Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สารคดีเรื่องการกำเนิดโบสถ์บูชาซาตานในสหรัฐฯ ประเทศที่เป็นโมเดลด้านเสรีภาพ เหล่าชาวคริสต์ทำอย่างไรเมื่อเสรีภาพทางศาสนา ความเป็นคริสเตียน และความหมายของศาสนาถูกท้าทายในเวลาเดียวกัน ชวนนึกถึงเพดานการตั้งคำถามกับศาสนาในไทยที่ย้อนแย้งและต่ำเตี้ย


คุณโกรธไหมเมื่อเห็นนักศึกษาแทนที่พระพุทธรูปด้วยอุลตร้าแมน

คุณคิดอย่างไรถ้ามุสลิมเชื่อว่า “หมูอยู่ในกระเพาะ อัลเลาะห์อยู่ในใจ”

หรือคิดอย่างไร ถ้าเปลี่ยนคำขวัญในธนบัตรสหรัฐฯ จาก In God We Trust เป็น In Satan We Trust

 
ในวันที่ศาสนาใหญ่ๆ บนโลกยึดครองมุมมองทางศีลธรรมเป็นเวลากว่าพันปี  ถ้าเรารู้สึกว่าในเสรีภาพทางศาสนาในไทยต่ำเตี้ยเรี่ยดินแล้ว ในประเทศที่เป็นโมเดลของเสรีภาพอย่างในสหรัฐฯ เมื่อหลักการเสรีภาพทางศาสนาถูกท้าทายด้วยกลุ่มคนที่อยากบูชา ‘ซาตาน’ คนอเมริกันเขาคิดเห็นกันอย่างไร

สารคดีเรื่อง Hail Satan? ที่กำกับโดยเพนนี เลน นำเสนอเรื่องราวของผู้บูชาซาตาน ว่าต้องเจออะไรบ้างเมื่อจะจัดตั้งศาสนา/ลัทธิ/ความเชื่อ (อะไรก็ตามแต่) ที่จะบูชาซาตาน นอกจากนั้น บทสะท้อนของสารคดีนี้ยังทิ่มแทงไปยังปัญหาใจกลางของสังคมไทยที่เหมือนจะเป็นรัฐฆราวาส แต่พลังทางสังคมกลุ่มก้อนใหญ่ก็พยายามปฏิเสธมันอยู่

 

เรื่องย่อ (spoiler alert):

 สารคดีเล่าเส้นทางก่อร่างสร้างตัวของโบสถ์ลัทธิบูชาซาตาน (The Satanic Temple หรือเรียกศาสนิกว่า Satanist) ที่เริ่มจากมัลคอล์ม แจร์รีและลูเซียน กรีฟส์ (รายหลังเป็นตัวเดินเรื่องหลัก) ที่เหมือนจะทำเพื่อเอาฮา กวนตีน เกรียนแตก แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่พวกเขาต้องการคือการท้าทายและตั้งคำถามกับศาสนาคริสต์ที่เป็นศาสนากระแสหลัก และท้าทายหลักการว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาในอเมริกา

กลุ่มบูชาซาตานนี้เริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกิจกรรมของพวกเขาไปกระตุกต่อมของคริสตศาสนิกชนบ่อยครั้งเข้า เช่น การนำคู่รักร่วมเพศไปจูบกันบนหลุมศพของแม่ผู้นำศาสนามอร์มอนคนหนึ่งที่ต่อต้านการมีตัวตนของโบสถ์ซาตาน ด้วยความเชื่อของซาตานิสต์ว่าการทำเช่นนั้นจะเปลี่ยนให้แม่ของผู้นำศาสนาคนนั้นเป็นเลสเบี้ยนในโลกหลังความตาย

