Skip to main content
sharethis

วงเสวนามอง 6 ตุลา 2519 กับความรุนแรงในการเมืองร่วมสมัย ยังพบจุดร่วมเยอะ การไล่ล่ายังมีอยู่ รัฐไทยไม่อนุญาตให้คนวาดฝันทางการเมือง ชีวิต มุมมองจากชายแดนใต้ที่ความเป็นธรรมถูกบี้บิดและมองข้าม 43 ปี ความรุนแรงเปลี่ยนรูป แต่ยังเป็นเรื่องชนชั้นนำที่ดื้อดึงตั้งแต่การไม่นำคนผิดมาลงโทษ-เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง มอง 6 ตุลาผ่านภาพถ่าย สื่อสายตาที่ซื่อสัตย์แต่บิดเบือนได้

ซ้ายไปขวา: ธนาวิ โชติประดิษฐ์ นวลน้อย ธรรมเสถียร พูนสุข พูนสุขเจริญ เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว ภาสกร อินทุมาร

6 ต.ค. 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนา “ถึงงิกฤตการเมืองร่วมสมัย: สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน” มีนวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอาวุโส เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว  อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ธนาวิ โชติประดิษฐ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินการเสวนาโดยภาสกร อินทุมาร อาจารย์สาขาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ขึ้นมากล่าวเปิดว่า ความโดดเด่นของ 6 ตุลา 19 คือความโหดเหี้ยมอำมหิตต่อคนที่มีความคิดต่างทางการเมืองไม่มีทางสู้ ยังไม่ต้องพูดถึงการนำคนผิดมาลงโทษด้วยซ้ำ เพราะคนตายกี่คนก็ยังไม่แน่ชัด วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดมีจนถึงทุกวันนี้และในวันนี้ดูจะรุนแรงกว่าเก่าด้วยซ้ำ คนเห็นต่างทางการเมืองกว่าทศวรรษเศษที่ผ่านมา นอกจากจะถูกไล่ล่าในลักษณะต่างๆ จำนวนหนึ่งต้องลี้ภัยในต่างประเทศ การเอาตัวให้รอดในประเทศที่ลี้ภัยอยู่ก็ต้องคิดหนัก ต้องประสานองค์กรระหว่างประเทศ พัฒนาเอกชนระหว่างประเทศต่างๆ อนาคตอันใกล้นี้ยังไม่เห็นโอกาสในการได้กลับมา คำว่า เรายังคงฆ่ากัน บางคนบอกว่าเรายังคงถูกฆ่า เพราะเราไม่ได้ไปฆ่าใคร อยากให้วิเคราะห์ปัญหาว่าคืออะไร ทำอย่างไรให้สังคมไทยโอบรับความแตกต่างทางความคิด โดยเฉพาะจินตนาการทางการเมืองที่ไม่เหมือนกันอย่างที่สังคมอารยะและเป็นประชาธิปไตยควรเป็น

มองการไล่ล่าที่ยังมีอยู่ผ่านผู้ลี้ภัย เมื่อรัฐไทยไม่อนุญาตให้คนวาดฝันทางการเมือง

เบญจรัตน์กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่หนีไปหลังรัฐประหาร 2557 ก่อนหน้านี้มีจำนวนไม่กี่คนที่หนีไปหลัง พ.ค. 2553 ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการจะไปประเทศที่ 3 ได้สถานะผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา อยากพูดเรื่องการคุกคามชลิตา บัณฑุวงศ์ จากที่พูด 20 นาที มีประโยคเดียวที่พูดว่าการแก้ปัญหาต้องมีพื้นที่พูดคุยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ อาจจะรวมถึงมาตรา 1 เรื่องรูปแบบของรัฐด้วย เรื่องนี้ทำให้ชลิตาถูกขู่ฆ่า ถูกแจ้งความ

ถอดคำ ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ ในเวทีเสวนา 7 พรรคฝ่ายค้านสัญจรภาคใต้

อะไรทำให้สังคมไทยอ่อนไหวกับข้อเสนอนั้นได้ขนาดนั้น กรณีชลิตาไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ความคิดแบบไหนที่ทำให้เขาตาย ไม่ต่างกันเลยตั้งแต่ 6 ตุลา พค 53 แล้ะดวยการเชียร์ของสังคมไทยจำนวนหนึ่งที่ออกมาบิ๊กคลีนนิ่งแล้วก็จบกันไป

เบญจรัตน์เล่าเรื่องราว 8 ผู้ลี้ภัยที่หายตัวไป เริ่มจากอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ชูชีพ ชีวะสุทธิ หรือลุงสนามหลวง สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ  ไกรเดช ลือเลิศหรือสหายกาสะลอง รวมทั้งการข่มขู่ฆ่ากลุ่มไฟเย็น วงดนตรีที่ลี้ภัยในลาว ก่อนจะได้ลี้ภัยไปที่ฝรั่งเศส นอกจากนั้นยังมีคนเสื้อแดงที่ลี้ภัยในลาว และหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ก็ยังโดนชายฉกรรจ์ไปขู่ว่าจะกลับไทยไปมอบตัวหรือถูกฆ่า และยังนำเสนอโพสท์ของหมอเหรียญทองที่บอกว่าพร้อมจ่ายเงินให้คนที่ฆ่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้น

