิการสมาคมจัดตั้งสหภาพ ฯ และเจรจาต่อรองร่วม) แต่มันก็เป็นการเปิดโอกาสให้มีสภาพที่เหมาะกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”

“ผมยังมองโลกในแง่ดีว่า เราสามารถทุ่มเทพลังงานและความพยายามเพื่อให้รัฐบาลไทยลงสัตยาบันอนุสัญญา 144 เพื่อเป็นช่องทางที่นำไปสู่การลงสัตยาบันอนุสัญญา 87 และ 98ในอนาคตอันใกล้ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็น ควรจะทำมานานแล้ว และเชื่อว่าทุกคนที่มีเหตุผลน่าจะเห็นด้วย”

 

แกรม บัคเลย์นำงานเสวนากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของ ILO เมื่อปี ค.ศ.1919 ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศมีความเห็นตรงกันว่า “สันติภาพสากลที่ยั่งยืน”ไม่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มี”ความเป็นธรรมทางสังคม”และแรงงานไม่ใช่สินค้า บัคเลย์ได้แสดงความกังวลว่าโลกนี้เสมือนกลับมาสู่ความท้าทายเดิม ๆ เมือเวลาผ่านไปหนึ่งศตวรรษ เขายังได้เสนอข้อสังเกตว่าในขณะที่เศรษฐกิจมีตัวเลขการเติบโตสูง แต่การคุ้มครองสิทธิแรงงานกับยังคงต้องประสบกับการเอารัดเอาเปรียบจำกัดสิทธิการจัดตั้งสหภาพ ฯ และการเอารัดเอาเปรียบแรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานในสภาพที่ย่ำแย่  นำมาสู่ความท้าทายทางเศรษฐกิจ  สังคม และการละเมิดสิทธิแรงงาน บัคเลย์ยังได้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่”น่าเสียดาย”ที่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 (สิทธิในเสรีภาพการสมาคมและเจรจาต่อรองร่วม)แม้ว่าขบวนการแรงงานไทยจะได้เรียกร้องมานาน การที่กฎหมายแรงงานไทยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลทำให้เกิดความยากลำบากกับสหภาพแรงงานในประเทศไทยในการเข้าถึงสมาชิกและทำให้ประเทศไทยมีจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานน้อย บัคเลย์ยังได้ชี้ความล้มเหลวของระบบไตรภาคีในประเทศไทย เนื่องจากมีสหภาพแรงงานอยู่เพียงเล็กน้อยประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งประเทศ

บัคเลย์มองว่าการแรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพ ฯ ในไทยไม่ได้เป็นการ”ละเมิดสิทธิ”ซึ่งทำให้พวกเขามีความเปราะบางต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาได้สังเกตว่าแรงงานประมงในไทยมีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และ ILO ก็ต่อต้านการละเมิดสิทธิเหล่านั้นโดยเฉพาะการปฏิบัติกับคนงานเสมือนเป็นสินค้า การที่คนงานไม่สามารถจัดตั้งสหภาพ ฯ ได้นำมาสู่ปัญหาที่สำคัญที่ผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นไม่นำมาสู่ค่าจ้างที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามบัคเลย์เห็นถึงพัฒนาการในการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีของไทย (ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และ สหภาพ ฯ  )ได้ลงนามในข้อตกลงโครงการงานที่มีคุณค่าของ ILO เป็นครั้งแรกในประเทศไทย บัคเลย์ชีว่าโครงการนี้เป็นเสมือนการที่หน่วยงานไตรภาคีของไทยแสดงความผูกมัดที่จะทำให้เกิดสภาวะที่จำเป็นในการลงสัตยาบันอนุสัญญา ILO 144 (การปรึกษาหารือไตรภาคี) จะช่วยให้เกิดสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการลงสัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะลงสัตยาบันมานานแล้ว เขายังชี้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกใน เอเชีย แปซิฟิก ที่ลงสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับ 188 (การทำงานในภาคอุตสาหกรรมประมง) และพิธีสารฉบับที่ 29 เรื่องแรงงานบังคับ แต่ส่วนมากจะเป็นเพราะแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ความกังวลต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานที่ทำให้เกิดการลงสัตยาบันนั้น

เลขาฯ ITUC

ชารัน เบอร์โรว์, เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานสากล (ITUC)

