Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่มีกระแสความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากต่อประเด็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเรื่องใกล้จะเจ๊ง หรือ การประสบกับวิกฤตปัญหาจำนวนนักศึกษาลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายที่ ดังที่เป็นข่าวในทางโซเชียลมีเดียในช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ต่อไปนี้จะใช้คำว่า “มรภ.”)ภาคเหนือตอนล่าง แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนจบจาก มรภ. มาเลย ก็อยากจะเสนอแนะความคิดเห็นและโต้แย้งต่อบางประเด็นในเรื่องของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ ใกล้เจ๊ง?” เสียหน่อย เพื่อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางและใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องปรับตัวอย่างจริงจัง โดยไม่หลงทาง

ประเด็นแรก สืบเนื่องมาจากปัญหาจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างรวดเร็วในมหาวิทยาลัยราชภัฏจากจำนวนประชากรที่ลดลงและค่านิยมทางสังคมต่อการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในสังคม ซึ่งได้ส่งผลต่อปัญหาวิกฤตทางการเงินของ มรภ. ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการส่งผลต่อค่าจ้างบุคลากรที่ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่ มรภ. แบกรับมากที่สุด และเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมานานจากความต้องการอัตรากำลังคนในช่วงที่หน่วยงานขยายตัวและปรับตัวเป็นมหาวิทยาลัยจากการเป็นวิทยาลัยครูและสถาบันราชภัฏเดิม การเปิดหลักสูตรจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่นที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาที่ทัดเทียมกับในการศึกษาส่วนกลาง รวมทั้ง ความต้องการในด้านของการของบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐส่วนกลาง

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องนี้ยังแฝงไว้ด้วยปัญหาคลาสสิคของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทยๆ คือ “ระบบอุปถัมภ์” เนื่องจากการจ้างงานบุคลากรใน มรภ. หลายแห่งตั้งแต่ในอดีตนั้นไม่ได้คำนึงถึงเรื่องหลักการ “recruitment” หรือการคัดสรรบุคคลที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ ทักษะและมาตรฐานที่ควรจะเป็นของการรับบุคลากรเข้าทำงานในระดับมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นเรื่องของการอุปถัมภ์และอยู่ภายใต้ระบบราชการเต็มรูปแบบ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสถานะของบุคลากรในมหาวิทยาลัยจากข้าราชการมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จากการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 ก็ตาม

หากแต่การบรรจุตำแหน่งพนักงานมหาวิทยาลัยและการประเมินความดีความชอบใน มรภ. ก็ยังคงสมาทานระบบอุปถัมภ์และอำนาจนิยมมาเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนที่ทำงานใน มรภ. หรือแม้แต่ในหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าความสามารถในการทำข้อสอบ วิชาการและความสามารถในการทำผลงานอย่างเดียวไม่พอ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนของใคร ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่และคนจำนวนมากที่ตั้งใจเข้ามาสอนหนังสือและทำงานวิชาการใน มรภ. เกิดอาการไฟมอดและท้อใจไปหลายคนตามๆ กัน เพราะการร้องเรียนนั้นต้องใช้ความกล้าหาญเชิงศีลธรรมควบคู่กับการเรียกร้องสิทธิถึงที่สุดจึงจะชนะและได้รับความเป็นธรรม (ขออภัย บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะต้องการเหมารวมทุก มรภ. และทุกหน่วยงาน หรือบุคลากรทุกคนในสังกัด มรภ.ว่าไม่มีคุณภาพทั้งหมด)

เพราะฉะนั้น ในความเป็นจริงแล้ว มรภ. กำลังแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนบุคลากรที่เกิดจากการคัดสรรอย่างไม่เป็นระบบ ไม่มีแผนและไม่มีประสิทธิภาพตั้งแต่แรกติดต่อกันมาอย่างยาวนาน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เจอวิกฤติเงินรายได้จากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงและไม่สามารถหารายได้อย่างอื่นมาทดแทนได้ เพราะพึ่งพิงงบจากรัฐส่วนกลางมาตลอด และบริหารเงินรายได้ที่มาจากค่าหัวเด็กเพียงอย่างเดียว จึงส่งผลให้ไม่สามารถตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันในหลายๆ ที่
 
แต่กระนั้นก็ตาม ผู้เขียนยังมีความคิดเห็นต่างออกไปต่อประเด็น “การยุบสาขาและหลักสูตรที่ไม่จำเป็น เช่น หลักสูตรในแบบมหาวิทยาลัยใหญ่อย่าง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ การจัดการและเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น โดยให้ความสำคัญกับจุดแข็งและความชำนาญของตนเองจากการเป็นวิทยาลัยครูเดิม” ต่อประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หลักสูตรหลักๆ ในแบบที่เปิดมหาวิทยาลัยใหญ่ยังคงจำเป็นและได้รับการตอบสนองจากจำนวนผู้เรียนเป็นอย่างดีจากคนในท้องถิ่น เนื่องจากเพราะปัญหาความเลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง สิทธิและโอกาสในสังคมไทยที่สั่งสมมาอย่างยาวนานอย่างดังที่ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วในช่วงต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ทำไมหลักสูตรอย่างรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์และการจัดการถึงมีจำนวนนักศึกษาเข้าเรียนมากกว่าสายครุศาสตร์บางสาขา และมากกว่าสายเกษตรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เป็นเพราะผู้เข้าศึกษาเห็นว่าน่าจะเรียนจบง่ายกว่า แต่เป็นเรื่องของความต้องการเลื่อนสถานะทางชนชั้นในทางสังคมและเศรษฐกิจ และต้องการความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ เพราะพวกเขาต่างเห็นถึงความผันผวนของชีวิตความเป็นอยู่และรายได้จากการทำนาและทำไร่ของครอบครัว