น้ำดื่มขวดนี้ไม่มีขาย ผู้สูญหาย(ที่ขัดแย้งกับรัฐ)ก็ยังหาไม่เจอ

รู้จัก ‘ลุงสนามหลวง’ ชูชีพ ชีวสุทธิ์ – เส้นทางวิทยุใต้ดิน - กลุ่มเหยื่อสหพันธรัฐไท

ผล DNA ยืนยัน ศพลอยแม่น้ำโขงเป็นคนสนิท อ.สุรชัย

เผยสมาชิก 'วงไฟเย็น' ได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากประเทศลาวแล้ว

เบญจรัตน์เล่าต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าความคิดแบบไหนที่ทำให้คนตายหรือคนหาย นอกจากรัฐก็ยังมีคนที่ต้องการจัดการความคิดเหล่านี้ด้วยความรุนแรง สังคมไทยไม่ยอมเปิดให้การถกเถียงหน้าตาของรัฐไทยเลย เราไม่สามารถจินตนาการถึงความเป็นชาติแบบอื่นได้ เมื่อใดที่มีการจินตนาการและนำเสนอก็ถูกไล่ล่า ถูกสังหาร ยิ่งลี้ภัยแล้วมีอิสระในการพูดก็วิจารณ์กลับในทางที่แรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกกระทำมา ในวันนี้เห็นแล้วว่าการฆ่าคนคิดต่างไม่ได้เป็นการฆ่าความคิดนั้น ในช่วงที่มีการขู่ฆ่าในลาวนั้นมีบรรยากาศความกลัว พวกเขาไม่ออกจากบ้าน ผลัดกันเป็นเวรยาม อาจมีออกไปกินข้าวนิดหน่อย หรือไม่ก็ให้คนซื้อข้าวมาให้ แต่พวกเขาไม่เคยหยุดพูด ยิ่งถูกทำให้อับจนหมดหนทาง พวกเขายิ่งพูด

เราไม่เคยเรียนรู้อย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้นใน 6 ตุลา คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่รู้ นักศึกษาหลายคนที่สอนก็ไม่รู้แล้ว สังคมไทยแทบไม่ถกกันอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้น กรณี พ.ค. 2553 สะท้อนว่าไม่มีกระบวนการเช่นนั้น ในช่วง 6 ตุลา นักศึกษาถูกฆ่าเพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกันกับที่อื่นในภูมิภาค เวลาผ่านไป ไม่มีคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็ง แต่ก็มีการสร้างผีตัวใหม่ๆ ใครที่วิจารณ์ หรือบอกว่าต้องมีการแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นศัตรูของรัฐ บรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองจากการสร้างรัฐไทย ชาติไทยแบบเดียวที่เข้มข้นนำไปสู่ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างเรื่อยๆ ช่วงก่อนปี 2540 เรารู้สึกว่ามีความเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตยเยอะ แต่ก็ยังไม่ได้ทบทวนเรื่องความเป็นชาติ ความเป้นรัฐไทยในทางวิธีคิดและวัฒนธรรม

บทสะท้อนจากชายแดนใต้: ชีวิต มุมมองในระบบบิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรมที่ยาวนาน

นวลน้อยกล่าวว่า พื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้ เป็นตัวอย่างความรุนแรงที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ความรุนแรง หนึ่งทำให้เกิดความรุนแรงอีกอัน ความพยายามในการระงับความรุนแรงยังไม่ถึงไหน ความพยายามที่ผ่านมาก็บ่งบอกทัศนะของการแก้ปัญหาที่ผูกโยงอยู่กับความเป็นประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจนมาก ช่วง 15 ปีที่ผ่านมามีมากกว่า 1 หมื่นเหตุการณ์ทั้งใหญ่และเล็ก มีทั้งความตาย การซ้อมทรมาน ความตายที่พิสดารในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ เช่น ความตายของอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ

'อับดุลเลาะ อีซอมูซอ' เสียชีวิตแล้ว หลังจากพักรักษาตัวจากอาการช็อกหมดสติในค่ายทหาร รวมเวลา 35 วัน