“ฉันเพิ่งจะเคยเห็น(หลังจากไม่ได้พบเห็นมานาน)การปิดงานลูกจ้างอย่างเป็นระบบ การไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน การที่ตัวบทกฎหมายไม่มีการคุ้มครองการเจรจา’โดยสุจริตใจ’ ซึ่งเป็นการคุ้มครองนายจ้างที่ต้องการคงสภาพการเอารัดเอาเปรียบไว้”

“ตอนที่เราจัดทำดรรชนีการละเมิดสิทธิ์และรวบรวมผลการสำรวจ ฉันรู้สึกขยะแขยงถึงสภาพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อเราดูที่การเติบโต ในประเทศไทยประเทศเดียว ซึ่ง GDP โตเกินกว่าสองเท่าในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างและสิทธิของพวกคุณก็ยังถูกเอาเปรียบ”

ชารัน เบอร์โรว์ ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่ GDP ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้นเกินสองเท่าในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ค่าจ้างและการคุ้มครองสิทธิแรงงานยังถูกกดต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในเอเชียแปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่เปรียบเสมือน”หัวใจและวิญญาณ”ของเศรษฐกิจโลก เบอร์โรว์ยังได้ให้ความเห็นว่าการคุ้มครองสิทธิแรงงานในภูมิภาคนี้ย่ำแย่ลงทุกวัน ซึ่งในปีที่ผ่าน ๆ มา ร้อยละ 100 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ละเมิดสิทธิการเจรจาต่อรองร่วม ร้อยละ 95 ได้ละเมิดสิทธิการนัดหยุดงาน ร้อยละ 91 ได้จำกัดสิทธิการตั้งหรือเป็นสมาชิกสหภาพ ฯ กับแรงงานอย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ร้อยละ 73 ได้ปฏิเสธสิทธิการเข้าถึงความยุติธรรมกับคนทำงาน ร้อยละ 73ได้มีการถอนทะเบียนสหภาพแรงงาน ร้อยละ 73 มีการจับกุมคนทำงาน และ ร้อยละ 64 มีการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นและชุมนุม เบอร์โรว์ยังได้แสดงความกังวลที่มีการจ้างงานไม่มั่นคงหรือเหมาค่าแรงจำนวนมากในภูมิภาคนี้ โดยประเทศไทยถูกลดอันดับในดรรชนีการละเมิดสิทธิของ ITUC จากเรตติ้ง 4 (มีการละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบ) มาสู่ เรตติ้ง 5 (ไม่มีการรับประกันถึงสิทธิ)

เบอร์โรว์แสดงความเห็นถึงการที่รัฐบาลไทยลงสัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 29 เรื่องแรงงานบังคับว่า เป็นการ”ตอบสนองต่อแรงกดดันจากภาคธุรกิจเนื่องจากความเสี่ยงที่สินค้าส่งออกไทยจะถูกบอยคอต” มากกว่าจะเป็นการกระทำเพื่อแสดงถึงความกังวลต่อสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของคนงาน ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในสี่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้ลงสัตยาบันทั้งในอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 แม้ขบวนการแรงงานจะได้เรียกร้องมากว่า 20 ปี  เบอร์โรว์ยังได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นเรื่อง”น่าคิด”ว่าทำไมรัฐบาลไทยถึงอยากจะเข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในขณะที่แทบจะไม่เคยปฏิบัติตามคำตัดสินจากหน่วยงานด้านสิทธิ ฯ ของ UN หรือ ข้อเสนอแนะจาก ILO โดยในปัจจุบัน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้ทำให้คนทำงานในประเทศกว่าร้อยละ 80 เข้าไม่ถึงสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เธอยังได้แสดงความเห็นต่อการที่นายจ้างใช้วิธีปิดงานลูกจ้าง การพักงานหรือไม่มอบหมายงานให้ทำ การใช้ช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่คุ้มครอง”การเจรจาโดยสุจริตใจ”มาเพื่อเป็นการเลือกปฏิบัติและทำลายสหภาพแรงงาน ฯ

เบอร์โรว์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูปกฎหมายแรงงานโดยเร่งด่วน และสัญญาว่า ITUC ,ITUC-AP,และ ITF จะยังคงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิแรงงานในประเทศไทย เธอขอบคุณการทำงานของ ILO ในภูมิภาคนี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการโต้ตอบผู้นำของสหภาพ ฯ รถไฟ ฯ และ การบินไทย รวมทั้งลงสัตยาบันในอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ 98 รวมทั้งทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานเพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักนิติธรรมในประเทศ

เลขาฯ ITUC-AP

โชยะ โยชิดะ, เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานสากลภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก (ITUC-AP)

“ถูกต้องครับ เรามีสิทธิที่จะปฏิเสธสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และคนทำงานมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้มีการปรับเงินขึ้น แต่สิทธิเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ? มันควรจะเกิดผ่านการเจรจาต่อรองร่วม”

โชยะ โยชิดะ แสดงความนับถือต่อการปกป้องสิทธิของสมาชิกจากผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ ฯ และ การบินไทย และย้ำว่าคนทำงานมีสิทธิที่จะปฏิเสธงานที่ไม่ปลอดภัยรวมทั้งเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสม และสิทธิเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการเจรจาต่อรองร่วม โยชิดะกล่าวถึงข้อสรุปและข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการด้านเสรีภาพการสมาคม ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO-CFA) ที่ชี้ว่า การห้ามนัดหยุดงานในพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ขัดกับสิทธิพื้นฐาน โยชิดะยืนยันว่า ITUC-AP จะสนับสนุนการขับเคลื่อนของคนงานเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยในอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ และเกิดสิทธิแรงงานซึ่งรวมถึงสิทธิในเสรีภาพการสมาคมจัดตั้งสหภาพ ฯและการเจรจาต่อรองร่วม และสิทธิในการนัดหยุดงาน

เลขาฯ ITF

สเตเฟ่น คอทท่อน, เลขาธิการสหพันธ์แรงงานขนส่งสากล (ITF)

“มีปฏิกิริยาจากนายจ้างและที่สำคัญจากรัฐบาลในการทำให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยยังคงต่ำ”

สเตเฟ่น คอทท่อน เชื่อว่า คดีความที่เกิดขึ้นกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการถไฟแห่งประเทศไทย และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เป็น “คดีทางการเมือง” เขาให้ความเห็นว่าจำนวนสมาชิกสหภาพ ฯ ในประเทศไทยเพียง ร้อยละ 1.5 (จากกำลังแรงงานทั้งประเทศ)เป็นจำนวนที่”ต่ำมากเกินไป” และกฎหมายแรงงานในประเทศไทยซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากลเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปฏิเสธสิทธิของคนทำงาน คอทท่อนชื่นชมความกล้าหาญของสหภาพ ฯ ทั้งสอง (ซึ่งเป็นสมาชิกของ ITF) และสหภาพแรงงานอื่น ๆ นประเทศไทย รวมทั้งแสดงความสมานฉันท์และสนับสนุนร่วมกับสมาพันธ์แรงงานสากล (ITUC) เพื่อจัดตั้งคนทำงานในประเทศไทยให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพ ฯ เพื่อเรียกร้องให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ

เลขาฯ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ

สาวิทย์ แก้วหวาน, ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

“ผมเชื่อว่าพนักงานมีสิทธิ์ปฏิเสธงานที่ไม่ปลอดภัย เราต้องยึดมั่นว่าเราไม่ยอมรับกับงานที่ไม่ปลอดภัย”

 “ผมยังยืนยันในลักษณะนั้นว่า ถ้างานที่ไม่ปลอดภัย และนำประชาชนไปเสี่ยง ทำให้พนักงานอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะรับได้”

สาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, กล่าวว่า วันที่ 5 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบสิบปีที่เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่ สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน เมื่อปี พ.ศ.2552  สาวิทย์กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากการที่รัฐบาลมีคำสั่งให้จำกัดอัตรากำลังของพนักงานในสังกัดการรถไฟแหงประเทศไทย โดยให้จ้างเพิ่มแต่ละปีได้ไม่เกินร้อยละห้าของพนักงานที่เกษียณอายุในปีนั้น สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีปี พ.ศ.2541 ทำให้มีพนักงานน้อยและไม่สามารถตรวจสอบและเตรียมสภาพรถให้พร้อมก่อนเดินขบวนรถได้ ในวันที่เกิดเหตุมีฝนตกหนักและเกิดปัญหาไอเสียจากห้องเครื่องไหลเข้าสู่ห้องขับทำให้พนักงานขับรถทั้งสองคนหมดสติ และระบบวิจิแลนซ์ที่หยุดรถกะทันหันไม่ทำงาน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกราง

สาวิทย์กล่าวต่อว่า การรถไฟ ฯ และสหภาพฯ  มีข้อตกลงสภาพการจ้างตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2545 ว่า การถไฟ ฯต้องตรวจสอบสภาพรถให้สมบูรณ์ก่อนจะทำการเดินรถ หลังจากเกิดเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว ผู้นำของสหภาพ ฯ จึงได้ทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องความปลอดภัย (ซึ่งต่อมารัฐบาลก็ได้มีมาตรการในการเพิ่มอัตราพนักงานการรถไฟ ฯ)พร้อมกับตรวจสภาพรถก่อนที่จะทำการเดินรถ โดยไม่ได้หยุดการเดินรถทั้งหมด แต่หยุดเฉพาะรถที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ต่อมา การรถไฟฯ ได้เลิกจ้างแกนนำสหภาพ ฯ จากสาขาหาดใหญ่ 6 คน และฟ้องเลิกจ้างแกนนำสหภาพ ฯ จากกรุงเทพ ฯ (ซึ่งมีสถานะกรรมการลูกจ้าง)อีก 7 คน (ซึ่งศาลแรงงานมีคำสั่งให้เลิกจ้างในปี พ.ศ.2554) และมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายอีก 15 ล้านบาท

สาวิทย์กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ได้มีข้อเสนอแนะหลายข้อ (ผ่านการร้องเรียนจากทั้ง สมาพันธ์แรงงานสากล หรือ ITUC, และ สหพันธ์แรงงานขนส่งสากล หรือ ITF) มาที่รัฐบาลไทย โดยในปี พ.ศ. 2557 จากการพูดคุยเจรจากับฝ่ายบริหาร ผู้นำสหภาพ ฯ ทั้ง 13 คนก็ได้กลับเข้าทำงาน แต่การรถไฟ ฯ ยังไม่ถอนคำสั่งฟ้องออกจากศาลฎีกา ซึ่งคงคำตัดสินเดิมของศาลแรงงาน แม้ว่าทางการรถไฟ ฯ จะได้ยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างจากการเจรจากับสหภาพ ฯที่ผ่านมา แต่ภายหลังในปี พ.ศ.2561 กรมบังคับคดี ฯ ได้มีคำสั่งให้การรถไฟ ฯ หักค่าจ้างของ ผู้นำสหภาพ ฯทั้ง 7 คนจากกรุงเทพ ฯ เพื่อมาจ่ายเป็นค่าปรับรวมทั้งดอกเบี้ย (เริ่มนับจากปี พ.ศ. 2554 )เป็นเงินทั้งสิ้น 24 ล้านบาท ทำให้สาวิทย์เหลือเงินหลังจากหักค่าปรับและหนี้สินอื่น ๆ เพียง 300 บาทต่อเดือน

สาวิทย์กล่าวว่าในปัจจุบันทางสหภาพ ฯ และการถไฟฯ อยู่ในระหว่างการต่อรองเพื่อให้เกิดการยกเลิกหรือลดหนี้สินค่าปรับให้กับผู้นำสหภาพ ฯ อย่างไรก็ตาม สาวิทย์ยืนยันว่า พนักงานมีสิทธิที่จะปฏิเสธงานที่ไม่ปลอดภัยต่อตนเองและผู้โดยสาร โดยกล่าวถึงคำขวัญของ ITF ว่า “Safety First, Not Profit !” และยืนยันว่าตัวเองจะทำกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้กฎหมายคุ้มครองสิทธิที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสากลต่อไป

อดีตประธาน สร.บินไทย

แจ่มศรี สุกโชติรัตน์, ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย

“บริษัทฟ้องเป็นคดีแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากการเสียภาพลักษณ์ เพราะการที่พนักงานชุมนุมกันในวันนั้น ไม่มีค่าเสียหายของตัวเงินเลย โอทีไม่เพิ่มขึ้น เครื่องบินออกตามเวลา เพราะเราไม่ได้ทำให้บริษัทเสียหาย ไม่ได้ทำให้เครื่องบินดีเลย์ ผู้โดยสารก็เดินทางตามปกติ แต่สิ่งทีเป็นภาพลักษณ์คืออะไร ก็คือราคาภาพลักษณ์จากสื่อ”