ฉะนั้น การเข้ามาเรียนในหลักสูตรแบบมหาวิทยาลัยใหญ่อย่างเช่น รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ของคนในท้องถิ่นจำนวนมากเป็นเพราะบริบทสังคมพื้นฐานส่วนใหญ่ของพวกเขาแวดล้อมด้วยระบบราชการ ซึ่งนำมาสู่แรงจูงใจและความใฝ่ฝันว่าต้องการเข้ารับราชการ เพื่อยกระดับทางชนชั้น สถานะทางสังคม การสร้างความภาคภูมิใจและเกียรติให้แก่ครอบครัว ตลอดจนการมีโอกาสเข้าถึงสิทธิ โอกาสและทุนบางอย่างที่ตนและครอบครัวไม่เคยได้รับมาก่อน เช่น สวัสดิการจากรัฐ และโอกาสในการเข้าถึงการกู้ยืมจากสถาบันทางการเงินมากขึ้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะมีแนวทางการผลักดันการทำธุรกิจแบบ Start Up และการทำเกษตรแบบใหม่ อย่างเช่น smart farmer ก็ตาม

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับหนึ่งจึงจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น อาชีพข้าราชการที่มีความมั่นคงมากกว่าแม้จะได้เงินน้อยกว่าก็ยังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ต้องการเข้าศึกษาในระดับท้องถิ่น ประกอบกับค่าเทอมที่ถูกและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตและการมาเรียนใน มรภ. ที่ไม่ได้ทำให้ครอบครัวของผู้เข้ามาศึกษาต้องแบกรับภาระมากนักที่จะส่งลูกเรียนจนจบ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นด้วยกับประเด็นที่เสนอเรื่อง การปรับหลักสูตรของ มรภ. ร่วมกับภาคท้องถิ่นและภาครัฐราชการ (แต่ไม่ใช่แค่เพียงสายครู) รวมทั้ง การพัฒนาสื่อการสอนและกลยุทธ์การสอนแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และไม่สะดวกกับการเดินทางมาเรียนในทุกๆ วัน รวมทั้งไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในเรื่องที่อยู่ที่กินได้ เช่น ระบบ credits bank และ course online หรือสื่อการเรียนการสอนแบบทางไกลอื่นๆ ซึ่งทำให้ มรภ. ไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าเทอม แต่หันมาลงทุนกับสื่อการเรียนสอนให้มากขึ้นและการบริการการศึกษาที่มากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับท้องถิ่นและภาครัฐราชการ เช่น การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาท้องถิ่นผ่านการวิจัยและบริการวิชาการจริงๆ ไม่ใช่เน้นทำโครงการมาลงตอบตัวชี้วัด และหาประโยชน์รายได้จากการทำโครงการ มากกว่าการพยายามเปิดหลักสูตรขายที่มากมายเกินความจำเป็นและต้องวิ่งหาผู้เรียน ลดค่าปริญญาจากการลดจำนวนเวลาเรียน เพื่อหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เพิ่มขึ้น 

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า มรภ. ต้องปรับตนเองใหม่ให้รวดเร็วและมีคุณภาพ มองนอกกรอบออกไปและไกลตัวออกไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยยังคงยึดถือหลักการเดิมของการการจัดการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาให้แก่ทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมและท้องถิ่นที่แท้จริง โดยไม่จำเป็นต้องวิ่งไปตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาที่เน้นการทำหลักฐานขึ้นมาตอบรับและเน้นการได้แต้ม แต่คุณภาพจริงๆ ไม่มี

ผู้เขียนเห็นว่าถ้า มรภ. และบุคลากรใน มรภ.ปรับตัวและปรับคุณภาพจริง ทุกอย่างจะสามารถตอบประกันคุณภาพการศึกษาได้ในตัวของมันเอง ให้ระบบประกันคุณภาพเป็นเพียงแนวทางของการพัฒนา ไม่ใช่หลักค้ำคอให้รอดจากการถูกปิดหลักสูตรจะดีที่สุด และไม่หลงทาง  

แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนยังเห็นด้วยกับประเด็นการยุบหลักสูตรหรือแม้แต่ยุบหน่วยงานและคณะลงเพื่อลดค่าบริหารจัดการและค่าจ้างบุคลากรที่ไม่จำเป็นลง โดยเฉพาะเมื่อในความเป็นจริงแล้วจำนวนนักศึกษาลดน้อยลงจากจำนวนประชากรที่ลดลงและค่านิยมเรื่องการศึกษาที่เปลี่ยนไปของคนสมัยใหม่ ที่เน้นความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตและการประกอบอาชีพเพื่อดิ้นรนในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากกว่าการมีค่านิยมทางความรู้ ในขณะที่ การแข่งขันในตลาดการศึกษาที่สูงขึ้นยิ่งทำให้ มรภ. ไม่อาจหลบเลี่ยงจากชะตากรรมแบบ disruptive ในอนาคตได้ และอาจจะเจ๊งได้ในที่สุด หากไม่ปรับตัวอย่างมีคุณภาพจริงๆ


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์: ม.ราชภัฏจะเจ๊งหรือจะรอด คำถามและข้อเสนอทางออกในห้วงวิกฤต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net