นวลน้อยเล่าว่า เหตุการณ์ต่างๆ ใน 3 จ.ชายแดนใต้ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดดๆ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทปัญหาสังคมไทยทั้งสิ้น ย้อนไปเมื่อปี 2518 หลัง 14 ตุลา 2516 เป็นช่วงที่การเมืองไทยกำลังไล่ล่าคอมมิวนิสต์ มีพระสงฆ์ท่านหนึ่งที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป การปราบปรามในนามการจัดการคอมมิวนิสต์เกิดขึ้นทั่วประเทศ ในพื้นที่ 3 จ. ภาคใต้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน มีทั้งการฆ่า การปราบและการปรามที่เราไม่ได้รับรู้มาก่อน ในช่วงหลัง 14 ตุลา นักศึกษาได้ช่วยทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นที่ได้ยินมากขึ้น มีกระแสการรื้อฟื้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดก่อนหน้านั้น

ในวันที่ 29 พ.ย. 2518 มีชาวบ้าน 6 คนถูกเจ้าหน้าที่สกัดแล้วนำตัวเข้าไปในค่าย จากนั้นนำตัวมาขึ้นรมยีเอ็มซี ระหว่างทางถูกรุมทำร้ายจนตายแล้วเอาศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ คนในภาคใต้เรียกว่าเหตุการณ์สะพานกอตอ แต่มีคนหนึ่งที่อายุ 14 ปี รอดชีวิตมาชื่อซือเม บราเซะ เขาว่ายน้ำไปขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเพราะว่าเป็นช่วงมืดและซือเมก็เลือดโซมตัว มีบางคนปามีดใส่ด้วยซ้ำ สะท้อนว่ามีภาวะความไม่ไว้วางใจว่ามีมานานแล้ว

ต่อมาซือเม บราเซะ ผู้เป็นพยานเหตุการณ์สะพานกอตอ ถูกคนที่ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมนำตัวเขามาขึ้นเวทีที่สนามหลวงที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา เขาก็มาเล่าเรื่องเหตุการณ์สะพานกอตอ สาเหตุจะมาจากอะไรก็ตามแต่ แต่การมีคนที่รอดชีวิต เล่าเหตุการณ์ที่สดใหม่ ตอกย้ำว่ามีบาดแผลแบบนี้เกิดขึ้นมากแล้ว เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย มีนักศึกษามุสลิมในช่วงนั้นที่ได้จัดการชุมนุมขึ้นที่ จ.ปัตตานีโดยมีคนในพื้นที่สนับสนุน ชุมนุมได้ 3 วันก็มีระเบิดลง ตายไป 12 คน เจ็บอีกหลายสิบ จากนั้นมีการเอาศพออกมาแห่แล้วย้ายการชุมนุมจากศาลากลางไปยังมัสยิดกลาง ยิ่งมีคนตายเพิ่ม คนไปชุมนุมก็ยิ่งเพิ่มขึ้น หลายคนประเมินว่าเป็นหมื่นคนถึงแสนคน คนชุมนุมมีทุกสาขาวิชาชีพ มีทุกวัย ช่วงปลายปีถึงต้นปีจะเป็นช่วงที่ฝนถล่มมากในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่คนก็ไปชุมนุมทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างไม่ย่อท้อ เนื่องจากมีระเบิด ก็มีการจัดตั้งในกลุ่มประชาชนที่ไป ทุกคนก็คงพยายามเตรียมตัวรับเหตุร้าย มีการระดมการ์ดในหมู่คนไปชุมนุมด้วยกัน การชุมนุมหนนั้นยาวนาน 45 วัน ถือว่ายาวนานที่สุดในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้

มีรายละเอียดในการชุมนุมมากมาย เช่น มีนายทหารคนหนึ่งขับทหารเข้าไปในฝูงชนแล้วโดนรุมประชาฑัณฑ์จนตายไป ทำให้เหตุการณ์ระอุมาก มีทหารเอารถยีเอ็มซีเคลื่อนตัวมาจากค่ายทหาร เป็นการชุมนุมที่เครียดมากและคนก็ยืนหยัดมาก มีคนเล่าว่าช่วงกลางคืน ฝนตกหนักและมืด ถ้าฉายไฟไปจะพบว่าผู้ชุมนุมถือไม้ยาวกันทุกคน แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธี แต่พวกเขาก็กังวลว่าความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นกับเขาได้ตลอดเวลา รัฐบาลยุคนั้นคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ก็ไม่ได้อาศัยจังหวะแก้ปัญหาในวิถีทางการเมือง คนเรียกร้อว่าคุยกับตัวแทนนายกฯ ไม่ได้ผลอะไร อยากคุยกับนายกฯ มากกว่า แต่นายกฯ ก็ไม่ลงไป แถมให้สัมภาษณ์ว่าไปงานฝังลูกนิมิตรยังดีเสียกว่า ก็ยิ่งกระพือความไม่พอใจกับผู้ชุมนุม

ข้อเสนอรัฐบาลที่จะทำอะไรให้ดีขึ้น ในเวลาต่อมาก็ไม่ได้เกิดขึ้น วิธีแก้ปัญหาเหตุการณ์สะพานกอตอก็พยายามแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเยียวยาครอบครัวซือเม บราเซะ ครอบครัวถูกเสนอให้รับเงิน 5 หมื่นบาท แต่ครอบครัวนั้นมีคนตายในเหตุการณ์ถึง 3 คน ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ต้องการเงิน แต่ต้องการความยุติธรรม ความเป็นธรรม