 พิธีกรรมของซาตานิสต์มีส่วนที่คล้ายกับศาสนาคริสต์อยู่ แต่ว่ามีบรรยากาศและอารมณ์ต่างกันไป ส่วนนี้น่าจะเป็นจุดที่ไปกระทบคริสตศาสนิกชนโดยตรง อย่างการจัดพิธี “มิสซาสีดำ” ที่เดิมทีจะจัดกันเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แต่ก็ถูกคริสตศาสนิกชนคาธอลิกนับพันที่นำโดยสังฆราชประจำเมืองบอสตันเดินขบวนประท้วงจนต้องย้ายไปจัดกันที่คาเฟ่ตลกบนชั้นสองของภัตตาคารอาหารจีน เรื่องราวเหล่านี้ถูกตีแผ่ขยายโดยสื่อ และผู้เสพสื่อก็ช่วยกันโหมกระพือการมีอยู่ของโบสถ์ซาตานไปในวงกว้าง

 ความคับข้องใจของชาวซาตานิสต์มาจากการตั้งคำถามต่อวิธีคิดและการปฏิบัติของผู้นำและคริสตศาสนิกชน เริ่มจากข่าวอื้อฉาวของผู้นำโบสถ์คาธอลิคในเมืองใหญ่ ที่มีสถิติการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กจำนวนมากมานานหลายสิบปีแต่คอยปิดเรื่องนี้ไว้ใต้พรมตลอด กลายเป็นผู้ยึดกุมการให้นิยามว่าใครเป็นคนดีหรือคนเลว นำมาสู่การเริ่มต้นจัดตั้งและเคลื่อนไหว ให้ความหมายกับการเป็นซาตาน ที่เป็นมากกว่าศัตรูของพระเจ้า แต่คือการมีจิตวิญญาณของความเป็นขบถจากขนบของศาสนากระแสหลัก

 แม้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ กำหนดให้เป็นรัฐฆราวาส แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า มีคำว่า In God We Trust ปรากฏอยู่ในธนบัตร หรือในคำปฏิญาณที่บอกว่า เป็น “หนึ่งชาติ ใต้พระเจ้า (One nation under God)”  ทั้งหมดนี้หนังเฉลยว่าจริงๆ แล้ว เป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างเมื่อทศวรรษ 1950 ในยุคที่คนหวาดกลัวภัยนิวเคลียร์จากสหภาพโซเวียต หรือการมีแผ่นหินบัญญัติ 10 ประการ ของศาสนาคริสต์ปรากฎตามศาลาว่าการเมืองใหญ่ๆ ก็มาจากการแผนการโปรโมทหนัง The Ten Commandments (1956) ของค่ายหนังพาราเมาท์ พิกเจอร์

 ซาตานิสต์ก็ไม่พลาดที่จะยื่นเรื่องขอตั้งรูปปั้นซาตานหัวแพะ (บาโฟเมต) ข้างแผ่นหินบัญญัติ 10 ประการที่หน้าศาลาว่าการรัฐอาร์คันซอ เลยเถิดถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลและต้องการเผชิญหน้ากับสมาชิกวุฒิสภาและกลุ่มชาวคริสต์ผู้โกรธแค้น ที่บางคนขู่ว่าจะเอาปืนมายิงให้ตาย ไปจนถึงการเคลมว่า “ซาตานไม่มีสิทธิ (Satan has no rights)” ในขณะที่อีกด้านเหล่าซาตานิสต์กลับพยายามทำกิจกรรมอาสาต่างๆ ทั้งเก็บขยะตามถนน ชายหาด และบริจาคสิ่งของให้คนไร้บ้าน

การมีอยู่ของโบสถ์ซาตานเป็นบททดสอบสำคัญว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าไปทางไหน หลังจากที่เร็วๆ นี้รัฐบาลมีคำมั่นว่าจะผลักดันเสรีภาพทางศาสนาเป็นวาระหลัก ในวันที่รัฐพิธีหลายอย่างยังใช้ไบเบิ้ล คำว่า God ปรากฏหราอยู่ทุกที่ และมีประธานาธิบดีที่มีฐานเสียงจำนวนมากเป็นคริสเตียนคาธอลิคอนุรักษ์นิยมที่ไม่ยอมรับการมีอยู่ของมุสลิมและกลุ่ม LGBTQI การอยู่กับความแตกต่างอย่างสันติจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ศาสนาหรือรัฐธรรมนูญ อะไรจะใหญ่กว่ากันยังคงเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบทั้งจากในสารคดีและชีวิตจริง