 “เขาตีราคารายงานข่าวตอพารากราฟหนึ่ง สมมติว่า เราจะไปออกสื่อ สื่อตามหนังสือพิมพ์จะคิดพารากราฟละ 3 หมื่น เขาจะคูนสามไป เพราะฉะนั้นเมื่อสื่อฉบับใดลงข่าวนั้น ก็จะกลายเป็น 9 หมื่นบาท ต่อค่าเสียหายหนึ่งหนังสือพิมพ์ ถ้ามีบทวิเคราะห์วิจารณ์ใด ๆ ก็จะตีราคาไปตามบทวิเคราะห์วิจารณ์นั้น แล้วคูณสาม  จึงรวมกันมาแล้วเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 326 ล้านบาท”

แจ่มศรี สุกโชติรัตน์ กล่าวว่า บริษัทการบินไทย ได้มีผลประกอบการที่ขาดทุนและเข้าสู่แผนการฟื้นฟูเมื่อ พ.ศ.2551 ซึ่งจะทำให้ไม่มีการขึ้นเงินเดือนพนักงาน 3 ปี โดยสหภาพ ฯ มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตพนักงาน และการขาดทุนเกิดจากปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างไม่ใช่เพราะการขึ้นค่าจ้างพนักงาน โดยที่ผ่านมา สหภาพ ฯ ได้พูดคุยถึงปัญหาการขาดทุนและยินยอมตามสิ่งที่บริษัทเสนอหลายประการไม่ว่าจะเป็นการจำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การยอมให้บริษัทรับพนักงานเอาท์ซอส การที่พนักงานยอมจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ในการทำงานเอง หรือการยอมมาทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์โดยไม่รับค่าจ้างเพิ่ม และสหภาพ ฯ ก็ไม่ได้เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผลแต่ขอให้ปรับขึ้นสอดคล้องตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น การที่บริษัทออกมาประกาศจะไม่ขึ้นค่าจ้างให้กับพนักงาน 3 ปีจึงเป็นการผลักภาระให้พนักงานและเป็นเรื่องที่สหภาพ ฯ ยอมไม่ได้ และเดินทางไปร้องที่กระทรวงแรงงาน จนบริษัทยอมถอนเงื่อนไขที่จะไม่ขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน

ในปี พ.ศ. 2556 บริษัทได้ประกาศผลประกอบการของปี พ.ศ. 2555 ว่ามีกำไร 7 พันล้านบาท และประกาศโบนัสให้พนักงาน 1 เดือนแต่ไม่มีการขึ้นค่าจ้าง จึงทำให้พนักงานการบินไทยซึ่งอยู่นอกเวลาปฏิบัติงานได้ไปรวมตัวกันภายในสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อสอบถามความชัดเจนจากบริษัท ฯ โดยสหภาพ ฯได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานให้พนักงานที่ชุมนุมได้พูดคุยกับผู้บริหาร และมีการยื่นข้อเรียกร้องว่าต้องมีการขึ้นค่าจ้างให้พนักงาน ในวันต่อมาจึงได้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายบริหารและสหภาพ ฯ จนได้ข้อยุติว่า สหภาพ ฯ จะเข้าไปตรวจสอบผลประกอบการของบริษัทว่าได้กำไร 7 พันล้านบาทตามที่แจ้งหรือไม่ และบริษัท ฯจะไม่ทำการสอบสวนและดำเนินคดีกับพนักงานที่ชุมนุม โดยต่อมา เมื่อตรวจสอบแล้วผลประกอบการมีกำไรเพียง 2 พันล้านบาท สหภาพ ฯ ก็ยินยอมให้บริษัทลดจำนวนโบนัสที่เรียกร้องไป แต่ยืนยันว่าต้องมีการขึ้นเงินเดือน