นวลน้อยยังเล่าเรื่องของเหตุการณ์ตากใบว่า เธอเคยจัดอบรมสื่อแล้วมีหลายคนอยากทำเรื่องตากใบ แต่พอมีคนไปถ่ายทำใกล้ๆ สถานีตำรวจตากใบซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ ก็มีเสียงย้อนกลับมาว่าทำไมถึงอยากรื้อฟื้นเรื่องเก่า แต่เรื่องเก่านั้นมันไม่ได้ปิดในแบบที่ควรจะเป็น เรารู้กันว่าเหตุการณ์ตากใบมีคนตาย 85 คน ตายบนรถเพราะถูกทำให้นอนทับซ้อนกันระหว่างการขนส่ง 78 คน กระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นเครื่องมือเยียวยาความรุนแรง แต่กระบวนการเริ่มต้นที่เป็นการไต่สวนการตายในชั้นศาลกลับไม่มีเลย กรณีตากใบ ศาลจังหวัดสงขลาบอกว่า สาเหตุของการเสียชีวิตมาจากการขาดอากาศหายใจ กลายเป็นเรื่องล้อเลียนกันในพื้นที่ว่าอากาศเป็นตัวผิด คณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติสนับสนุนให้มีการทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการทำรายงานนำมาสู่การโยกย้ายเจ้าหน้าที่ทหาร 2-3 ท่าน ชาวบ้านบอกประชาชน 85 คนตาย แต่ว่าไม่มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ชุมนุม 58 คนกลับถูกดำเนินคดี

14 ปี ตากใบ 'ประชาชาติ' หวังการพูดถึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้นก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

มีกระบวนการไกล่เกลี่ยที่นำมาสู่การเยียวยาในทางตัวเองอีกแล้ว แต่ว่ามีการถอนฟ้องพร้อมทำบันทึกข้อตกลงว่าประชาชนจะไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่กลับ ประเด็นนี้เป็นน้ำที่ขุ่นคลั่กในพื้นที่นานมาก ก็มีความพยายามเดินเรื่อง สะสางข้อเท็จจริงว่าฟ้องได้หรือไม่ได้ จนกระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตกลงว่าจริงๆ แล้วพวกคุณยังฟ้องได้ แต่พอถึงเวลาที่จะเอาเข้าจริง เชื่อว่ามีการประชุมระหว่างชาวบ้านพร้อมกับ กสม. ในชุดนั้นหลายครั้ง ท้ายที่สุดไม่มีการฟ้อง คนในพื้นที่อยู่กับความรุนแรงนานมาก อยู่กับการที่คนกระทำผิดไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับเขาเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ตกผลึกใน DNA ของพวกเขาว่าจะเอาชีวิตรอดอย่างไรในพื้นที่แบบนี้ที่ละครเรื่องนี้ไม่จบ และคุณก็อยู่ในนั้นด้วย ก็กลายเป็นรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง มุสลิมก็ใช้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

เคยทำสารคดีเรื่องคนๆ หนึ่งที่ถูกล้อมจับพร้อมกับคนอื่นๆ รวม 10 คน เขาถูกซ้อมหนักจนร่อแร่ก่อนนำตัวไปที่สถานีตำรวจและค่ายทหารแต่ไม่ได้รับการเยียวยารักษา อีกวันหนึ่งมีคนที่บาดเจ็บสาหัสไปปรากฏตัวที่โรงพยาบาล แล้วไม่รู้ว่าเป็นใคร ที่ไหน อยู่ๆ ก็ไปนอนที่นั่น โรงพยาบาลปัตตานีก็รักษาและส่งตัวให้โรงพยาบาลยะลาที่มีเครื่องมือครบกว่า แต่ก็เสียชีวิตที่นั่นและถูกลงชื่อว่าเป็นศพนิรนาม แต่บังเอิญว่ามีคนที่คุ้นหน้า เลยลองแจ้งข่าวให้พ่อแม่ทราบ ปรากฏว่าศพนั้นชื่ออัสฮารี สะมะแอ จากศพนิรนามก็กลายเป็นคนที่มีชื่อขึ้นมา ครอบครัวอัสฮารีใช้เวลาในการต่อสู้ 5 ปี ในที่สุดนำมาซึ่งการทำงานร่วมกันหลายองค์กร จนได้คำสั่งศาลว่าความตายของอัสฮารีเกิดจากการซ้อมทรมาน

การตายแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ว่าคำอธิบายก็จะจบลงอย่างที่นายกฯ ประยุทธ์ในสภาที่บอกว่าลื่นล้มในห้องน้ำ แล้วก็มาบอกว่าโดนซ้อม (กรณีอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ) ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่คึกฤทธิ์พูดตอนนั้นที่ยิ่งทำให้ทุกอย่างกระพือโหมความรุนแรงมากขึ้น ความรู้สึกเจ็บปวดของคนที่ฟังนั้นรุนแรง เคยถามแม่ของอัสฮารีว่าไม่คิดจะเดินเรื่องในทางอาญาเหรอ แม่บอกว่าแค่นี้พอแล้ว เพราะในช่วงเวลา 5 ปี จากคนที่พูดไทยไม่ค่อยได้ ก็ต้องหัดใช้ภาษาไทย จากคนที่อยู่แต่ในหมู่บ้าน ต้องหัดขับรถเพื่อตามเรื่องตัวเอง เดินทางไปทั่วเพื่อขอความเป็นธรรม ต้องใช้ความพยายามเยอะมากในการให้ได้รับการเยียวยา เขาก็บอกว่าพอแล้ว เรื่องที่เหลือก็เป็นเรื่องของพระเจ้า

ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง ไม่ปฏิเสธว่าชาวพุทธในพื้นที่ถูกกระทำเยอะมาก เป็นการใช้ภาษาของความรุนแรงเพื่อประท้วงว่าคุณทำได้ เราก็ทำได้ สิ่งสำคัญคือต้องแก้ไขที่ต้นตอ แต่การแก้ไขที่ต้นตอในวันนั้นมันเกิดขึ้นหรือไม่ วันนี้เรามีการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แต่ว่าบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพนั้นมันเอื้อหรือไม่ เรามีข้าราชการที่พยายามอย่างมากที่จะทำงาน แต่ว่าตอบโจทย์หรือไม่ พื้นที่ชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่ทดลอง เป็นพื้นที่หาผลงาน เคยคุยกับนายทหารที่ทำงานให้กลุ่มเยาวชนจัดรายการวิทยุ การลงไปทำหน้าที่แบบนี้มีเยอะมาก มีการลงไปแล้วก็คิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา คำถามก็คือ โครงการพาคนกลับบ้านมีผลช่วยเหลืออย่างไรกับการสร้างบรรยากาศ ในขณะที่เราเห็นกรณีอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอที่อธิบายไม่ได้ กรณีคณากร เพียรชนะ (ผู้พิพากษาที่ยิงตัวเอง) ที่ถ้าอ่านไม่ดีจะพบว่าเป็นการถูกแทรกแซงจากอธิบดี แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่ามีความบกพร่องในระบบ ที่คนตรงไปตรงมาไม่สามารถทำหน้าที่ได้

เปิดคำแถลงของผู้พิพากษา จ.ยะลา ก่อนก่อเหตุยิงตัวเอง ขออย่าแทรกแซงและความเป็นธรรมทางการเงิน

เอกสาร 25 หน้าของคณากร ตัดสินคดีฆ่าที่บันนังสตา 5 ศพ เขาตัดสินปล่อยตัวจำเลยทั้งหมด แต่ได้รับแรงกดดันให้ตัดสินประหารชีวิตและจำคุกตลอดชีวิต เขาบอกว่าทำไม่ได้เพราะพยานหลักฐานไม่มากพอ หลักฐานจำนวนหนึ่งที่ได้มามีพิรุธทั้งสิ้น มีพยานซัดทอดที่ได้จากการล้อมจับที่บอกไม่ได้ว่ามีเหตุล้อมจับอะไร เขาบอกว่าพยานคนนี้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ แต่กลับไม่ถูกฟ้อง ในขณะเดียวกัน บอกว่าติดต่อกับจำเลยคนที่เหลือทางโทรศัพท์แต่ไม่มีหลักฐานว่าโทรศัพท์นั้นเป็นของเขาจริงๆ จำเลยทั้ง 5 ให้การในชั้นถูกควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึกและ พรก. ฉุกเฉิน ในค่ายทหาร ซึ่งไม่ได้รับการประกันสิทธิสักเท่าไหร่ ในแถลงการณ์ของผู้พิพากษาคนดังกล่าวบอกว่า เท่ากับว่าคนที่ถูกตั้งข้อสงสัยไม่มีสิทธิมากเท่ากับผู้ต้องหา สิ่งเหล่านี้จึงไม่รับฟัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในยุคก่อนหน้านี้ แต่ในสมัยหลังๆ เทรนด์เหล่านี้มักถูกกลับ จึงบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เอกสาร 25 หน้าของคณากรบ่งบอกถึงความพกพร่องของระบบยุติธรรมที่ไม่สามารถถูกใช้มาเยียวยาได้ แล้วเราไปเยียวยาด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบกรณีแล้วกรณีเล่า ที่มีผลออกมาเป็นอย่างหนึ่ง แต่พอขึ้นศาลแล้วผลเป็นอีกอย่างเช่นกรณีทุ่งยางแดง เป็นต้น เรื่องเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ให้รับรู้ว่าความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และมันจะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการเยียวยา ไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอคือเรื่องความเป็นธรรม และความพยายามแก้ไขปัญหาที่ต้นตอจริงๆ ก็ยังไปไม่ถึงไหน