สู่หนทางรู้แจ้ง กำหนดระเบียบ กีดกันคนเห็นต่าง ศาสนาคืออะไรกันแน่

Hail Satan? ใช้ฟุตเทจจากรายการข่าวเป็นตัวดำเนินเรื่องด้วยหลายหน ซึ่งสื่อมวลชนทำหน้าที่ที่ดีในฐานะตัวแทนสังคมที่หอบหิ้วคำถามต่างๆ ไปถามซาตานิสต์ คำพูดในข่าวหลายครั้งเป็นการหยิกให้ผู้ชมตระหนักถึงเรื่องของ “ตัวตน” ของซาตานิสต์ เช่นในตอนที่มีนักข่าวถามว่า “ถ้าเป็นอเทวนิยมแล้วทำไมถึงไม่บอกว่าตัวเองเป็นคนไม่มีนับถือศาสนา (Athiest)” ซึ่งก็ได้รับคำตอบจากซาตานิสต์คนหนึ่งว่า การบอกว่าไม่นับถือศาสนาเป็นการบอกว่าตัวตนของเขา “ไม่ใช่” อะไรบ้าง แต่การเป็นซาตานิสต์ได้เติมเต็มตัวเขาในการอธิบายว่าเขา “เป็น” อะไร

 ซาตานิสต์ไม่ได้เพิ่งจะมีครั้งแรก แต่ก่อนก็มีการเรียกขานผู้คนในนามซาตานหรือผู้แทนของซาตานมาก่อนแล้ว แต่เป็นเชิงของการใส่ร้ายป้ายสีในฐานะตัวแทนความชั่วร้าย ประชดประชันหรือล้อเลียน ถ้าเทียบกับประเทศเราก็น่าจะคล้ายๆ ผีปอบที่มีทั้งการตีตราทางสังคมและถูกเคลือบฉาบด้วยความเฟอะฟะในหนังตลกโปกฮา

 แต่ Hail Satan? แสดงให้เห็นชัดว่าการบูชาซาตานครั้งนี้ไม่ใช่การแปะป้ายจากคนอื่น แต่เป็นเจตจำนงของมนุษย์ที่เลือกบูชาซาตานด้วยตัวเอง สารคดีฉายภาพซาตานิสต์จากหลายพื้นเพ แต่สิ่งที่มีคล้ายคลึงกันคือการหาตัวตนไม่เจอในสังคมกระแสหลัก เช่น คนที่รู้สึกว่างเปล่าเมื่อเลิกนับถือศาสนาอิสลาม คนที่ไม่อินกับครอบครัวที่เป็นคริสตศาสนิกชนแบบเข้มงวด คนรักร่วมเพศ ไปจนถึงเหยื่อความหวาดกลัวการบูชาซาตานในทศวรรษ 1950 ที่ถูกกีดกันจากสังคมเพียงเพราะชอบเล่นบอร์ดเกม Dungeon and Dragon และฟังเพลงเมทัล 2 สัญลักษณ์ที่ถูกตีตราว่าเชื่อมโยงกับลัทธิบูชาซาตาน (ในแบบที่ชาวคริสต์เชื่อ)

