Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 3562 เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รวมตัวที่เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์สิทธิในพื้นที่ไร่หมุนเวียน ณ ไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน หมู่บ้านแม่กองคา หมู่ 10 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า '9 ปีกับก้าวย่างของมติ ครม. 3 ส.ค. 2553' ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง อีกทั้งยังได้ขึ้นป้ายสโลแกนว่า 'ไร่หมุนเวียน : มรดกทางวัฒนธรรม' โดยกิจกรรมนี้มีชาวบ้านและกรรมการเครือข่ายฯ เข้าร่วมประมาณ 100 คน 

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล คณะทำงานที่จัดกิจกรรม กล่าวชี้แจงต่อผู้มาร่วมกิจกรรมว่าวัตถุประสงค์หลักในการจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันนี้คือ สืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาพื้นที่ไร่หมุนเวียนได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้ของรัฐบาลจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านได้หยิบยกมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ขึ้นมาเป็นเรื่องมือต่อรองได้เป็นบางครั้ง แต่กลับพบว่ามีการเคลื่อนไหวของกระทรวงวัฒนธรรมที่จะดำเนินการให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ดังกล่าวนี้ ที่สำคัญคือ แม้รัฐบาลปัจจุบันของพลเอกประยุทธุ์ จันทร์โอชา จะได้ออกนโยบายแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดิน ภายใต้นโยบาย คทช. แต่กลับพบว่าพื้นที่ไร่หมุนเวียนไม่อยู่ในเงื่อนไขที่รัฐบาลจะรับรองสิทธิ์ด้วย ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงได้ถือโอกาสในวาระครบรอบ 9 ปี มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 จัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลคงมติ ครม. นี้เอาไว้ และเรียกร้องให้รัฐบาลนำแนวคิดและหลักการของมติ ครม. ดังกล่าวนี้ ไปยกระดับเป็นกฎหมายที่มีผลใช้คุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงครอบคลุมทุกกลุ่ม 

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ กล่าวว่ามติ ครม. ดังกล่าวนี้มีแนวคิดและเนื้อหาที่ต้องการคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ถือก้าวหน้า แต่ไม่ถูกยอมรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ซึ่งจะเห็นว่าแม้ระยะเวลาจะได้ผ่านไป 9 ปี แต่หากแต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจริง

นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าปัญหาที่ดินทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดถือว่าเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของชาวบ้าน ที่ผ่านมาได้มีการพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องเผชิญกับข้อติดขัดทางกฎหมาย และท่าทีของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สำหรับสิ่งที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำลังดำเนินการอยู่คือการสำรวจข้อมูลการถือครองที่ดินทั่วทั้งจังหวัด โดยมีเป้าหมายจัดทำให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำระเบียบกฎหมายที่มีอยู่มาใช้คลี่คลายปัญหา

นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ กองเลขาเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าไร่หมุนเวียนถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่สำคัญคือ การทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งเราได้จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อวิถีแบบไร่หมุนเวียน  

นายบุญส่ง สุกุลกิจ ผู้นำชุมชนบ้านแม่กองคา กล่าวว่าชาวบ้านแม่กองคาส่วนใหญ่ทำไร่หมุนเวียน โดยสมัยก่อนมีรอบหมุนเวียนสูง 9-11 ปี แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 7 ปี สำหรับบางหมู่บ้านก็เหลือรอบหมุนเวียนเพียง 3-4 ปี และยังได้กล่าวว่าการทำไร่หมุนเวียนนั้น ชาวบ้านจะไม่ใช้สารเคมี ทั้งยังได้กล่าวอีกว่าในอนาคตพื้นที่ไร่หมุนเวียนคงจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไปทำงานอย่างอื่น และบางส่วนก็อยู่ในเมืองกันจำนวนมาก ซึ่งพวกเขาไม่กลับมาทำไร่หมุนเวียนเหมือนคนรุ่นพ่อแม่แล้ว    

หมู่บ้านแม่กองคา ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมานานกว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่หมุนเวียน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ทำนาขั้นบันได 

มติ ครม. 3 ส.ค. 2553 มีเนื้อหาที่กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีทั้งหมด 5 ประเด็น ซึ่งไร่หมุนเวียนเป็นหนึ่งประเด็นหลักที่มติ ครม. ต้องการคุ้มครอง โดยกำหนดขั้นตอนเป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้น ภายในเวลา 1 ปี ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และจัดตั้งกลไกคณะกรรมการดำเนินงาน สำหรับมาตรการระยะยาว ภายในระยะเวลา 1-3 ปี ให้เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ได้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หรือก่อนที่รัฐจะประกาศให้เป็นพื้นที่ปาตามกฎหมาย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net