43 ปี ความรุนแรงเปลี่ยนรูป แต่ยังเป็นเรื่องชนชั้นนำที่ดื้อดึง

พูนสุขกล่าวว่า ถ้าย้อนไป 6 ตุลา คนอายุไม่ถึง 40 ปี อาจจะคิดว่าเรื่องแบบนั้นคงไม่เกิดขึ้นอีก แต่ก็ยังเกิดอยู่ ปัจจุบัน จำนวนคนเสียชีวิต ระดับความรุนแรงอาจไม่เท่า 6 ตุลา แต่อย่างเหตุการณ์พฤษภา 2553 ก็เป็นความรุนแรงทางกายภาพและโครงสร้างที่เกิดขึ้น และถูกพยายามทำให้ลืมเลือน ศูนย์ทนายฯ ก่อตั้งหลังรัฐประหาร 2557 เพียงสองวัน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากผู้ถูกเรียกรายงานตัว ผู้ชุมนุม แต่ทำมาสักระยะก็พบว่าการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเดียวนั้นไม่พอ กระบวนการยุติธรรม กฎหมายเองก็ถูกผู้มีอำนาจควบคุมมันไว้ และถูกใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับประชาชน จึงทำงานเก็บข้อมูลและสื่อสารว่ามีการละเมิดอย่างไร

ประกาศ คสช. ฉบับที่ 1 สกัดออกมาได้ว่ามีจุดหมาย 3 ประการ เพื่อให้สถานการณ์การชุมนุมปี 2557 กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนเกิดความรัก สามัคคี สอง ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีข้อเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งของ กปปส. สาม ทำให้เกิดความชอบธรรมแก่ทุกฝ่าย เวลาผ่านมา 5 ปี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกกฎหมาย รวมทั้งคำสั่ง คสช. รวมนับพันฉบับ ไม่มีคณะรัฐประหาร รัฐบาลเลือกตั้งใดๆ ออกมาได้ขนาดนี้ มีการเรียกคนไปรายงานตัว เป็นทางการ 472 คน มีทุกพวกทุกฝ่าย แต่ว่าในรายละเอียด พวกหนึ่งอาจถูกเรียกไปวันเดียว อีกพวกกลับถูกกักตัวตามกฎอัยการศึกเต็ม 7 วัน

มีการเรียกพลเรือนไปขึ้นศาลทหารจากคดีความผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ความมั่นคง ประกาศคำสั่งของ คสช. เช่นการชุมนุม การรายงานตัว และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ นอกจากนั้นยังมี ม.44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการได้เอง ชอบโดยรัฐธรรมนูญและตรวจสอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่รุนแรงและใช้อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันแม้ใช้ ม.44 ไม่ได้แล้ว แต่คำสั่งต่างๆ และอำนาจในการควบคุมตัวคนยังมีอยู่

มีการใช้คดีความห้ามไม่ให้คนออกมาเคลื่อนไหว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นกลุ่มที่ชัดเจนที่ถูกยัดคดีทุกครั้งที่มีการชุมนุม คดีความทำให้ชีวิตหลายคนหักเหเหมือนกัน จะเรียกเรื่องนี้ว่าเป็นการใช้กฎหมายปิดปากก็ได้ หลายคดีผ่านไป พอคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 ยกเลิกก็หลุดจากคดีความบ้าง ศาลยกฟ้องบ้าง ทำให้คนเหนื่อยล้ากับภาระคดีความ นอกจากนั้นยังมีการเปิดเรือนจำพลเรือนชั่วคราวในค่ายทหาร อย่างในค่ายทหารที่ถนนนครชัยศรี ที่เปิดสมัยมีระเบิดที่ราชประสงค์ปี 2558 ซึ่งผู้ถูกคุมขังก็รายงานว่ามีการซ้อมทรมาน หมอหยอง (สุริยัน สุจริตพลวงศ์) กับปรากรม วารุณประภาก็ถูกขังและเสียชีวิตอย่างไม่ชัดเจนในเรือนจำนี้ ญาติไม่ได้เห็นแม้แต่ศพ

ผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 8 คนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ โครงสร้างอำนจรัฐ หายไปแบบไม่ทราบสาเหตุ เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง จะบอกว่าไม่มีใครเป็นอะไรในยุคนี้ก็พูดแบบนั้นไม่ได้ สถิติที่ศูนย์ทนายฯ เก็บตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 – 30 เม.ย. 2562 พบว่ามีอย่างน้อย 929 ถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ อย่างน้อย 572 ถูกข่มขู่ คุกคาม มีกิจกรรมอย่างน้อย 353 กิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซง และอย่างน้อย 428 คนที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และ 121 คนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 116 มี 169 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 และ 144 คนถูกดำเนินคดีข้อหาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2,408 พลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ตัวเลขเหล่านี้คือคนที่ถูกคัดเลือกมาแล้วว่าพวกนี้คือเป้าหมาย จะต้องหยุดพวกนี้ให้ได้ คนที่ถูกคุกคามที่ไม่ได้บันทึกนั้นมีมากกว่านี้