 ซาตานิสต์บางคนมีการตีความเรื่องราวในไบเบิ้ลต่างไป เช่น การมองว่าการกินผลไม้แห่งปัญญาของอีฟเป็นการปลดเปลื้องพันธนาการจากการเป็นทาสจากพระเจ้าไปชั่วนาตาปี บางคนบอกว่า นี่คือพื้นที่ที่ทำให้เขาได้ “แสวงบุญ (Pilgrimage)”  และหาตัวตนข้างในได้พบ และนั่นก็คือหน้าที่ดั้งเดิมของศาสนาในแบบที่เขาเชื่อ ในขณะเดียวกัน โบสถ์ซาตานก็เริ่มกำหนดตัวตนของตนเองได้เมื่อมีคนเอาด้วยเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนตกตะกอนเป็นข้อปฏิบัติ 7 ประการของโบสถ์ซาตาน

ความเชื่อพื้นฐาน 7 ประการ

1. ควรดำเนินชีวิตด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดตามเหตุและผล
2. การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเป็นธรรมเป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ และจำเป็นจะต้องทำต่อไปแม้กฎหมายและสถาบันทั้งหลายไม่เอื้อ
3. ร่างกายของบุคคลนั้นจะล่วงละเมิดไม่ได้ และขึ้นอยู่กับเจตจำนงของบุคคลนั้นๆ เท่านั้น
4. เสรีภาพของผู้อื่นจะต้องได้รับการเคารพ รวมถึงเสรีภาพในการที่จะดูหมิ่น  การล่วงละเมิดเสรีภาพของคนอื่นอย่างสมัครใจและไม่เป็นธรรม เท่ากับละทิ้งซึ่งเสรีภาพของตนเอง
5. ความเชื่อต่างๆ ควรจะสอดคล้องกับความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และโลก เราไม่ควรเลยที่จะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของเรา
6. คนล้มเหลวกันได้ ถ้าเราทำผิดพลาดก็ควรพยายามแก้ไขอย่างถึงที่สุด และเยียวยาความเสียหายที่ได้เกิดขึ้น
7. ความเชื่อข้างต้นเป็นหลักการที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้มีเกียรติในความคิดและการกระทำ

     ถ้าทอดตามองโลกนอกหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการไทย จะพบว่านิยามของศาสนายังไม่มีความหมายที่ตายตัว อาจพูดได้กว้างๆ ว่าเป็นชุดความเชื่อที่ผูกโยงอยู่กับอะไรบางอย่างทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น การนิยามไม่ชัดอาจเป็นพื้นที่ให้มนุษย์คนหนึ่งตัดความเชื่อให้เข้ากับตัวเองเหมือนตัดเสื้อสูท อย่างที่ลีโอ ตอลสตอยเขียนไว้ในหนังสือเรื่อง คำสารภาพ: ศาสนาและศีลธรรม กฎแห่งความรักและกฎแห่งความรุนแรง ว่า

     

    “สารัตถะของศรัทธาใดๆ กอปรอยู่ในความหมายของชีวิตที่ให้มาโดยไม่สูญสิ้นไปพร้อมกับความตาย ศรัทธาจะต้องมีคำตอบให้กับคำถามของซาร์ ผู้กำลังจะสิ้นใจอยู่ท่ามกลางความโอ่อ่าหรูหรา ของทาสชราผู้ทำงานไม่ไหว ของหญิงชราผู้โง่เง่า ของหญิงสาวผู้มีความสุข และของชายหนุ่มผู้ถูกเผาผลาญด้วยตัณหา”

     หน้าที่และตัวตนของความเชื่อและศาสนายังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่คำถามที่สำคัญคือสังคมหนึ่งๆ อนุญาตให้การถกเถียงเกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะสังคมที่เคลมไปแล้วว่าศาสนาใดเป็นพระเอก อะไรเป็นตัวอิจฉา โบสถ์ซาตานที่กำลังผลักเพดานการมองศาสนาในมุมต่างๆ เฉกเช่นเมื่อพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา แต่รอบนี้บทบาทของคริสตศาสนามีบทเล่นต่างไปจากเมื่อ 2 พันกว่าปีที่แล้ว