ต่อมาในปี พ.ศ.2557 บริษัทได้แจ้งความดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายจาก ผู้นำสหภาพ ฯ 4 คน ทั้งที่ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับตัวอาคารและไม่มีไฟลท์บินถูกยกเลิกสืบเนื่องจากการชุมนุม  โดยบริษัทได้คำนวณค่าเสียหายจากการลงข่าวและบทความในสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งทำให้ต่อมา ศาลแรงงานมีคำตัดสินในปี พ.ศ. 2558 ให้ผู้นำสหภาพ ฯ ทั้ง 4 คนชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 326 ล้านบาทโดยประมาณ (ในปัจจุบันรอคำตัดสินของศาลฎีกา) ซึ่งที่ผ่าน สหพันธ์แรงงานขนส่งสากล หรือ  ITF  (องค์กรแรงงานระดับสากลที่สหภาพ ฯการบินไทยเป็นสมาชิก)ได้เข้ามาพบและพูดคุยกับรัฐบาลไทยทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและแรงงาน เนื่องจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบทำให้ผู้นำสหภาพ ฯ ไม่สามารถกระทำกิจกรรมสหภาพ ฯ เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมต่อสมาชิกได้ในอนาคต

ฮิวแมนไรตส์วอตช์แผนกเอเชีย

ฟิล โรเบิร์ตสัน, รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรตส์วอตช์แผนกเอเชีย

“สถานการณ์ก็คือรัฐบาลไทยไม่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขกฎหมายแรงงาน”

“ตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยละเมิดเสรีภาพการสมาคมก็คือวิธีที่ประเทศไทยแบ่งคนทำงานออกเป็นหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานภาคเอกชน ภาครัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ นอกระบบ และ ข้ามชาติ และพวกเขาไม่สามารถรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานเพียงหนึ่งเดียวได้”

ฟิล โรเบิร์ตสันให้ความเห็นว่า รัฐบาลไทยที่ผ่านมาไม่มีความตั้งใจในการรับสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่  87 และ 98 (เสรีภาพการสมาคมจัดตั้งสหภาพ ฯ และ การเจรจาการต่อรองร่วม)เพื่อทำให้กฎหมายแรงงานไทยมีมาตรฐานสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานและสิทธิมนุษยชน โรเบิร์ตสันยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่คนทำงานภาครัฐวิสาหกิจถูกละเมิดสิทธิการรวมตัวจัดตั้งสหภาพ ฯ ออกจากภาคเอกชนหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี พ.ศ. 2535 ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว (เนื่องจากสิทธิการรวมตัวจัดตั้งสหภาพฯ และเจรจาต่อรองร่วมของข้าราชการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ครูและอาจารย์ถูกจำกัดหรือไม่ให้สิทธิ)อ่อนแอลงไปอีก โรเบิร์ตสันยังได้วิพากษ์การขาดการบังคับใช้กฎหมายและการที่เจ้าหน้าที่แรงงานไม่สมารถคุ้มครองคนทำงานที่จัดตั้งสหภาพ ฯ ซึ่งมักจะถูกเลิกจ้าง และกระบวนการยุติธรรมมักจะใช้เวลายาวนานหลายเดือนหรือเป็นปีและบ่อยครั้งที่คนทำงานเหล่านั้นมักต้องยอมรับค่าชดเชยพร้อม ๆ กับความพยายามในการจัดตั้งสหภาพ ฯ ต้องล้มลง โรเบิร์ตสันยังได้ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ที่”ประหลาด”ที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยไม่สามารถตั้งสหภาพ ฯของตัวเองได้ และชี้ว่าการห้ามนัดหยุดงานในรัฐวิสาหกิจเป็นสิ่งที่ขัดกับอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานแรงงานสากล

โดยสรุป โรเบิร์ตสันระบุว่าปัญหาพื้นฐานคือไม่มีความรับผิดชอบผูกมัดจากรัฐบาลไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันที่จะปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และรัฐบาลมักจะดำเนินนโยบายตอบสนองแรงกดดันจากภาคธุรกิจ

หลังจากเสร็จสิ้นงานเสวนา ผู้ร่วมเสวนาและผู้เข้าร่วมงานได้มีการทำกิจกรรมรณรงค์แสดงความสมานฉันท์และสนับสนุนผู้นำจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการถไฟ ฯ และ การบินไทย รวมทั้งมีการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความสนับสนุนลูกจ้างทำความสะอาดเครื่องบินของ Korean Air Lines (KAL)ซึ่งมีการประท้วงการปฏิบัติต่อลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเหมาค่าแรง และ ช่างเครื่องของสายการบิน American Airlines ที่มีการเรียกร้องให้นายจ้างเข้าร่วมในการเจรจาต่อรองกับลูกจ้างอย่างสุจริตใจ

 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net