นอกจากนั้น โครงสร้างอำนาจรัฐก็เปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย อย่าง พ.ร.บ. การจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์กับส่วนพระมหากษัตริย์ มีพระราชกำหนดโอนกรมทหารราบที่ 1 และ 11 ไปเป็นหน่วยถวายอารักขา

องค์กรอิสระก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นองค์กรอิสระ คสช. เปลี่ยนแปลง แต่งตั้งและให้คงไว้ซึ่งกรรมการต่างๆ ตัวผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็อาจไม่ถูกเรียกว่าอิสระได้ และยังมี 250 ส.ว. ที่มีบทบาทในการกำหนดตัวนายกฯ จนทำให้เราอยู่ในรัฐบาลประยุทธ์ 2 ต่อไป และยังมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่คุมอยู่ ทหารไปแทรกซึมหน่วยงานพลเรือนอย่าง กอ.รมน. ที่บอกว่าเป็นหน่วยงานพลเรือน แต่ว่ามีบทบาทของทหารเยอะ แถมยังไปมีบทบาทในเขตงานอื่นๆ เช่น บรรเทาสาธารณภัย

รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกลไกต่างๆ และรับรองความชอบธรรมของอำนาจก่อนหน้านี้ รัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถไกล่เกลี่ยความเห็นของคนในสังคม ซึ่งอาจเป็นชนวนความขัดแย้งรอบต่อไป เราไม่ใช่แค่เสียเวลาไป 5 ปี ตัวกฎหมาย ประกาศคำสั่ง คสช. รัฐธรรมนูญ ที่ยังคงอยู่ จะมีผลกับเราอีกนับเป็นสิบๆ ปี แม้รัฐธรรมนูญจะเปลี่ยน แต่คำสั่งคณะรัฐประหารต่างๆ ยังคงอยู่ซึ่งบางฉบับยังคงอยู่มาตั้งแต่รัฐประหารสมัยก่อน ถ้าไม่ทำอะไรกับมันมันก็จะอยู่อย่างนั้น แต่ก็ยังมีความหวังว่าประชาชนมีความตื่นตัว ถึงแม้จะแพ้การลงประชามติ ไม่สามารถเลือกตั้งชนะได้ ก็ต้องคำนึงว่าเสียงที่ปริ่มน้ำ กับฝ่ายที่มีโคงสร้างรัฐในมือ เราไม่ได้ห่างกันระดับนั้น

พูนสุขมองว่ารัฐประหาร คสช. คือความรุนแรงโดยรัฐ รูปแบบอาจเปลี่ยนไป สิ่งที่เรากำลังเถียงกันอยู่ สถานการณ์ตั้งแต่ 6 ตุลา พฤษภา 2535 และ 2553 ไปจนถึงความรุนแรงสามจังหวัดใต้ มีจุดร่วมเดียวกันคือมีวัตถุประสงค์ในการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐและชนชั้นนำ ภาวะอำนาจ สมดุลอำนาจระหว่างฝั่งประชาชนกับชนชั้นนำอาจจะยังไม่สมดุลจริง การต่อสู้แบบนี้จึงเกิดขึ้นตลอดมา

เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมายังไม่มีใครต้องรับผิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น คนตายเป็นสิบเป็นร้อย ทำไมรัฐลืมเลือนกันไป ประชาชนได้แต่จดจำกันเอง แต่สิ่งที่ทำไม่ได้คือการค้นหาความจริง ปี 2553 เคยมีแต่ก็ยังแตกเป็นสองฝั่งและไม่ได้รับการยอมรับ การเยียวยาบางกรณีได้เป็นตัวเงิน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาในทางความยุติธรรม

ในแง่ของทางออก ตอนนี้ศูนย์ทนายฯ พยายามทำข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหาร เราเสนอ 4 ประเด็น เรื่องการจัการกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง คสช. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเยียวยา การจัดการกับคำพิพากษา และเรื่องของการจัดการกองทัพ จำกัดอำนาจกองทัพ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยพลังของทุกคนสนับสนุน

มอง 6 ตุลา ผ่านภาพถ่าย สื่อสายตาที่ซื่อสัตย์แต่บิดเบือนได้

ธนาวิกล่าวว่า งานวิจัยที่ทำอยู่ชื่อว่าปริซึมของภาพถ่าย การแตกตัวของความรู้ ความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา ตอนนี้เริ่มทำในช่วง 6 เดือนแรก ค้นคว้าหาข้อมูล หลักๆ เป็นหอจดหมายเหตุ มธ. โครงการบันทึก 6 ตุลา เว็บ 2519.net ช่างภาพ ผู้สะสมภาพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ พบว่าภาพเยอะกว่าที่คาดหวังไว้จากแรกเริ่มที่เดิมทีจะคุ้นๆ อยู่กับไม่กี่ภาพที่ไหลเวียนในอินเทอร์เน็ต พบภาพบางชุดถ่ายโดยอาจารย์ใน มธ. เอง ก็จะเห็นความแตกต่างของช่างภาพมืออาชีพและอาจารย์ที่บังเอิญเดินเจออะไรน่าสนใจก็ถ่ายไว้ เป็นคนละมุมมองกับนักข่าว

ธนาวิกล่าวต่อไปว่า พอได้เห็นภาพ สิ่งที่เคยมีในหัวที่เคยรับรู้ผ่านตัวอักษรก็ถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มองเห็นได้ ได้เห็นอีกมิติของความรุนแรง รูปภาพปะทะกับเราอีกแบบหนึ่ง ยิ่งเห็นภาพที่เป็นมุมกว้าง เห็นคนที่วิ่งอยู่ เห็นคนจะเตรียมตัวเข้าไป เห็นบริบทการใช้ภาพก็ต่างกันไปตามแนวทางการเมืองของสิ่งพิมพ์ก็ยิ่งขับเน้นมิติความรุนแรงให้รู้ได้ในเชิงสายตามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นภาพตำรวจเอาอาวุธสงครามเข้ามาในมหาลัย ทำให้ความรับรู้ต่อเหตุการณ์มีความสะเทือนใจเพิ่มขึ้นมาอีก ถามว่าก่อนหน้านี้รู้ไหม คนที่สนใจ 6 ตุลา ก็รู้ แต่พอเห็นความรุนแรงของอาวุธที่เขาเลือกใช้มันเป็นตัวเป็นตน เห็นระดับความรุนแรง ในขณะที่นักศึกษาบอกว่ามีอาวุธเหมือนกัน ยึดปืนพกมาได้ ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างอาวุธที่นักศึกษาและอีกฝ่ายมี

ภาพการทำร้ายศพมีหลายภาพมากไปกว่าภาพแขวนคอของนีล อูเลวิชจาก AFP ที่เป็นสัญลักษณ์ภาพแทนสำคัญของเหตุการณ์ ยังมีภาพอื่นๆ อีกที่ชี้ให้เห็นถึงการทำร้ายศพ ชวนให้ตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำร้ายศพ มีความหมายอย่างไรต่อฝ่ายขวาในยุคนั้น คนที่มุงดูเหตุการณ์ เขามุงดูในฐานะอะไร มีความเป็นมหรสพหรือเปล่า เธอคิดถึงการประหารในสมัยโบราณก่อนนั้นที่การประหารไม่ได้ทำลับๆ กลายเป็นสิ่งที่ต้องมอง ต้องเห็น ซึ่งถ้า 6 ตุลา ทำด้วยเหตุผลแบบนั้นแล้ว คำถามคือจะทำไปทำไม เป็นการข่มขู่หรือทำให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่ สุดท้ายภาพเหล่านั้นย้อนมาเป็นวัตถุพยานว่ามีอะไรเคยเกิดขึ้น การมองภาพถ่ายในแง่เครื่องบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นก็ช่วยให้เราพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่อาจครอบคลุมยิ่งขึ้น

ในหนังสือ 20 ปี ตามหาญาติมิตร มีการเผยแพร่ภาพศพแล้วจัดงานโดยให้คนมีการเอามาดูกัน ในปีนั้นจัดกิจกรรมเอาภาพมาดูกันเพื่อพยายามระบุว่าคนในภาพน่าจะเป็นใคร มีคนที่เสียชีวิตจำนวนมาก หลายคนยังไม่สามารถหาได้ว่าเป็นใคร สะท้อนถึงการใช้งานภาพที่ต่างกันไปตามยุคสมัย ภาพอาจเป็นภาพเดิมที่ถ่ายในวันนั้น แต่พอประกบกับสิ่งพิมพ์บางประเภทก็มีความหมายเปลี่ยนไป ช่น ภาพของอภินันท์ บัวหภักดี นักแสดงแขวนคอที่ถูกประกบกับข้อความใน หนังสือพิมพ์ดาวสยามก็ให้ความหมายอีกแบบ

ดังนั้น ภาพที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่ซื่อตรง แต่เอาเข้าจริงก็มีศักยภาพที่จะถูกใช้ในแบบต่างๆ เป็นของปลายเปิด อยู่ที่เอาไปอยู่กับอะไร ปัจจุบันถ้าสื่อจะทำแบบสมัย 6 ตุลา ก็คงถูกประณาม แต่ว่าการกระจายความเกลียดชังในทุกวันนี้นั้นอาจทำได้ ไปได้เยอะกว่าสมัยก่อนมากจากการมีโซเชียลมีเดียและเทคนิคการตัดต่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net