     
    ที่มาภาพ: Fanpage Friends of The Satanic Temple- Detroit

    สังคม-รัฐที่เปิดกว้างย่อมยอมรับซาตาน

     อีกหนึ่งเรื่องที่น่าพูดถึงใน Hail Satan? คือการเกิดขึ้นของซาตานอีกตัว เมื่อสาขาโบสถ์ซาตานในเมืองดีทรอยต์เริ่มเปลี่ยนแนวคิดไปจากข้อปฏิบัติ 7 ประการ ด้วยการเริ่มใช้แนวคิดความรุนแรง เอาหัวหมูมาเสียบเหล็กแหลม ประกาศจะปลดเปลื้องการกดขี่จากสังคม ไปไกลจนถึงจะสังหารประธานาธิบดี (โดนัลด์ ทรัมป์) ทำให้โบสถ์ซาตานสาขาใหญ่ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับสาขาดีทรอยต์เพื่อไม่ให้ศาสนาซาตานิสต์ถูกมองเป็นอื่น เรื่องนี้ก็ยิ่งเป็นภาพสะท้อนเรื่องการผลักเพดานของมุมมองต่อศาสนาและความเชื่อ ซาตานิสต์ (สาขาใหญ่) ที่เริ่มมีความเป็นสถาบันก็เล่นบทเป็นพระเอกที่จะกำหนดขอบเขตของสังคมของซาตานิสต์เช่นกัน และคนที่อยู่ในสังคมซาตานิสต์ไม่ได้ก็ออกไปสร้างสังคมของตัวเองอีก เหมือนเป็นซาตานตัวใหม่อีกตัว

     สังคมและศาสนามีความเกี่ยวพันกันมานานนม แต่อายุของศาสนากระแสหลักที่ยืนยาวกลับยิ่งเป็นแรงต้านให้ความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นมา ในหลายประเทศ แรงต้านเหล่านี้ไม่เพียงแต่ได้รับการส่งเสริมจากพลังทางสังคมและวัฒนธรรม กฎหมายและการเมืองกลับไปเสริมอำนาจนำของศาสนาหนึ่งอย่างที่เราเห็นในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซียหรืออินโดนีเซีย นัยหนึ่งยิ่งสร้างความเข้าใจต่อคำว่า “ศาสนา” ให้เป็นของความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง ราวกับตัดสูทศาสนาให้พุทธ คริสต์ อิสลามสวมใส่ ศาสนิกต่างฟินและชื่นชมและเชิดชูอาภรณ์ประดับเหล่านั้น

     ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย กระแสความไม่พอใจของชาวพุทธต่อภาพวาดที่แทนที่พระพุทธรูปด้วยอุลตร้าแมนนั้น ไม่ว่าผู้วาดจะมีเจตนาอะไรก็ตาม การปะทะกันของมุมมองเกี่ยวกับศิลปะและศาสนาในสังคมได้สะท้อนปัญหาใจกลางของประเทศที่มีความย้อนแย้งในเรื่องการเป็นรัฐฆราวาสตามรัฐธรรมนูญ เหมือนจะเปิดกว้างทางศาสนาด้วยการประกันสิทธิเสมอภาคเท่ากันตามรัฐธรรมนูญ บอกว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้อุปถัมภ์ทุกศาสนา แต่ก็มีผู้ใหญ่จำนวนมากเข็นให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แถมฝ่ายความมั่นคงยังไปตรวจเก็บข้อมูลชาวมุสลิมแบบไม่เลือกหน้าเพราะกลัวว่าจะเกี่ยวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จ. ชายแดนใต้อีก

     

    แล้วเราจะอยู่ท่ามกลางความเชื่อที่หลากหลายได้จริงไหม? จะเริ่มจากตรงไหนดี?

     สำหรับผม ถ้าจะตั้งต้นเป็นรัฐฆราวาส ก็ควรแยกศาสนาออกไปจากการเมืองให้ชัดเจน เท่ากับว่าถ้ารัฐธรรมนูญประกันสิทธิให้คนเสมอหน้ากันและแสดงออกได้อย่างเสรี ก็ควรเปิดกว้างต่อการถกเถียงทางศาสนาได้มากขึ้น การโต้เถียงของชาวเน็ตจำนวนมากที่ปรากฏขึ้นในกรณีภาพวาดอุลตร้าแมนค่อนข้างเป็นหลักฐานว่ามีพลังทางสังคมในไทยที่ไม่อินกับความเชื่อหรือความเหมาะสมตามกรอบศาสนาในแบบเดิม

     แต่ที่ทางของคนเหล่านั้นนอกโซเชียลมีเดียมีมากน้อยขนาดไหน เช่น การตั้งคำถามถึงศาสดาและคำสอน การล้อเลียนเสียดสี ไปจนถึงการแสดงความไม่พอใจกับรัฐพิธี ราชพิธี ศาสนพิธีที่ไม่ได้ทำให้คนคิดต่างรู้สึกว่าสังคมนี้เป็นที่ของพวกเขา เรื่องเหล่านี้ถูกตั้งคำถามได้โดยไม่ต้องกลัวถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งศาลสูงและศาลเตี้ยหรือไม่ สังคมที่คนคิดต่างสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้แบบเงียบๆ  เราจะเรียกสังคมแบบนั้นเป็นการยอมรับความแตกต่างได้จริงหรือ

     นอกจากผลักภาระไปที่ปัจเจกบุคคล อย่างน้อยรัฐเริ่มต้นได้จากการเป็นผู้นำในการรณรงค์ ยกระดับบรรทัดฐานของมุมมองต่อศาสนาผ่านภาษาที่ใช้ ตำราเรียน ความเชื่อที่แฝงฝังในรัฐพิธี ราชพิธีต้องถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ได้โดยปลอดภัย ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิและเหยียบย่ำความเชื่อเป็นข้ออ้างที่เบาบางมากเมื่อสาธารณชนไม่ได้ถกเถียงกันอย่างเปิดเผยและขีดเส้น กำหนดความหมายของการละเมิดสิทธิและความเชื่อทางศาสนาร่วมกันอย่างที่ชาวยิวในยุโรปได้กระทำในประเด็น Holocaust ประเทศนี้มีคดีเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางศาสนากี่ครั้งเชียว การไม่พูดถึงความแตกต่างยิ่งจะบ่มเพาะช่องว่างความไม่เข้าใจกันให้มากขึ้น

     พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ ฯลฯ ไม่ได้เป็นภาพแทนของ “ศาสนา” ฉันใด การมีอยู่ของ “ซาตาน” ไม่ใช่การทำให้ศาสนาดูประเสริฐขึ้นฉันนั้น ซาตานดำรงอยู่ในฐานะฟันเฟืองทางความคิด ให้ภารกิจการตามหาแก่นแท้ของการใช้งานความเชื่อและศาสนาเป็นไปตามเป้าประสงค์ของคนๆ หนึ่ง

     สังคม คน รัฐต้องไม่กลัวซาตาน

     
     

    ข้อมูลเพิ่มเติมจาก: https://thesatanictemple.com/

     

    Hail Satan? จัดฉายโดย Documentary Club จะเริ่มฉายวันที่ 26 กันยายนเป็นต้นไป ที่

    SF เซ็นทรัลเวิลด์ คริสตัลเลียบด่วน เมญ่าเชียงใหม่ (จองบัตรได้ที่ app : SF Cinema หรือ https://www.sfcinemacity.com/movie/HO00000620)

    Bangkok Screening Room (จองบัตรได้ที่​https://bkksr.com/th/movies/hail-satan) 3 ตุลาคมเป็นต้นไป ที่ House สามย่าน (ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์) และ 10 ตุลาคมเป็นต้นไป ที่ LIDO CONNEC

     

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net